วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 29, 2559

11 บทบาท “ศาล” ภายใต้ระบอบคสช.รอบปี 2559





11 บทบาท “ศาล” ภายใต้ระบอบคสช.รอบปี 2559

28 ธันวาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


ตลอดปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป การใช้อำนาจโดยการกล่าวอ้างว่ากระทำในนามของ “กฎหมาย” และ “กระบวนยุติธรรม” ของคสช. ยังคงมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการควบคุมจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของพลเมืองในสังคมไทย ทหารยังมีบทบาทในการเข้าแจ้งความ จับกุม และนำบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองขึ้นพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร

ขณะเดียวกันศาลได้เข้ามามีบทบาทภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ศาลทหารที่คสช.ประกาศให้มีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนแทนศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรม หรือแม้แต่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการทำคำวินิจฉัยที่ยืนยันว่าการยึดอำนาจรัฐประหารของคสช.และการใช้อำนาจของคสช. ในห้วงกว่าสองปีที่ผ่านมากระทำในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ทราบกันว่าอำนาจตุลาการเป็นรากฐานหนึ่งของระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐตามหลักการแบ่งแยกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้อำนาจตุลาการที่รับรองสถานะและการใช้อำนาจของคสช. ไม่ว่าโดยการออกประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ จึงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลทางการเมืองหลังรัฐประหาร

ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม 11บทบาทศาล ทั้งการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ ในปีพ.ศ. 2559 พร้อมกับชี้ชวนให้ร่วมกันพิจารณาว่าระบบตุลาการเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาททางการเมือง และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหรือธำรงความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มิใช่องค์กรที่อิสระอยู่นอกเหนือแยกขาดออกไปจากการเมือง และไม่สังกัดฝักฝ่ายใดๆตามหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางหรือไม่

1) ศาลทหารยังมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือนต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ให้ความผิดที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ ซึ่งมีประกาศคสช.ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.และคดีอาวุธ อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เริ่มตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไปหลังจากพลเรือนนับพันคนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยผลของประกาศของคสช.กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ตามที่ศูนย์ทนายความฯ ได้รับข้อมูลสถิติของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จากกรมพระธรรมนูญ ซึ่งต้นสังกัดของศาลทหาร พบว่าระหว่าง 22 พ.ค.2557 – 31 พ.ค.2559 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จำนวน 1,811 คน และเป็นจำนวนกว่า 1,546 คดี โดยมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นการพิจารณากว่า 517 คดี นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ยังไม่เป็นคดีหรือไม่มีการฟ้องร้องคดีในศาลทหาร แต่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 หรือกระทำก่อนวันที่ 12 ก.ย. 2559 ดังนั้น แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ดังกล่าว แต่ยังมีพลเรือนอีกมากกว่า 517 คดี ที่ยังคงเผชิญชะตากรรมในศาลทหารต่อไป




ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.สำราญราษฏร์ในคดีที่ล่าสุดที่จะถูกพิจารณาในศาลทหาร


นอกจากนี้ ภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยังคงมีการดำเนินคดีบุคคลในศาลทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่แสดงความเห็นในเวทีเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ก.ย.58 แต่ปรากฏว่าหมายจับออกเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 เช่นเดียวกับกรณีของศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความที่ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกับ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิ.ย.2558 แต่กลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ เดือน ก.ย.2559 โดยหากมีการสั่งฟ้องคดี ทั้งสองคดีก็จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากเป็นคดีที่มีการกระทำเกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศใช้ศาลทหารนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าแม้จะหยุดใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน แต่ก็ยังมีพลเรือนที่ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ทั้งคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและคดีที่ยังไม่มีการฟ้องคดีเลย แต่ปรากฏว่าในระยะเวลาสองปีกว่านี้ มีคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากเหตุผลการเมืองในศาลทหารที่มีการสืบพยานจนเสร็จและมีคำพิพากษาแล้วเพียงสองคดีเท่านั้น

2) เวลาเปิด–ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติ




จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระหว่างรอการพิจารณาคดีที่ศาลทหารขอนแก่น


ตามปกติแล้ว “ศาล” จะมีเวลาทำการตามเวลาราชการคือตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. แต่ปรากฏว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร กลับมีเวลาทำการที่ไม่แน่นอน และไม่ใช่เพื่อเป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังกรณี 15 ผู้ต้องหาตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการสอบปากคำผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อศุกร์ที่ 19 ส.ค.59 เวลา 14.30 น. และทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาในวันเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเนื่องจากใกล้หมดเวลาราชการแล้ว ไม่ให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในวันดังกล่าว แต่ให้มายื่นในวันจันทร์ ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำถึง 3 วัน แต่ในวันเดียวกันนี้ เวลา 20.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น กลับมีการเปิดทำการเพื่อรับฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากคดีทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 โดยให้คุมขังนายจตุภัทร์ระหว่างการพิจารณาคดี จึงทำให้นายจตุภัทร์ถูกนำไปขังที่เรือนจำกลางขอนแก่นตั้งแต่คืนดังกล่าว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เมื่อปี 2558 ในกรณี 14 นักศึกษา–นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เปิดรอรับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเวลา 22.00 น. และกว่ากระบวนการขอฝากขังและคัดค้านทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลา 00.30 น.ไปแล้ว ราวกับศาลทหารจะเปิดปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการ ทาง “กฎหมาย” กับผู้ต้องหาทางการเมือง

นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ทนายความฯ ยังพบกรณีที่ตุลาการในศาลทหารหลายจังหวัดเดินทางไปปฏิบัติงานที่ศาลทหารอื่น ตามระบบการหมุนเวียนตุลาการในศาลมณฑลทหาร จนทำให้บางวัน ศาลทหารไม่มีตุลาการประจำอยู่ และไม่มีผู้พิจารณาคำร้องต่างๆ ที่ประชาชนไปยื่นต่อศาล เช่น กรณีช่างตัดแว่นพ่อลูกอ่อนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ญาติได้เดินทางไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาโดยตุลาการในวันดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าตุลาการเดินทางไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารอื่น ส่งผลให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาต้องล่าช้าออกไป

3) ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า

ปรากฏการณ์สำคัญของการพิจารณาคดีในศาลทหารที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นในปีนี้ คือกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีและมีการต่อสู้คดี ด้วยรูปแบบการนัดสืบพยานที่ไม่ต่อเนื่องกันเหมือนศาลพลเรือน ศาลทหารจะมีการนัดสืบพยานต่อนัดเป็นครั้งๆไป และแต่ละคดีมีการสืบพยาน 1 นัด เป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง บางคดีมีการพิจารณาคดีเฉพาะในช่วงเช้าในแต่ละนัดเท่านั้น ทำให้พยานบางปากต้องใช้เวลาสืบพยานหลายนัด อีกทั้งในหลายๆคดีพบว่ามีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์บ่อยครั้ง ทั้งที่พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องมาเบิกความเป็นพยานตามหมายเรียกพยานของศาล ซึ่งหากพยานที่โจทก์ออกหมายเรียกไว้ไม่มาศาล จะทำให้ต้องยกเลิกวันนัดในวันดังกล่าวและต้องหาวันนัดใหม่เพราะโจทก์จะออกหมายเรียกพยานมานัดละคนและทีละนัดเท่านั้น ทำให้จนถึงปัจจุบันจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งจำเลยมีการต่อสู้คดี มีคดีที่สืบพยานเสร็จสิ้นและศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียงสองคดี




สิรภพ ขณะรอการพิจารณาคดีในศาลทหาร


ในปีนี้ ศาลทหารเพิ่งมีคำพิพากษาในคดีของสิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เขาถูกควบคุมตัววันที่ 25 มิ.ย.57 ก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาลวันที่ 15 ส.ค.57 โดยศาลทหารกำหนดวันนัดสืบพยานโจกท์ลำดับแรกวันที่ 11 พ.ย.57 แต่ก็ไม่สามารถสืบพยานปากแรกนี้ได้เป็นเวลากว่า 6 เดือน เพราะพยานติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ กว่าการสืบพยานลำดับแรกนี้จะเสร็จสิ้นก็วันที่ 4 พ.ย.58 รวมระยะเวลาในการนัดและสืบพยานปากนี้ทั้งหมด 1 ปีเต็ม ก่อนที่การสืบพยานจะแล้วเสร็จและศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.59 รวมเวลาพิจารณามากกว่า 2 ปี โดยคดีนี้จำเลยถูกขังในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีฝ่าฝืนรายงานตัวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีเท่านั้น

ตัวอย่างความล่าช้าที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีอัญชัญ จำเลยในคดีมาตรา 112 คดีนี้มีการจับกุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 หลังจากสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 กว่า 1 ปี 8 เดือน จึงมีการสืบพยานโจทก์ แต่มีการเลื่อนคดีเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล 3 นัด และเนื่องจากนัดพิจารณาครั้งละวันไม่ใช่นัดต่อเนื่อง ทำให้แต่ละนัดห่างกันหลายเดือน คดีนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้วเพียง 2 ปาก ทั้งจำเลยยังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตลอดมา เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หรือในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ภายหลังรัฐประหาร แต่กว่าการสืบพยานโจทก์ปากแรกจะเริ่มขึ้น (28 ต.ค.59) ก็หลังจากอัยการยื่นฟ้องจำเลยมากว่า 2 ปี ทั้งโจทก์ยังอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งหากสืบพยานได้ปีหนึ่งราว 10-12 ปาก คดีนี้อาจใช้เวลากว่า 7-9 ปีกว่าจะสืบพยานแล้วเสร็จ คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

4) บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติ UPR

ท่ามกลางการจับตาจากนานาชาติต่อสถานการณ์การใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่มีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review หรือ UPR) ที่นครเจนีวา ซึ่งเป็นรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ของประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาลทหารโดยตรง ได้แก่ พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ หัวหน้าตรวจและร่างกฎหมาย กรมพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมคณะผู้แทนรัฐบาลไปชี้แจงต่อที่ประชุม

พันโทเสนีย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ว่าศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาในความผิดร้ายแรง จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน




คณะผู้แทนไทยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR (ขอบคุณภาพจาก กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)


ขณะที่หากติดตามสถานการณ์ของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารของไทยตลอดสองปีเศษที่ผ่านมาแล้ว พบว่าในความเป็นจริง คดีที่นำพลเรือนมาขึ้นศาลทหารจำนวนมากล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และไม่ใช่คดีร้ายแรงแต่อย่างใด เช่น คดีกินแม็คโดนัลด์ต่อต้านการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร, คดีถ่ายรูปกับขันแดง, คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ, คดีจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรม ก็ถูกดำเนินคดีที่ต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นต้น

พลเรือนที่ขึ้นศาลทหารยังไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับศาลพลเรือนดังที่พันโทเสนีย์กล่าว เช่น คดีที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้กฎอัยการศึกไม่ได้รับสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลทหารไม่มีกระบวนการในการสืบเสาะ ไม่มีระบบทนายขอแรงในช่วงแรก ไม่ให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี ความแตกต่างเรื่องรูปแบบหลักทรัพย์ในการประกันตัว หรือการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายรายจากกระบวนการค้นตัวผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำ เป็นต้น ทั้งในกระบวนการพิจารณาตามธรรมนูญศาลทหารองค์คณะที่ร่วมเป็นตุลาการในศาลทหาร เป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด

อีกทั้ง ในเมื่อกล่าวอ้างว่าศาลทหารไม่มีความแตกต่างจากศาลพลเรือน เหตุใดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ที่ระบุเรื่องการให้คดีกลับมาพิจารณาในศาลพลเรือน จึงต้องระบุเหตุผลในคำสั่งว่าเป็นการ “ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจน ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” ราวกับจะยอมรับโดยนัยว่าภายใต้การใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้นไม่ได้มีการคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอยู่แต่อย่างใด

5) ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี






แม้ไม่เกินความคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2557 มาตรา 4 หลังประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เหตุผลในคำวินิจฉัยก็สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้ “องค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ…” ในสภาวะที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยกเว้นหลักการสากลซึ่ง “รัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลเหตุผลอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน” หรือ Free&Fair!!

ทั้งประชาชนยังต้องผิดหวังซ้ำสองจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องที่ภาคประชาสังคมฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ เนื่องจากมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควรและขัดต่อกฎหมายศาลปกครองวินิจฉัยในทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ โดยใช้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ การฝ่าฝืนไม่มีโทษทางอาญา

การไม่คุ้มครองการแสดงออกของประชาชนในการออกเสียงประชามติดังกล่าว ปรากฏผลให้เห็นในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในช่วงประชามติซึ่งมีอย่างน้อย 207 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 อย่างน้อย 47คน มีกิจกรรมที่ถูกข่มขู่และห้ามจัดมากมายไม่นับว่าประชาชนโดยทั่วไปตกอยู่ในความหวาดกลัวไม่กล้าแสดงความเห็น หรือแม้แต่ใส่เสื้อ Vote No ที่น่าตกใจมีการดำเนินคดีนักข่าว และนักสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ในบรรดาคดีที่ถูกตั้งหาข้อหาว่า ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ซึ่งผู้ต้องหามักจะงุนงงสงสัยว่า ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร แต่ทั้งศาลพลเรือนและศาลทหารกลับอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันด้วยเงินประกันสูงลิบ (60,000-200,000 บาท) สร้างภาระหนักหนาแก่ประชาชนที่แค่ใช้สิทธิแสดงความเห็นในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตตนอย่างรัฐธรรมนูญลงท้ายด้วยอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้องนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจนถึงปัจจุบันอย่างน้อย 8 คดีแล้ว ทั้งที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากว่า การดำเนินคดีต่อไปมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร

แม้ว่ายังไม่มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี แต่แนวโน้มของศาลที่ปรากฏให้เห็นดังเช่นในนัดสมานฉันท์ของคดีแจกสติ๊กเกอร์ Vote No ศาลจังหวัดราชบุรีมีลักษณะเจรจาให้จำเลยรับสารภาพ และได้บันทึกลงในกระบวนพิจารณาว่า “ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย ขั้นตอนการดำเนินคดี และการเสริมสร้างการรู้สำนึกและความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามขั้นตอนแล้ว จำเลยทั้ง 5 คนแถลงยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและประสงค์ที่จะต่อสู้คดี”

เช่นนี้แล้ว สาธารณชนก็ไม่อาจมีความหวังได้ว่า ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมจะเอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน!!!

6) ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร

ในรอบปี 2559 คสช. ยังคงใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารด้วยการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับที่ 3/2558และฉบับที่ 13/2559 ที่ออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้อำนาจคุมตัวบุคคลของ คสช.ลักษณะนี้ คือการที่ศาลยุติธรรมยังแสดงบทบาทในการรับรองการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารอีกครั้ง จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังเข้าจับกุมควบคุมตัวจำเลยในคดี 8 แอดมินแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” เมื่อเดือนเม.ย.2559

กรณีนี้ทั้ง 8 คน ถูกจับกุมโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายจับและแจ้งสาเหตุการควบคุมตัว กว่าครอบครัวจะได้ทราบชัดเจนว่าทั้ง 8คน ถูกควบคุมตัวไปที่ไหนก็เมื่อพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาแถลงว่าจะนำไปที่ มทบ.11 แต่เมื่อญาติติดตามไปขอเยี่ยม ก็ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐถือได้ว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ครอบครัวของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 4 ใน 8 คน พร้อมทนายความจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เพื่อขอให้มีการไต่สวนและปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ศาลกลับไม่ไต่สวนในทันที และวันถัดมาศาลมีคำสั่งว่าการควบคุมตัวครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และการควบคุมตัวยังไม่ครบ 7 วัน





ผู้ต้องหา 2 ใน 8 คดีทำเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ถูกทหารควบคุมตัวจากมทบ.11 มาถึงกองปราบฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา (ภาพโดย : Banrasdr Photo)


นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีกรณีที่ต่อเนื่องมาจากปี 2558 คือกรณีที่นายธเนตร อนันตวงษ์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 116 จากการโพสต์เกี่ยวกับข่าวการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เมื่อมีการควบคุมตัวนายธเนตรฯ นายสิรวิชญ์ฯ ในฐานะเพื่อนจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยไม่มีการไต่สวนใดๆ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนกรณีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง

ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องในครั้งแรกว่าคดีไม่มีมูลเพราะนายสิรวิชญ์ แค่ฟังนายปิยรัฐ จงเทพ ที่เป็นเพื่อนเล่าให้ฟัง และครั้งที่ 2 ศาลอ้างว่าเป็นการคุมตัวชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะมีหมายจับของศาลทหารและเป็นคดีที่มีฐานความผิดอยู่ในพิจารณาของศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37/2557 และควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งถือได้ว่าศาลยุติธรรมรองรับการใช้อำนาจของ คสช. ทั้งนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนใหม่อีกครั้งวันที่ 20 มิ.ย.59 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจากนายธเนตรได้รับการปล่อยตัวแล้ว

การที่แม้กระทั่งศาลยุติธรรมแสดงบทบาทรับรองการควบคุมตัวของทหารโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ออกตามมาตรา 44 เช่นนี้ ทำให้ญาติและทนายความจะทำการตรวจสอบหรือติดตามตัวคนที่ถูกคุมตัวไปได้ยากลำบาก จนทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสภาพที่ถูกตัดการติดต่อกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง จึงสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ตามมา และยังทำให้เกิดการควบคุมตัวในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป

7) ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด

นอกจากการรับรองการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลของทหารแล้ว รอบปีที่ผ่านมาศาลยุติธรรมยังมีบทบาทในการรับรองอำนาจคณะรัฐประหารในหลายคดี กรณีที่สำคัญคือกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ที่ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของคสช. โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 แก้จากศาลชั้นต้น ซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ไม่เป็นความผิดเนื่องจากกฎหมายไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฏอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารโดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด” คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคำพิพากษาในปีที่ผ่านมาที่ช่วยยืนยันอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะไม่มีกฎหมายใดรองรับ และมาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญัติให้ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญมีความผิดฐานกบฎก็ตาม




สมบัติ บุญงามอนงค์


8) ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11

การตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในค่ายทหารยังเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหารต่อเนื่องมา โดยตั้งแต่ปลายปี 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งจัดตั้งเรือนจำนั้นมีเนื้อหาที่มีความหมายไม่ชัดเจนแน่นอนที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจอันขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การจัดตั้งเรือนจำจากเหตุผลทางการเมืองเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหวังว่าศาลปกครองจะเข้ามามีส่วนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ในทางหนึ่ง ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเรือนจำแห่งนี้นอกจากจะตั้งในพื้นที่ทหารแล้วจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 47 คน ยังถูกคุมขังโดยผู้คุมพิเศษที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารถึง 80 นาย เทียบกับจำนวนผู้คุมจากกรมราชทัณฑ์เพียง 6 คนเท่านั้น และสถานที่ดังกล่าวยังเป็นที่สุดท้ายในการควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ (หมอหยอง) และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ก่อนทั้งสองจะเสียชีวิตอย่างปริศนา





อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.59 โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะดำเนินการส่งคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพิ่งเริ่มต้นหลังการรับฟ้อง ศาลปกครองใช้เวลา 11 เดือน ในการมีคำสั่งรับฟ้องหลังจากยื่นคำฟ้องดังกล่าว นับเป็นความล่าช้าในการตรวจสอบการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เคยปรากฏในคดีอื่นมาก่อน

9) เมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อยถึง 10 ราย จากปกติที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 มีความหวังริบหรี่เหลือเกินที่จะได้โอกาสออกมาต่อสู้คดีนอกห้องขัง เพราะศาลมักจะเห็นว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีความมั่นคงของชาติที่มีความร้ายแรง มีโทษหนัก จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในจำนวนคดีที่ได้ประกันตัวเหล่านี้อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเป็นคดีที่ศาลเห็นว่าการกระทำไม่ร้ายแรง หรืออาจจะไม่เข้าข่ายความผิด อาทิ กรณีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กรณี “จ้า” ของแม่จ่านิว และกรณีแชร์ข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทย แต่ศาลอาจตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ห้ามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น




น.ส.พัชนรี (ขวา) แม่ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหญิงกลางหลังศาลทหารอนุญาตให้ประกัน


อีกกลุ่มที่อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างนัก คือกลุ่มจำเลยที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท อาทิ เสาร์ จำเลยที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อทวงเงินจากอดีตนายกรัฐมนตรี หลังได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าเสาร์มีอาการป่วยทางจิตมานาน และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าเสาร์จะรักษาตัวจนสามารถกลับมาต่อสู้คดีได้ ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 4 แสนบาท นอกจากเสาร์แล้วยังมีฤชา ผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งเขาอ้างว่าพระแม่ธรณีเป็นคนโพสต์ เพราะคนธรรมดาไม่สามารถทำกราฟฟิกได้ ทนายความได้ขอให้ศาลส่งตัวเขาเข้ารับการตรวจรักษาอาการทางจิต เมื่อศาลทหารได้รับรายงานผลการตรวจจากแพทย์จึงอนุญาตให้ฤชาได้รับการประกันตัว

อย่างไรตาม ในยุครัฐบาล คสช. มีความพยายามดำเนินคดี 112 อย่างหนัก แนวโน้มการลงโทษสูงขึ้น พร้อมกับตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางจนถึงขนาดที่ทำให้การกดไลค์ก็อาจจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ กฎหมาย 112 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดคนเห็นต่าง อีกทั้งมีการดำเนินคดีแม้กระทั่งผู้ป่วยทางจิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะแต่อย่างใด อีกทั้งในหลายคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นคดีที่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวนสูง

10) ล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี

ปัญหาการพิจารณาคดีเป็นการลับในคดีมาตรา 112 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่หลังรัฐประหาร คดีมาตรา 112 ที่มีการต่อสู้คดีในศาลทหาร ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เช่นเดียวกับในศาลพลเรือน ทำให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนที่สนใจไม่สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ รวมทั้งปัญหาการขอคัดถ่ายกระบวนการพิจารณาหรือคำเบิกความต่างๆ ในศาล ก็ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน

ตัวอย่างคดีสำคัญและแสดงชัดถึงปัญหานี้ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและจำเลยในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปิยะถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้สองคดี และทั้งสองคดีถูกศาลอาญาสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยในคดีที่สองของปิยะมีการสืบพยานในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้สั่งพิจารณาคดีลับ ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังการพิจารณา และทำการล็อกห้องไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์ ในการอ่านคำพิพากษาช่วงเดือนต.ค.ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาลให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณาและมีการล็อกประตูห้องระหว่างอ่านคำพิพากษา อีกทั้งคดีนี้ ศาลยังไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายบันทึกคำเบิกความของพยาน และไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้ทนายความคัดลอกด้วยการเขียนได้

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และสิทธิของคู่ความในการเข้าถึงสำนวนและเอกสารในคดีต่างๆ เป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้การรับรองเป็นภาคี ข้อ 14 (1) เอง ก็ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม รวมถึงต้องเปิดเผยคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น โดยแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ของไทย จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่มาตรา 182 วรรคสอง ระบุชัดเจนให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย โดยไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นใดๆ การล็อกห้องอ่านคำพิพากษาของศาลจึงขัดต่อทั้งหลักการสากลและกฎหมายภายในประเทศเอง




ภาพจากห้องพิจารณาคดีของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบปัญหาศาลพิจารณาโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน


11) ศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์




จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา(กลาง เสื้อดำ) หลังได้รับการปล่อยตัวในคดี 112 หลังจากนั้นศาลได้ถอนประกันในเวลาต่อมา


ส่งท้ายปีด้วยการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่านายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย ซึ่งนายจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 อย่างไรก็ตาม 22 ธ.ค.2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัวนายจตุภัทร์โดยสั่งพิจารณาลับเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงก่อนศาลมีคำสั่งถอนประกัน โดยอ้างเหตุ “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ”

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ศาลอุทธรณ์ได้รับรองคำสั่งถอนประกันอีกครั้ง เนื่องจากศาลเห็นว่า “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ศาลอุทธรณ์จึงยกคำร้อง

คำสั่งดังกล่าวสร้างความสงสัยต่อนักกฎหมายและสังคมไม่น้อยว่าการแสดงออกทางออนไลน์นั้นเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐอย่างไร และ “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” นั้นเป็นเหตุให้ถอนประกันได้อย่างไร อีกทั้งการไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นยิ่งเป็นการยืนยันได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ต้องหานั้นไม่ได้ยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานแต่อย่างใด

11 บทบาทการทำหน้าที่ศาลในฐานะองค์กรตุลาการข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายคดีที่น่าศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายและการให้เหตุผลว่าศาลมีบทบาทอำนวยความยุติธรรมอย่างไรเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้