วันพุธ, พฤศจิกายน 16, 2559

อีสานโพ้นทะเล: ประสบการณ์เกษตรกรรับจ้างในอิสราเอล




เกษตรกรรับจ้างชาวไทยนั่งอยู่ในห้องนอนในเขตที่อยู่อาศัยของฟาร์มแห่งหนึ่งที่ชุมชนยาเวตซ์ (Moshav Yavetz) ทางตอนกลางของประเทศอิสราเอล ภาพ: Shiraz Grinbaum / Activestills.org


อีสานโพ้นทะเล: ประสบการณ์เกษตรกรรับจ้างในอิสราเอล


09/11/2016
by The Isaan Record

เขียนโดย มาทาน คามีเนอร์ (พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในวันที่ 15 ตุลาคม 2558)


นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 (กลางพุทธทศวรรษ 2530) ชาวอีสานหลายหมื่นคนทิ้งไร่นาบ้านเกิดไปทำงานเป็นเกษตรกรรับจ้างในอิสราเอล ณ ที่นั่นพวกเขาต้องเผชิญกับการขูดรีดจากนายหน้าและนายจ้างอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีการผลักดันให้ยกระดับสภาพการทำงานของเกษตรกรรับจ้างชาวไทยในอิสราเอลในช่วงที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ของพวกเขายังคงสุ่มเสี่ยง

แรงงานย้ายถิ่นกว่า 22,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอีสานกำลังทำงานในฟาร์มที่อิสราเอล ถึงแม้จะเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนอีสานที่อพยพไปทำงานในต่างประเทศ (9.3% แต่นับเป็นอันดับสองรองลงมาจากประเทศไต้หวัน ดูสถิติได้ที่นี่) แต่แรงงานของพวกเขาก็ได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของภาคเกษตรกรรมอิสราเอลไปแล้ว

ในชุมชนที่ชาวอิสราเอลไปตั้งรกรากหลายแห่ง ขณะนี้มีคนไทยมากกว่าคนอิสราเอลเสียอีก คำว่า “tailandi” ในภาษาฮีบรูก็เป็นคำที่แทบจะมีความหมายตรงกับคำว่า “เกษตรกรรับจ้าง” ถึงแม้ว่าค่าแรงที่อิสราเอลจะสูงกว่าในประเทศไทยมาก แต่รายงานของ Workers’ Hotline องค์กรเอ็นจีโอของอิสราเอล และองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ (Human Rights Watch) ก็ระบุว่าแรงงานมักถูกละเมิดสิทธิและบางครั้งสภาพความเป็นอยู่ก็เลวร้าย

ผมสัมภาษณ์ถามถึงประสบการณ์ของชาวบ้านอีสานสามคนที่ไปทำงานในอิสราเอล แม้ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในอิสราเอลเป็นเวลาสั้นยาวต่างกันออกไปในช่วงเวลาสองทศวรรษ ภาพที่พวกเขาบอกเล่าในบางแง่มุมก็กลับมีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างมาก ภาพของงานที่หินและการต้องแลกอะไรหลายอย่างในชีวิตเพื่อไปอยู่ต่างประเทศอย่างยาวนาน และในอีกทางหนึ่ง การทำงานในอิสราเอลก็ช่วยให้ผู้ให้สัมภาษณ์บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ไม่มีทางเป็นได้หากพวกเขามิได้ทิ้งบ้านเกิด

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามคนก็มีประสบการณ์บางด้านที่ผิดแผกแตกต่างไปอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลายต่อหลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าคนคนหนึ่งไป




ผู้ใช้แรงงานไทยในสวนกะหล่ำปลีที่ไร่แห่งหนึ่งบริเวณพรมแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา ภาพ: Oren Ziv / Activestills.org


แรงงานย้ายถิ่นเริ่มอพยพจากไทยไปอิสราเอลกันยกใหญ่ในช่วงปี 1993 (2536) เมื่อรัฐบาลอิสราเอลออกมาตรการเพื่อถอนสิทธิคนงานชาวปาเลสไตน์จำนวนมหาศาลจากตลาดแรงงาน ภายหลังเหตุการณ์การลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ (Intifada) ระหว่างปี 1987-1991 (2530-2534) รัฐบาลอิสราเอลมองว่าคนงานจากเวสต์แบงค์และฉนวนกาซาเหล่านี้กระด้างกระเดื่องเกินไป จึงวางแผนจะจ้างคนงานจากประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาทำงานแทน เป็นผลให้รัฐบาลอิสราเอลเริ่มอนุญาตให้เกษตรกรเสาะหาคนงานจากประเทศไทย จนคนไทยกลายเป็นคนงานส่วนใหญ่ที่ถูกจ้างให้ทำงานในฟาร์มที่อิสราเอลอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่ช่วงแรกจนกระทั่งปี 2012 (2555) แรงงานไทยต้องเซ็นสัญญากับนายหน้าท้องถิ่นในประเทศไทยเพื่อเข้าไปทำงานในอิสราเอล บริษัทนายหน้านี้จะติดต่อกับนายหน้าในอิสราเอล จากนั้นคนงานจึงจะได้รับวีซ่าพร้อมสัญญาการทำงานห้าปีตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอลยังจำกัดให้แรงงานแต่ละคนทำงานได้เพียงครั้งละห้าปี และไม่อนุญาตให้คู่สมรสเข้ามาทำงานในประเทศพร้อมกันเพื่อป้องกันการมาตั้งรกรากในอิสราเอลเป็นการถาวร

นายหน้าเก็บค่าธรรมเนียมจากคนงานในราคาสูงลิบได้ถึงราว 370,000 บาท คนงานจึงมักต้องใช้เวลาปีแรกในการทำงานที่อิสราเอลเพื่อหาเงินใช้หนี้จำนวนนี้

ในปี 2012 (2555) รัฐบาลอิสราเอลและไทยได้ลงนามในข้อตกลงทวิภาคีที่มีเป้าหมายเพื่อตัดช่องทางของคนกลางที่คอยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมราคาแพงเกินเหตุ และให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่น (International Organization for Migration – IOM) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่ไม่แสวงหาผลกำไรทำหน้าที่แทน ปัจจุบัน ปัญหาการเก็บค่าธรรมเนียมราคาแพงเกินเหตุก็ทุเลาเบาบางลง ผู้ย้ายถิ่นจ่ายเงินราว 75,000 บาทให้กับองค์การ IOM และนายหน้าหาแรงงานทางฝั่งอิสราเอล



สภาพที่อยู่อาศัยของเกษตรกรรับจ้างชาวไทยในชุมชนสเดนิตซัน (Sde Nitzan) บริเวณชายแดนอิสราเอลติดกับอียิปต์ ภาพ: Shiraz Grinbaum / Activestills.org


อย่างไรก็ตาม ปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับชีวิตของแรงงานย้ายถิ่นยังคงมีอยู่ รายงานของฮิวแมนไรท์วอชท์เมื่อเดือนมกราคม 2015 (2558) พบว่าคนงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่เสี่ยงอันตรายและไม่ถูกสุขลักษณะ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน

คนงานย้ายถิ่นชาวไทยในอิสราเอลได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของอิสราเอลทั้งในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการทำงานล่วงเวลา ทว่างานวิจัยของผมและโนอา ชาวเออร์ (Noa Shauer) จาก Kav La’oved (Workers Hotline) องค์กรเอ็นจีโอของอิสราเอล พบว่าในปี 2013 (2556) ผู้ใช้แรงงานทุกรายที่รายงานสภาพความเป็นอยู่ของตนให้องค์กรฯ รับทราบ ไม่มีใครได้รับค่าจ้างตามกฎหมายเลย ค่าจ้างโดยเฉลี่ยที่พวกเขาได้รับต่อหนึ่งชั่วโมงอยู่ที่ราวร้อยละ 70 ของค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ส่วนค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างปกติสำหรับงานในภาคเกษตรกรรม คนงานก็ได้รับเพียงร้อยละ 55 ของจำนวนที่กฎหมายกำหนด การศึกษาของฮิวแมนไรท์วอชท์ก็ได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกัน

ความไร้อำนาจในการต่อรองของคนงานย้ายถิ่นชาวไทยในอิสราเอลส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “การถูกผูกติดกับที่” ของลักษณะงานของพวกเขา เงื่อนไขในสัญญา รวมถึงการไม่รู้ภาษาท้องถิ่นและไม่มีคนรู้จักอยู่ในอิสราเอล ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนงานจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนายจ้างได้




คนงานรับจ้างทางการเกษตรชาวไทยคนหนึ่งในที่พักที่ชุมชนยาเวตซ์ ประเทศอิสราเอล รถคาราวานขนาดเล็กนี้ประกอบเตียงแปดตัว กั้นด้วยผ้าม่านและตู้เสื้อผ้า ภาพ: Shiraz Grinbaum / Activestills.org


ดังนั้น ถึงแม้คนงานย้ายถิ่นจะตระหนักดีถึงสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่พวกเขาก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก คนงานย้ายถิ่นหลายคนบอกว่าสภาพการทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานและความเศร้าจากการคิดถึงบ้านและครอบครัว เป็นสาเหตุเบื้องหลังของการติดสุราและยาเสพติดในหมู่คนงาน

บางคนชี้ว่าเป็นไปได้ที่การใช้ยาเสพติดและการดื่มสุราเกินขนาดจะเป็นปัจจัยของการใหลตายของคนงาน ความตายที่เป็นปริศนาเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในอีสานและบางคนมองว่าสาเหตุเกิดจากวิญญาณร้าย เช่น ผีแม่หม้าย

ระหว่างปี 2008 (2551) ถึง 2013 (2556) มีชายไทยในอิสราเอล 43 คนเสียชีวิตในลักษณะนี้ กระนั้นก็ไม่ได้มีการสอบสวนถึงสาเหตุการตายอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่อิสราเอลในกรณีนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการขาดความใส่ใจต่อสวัสดิการของคนงานย้ายถิ่นในสายตาของรัฐและสาธารณชน

ขณะที่คนงานที่ผมพูดคุยด้วยช่วยยืนยันข้อค้นพบหลายประการข้างต้น แต่ตัวพวกเขาเองมักพูดถึงประสบการณ์การทำงานในอิสราเอลในแง่บวก พวกเขาบอกว่างานที่อิสราเอลช่วยให้ตนได้มีทรัพย์สินต่างๆ และยังสร้างรายได้เป็นเม็ดเงินซึ่งอาจหาไม่ได้หากพวกเขาไม่ได้ทำงานนี้

โจ้ (นามสมมติ) ในวัยราว 40 ปี ผู้ให้สัมภาษณ์คนแรก อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เมืองชุมแพในจังหวัดขอนแก่น เขาต้อนรับพวกเราบนพื้นกระเบื้องเซรามิกในบ้านสองชั้น ก่อนพาเราเดินชมไร่ที่เขาปลูกอ้อยไว้ ไร่ที่เขาซื้อมาด้วยรายได้จากการทำงานในอิสราเอลเมื่อทศวรรษ 1990

เหมียวและจ๊ะเอ๋ (นามสมมติ) ญาติห่างๆ ของโจ้ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี จังหวัดที่ส่งคนงานจำนวนมากไปยังอิสราเอลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวของทั้งสองคนเป็นตัวอย่างของสภาพการทำงานที่หลากหลายซึ่งพบได้ในอิสราเอล




เกษตรกรรับจ้างชาวไทยโชว์สมุดจดเล่มเล็กๆ ที่ใช้จดชั่วโมงการทำงานในชุมชนยาเวตซ์ เกษตรกรรับจ้างชาวไทยหลายคนได้รับคำแนะนำให้จดรายละเอียดเวลาการทำงานและค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างเอาไว้ ภาพ: Shiraz Grinbaum / Activestills.org


เหมียว อายุราว 40 ปีเช่นกัน ทำงานอยู่ที่ฟาร์มในหุบเขาจอร์แดนที่แห้งแล้งมากใกล้เมืองเจริโคในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เธอทำงานวันละ 14 ชั่วโมง รับหน้าที่ดูแลพืชผักในเรือนกระจก และได้รับเงินราว 35,000 ถึง 45,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเธอเก็บหอมรอมริบและส่งกลับบ้านได้เดือนละกว่า 25,000 บาท การที่นายจ้างว่าจ้างให้เธอทำงานยาวนานหลายชั่วโมงด้วยค่าจ้างที่ต่ำเช่นนี้ (ตามมาตรฐานของอิสราเอล) เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและอาจรวมถึงกฎหมายอื่นๆ อีกด้วย

จ๊ะเอ๋ ลูกพี่ลูกน้องของเหมียวได้ค่าแรงพอๆ กัน แต่ด้วยการทำงานรีดนมวัวเพียง 6 ชั่วโมงต่อวันในเมืองอาเคอร์ (Acre) ทางตอนเหนือของอิสราเอล ซึ่งอยู่ใกล้กับใจกลางเมืองและอยู่ในพื้นที่ที่สภาพอากาศดีกว่ามาก

สาเหตุหนึ่งของความแตกต่างระหว่างทั้งสองคนอาจเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเหมียวทำงานในชุมชนแบบ “โมชาฟ” ในขณะที่เจ๋ทำงานในชุมชนแบบ “คิบบุตซ์” ชุมชนอย่างหลังนี้มีแนวโน้มจะทั้งร่ำรวยกว่าและยึดถือคุณค่าแบบมนุษยนิยมตามประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว “ตั้งรกรากชุมชนการเกษตร” ของชาวอิสราเอลมากกว่า

เห็นได้ชัดว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของเงื่อนไขการทำงานและค่าแรงที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลเป็นผลมาจากระบอบการจ้างงานที่ “ผูกติดกับที่” ถ้าคนงานสามารถเลือกนายจ้างได้อย่างอิสระ เงื่อนไขต่างๆ ก็ย่อมเคลื่อนมาจนเท่าเทียมกัน อันจะเป็นผลดีสำหรับคนงานอย่างเหมียว




เกษตรกรรับจ้างหญิงชาวไทยเก็บลูกทับทิมในฟาร์มที่สเด นิตซัน ประเทศอิสราเอล ภาพ: Shiraz Grinbaum for Activestills.org


ถึงแม้เธอจะตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ เหมียวก็ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองหรือไม่พอใจ เธอบอกผมว่าเธอรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสทำงานวันละนานๆ และหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อส่งกลับบ้าน เธอไม่เห็นว่าการที่จ๊ะเอ๋หาเงินได้เท่าเธอด้วยการทำงานน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม

เหมียวและจ๊ะเอ๋ยังพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจและน่าหนักใจอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งสองบอกว่านักกฎหมายได้เข้าหาชาวบ้านในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล โดยบอกว่าสามารถ “ขอคืนเงินภาษี” ที่อิสราเอลให้พวกเขาได้

ตามคำบอกเล่าของเหมียว ชาวบ้านหลายร้อยคนลงชื่อในเอกสารของนักกฎหมายเหล่านี้ แต่ไม่มีใครเคยได้เงินคืน เรื่องเล่านี้ยืนยันข้อเท็จจริงของรายงานว่ามีนักกฎหมายชาวอิสราเอลเป็นตัวแทนของคนงานไทยยื่นฟ้องร้องนายจ้างเพื่อขอเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างงาน ซึ่งเป็นข้อบังคับตามกฎหมายอีกประการหนึ่งที่มักถูกละเลย

องค์กรเอ็นจีโอต่างกังวลกันว่านักกฎหมายเหล่านี้อาจหลอกลวงลูกความของตน อันเป็นความกังวลที่ดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นจากเรื่องเล่าของเหมียว เนื่องจากชาวบ้านได้ลงชื่อในเอกสารและไม่เคยได้รับการติดต่อกลับหรือได้เงินคืน และเนื่องจากพวกเขาอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการการพิจารณาตามกฎหมาย




คนงานไทยบนรถแทรกเตอร์ขณะมุ่งหน้าไปเริ่มทำงานยามเช้า ภาพ: Shiraz Grinbaum / Activestills.org


แรงงานย้ายถิ่นเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ทั่วโลกไว้ในห่วงโซ่ของการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของมนุษย์ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งโอกาสและการกดขี่ กล่าวโดยรวมแล้ว คนงานที่ผมได้พูดคุยด้วย ซึ่งไม่ได้รู้จักผมดีนักและอาจลังเลใจที่จะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา กล่าวถึงการทำงานในอิสราเอลว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี

กระนั้นก็ตาม เราต้องเข้าใจประสบการณ์ที่ว่านี้โดยเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่มี ไม่ว่าจะเป็นการหางานทำที่อื่นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศซึ่งมักมีเงื่อนไขและค่าจ้างที่ย่ำแย่กว่า หรือการติดหล่มอยู่กับการว่างงานและความยากจนที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนในอีสาน

เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านบางคนแล้ว ชาวบ้านที่ได้รับโอกาสทำงานหลังขดหลังแข็งเพื่อแลกกับค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งยังอยู่ห่างไกลบ้านเกิดนับเจ็ดพันกิโลเมตรไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี อาจเป็นคนที่โชคดีแล้ว


มาทาน คามีเนอร์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน งานศึกษาวิจัยของเขาเกี่ยวกับเกษตรกรรับจ้างชาวไทยที่ทำงานในอิสราเอล การรายงานข่าวและการแปลเพิ่มเติมสำหรับบทความต้นฉบับทำโดยดิศราพร ผลาปรีย์