เนื่องจากปั่นงานวิจัยอยู่เลยได้มีโอกาสกลับมาอ่านบทความชิ้นนี้ของ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวาอีกรอบ ชอบมากกกกกกกกกก จำได้ว่าเคยอ่านเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีปีสุดท้าย(ถ้านับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็น่าจะราวๆสิบสองปีที่แล้วเห็นจะได้) แต่ตอนนั้นทักษะทางภาษาและความสามารถในการอ่านของผมแย่กว่าตอนนี้เยอะ เลยไม่ค่อยเข้าใจประเด็นที่แกเขียนเท่าไหร่ พอมาอ่านในตอนนี้ก็เลยซาบซึ้งเลยว่าเป็นบทความที่ดีงามมาก ทั้งในแง่ของการเขียนที่กระชับ ความชัดเจนของทิศทาง ข้อเสนอที่น่าทึ่งและสำคัญที่สุดคือบทความชิ้นนี้เป็นบทความเพียงไม่กี่ชิ้นของ อ.ธเนศที่เขียนถึงสังคมไทยอย่างชัดเจน
เนื้อหาคร่าวๆของบทความนั้น จะเกี่ยวข้องกับกำเนิดของสถาบันทางวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างครอบครัวและความเกี่ยวพันของสถาบันดังกล่าวกับอำนาจทางการปกครองของรัฐสยามที่กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ แน่นอน สำหรับผู้ที่ช่ำชองและศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้างของรัฐดังกล่าว คงเคยผ่านตางานศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงกำเนิดของสถาบันครอบครัวในสมัย ร.6 ในฐานะเครื่องมือของการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่ช่วยยืนยันว่าสยามมีอารยะ เป็นรัฐสมัยใหม่ทัดเทียมกับประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตกทั้งหลาย (อาทิเช่นงานศึกษาของศาสตราจารย์ทามาร่า ลูส์ นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล) กระนั้น สำหรับบทความชิ้นนี้ อ.ธเนศกลับชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของคุณูปการที่การสร้างสถาบันครอบครัวในสมัย ร.6 มีต่อการสถาปนารัฐไทยสมัยใหม่ นั่นคือการที่ครอบครัวดังกล่าวมีสถานะเป็นกลไกหลักสำหรับการสร้างตัวตน(Subject) ให้ผู้คนในขอบขัณฑสีมาของสยามยอมตนเป็นผู้ถูกปกครองภายใต้การปกครองของรัฐไทย หรือก็คือเป็นประชากรภายใต้กลไกการทำงานของสิ่งที่เรียกกันว่า “การปกครองจินตทัศน์” หรือ Governmentality นั่นเอง
ทั้งนี้ หลายคนคงทราบกันดีว่าแนวคิดเรื่อง Governmentality หรือที่ผมแปลเป็นไทยว่า “การปกครองจินตทัศน์” นั้น เป็นหนึ่งในแนวคิดอันลือลั่นของมิเชล ฟูโกต์(Michel Foucault) นักทฤษฎีคนสำคัญแห่งยุค โดยฟูโกต์นั้นได้เคยอธิบายแนวคิดดังกล่าวว่าคือแบบแผนทางการเมืองของรัฐสมัยใหม่ซึ่งหัวใจสำคัญจะมิได้อยู่ที่การมุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและตอบสนองผลประโยชน์ให้กับองค์อธิปัตย์(ดังความเข้าใจที่มักถือกันในทางรัฐศาสตร์) แต่จะอยู่ที่การสร้างตัวตนให้ผู้ถูกปกครองตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นที่ตนเองต้องยอมสยบเชื่อฟังและอยู่ภายใต้การชี้นำของผู้ปกครองโดยดุษฎี ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างตัวตนให้ผู้ถูกปกครองยอมสยบภายใต้คำสั่งของผู้ปกครอง—จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของการสร้างความเป็นสมัยใหม่ในยุโรป--นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงพันธะหน้าที่ของสถาบันครอบครัวจากเดิมที่จะเป็นปริมณฑลส่วนตัวของผู้ถูกปกครองซึ่งผู้ปกครองไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายบงการได้ ก็จะกลายเป็นหน่วยงานทางการปกครองที่ผู้ปกครองสามารถใช้เป็นช่องทางกำกับแบบแผนการใช้ชีวิตของผู้ถูกปกครองโดยอาศัยข้ออ้างเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง(หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่าปัญหาเศรษฐกิจ) ให้กับประชากร ซึ่งจากตรงนี้ อ.ธเนศก็ได้นำเอาทัศนะต่อครอบครัวของฟูโกต์ที่ว่ามาปรับใช้กับสังคมไทยโดยเฉพาะการพิจารณาว่ากำเนิดของสถาบันครอบครัวในสมัย ร.6 นั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการสถาปนารัฐสมัยใหม่ที่ผู้ปกครองสามารถปกแผ่การควบคุมเข้าไปกำกับการใช้ชีวิตของประชากรได้อย่างทั่วถึงชัดเจน เริ่มตั้งแต่นโยบายที่ให้ชาวสยามมีนามสกุลซึ่งถือเป็นการสลายจุดอ้างอิงอัตลักษณ์แต่เดิมของชาวสยามจากที่เคยผูกพันธุ์กับระบบมูลนายและเครือข่ายอุปถัมภ์(ซึ่งเป็นขุมกำลังทางความมั่นคงใต้อาณัติของขุนนางไม่ใช่กษัตริย์) ให้ไปขึ้นกับความสัมพันธ์ที่มีสายเลือดเป็นเกณฑ์กำหนด ตลอดไปจนถึงการสร้างตัวตนของสิ่งที่เรียกว่า “เด็ก” ในฐานะวัตถุมีชีวิตที่ทุกครอบครัวต้องเอาใจใส่ดูแล โดยเฉพาะการสถาปนา “ความเป็นเด็ก” ให้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างมีลักษณะเฉพาะที่ “ผู้ใหญ่” หรือพ่อแม่ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง
การสถาปนา “เด็ก” ในฐานะวัตถุมีชีวิตที่พ่อแม่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้นั้น นับว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างแท้จริงในการสร้างตัวตนให้ประชากรไทยสำนึกถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกครองจากรัฐ เพราะการที่เด็กกลายเป็นวัตถุบางอย่างที่พ่อแม้ไม่อาจเข้าใจนั้น ย่อมทำให้เด็กกลายเป็นปัญหาหรือปริศนาที่มีเพียงรัฐเท่านั้นที่จะช่วยให้พ่อแม่สามารถคลี่คลายได้ ไม่ว่าจะผ่านความรู้ถึงวิธีการเลี้ยงเด็ก(เช่นคู่มือต่างๆ) หรือช่องทางสำหรับเปลี่ยนตัวตนของเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ผ่านการศึกษาภาคบังคับ ด้วยเหตุนี้พร้อมๆไปกับการสถาปนาสถาบันครอบครัว สิ่งที่ตามมาในฐานะกลไกของการสร้างตัวตนความเป็นผู้ถูกปกครองให้กับประชากรในรัฐไทยนั้นจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากโรงเรียนและความรู้ที่รัฐสามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ผ่านการออกแบบหลักสูตรสำหรับการศึกษาภาคบังคับ ผลก็คือเด็ก—ทั้งที่กำลังศึกษาหรือจบการศึกษาภาคบังคับ—ได้กลายเป็นตัวตนแห่งรัฐผ่านความรู้ หรือ Educationally Institutionalized Subject ที่ความรู้จากการศึกษาซึ่งตนรับมานั้นได้เปลี่ยนให้ตนเองกลายเป็นตัวตนที่พร้อมรับการปกครองจากรัฐ ทั้งยังเป็นพาหะส่งต่อ “ความรู้” ดังกล่าวกลับไปหาพ่อแม่ในครอบครัวอีกด้วย “เด็ก” จึงมิเพียงแต่เป็นตัวตนที่แปลกแยกจากความเข้าใจของพ่อแม่ หากแต่ยังเป็น “พาหะทางการปกครอง” ที่ส่งต่อความรู้เพื่อเปลี่ยนตัวตนของพ่อแม่ให้กลายเป็นประชากรที่ยอมรับการถูกปกครองของรัฐไปด้วย การกำกับและสร้างสำนึกถึงการเป็นผู้ถูกปกครองให้กับประชากรไทยจึงมิใช่ความสัมพันธ์ชนิดที่รัฐส่งต่อคำสั่งผ่านพ่อแม่เพื่อควบคุมเด็กหรือ “ผู้ใหญ่สั่งเด็ก” แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ที่เด็กกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นผู้ส่งต่อคำสั่งของรัฐ(ในรูปของความรู้)ไปสู่ตัวผู้ใหญ่ดังที่อาจเรียกว่า “เด็กสั่งผู้ใหญ่” ต่างหาก
แน่นอนว่าข้อเสนอของอ.ธเนศตรงนี้ อาจฟังดูเหลือเชื่อ เกินจริงโดยเฉพาะการอ้างว่าเด็กคือพาหะที่ส่งต่อความรู้ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่กลายเป็นตัวตนที่ยอมรับการถูกปกครองจากรัฐ กระนั้น นอกจากกลไกทางการศึกษาแล้ว อีกหนึ่งกลไกที่ช่วยสลับความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ใหญ่สั่งเด็ก” ไปเป็น “เด็กสั่งผู้ใหญ่” ก็คือการผงาดขึ้นมาของความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูก โดย อ.ธเนศได้ชี้ให้เห็นว่าเดิมที่ก่อนหน้าการสถาปนาเด็กและความเป็นเด็กในฐานะของตัวตนที่แยกขาดจากผู้ใหญ่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกในครอบครัวมักจะมีลักษณะที่ลูกเป็นฝ่ายหวาดกลัวพ่อแม่โดยเฉพาะการมีฐานะเป็นคนรับใช้ภายในบ้าน อย่างไรก็ตามควบคู่ไปกับการขยายตัวของตัวตนที่เรียกกันว่า “เด็ก” ซึ่งแปลกแยกตัดขาดจากผู้ใหญ่นี้ ก็ได้มีการแพร่ขยายของความรับรู้โดยรัฐ ที่มองว่า “เด็ก” นั้นแม้อาจเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ แต่ก็คือภาพแทนอนาคตของครอบครัว เด็กจึง (ถูกทำให้) กลายเป็นความหวังของพ่อแม่ ซึ่งการถูกทำให้กลายเป็นความหวังของพ่อแม่นี้เองที่ได้เปลี่ยนฐานะภายในบ้านของเด็กจากที่เคยเป็นคนรับใช้มาเป็นเจ้านายที่สามารถเรียกร้องความต้องการต่างๆจากพ่อแม่ได้เสมอ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กเองก็จะไม่ได้ตั้งอยู่บนความหวาดกลัวที่เด็กมีต่อพ่อแม่อีกต่อไป หากแต่จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยความรักซึ่งเด็กผู้เป็นความหวังของพ่อแม่และเป็นฝ่ายที่ถูกรักนั้นย่อมมีอำนาจสามารถบงการฝ่ายที่รักตนอย่างพ่อแม่ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน ดังนั้น ด้วยการประสานของกลไกการศึกษาที่เปลี่ยนเด็กไปเป็นพาหะทางการปกครองควบคู่ไปกับการผงาดขึ้นเป็นเจ้านายในครอบครัว เด็กจึงเป็นองค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการสร้างตัวตนให้ผู้ใหญ่กลายเป็นประชากรหรือผู้ถูกปกครองที่ต้องใช้ชีวิตไปตามแนวปฏิบัติของรัฐไทย หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าครอบครัวคือเครื่องมือสำคัญของการสร้างรัฐสมัยใหม่ผ่านการสร้างสำนึกของการเป็นผู้ถูกปกครองให้กับประชากร เครื่องมือดังกล่าว—ในกรณีของสังคมไทย—ก็คงมิใช่อะไรอื่นนอกจากกำเนิดและการดำรงอยู่ของ “เด็ก” นั่นเอง
แนะนำสุดๆครับ สนุกสนานมากมาย คนที่สนใจด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และไทยศึกษาทั้งหลายไม่ควรพลาด ยิ่งสำหรับแฟนคลับของอ.ธเนศแล้วยิ่งไม่ควรพลาดใหญ่ จริงอยู่ ใช่ว่าเนื้อหาในบทความนี้จะสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมดโดยเฉพาะในแง่ของระเบียบและความชัดเจนในส่วนของการแจกแจงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ถ้า อ.ธเนศทำในส่วนนี้เพิ่มก็น่าจะทำให้บทความชิ้นนี้กลายเป็นหนึ่งในงานศึกษาสังคมไทยที่ดีที่สุดได้ไม่ยาก กระนั้น แม้อาจมีข้อด้อยดังกล่าว แต่ลำพังข้อเสนอในบทความนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผมรู้สึกมหัศจรรย์ใจ และยิ่งมหัศจรรย์ใจเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาว่าบทความชิ้นนี้ถูกเขียนตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน (มาก่อนกาลจริงๆ) โดยเฉพาะการเอาแนวคิดของฟูโกต์มาศึกษาสังคมไทยได้อย่างทรงพลังขนาดนี้ โดยสรุปก็คือขอแนะนำบทความนี้อย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆครับ
และแน่นอนว่าสำหรับผมแล้วบทความชิ้นนี้คืองานเขียนที่ดีที่สุดของ อ.ธเนศ อย่างไม่ต้องสงสัย
...
หาซื้อได้ที่...
http://www.washington.edu/uwpress/search/books/TANIMA.html
Policing the Imagined Family and Children in Thailand: From Family Name to Emotional Love
By Thanes Wongyannava
By Thanes Wongyannava
ในหนังสือ
Imagining Communities in Thailand
Ethnographic Approaches
EDITED BY SHIGEHARU TANABE
$28.95S PAPERBACK (9789741339648)