วันจันทร์, พฤศจิกายน 21, 2559

ดูเหมือนนิยามที่ว่า อินเทอร์เน็ตคือโลกไร้พรมแดนคงจะไม่สะท้อนความจริงนัก อย่างน้อยก็ในประเทศไทย...




https://ilaw.or.th/node/4325

ดูเหมือนนิยามที่ว่า อินเทอร์เน็ตคือโลกไร้พรมแดนคงจะไม่สะท้อนความจริงนัก อย่างน้อยก็ในประเทศไทยที่ปัจจุบันยังคงมีการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างบนเว็บไซต์อยู่โดยตลอดภายใต้เหตุผลว่า “มีเนื้อหาและข้อมูลไม่เหมาะสม”
.
จากการบันทึกข้อมูลการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์จากประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 พบว่า เว็บไซต์อย่างน้อย 16 แห่งที่มีเนื้อหาบางส่วนถูกปิดกั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ ทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ
.
โดยการปิดกั้นเว็บไซต์มีลักษณะการแสดงผลแตกต่างกันออกไป จึงน่าสนใจว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ในประเทศไทยมีรูปแบบวิธีการอย่างไร อ่านรายละเอียดต่อได้ในรายงาน วิธีการทางเทคนิค ในการปิดกั้นสื่อออนไลน์หรือ "บล็อคเว็บ"
iLaw

ooo

วิธีการทางเทคนิค ในการปิดกั้นสื่อออนไลน์หรือ "บล็อคเว็บ"

เมื่อ 14 พ.ย. 2559 
โดย iLaw

จากการบันทึกขึ้นมูลการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์จากประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 พบว่า เว็บไซต์อย่างน้อย 16 แห่งที่มีเนื้อหาบางส่วนถูกปิดกั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ ทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาพอจะแบ่งได้ดังนี้

1. เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ฯ ของไทย จำนวน 14 เว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ข่าวบลูมเบิล์ก, อินเทอร์เนชั่นแนล บิสสิเนส ไทม์, เดลี่เมล์, เดอะ นิวยอร์กโพสต์, เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล, ซีทีวี นิวส์

2. เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจำนวน 1 เว็บไซต์ได้แก่ บทความ “Cambodia mulls Thai junta’s request for three extraditions” ของพนมเปญโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการส่งตัวผู้กระทำผิดมาตรา 112 ที่พำนักอยู่ในกัมพูชากลับประเทศไทย

3. เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในการไล่ล่าผู้ถูกกล่าวว่ากระทำผิดมาตรา 112 จำนวน 2 เว็บไซต์ คือ ประชาไท อิงลิช และเดอะ นิวยอร์ค โพสต์

ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของประเทศไทยบางแห่งมีการลบเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเช่น ไทยรัฐออนไลน์, คมชัดลึกออนไลน์, มติชนออนไลน์, กระปุก และเอ็มไทย

ในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ภาพแสดงผลที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ เป็นภาพสัญลักษณ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมเป็นกระทรวงไอซีที) แต่บางครั้งเมื่อเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างไม่ได้ คอมพิวเตอร์ก็จะแสดงผลเป็นภาพอื่นๆ เช่น ขออภัย การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวถูกปิดกั้นเนื่องจากมีเนื้อหา ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาล จึงน่าสนใจว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ในประเทศไทยมีรูปแบบวิธีการอย่างไร ทำไมจึงแสดงผลต่อผู้ใช้ได้ต่างกัน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai netizen network) อธิบายรูปแบบารปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ว่า การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์สามารถทำได้สามรูปแบบคือ การปิดกั้นผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP), การขอความร่วมมือให้เว็บไซต์ลบเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ทิ้ง และการตั้งค่าเว็บไซต์หรือเนื้อหาบางส่วนให้ผู้ใช้ทั้งประเทศไม่สามารถเข้าอ่านได้ มีรายละเอียดดังนี้

1.การปิดกั้นผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นหัวเรือหลักในการปิดกั้นรูปแบบนี้ด้วยการรวบรวมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของกระทรวงฯ อาทิ มีเนื้อหาลามกอนาจาร, สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในราชอาณาจักรหรือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวบรวมรายชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (URL) และส่งคำขอไปยังศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ ก่อนจะส่งรายชื่อดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) เช่น ทรู, เอไอเอส, ทรีบอร์ดแบรนด์ ทำหน้าที่ปิดกั้น

ตามปกติแล้วการเข้าอ่านเนื้อหาในหน้าเว็บไซต์จะมีการเชื่อมต่อในสามส่วน คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ต่อกับเราท์เตอร์อินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ต้องการเข้าอ่านเนื้อหา โดยผู้ใช้จะต้องพิมพ์ที่อยู่เว็บไซต์ลงในหน้าเว็บเบราเซอร์ เพื่อส่งคำขอไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก่อนที่ผู้ให้บริการจะส่งคำขอต่อไปยังเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ต้องการ หลังจากนั้นเมื่อเว็บไซต์ส่งข้อมูลกลับมาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการจะมีรายชื่อที่อยู่เว็บไซต์ที่ศาลสั่งให้ปิดกั้นอยู่ หากเป็นเว็บไซต์ทั่วไปผู้ให้บริการจะส่งข้อมูลกลับไปที่ผู้ใช้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลตามรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นผู้ให้บริการจะส่งภาพแสดงผลกลับไปยังผู้ใช้ว่า ไม่สามารถเข้าอาจเนื้อหาได้

สำหรับรูปแบบการแสดงผลการปิดกั้นเว็บไซต์ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนนัก บางครั้งรูปแบบการแสดงผลอาจมาจากผู้ส่งคำขอปิดกั้นเว็บไซต์ เช่น การแสดงผลเป็นโลโก้ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ขณะที่บางครั้งรูปแบบการแสดงผลอาจขึ้นอยู่กับการเลือกของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่อาจเลือกวิธีการแสดงผลของตนเอง หรือการแสดงผลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม




ภาพที่ 1 การแสดงผลการปิดกั้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม




ภาพที่ 2 การแสดงผลการปิดกั้นของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)


อย่างไรก็ดี ในยุคหลังมานี้วิธีการปิดกั้นผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิ้ล ที่มีการเข้ารหัสเว็บไซต์ส่งผลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถรู้ว่า ผู้ใช้งานติดต่อเพื่อเรียกดูข้อมูลหน้าใด จึงไม่สามารถปิดกั้นได้ หากต้องการจะปิดกั้นต้องปิดทั้งเว็บไซต์ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามขอความร่วมมือไปยังเจ้าผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านี้

2.การขอความร่วมมือให้เว็บไซต์ลบเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ทิ้ง

การขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการเนื้อหาของเว็บไซต์ (Content Provider หรือบางครั้งเรียกว่า Webmaster) ลบเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ทิ้ง โดยคำสั่งดังกล่าวอาจมาจากทางรัฐบาลหรือผู้ให้บริการเว็บไซต์ก็เป็นได้เช่น กรณีของสำนักข่าวอิศราที่ได้รับแจ้งจาก บริษัท CS Loxinfo ซึ่งเป็นผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ขอความร่วมมือให้สำนักข่าวอิศราปิดรายงาน เรื่อง 'ปีทองของ“ชลรัศมี” ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน' โดยระบุเหตุผล ว่า เนื่องจาก CS Loxinfo ได้รับแจ้งจากเว็บไซด์กลางของหน่วยงานราชการขอความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลรายงานเรื่องนี้บนสื่ออินเตอร์เน็ต




ภาพที่ 3 รายงานเรื่อง "ปีทองของ“ชลรัศมี”ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน"ของสำนักข่าวอิศรา


อีกกรณีหนึ่งคือ ผู้ให้บริการเว็บไซต์นั้นสามารถจัดการนำเนื้อหาออกเองผ่านการรีพอร์ตของผู้ใช้ หากผู้ให้บริการเว็บไซต์นั้นเห็นว่า เนื้อหาที่ถูกรีพอร์ตมีความไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดอย่าง พันทิปข้อบังคับกำหนดไว้ชัดเจนห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันมหากษัตริย์และราชวงศ์, ห้ามไม่ให้เขียนข้อความที่ดูหมิ่นต่อบุคคลอื่น หรือห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของสังคม หากกระทู้ถูกรีพอร์ตเข้าไปจำนวนมากอาจจะถูกลบได้ หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ตรวจพบเองว่า มีการทำผิดกฎกติกาที่วางไว้ กระทู้ดังกล่าวก็จะถูกลบเช่นกัน

3.การตั้งค่าเว็บไซต์หรือเนื้อหาบางส่วนให้ผู้ใช้ทั้งประเทศไม่สามารถเข้าอ่านได้

การตั้งค่าเว็บไซต์หรือเนื้อหาบางส่วนไม่ให้ในประเทศสามารถเข้าอ่านได้ เช่น กรณีของประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2009 รัฐบาลได้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ทำให้ทุกคนที่อยู่ในจีนไม่สามารถใช้งานได้ เช่นเดียวกับกรณีของตุรกีที่รัฐบาลได้มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในระดับประเทศไม่ว่าจะสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงบริการข้อความเช่น วอทส์แอพและสไกป์ นอกจากนี้การปิดกั้นในลักษณะดังกล่าวสามารถใช้กับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเว็บไซต์จะกรองข้อมูลชองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเลข IP Address ที่จะระบุว่าผู้ใช้งานเชื่อมต่อมาจากประเทศใด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เว็บไซต์ยูทูบที่บางเนื้อหาไม่สามารถเข้าชมได้ ยูทูบจะขึ้นข้อความแสดงผลว่า “This video is not available in your country.”