ooo
เวียนมาถึงอีกแว้ววว สำหรับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่างานใหญ่จะจัดขึ้น ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นประจำทุกปี เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุผลที่เชื่อกันว่า “ต้นกำเนิดของการจัดงานประเพณีลอยกระทง ในประเทศไทย ซึ่งได้ริเริ่มมานับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี” !?!
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดนี้ ยกมาจากจดหมายเชิญสื่อมวลชนที่จัดทำขึ้นในนาม จังหวัดสุโขทัย โดยอ้างว่าเป็นคำพูดของนาย จักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ได้รับการถ่ายทอดกันมานาน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆสนับสนุนเลย สำหรับวรรณคดีเรื่อง ‘นางนพมาศ’ ซึ่งระบุว่าเป็นสนมของพระร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์สุโขทัยนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 นี้เอง ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์”
ความจริงแล้ว ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงวิชาการ ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ หรือความรู้ใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จะจัดงานลอยกระทงใหญ่โต จะจัดประกวดนางนพมาศหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ควรมีการอธิบายข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ประชาชนเข้าใจในข้อเท็จจริง
อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่น่าจะช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีดังกล่าวก็คือ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก่อนอื่น ต้องสารภาพก่อนว่า ไม่ได้ไปมิวเซียมดังกล่าวมานานหลายปี แต่เท่าที่ผ่านตา ยังไม่เคยเห็นการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีการลอยกระทง และวรรณคดีเรื่องนางนพมาศอย่างจริงจัง
หากมีการจัดนิทรรศการในประเด็นนี้ควรหยิบยกเรื่องราวของการขอขมาน้ำ ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ของผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่พบหลักฐานมากมาย อาทิ ภาพสลักที่ปราสาทบายน ประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1750 ก่อนที่รุ่งอรุณแห่งความสุขอย่างสุโขทัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลน่าสนใจที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อดีตบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยเขียนไว้ว่า
พิธีขอขมาดินน้ำเดือน 12 ที่ไทยเรียกลอยกระทง เทียบได้กับขึ้นปีใหม่ในทางสากล เพราะเสร็จพิธีก็เข้าฤดูกาลใหม่ เรียกเดือนอ้าย หรือเดือนที่หนึ่งของปีนักษัตรใหม่
นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ระบุถึงพิธีในทำนองนี้หลายอย่าง เช่น พิธีพายเรือ, พิธีลอยประทีป, พิธีไหว้พระแข (พระจันทร์) ก่อนจะกลายมาเป็น ‘ลอยกระทง’ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ บ่งบอกถึงพัฒนาการของประเพณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ประเด็นเหล่านี้ น่าจะได้รับการพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไม่ว่าจะแบบถาวร หรือแบบหมุนเวียนเมื่อเข้าสู่เทศกาลลอยกระทงในแต่ละปี หรือหากมีการจัดอยู่แล้ว ก็ขอยกย่องและส่งแรงเชียร์ให้จัดต่อไปทุกปี
งานแสง เสียง สี อันเอิกเกริก จะได้ไม่เพียงสร้างความสุขให้แก่ผู้คนเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความรู้อันเป็นพื้นฐานของความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองต่อไป
ที่มา
ooo
สุจิตต์ วงษ์เทศ : นางนพมาศ และนางอื่นๆ ล้วนทำหน้าที่เพื่อความเป็นไทย
ที่มา Chaopraya News
สุจิตต์ วงษ์เทศ
นางนพมาศ ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นชื่อสมมุติ “ตัวเอก” ของ “เรื่องแต่ง” ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ใช้ฉากสมมุติเป็นกรุงสุโขทัย
ลอยกระทงจึงไม่เคยมีในยุคสุโขทัย ดังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน เมื่อ พ.ศ. 2479 มีความตอนหนึ่งว่า “หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์”
แต่ราชการไทยใช้ชื่อนางนพมาศโฆษณาความเป็นไทยลอยกระทงหลอกๆ เพื่อ “ขาย” การท่องเที่ยว
หนังสือนางนพมาศ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็น “ตำรา” หรือ “คู่มือ”ปฏิบัติราชการในหน้าที่นางสนม, นางกำนัล, นางใน
ผู้ที่จะรับราชการหน้าที่เหล่านี้ได้ ก็มีแต่ลูกสาวอำมาตย์ขุนนางข้าราชการและผู้มีทรัพย์ ดังกลอนตำนานพระราชนิพนธ์ไกรทอง ของ ร.2 ตอนหนึ่งบอกไว้ว่าพวกขุนนางถวาย “ลูกสาว” ถ้าไม่มีลูกสาวมีแต่ลูกชายก็ถวาย “หลานสาว” พวกเป็นหมันไม่มีลูกก็ถวาย “น้องเมีย” ดังนี้
เหล่าขุนนางต่างถวายบุตรี
พวกที่มีบุตรชายถวายหลาน
ปะที่เป็นหมันบุตรกันดาร
คิดอ่านไกล่เกลี่ยน้องเมียมา
ประเพณีถวาย “ลูกสาว” อย่างนี้มีมาก เพราะหมายถึงอำนาจและความมั่งคั่งจะตามมา พ่อแม่ของนางนพมาศก็หวังอย่างเดียวกับคนอื่นๆ จึงมีพ่อค้านานาชาติพากันถวายด้วยดังนี้
ทั้งจีนแขกลาวพวนญวนทวาย
ต่างถวายลูกเต้าเอาหน้า
เขมรมอญชาวชุมพรไชยา
ทุกภาษามาพึ่งพระบารมี
เมื่อมีผู้ถวาย “ลูกสาว” จำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นสาวรุ่นยังไม่ประสาหน้าที่การงาน ดังนางนพมาศอายุราว 15-17 ปีเท่านั้น และมีที่มาหลากหลาย หรือร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งมีภูมิหลังและกมลสันดานต่างๆกัน
ดังนั้น ทางราชการจำเป็นต้องสร้าง “ตำรา” หรือ “คู่มือ” ให้บรรดาลูกสาวหลานสาวเหล่านั้นฝึกปรือตนเองเพื่อปรนนิบัติพัดวีมีจริตกิริยาอย่าง “ผู้ดี” มีลาภยศสรรเสริญ
สนมกำนัลในแต่ละยุคมีนับร้อย แต่จริงๆ แล้วอาจนับไม่ถ้วน จึงแบ่งได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับบนที่เรียกเจ้าจอมหม่อมห้าม มีฐานะเทียบเท่า “เมียน้อย”, “เมียเก็บ” จนระดับล่างที่เรียกกันทั่วไปสมัยหลังว่า “นางห้าม“, “นางบำเรอ” แต่ทุกนางล้วนทำเพื่อตัวเองและวงศ์ตระกูลของตนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับส่วนรวม
ทุกวันนี้มีประกาศผ่านสื่อว่าบางโรงเรียนและศูนย์การค้าบางแห่ง เชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกสาวหลานสาวเข้าประกวดนางงามนพมาศ, หนูน้อยนพมาศ, ฯลฯ
ถ้ายกย่องนางนพมาศอย่างนั้น ทุกสถาบันก็ควรอธิบายอย่างยกย่องนางอื่นๆ ให้เสมอภาคด้วย เช่น นางโลม, นางกลางเมือง, นางนวด (หมอนวด), ที่เป็นนาง (หญิง) ขายบริการอยู่ในซ่องอาบอบนวดทั่วประเทศ
เพราะนางพวกนี้ทำเพื่อสังคม คือช่วยหารายได้เพิ่มจีดีพีทุกปี แล้วเพิ่มได้มากๆ ด้วย