โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
ที่มา ประชาไท
15 พฤศจิกายน 2557
คำกล่าวที่ว่า “มีปัญหาอะไรให้ไปเสนอที่ สปช.” เป็นคำกล่าวที่หัวหน้า คสช. ใช้บ่อย ๆ ในการออกโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ รวมทั้งทหารภายใต้ คสช. ที่ใช้พูดบีบบังคับประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวให้หยุดเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่ไม่ถูกใจหรือเห็นต่างต่อ คสช. ช่างเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยอย่างยิ่ง เพราะลำพัง สปช. หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ องค์กรหนึ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (‘รัฐธรรมนูญชั่วคราว’) มีหน้าที่เพียงแค่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ซึ่งข้อเสนอแนะนั้นจะถูกนำไปปฏิบัติใช้หรือไม่ก็ไม่มีหลักประกันหรือบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ต้องกระทำหรือปฏิบัติตาม
และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทบไม่มีกลไกที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่องทางของประชาชนที่จะเสนอความเห็นไปที่ สปช. เลย ยกเว้นมาตรา 34 ที่บัญญัติให้นำความเห็นของประชาชนร่วมกับความเห็นของ สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความเห็นอันเบาบางของประชาชนท่ามกลางองค์กรที่มีพลังอำนาจในการแสดงความเห็นและบังคับให้ความเห็นขององค์กรตนถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
ในส่วนการเสนอความเห็นอื่น ๆ ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถลงรายละเอียดได้ หรือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าหรือเร่งด่วน อาทิเช่น ปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน ความยากจน การเรียกร้องคัดค้านนโยบาย แผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนและชุมชนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ เป็นต้น ไม่มีกลไกใดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บัญญัติให้ สปช. ต้องกระทำหรือรับความเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชนแต่อย่างใด
การที่ สปช. รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ ส่วนราชการ สื่อมวลชน ฯลฯ ที่คาดหวังกับบทบาทหน้าที่ของ สปช. (หรือบางองค์กร/หน่วยงานอาจจะรู้อยู่แล้วด้วยซ้ำว่าบทบาทหน้าที่ของ สปช. ไม่สามารถตอบสนองต่อความเห็น ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะของประชาชนได้) ได้กระทำการจัดเวทีและกระบวนการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้ก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าความคิดเห็นของประชาชนจะถูกนำเอาไปใช้ในการปฏิรูปบ้านเมืองภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ได้หรือไม่
แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะให้ สปช. มีอำนาจหน้าที่หลายด้านก็ตาม โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอแนะหรือให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ด้านที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยคำกล่าวที่ว่า “(ประชาชน) มีปัญหาอะไรให้ไปเสนอที่ สปช.” เป็นด้านที่เลื่อนลอยและหลอกลวง
รัฐธรรมนูญชั่วคราวรับรองการใช้อำนาจของกฎอัยการศึกและ คสช.
รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้แบ่งแยกการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการไว้โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นมารองรับ นอกจากนั้นยังสร้างองค์กรชั่วคราวขึ้นมาเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คือ สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวน่าจะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ แต่บ้านเมืองเรากลับตกอยู่ในสภาวะที่การใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึกเป็นความชอบธรรมที่ถูกรองรับโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวสร้างปัญหาในตัวมันเอง กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรา 44 ได้รับรองการใช้อำนาจของกฎอัยการศึกและ คสช. ที่ยังสามารถคงสถานะอยู่ได้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนี้
“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทําน้ันจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมท้ังการปฏิบัติตามคําส่ังดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งน้ี เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”
แม้หลังจากที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เรายังคงเห็นประชาชนจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่ไม่ถูกใจหรือเห็นต่างต่อ คสช. ถูกเรียกไปรายงานตัวภายใต้บังคับของกฎอัยการศึกที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวรองรับ
คำถามต่อภาคประชาชน
ในขณะที่ประชาชนถูกยัดเยียดให้เสนอปัญหาไปที่ สปช. เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่อีกด้านหนึ่งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ คือ ครม. และ สนช. กลับสวนทางและไม่รอการปฏิรูป ด้วยการมีมติ ครม. และเร่งรัดออกกฎหมายเพื่อผลักดันโครงการ แผนงานและนโยบายต่าง ๆ มากมายที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ คำถามต่อภาคประชาชนจึงมี ดังนี้
1. เรากำลังปฏิรูปอะไรภายใต้การเร่งรัดให้มีมติ ครม. และออกกฎหมายเพื่อผลักดันโครงการ แผนงานและนโยบายต่าง ๆ ที่สวนทางและไม่รอการปฏิรูปที่วางเป้าหมายจะขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. เราไม่รู้หรือเราแกล้งไม่รู้ว่าโครงสร้างอำนาจรัฐที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูป เพราะไม่มีกลไกหรือช่องทางใดที่รับฟังปัญหา ความเห็นและข้อเสนอของประชาชนอย่างแท้จริง
3. เราควรต้องรู้หรือไม่ว่า “เราไม่อาจแยก สปช. หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ องค์กรที่เกิดจากผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ออกจากสมัชชาปฏิรูปและคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้นหลังประชาชนถูกฆ่าตายกลางกรุงเทพฯ เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้หรอก” และใครกันที่ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปครั้งนั้นจนมาถึงครั้งนี้ ซึ่งเป็นบุคคล/กลุ่มบุคคลที่สิงสถิตย์อยู่ในองค์กรอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและองค์กรตระกูล ส. ต่าง ๆ ที่เกลียดกลัวการเลือกตั้งและการเติบโตของพลังประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง แต่เลือดเย็นต่อความตายของประชาชนกลางถนน