วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 27, 2557

จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 3




หลังจากที่เมื่อวานนี้ (วันที่ 25 พ.ย.) มีหนึ่งกำลังใจส่งช่อดอกไม้มาติดที่หน้าบ้านดาวดินพร้อมกับข้อความ "คิดฮอดน้อง อยากให้น้องกลับมาอยู่บ้านอย่างปลอดภัย" และอีกหลายกำลังใจที่ส่งมาทาง facebook ทำให้พวกเรามีกำลังใจที่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป

วันนี้ (26 พ.ย.) ในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.30 น. มีผู้ปกครองของ 1ใน 5 ได้เข้ามาที่บ้านดาวดินเพื่อถามถึงความเป็นไป โดยได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเรียนและเรื่องความปลอดภัยของลูกชายและคนอื่นๆในดาวดิน

ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 ได้มี เจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี้ ได้เข้ามาที่บ้านดาวดินเพื่อเยี่ยมเยือนและสอบถามพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่หลังจากถูกคุกคามและได้เสนอช่องทางการให้ความช่วยเหลือดาวดินจากการถูกคุกคามดังกล่าว

ในช่วงเย็นได้มีรถกระบะสีแดงน่าสงสัยขับชะลอหน้าบ้านดาวดิน

ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว แต่การถูกคุกคามยังคงดำเนินอยู่ แต่เพราะพวกเราได้รับกำลังใจจากทุกคนทำให้พวกเราเชื่อว่าพวกเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว

เขียนที่ นอกบ้านดาวดิน (เสียดายจดหมายจากบ้านแต่ไม่ได้เขียนที่บ้าน)
วันที่ 26 พ.ย. 2557
เวลา 20.30 น.
ooo


แอมเนสตี้ฯ บุกพบ สนช. ห่วงร่าง ก.ม.ชุมนุมสาธารณะลิดรอนสิทธิ ปชช.

Tue, 2014-11-25 20:02
ที่มา ประชาไท

25 พ.ย.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบประธานอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ระบุมีเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะ เดินทางเข้าพบพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ และคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นที่ร่างกฎหมายเปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง ที่อาจนำมาซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และข้อกังวลเกี่ยวกับการเอาผิดทางอาญากับผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ รวมถึงยังมีการนิยามหรือใช้ถ้อยคำที่มีมีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน และอาจเกิดปัญหาการตีความและใช้บังคับกฎหมาย

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยกล่าวว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าในมาตรา 7 และมาตรา 12 (1) และ 18 (1) ที่ใช้คำว่า ‘ความสะดวก’ นั้นเปิดโอกาสให้มีการตีความและการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง เพื่อจำกัดการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งอำนาจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งข้อกังวลโดยเฉพาะในเนื้อหาของมาตรา 7 ที่ระบุว่า การชุมนุมโดยสงบอาจถูกตีความว่า ‘ไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ’ และเป็นเหตุนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีและการใช้กำลังของตำรวจได้ เพียงเพราะเหตุที่ว่าการชุมนุมนั้นเป็นเหตุให้มีการ ‘กีดขวางมิให้ประชาชนใช้ทางหลวงหรือทางสาธารณะได้ตามปกติ’...”

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมขนาดเล็กอย่างสงบ เช่น การชุมนุมบนถนนหรือตามจัตุรัสในเมืองย่อมทำให้เกิด “การขัดขวางการใช้ประโยชน์ตามปรกติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อกำหนดข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมเปิดโอกาสให้ทางการสั่งห้ามหรือยุติการชุมนุมได้โดยง่าย แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบก็ตาม ในทำนองเดียวกัน คำว่า “การขัดขวาง” มีความหมายที่กว้างมาก และอาจถูกใช้โดยพลการเพื่อยุติการชุมนุมโดยสงบ

ทางด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การปฏิบัติตามร่างกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต้องอาศัยดุลยพินิจส่วนตัวของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เช่น เมื่อ “แจ้ง”ล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง แล้วก็ต้องรอการ “เห็นชอบ”เพื่อพิจารณาว่าผู้จัดการชุมนุมสามารถจัดได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติจริงจึงอาจตีความได้ว่า ผู้จัดการชุมนุมต้อง ‘ขออนุญาต’ จากเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อจัดการชุมนุมหรือไม่ จึงไม่ใช่แค่เพียงการ ‘แจ้งล่วงหน้า’ ซึ่งอาจผิดไปจากเจตนารมณ์ของการแจ้งการจัดชุมนุมล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง

รองประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเกิดความสับสน เพราะประชาชนและเจ้าหน้าที่อาจมีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายและตีความแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจบังคับใช้กฎหมายในระดับมาตรฐานที่แตกต่างกัน และทำให้ประชาชนบางส่วนอาจปฏิเสธดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งต่อการสร้างบรรทัดฐานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต

ด้านพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวภายหลังการพูดคุยว่า จะนำข้อห่วงใยและเอกสารรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไปมอบให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะรัฐบาลต้องการกฎหมายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถให้การคุ้มครองทั้งผู้ชุมนุมและผู้ดูแลการชุมนุมด้วย

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมีข้อเสนอแนะต่อต่อร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... โดยแบ่งเป็นข้อเสนอแนะในภาพรวม 5 ประการ ได้แก่

1. ถอนการประกาศการเลี่ยงพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยได้แจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557

2. ประกันว่าจะมีการนำข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการจัดทำขึ้นใหม่

3. ประกันว่ากฎหมายภายในประเทศทุกฉบับจะมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

4. ยกเลิกข้อกำหนดใดๆ ที่ประกาศตามกฎอัยการศึก ซึ่งส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อสิทธิมนุษยชน

5. กระตุ้นให้มีการยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกฉบับที่จำกัดสิทธิมนุษยชนโดยรวม และจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นการเฉพาะ

และข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ดังนี้

1. เปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 7 และมาตราอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยให้เหลือเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเท่าที่กระทำได้ตามข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2. ประกันว่า โดยการประกาศใช้กฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งใดๆ การจำกัดสิทธิต้องได้รับการตีความอย่างแคบทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ และเป็นไปตามหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน

3. เปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 11 เพื่อตัดเงื่อนไขที่อาจตีความให้ต้องขออนุญาตก่อนจัดการชุมนุม

4. จำกัดเงื่อนไขของผู้จัดการชุมนุมให้เหลือเพียงการแจ้งล่วงหน้า กรณีที่การชุมนุมนั้นอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในระดับหนึ่ง

5. ให้ตัดเนื้อหาใดๆ ที่มีข้อกำหนดให้ลงโทษทางอาญาหรือทางปกครอง ทั้งที่เป็นโทษจำคุกหรือค่าปรับ กรณีที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม

6. ให้ตัดเนื้อหาใดๆ ที่มุ่งเอาผิดทางอาญากับผู้จัดและผู้ประท้วง โดยคำนึงว่าควรใช้กฎหมายอาญาทั่วไปกับผู้ประท้วง เช่นเดียวกับที่ใช้กับบุคคลอื่นๆ