ที่มา FB Sopon Pornchokchai
ม.ร.ว.ปรีดิยธรเข้าใจผิดอย่างแรงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกับการสร้างถนน
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
ม.ร.ว.ปรีดิยธรอ้างการก่อสร้างถนนในเขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) บางแห่งไม่มีคุณภาพ จึงไม่ต้องการให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเฉพาะด้านการก่อสร้างถนน
ตามที่มีข่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้วิจารณ์ผลเสียของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า"บางอย่างเมื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการ ก็ไม่คุ้มค่าการลงทุนเพราะความสามารถหรือสมรรถนะของท้องถิ่นไม่เพียงพอ รูปธรรมที่ชัดเจนคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นซ่อมถนน ตรงนี้ถือเป็นความซวย เพราะเมื่อให้ท้องถิ่นซ่อมถนน ระหว่างหมู่บ้านก็จะได้ถนนที่เละที่สุด และเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับถนนของกรมทางหลวง ต้องยอมรับว่ามาตรฐานของกรมทางหลวงไทยยอดเยี่ยมที่สุดในภูมิภาค ไม่มีใครสู้เพราะกรมทางหลวงของเรามี มาตรฐานที่สูงมาก ไม่เชื่อขับถนนไปทั่วอาเซียนจะรู้เลยว่ามาตรฐานเราสูงจริง ขณะที่เมื่อท้องถิ่นซ่อมถนน จะไม่มีมาตรฐานเอางบประมาณไปให้ผู้รับเหมาธรรมดา ทั้งต้นทุนที่สูงและมาตรฐานที่ผู้รับเหมาธรรมดาซ่อมถนน จะไม่ได้มาตรฐานเลย ต่อให้อีก 100 ปีถนนที่ อบต. ทำก็สู้กรมทางหลวงไม่ได้" {1}
ข้างต้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง โดยที่มีข้อมูลผิด นโยบายก็จะผิดไปด้วย ผลที่จะตามมาก็คือการบริหารราชการผิดพลาด ส่งผลเสียใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ประเทศไทยมีถนนรวมกันยาว 180,053 กิโลเมตร {2} โดยที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทนั้นมี 115,760 กิโลเมตร {3} ถนนส่วนที่เหลืออีก 64,293 กิโลเมตร หรือ 36% อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่าง ๆ แม้จะดูว่า อปท.จะมีส่วนสร้างถนนเพียง 36% แต่ส่วนมากเพิ่งได้รับโอนอำนาจมาไม่นานต่างจากทางราชการที่ก่อสร้างถนนมานานแล้ว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรพูดออกมาโดยไม่มีสถิติบ่งชี้ว่าถนนที่ อปท. สร้าง "เละที่สุด" อย่างไร การที่คนระดับรองนายกรัฐมนตรีกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวที่หมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหาให้ร้าย อาจได้แต่ฟังคำเพ็ดทูลที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจากข้าราชการที่ไม่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจ สร้างผลร้ายต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตามที่ คสช.ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อาจไม่ทราบถึงทางหลวง 6 ประเภท ตาม พรบ.ทางหลวง พ.ศ.2535 {4} คือ
1. ทางหลวงพิเศษ คือทางหลวงที่ได้ออกแบบเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้เป็นทางหลวงพิเศษ
2. ทางหลวงแผ่นดิน คือทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา
3. ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาล และเขตสุขาภิบาล ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษา
4. ทางหลวงเทศบาล คือ ทางหลวงในเขตเทศบาล ที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา
5. ทางหลวงสุขาภิบาล คือ ทางหลวงในเขตสุขาภิบาล ซึ่งปัจจุบันนี้ยกระดับเป็นเทศบาลหมดแล้ว
6. ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน
จะเห็นได้ว่าได้มีการแบ่งความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างทางหลวงแก่หน่วยงานระดับต่างๆ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า "ผู้รับเหมาธรรมดาซ่อมถนน จะไม่ได้มาตรฐานเลย" เพราะเป็นถนนคนละประเภทกัน เทคโนโลยีการสร้างทางหลวงก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไม่อาจรู้เท่าทันกันได้ ยิ่งในปัจจุบันในหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ก็ใช้ผู้รับเหมาสร้างภาคเอกชนทั้งสิ้นและก็แทบไม่มีปัญหาความเสียหาย ในทางตรงกันข้ามการให้บริษัทใหญ่ๆ สร้างทางหลวงทุกระดับคงทำให้เกิดการผูกขาดและขาดความคล่องตัวเป็นอย่างยิ่ง
รองนายกรัฐมนตรียังเข้าใจผิด ๆ อีกว่า ทางหลวงของไทยดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากท่านเคยเดินทางไปที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย จะเห็นได้ว่าทางหลวงของมาเลเซียมีสภาพที่ดีกว่าไทยมาก และยังมีทางหลวงพิเศษหลายต่อหลายสาย อำนวยความสะดวกต่อการเดินทางอย่างชัดเจน ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับการจัดสรรงบประมาณมากกว่าความสามารถในการก่อสร้างตามที่รองนายกรัฐมนตรีเข้าใจคลาดเคลื่อน
รองนายกรัฐมนตรีไม่สามารถมองเห็นทางแก้ไข จึงกล่าวว่า "เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้" แต่ในความเป็นจริงแก้ไขได้ ปัญหาก็คือการว่าจ้างที่ไม่โปร่งใส ตั้งแต่การคัดเลือกผู้รับเหมา การจัดการประมูล การตรวจสอบรับมอบถนน การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ อปท. ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้อง แต่กลไกเหล่านี้อาจไม่ได้ดำเนินการเท่าที่ควร
ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลพึงมีวิสัยทัศน์ว่า จะต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อความเป็นอิสระของท้องถิ่นยิ่งขึ้น ในสหรัฐอเมริกา รายได้ของ อปท. มาจากภาษีในท้องถิ่นถึง 60-70% แต่ในกรณีประเทศไทย ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้เฉลี่ยเพียง 10% ของรายได้ {5} งบประมาณของท้องถิ่นจึงมาจากการอุดหนุนจากส่วนกลาง ดังนั้นเมื่อส่วนกลางส่งงบประมาณไป ท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ จึงมักเกิดอาการ “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง”
แต่หากภาษีที่เก็บได้ใช้ในท้องถิ่นเป็นหลัก เงินที่จะส่งไปส่วนกลางก็จะน้อยลง โอกาสที่นักการเมืองและข้าราชการประจำส่วนกลางจะโกงจึงมีน้อยลง การที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเสียภาษีและบริหารภาษีของตนเอง คนในท้องถิ่นที่เสียภาษีก็คงจะจับตาดูการใช้จ่ายเงินของพวกตนมากขึ้น โอกาสการโกงก็จะน้อยลง คนดีๆ ในท้องถิ่นก็จะสนใจมาทำงานการเมืองเพื่อท้องถิ่นมากขึ้น ระบอบประชาธิปไตยก็จะได้รับการพัฒนาอย่างหยั่งรากลึก
ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็จะเริ่มต้นด้วยการทำให้การเมืองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยประชาชนมีส่วนร่วม รูปแบบที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่แท้ก็คือการมีส่วนร่วมในการเสียภาษีเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นนั่นเอง ถ้าระบอบประชาธิปไตยในท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยเงินงบประมาณของตนเอง ก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยในระดับประเทศเข้มแข็งไปด้วย ไม่ใช่เป็นระบอบคณาธิปไตยที่ต้องพึ่งส่วนกลาง
โดยสรุปแล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยธร รองนายกรัฐมนตรีอาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบบทางหลวงและไม่ได้ไปดูทางหลวงในมาเลเซียที่ก้าวหน้ากว่าไทยเพียงใด จึงไม่อยากให้ อปท. ได้จัดการก่อสร้างถนน ทางออกควรอยู่ที่การตรวจสอบ การประมูล การปราบปรามการทุจริต ไม่ใช่ให้กรมทางหลวง (ชนบท) ดำเนินการซึ่งสวนทางกับการกระจายอำนาจที่ดำเนินมามากกว่า 20 ปีแล้ว การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ในท้องถิ่นและให้ท้องถิ่นไม่ต้องพึ่งพิงส่วนกลางน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน
อ้างอิง
{1} หม่อมอุ๋ย แฉ ด้านมืด กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซ่อมถนนสุดเละ ไม่มีมาตรฐานwww.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415342869
{2} CIA World Factbook: www.cia.gov/libra…/publications/the-world-factbook/…/th.html
{3} ถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทhttp://vigportal.mot.go.th/portal/…/PortalMOT/stat/index6URL
{4} ทางหลวงในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535www.doh.go.th/web/data/data_1.html
{5} การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลอสแองเจลิสwww.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php…