
ย้อนจุดกำเนิด "ซูเปอร์แมน" ยุคแรกเริ่ม เหตุใดจึงเปิดตัวเป็นกบฏสังคมนิยมหัวรุนแรง
นิโคลัส บาร์เบอร์
บีบีซี คัลเจอร์
15 กรกฎาคม 2025
ภาพยนตร์ "ซูเปอร์แมน" เวอร์ชันใหม่ของผู้กำกับเจมส์ กันน์ ได้ลงโรงฉายแล้วทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน ทว่านับตั้งแต่เริ่มมีการโปรโมตตัวอย่างภาพยนตร์ผ่านสื่อหลายช่องทาง เหล่าแฟนพันธุ์แท้ซูเปอร์แมนต่างก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันทางออนไลน์ว่า บุรุษเหล็กที่รับบทโดยนักแสดงหนุ่มเดวิด คอเรนสเว็ต มีบุคลิกลักษณะตรงกับซูเปอร์แมนต้นฉบับที่หนังสือการ์ตูนบรรยายเอาไว้หรือไม่
แฟนภาพยนตร์บางคนก็บอกว่า ซูเปอร์แมนเวอร์ชันล่าสุดนั้น ออกจะดูหม่นหมองอมทุกข์เกินไปอยู่สักหน่อย บ้างก็ตั้งคำถามว่าซูเปอร์แมนคนนี้ ค่อนข้างจะ "โวก" (woke) หรือตื่นรู้แบบหัวเอียงซ้ายมากไปหรือไม่ บ้างก็วิจารณ์แฟชั่นของซูเปอร์แมนแบบตรงไปตรงมาว่า ในยุคสมัยนี้เขายังควรจะสวมกางเกงว่ายน้ำสีแดงทับกางเกงรัดรูปสีน้ำเงินอยู่อีกหรือ ?
อย่างไรก็ตาม มีบางสิ่งที่แฟนภาพยนตร์ต่างเห็นพ้องตรงกันว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลง นั่นคือซูเปอร์แมนจะต้องเป็นยอดมนุษย์ที่เหาะได้เร็วกว่ากระสุน และมีพละกำลังมหาศาลยิ่งกว่าหัวรถจักร นอกจากนี้เขาคือเผ่าพันธุ์ยอดมนุษย์ที่มาจากดาวคริปตัน แต่ได้มาอาศัยอยู่ในเมืองชื่อเมโทรโพลิสบนโลกของเรา จนมีความรักหวานซึ้งกับแฟนสาวชื่อโลอิส เลน
ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ซูเปอร์แมนจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งและบริสุทธิ์ดีงาม จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นคนค่อนข้างน่าเบื่อเล็กน้อย เพราะในขณะที่ซูเปอร์ฮีโร่อย่างแบตแมนและวูล์ฟเวอรีน ต่างได้รับความนิยมจากอุปนิสัยที่ชอบแหกกฎ แต่ซูเปอร์แมนก็ยังคงเป็นคนดีที่เคารพกฎหมาย เป็นวีรบุรุษที่เพียบพร้อมทางจริยธรรมในแบบอเมริกันชนทุกประการ
มีน้อยคนที่จะทราบว่า ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนซูเปอร์แมนไม่ได้มีบุคลิกและนิสัยใจคอเช่นนี้ โดยในการ์ตูนยุคแรกเริ่มของบริษัท National Allied (ซึ่งก็คือ DC Comics ในเวลาต่อมา) ที่เขียนเรื่องโดยเจอร์รี ซีเกล และวาดภาพประกอบโดยโจ ชูสเตอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Action Comics เมื่อปี 1938 ซูเปอร์แมนไม่ใช่คนที่เรียบร้อยเป็นสุภาพบุรุษอะไรนัก ซ้ำยังมีลักษณะเป็นคนหัวสมัยใหม่มากกว่าตัวละครที่รู้จักกันดีในปัจจุบันด้วย
มาร์ก เวด นักเขียนการ์ตูนและนักประวัติศาสตร์ กล่าวถึงซูเปอร์แมนรุ่นเก่า ในบทนำของหนังสือรวมการ์ตูนคลาสสิกจากนิตยสาร Action Comics ว่าดังนี้ "เขาเป็นคนที่บุกตะลุยพุ่งเข้าชนศัตรูอย่างไร้ความปราณี เขาสร้างกฎของตัวเองและบังคับใช้มันด้วยกำปั้น เขาเป็นพระเอกที่ข่มขู่คนร้ายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แต่รอยยิ้มของเขานั้นดูชั่วร้าย ทั้งยังจ้องมองฝ่ายตรงข้ามด้วยสายตาที่น่าเกรงกลัว"
"เขาไม่ใช่สุดยอดตำรวจ แต่เป็นสุดยอดของผู้นิยมอนาธิปไตย (anarchist) ที่ต่อต้านอำนาจปกครอง" เวดกล่าว เขายังบอกว่าหากซูเปอร์แมนในเวอร์ชันที่เป็นนักเลงและกบฏเช่นนี้ ได้มีโอกาสเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ยุคปัจจุบันแล้วละก็ เขาจะเป็นหนึ่งในเหล่ายอดมนุษย์ผู้มุ่งล้มล้างระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชน ซึ่งมีให้เห็นอยู่มากมายในสื่อต่าง ๆ ทุกวันนี้

ในปกหนังสือการ์ตูนซูเปอร์แมนเล่มแรก ที่ตีพิมพ์ในปี 1938 เขาถือกำเนิดเป็นนักเลงผู้นิยมอนาธิปไตย
พอล เอส. เฮิร์ช ผู้เขียนหนังสือ "อาณาจักรเยื่อกระดาษ: ประวัติศาสตร์ลับของลัทธิจักรวรรดินิยมในหนังสือการ์ตูน" (Pulp Empire: A Secret History of Comic Book Imperialism) แสดงความเห็นว่า "ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าซูเปอร์แมนเคยเป็นแบบนั้น จนกระทั่งผมมาเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมถึงกับอึ้งไปเลยเมื่อได้เห็นว่า แท้จริงแล้วซูเปอร์แมนเป็นนักสังคมนิยมที่ชอบใช้ความรุนแรง"
การ์ตูนเรื่องซูเปอร์แมนที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Action Comics เป็นหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีเหตุการณ์ที่ซูเปอร์แมนต้องเข้าช่วยผดุงคุณธรรม เขาไม่ลังเลที่จะถีบพังประตูเข้าไป แล้วจับตัวคนร้ายหย่อนลงมาจากหน้าต่างชั้นห้าอย่างน่าหวาดเสียว พร้อมกับกล่าวติดตลกหน้าตาเฉยไปด้วยว่า "ดูสิ ฉันใช้ฝ่ามือขยี้นาฬิกาของแกจนแหลกได้ง่ายขนาดไหน ตอนนี้ฉันจะทำอย่างเดียวกันกับคอของแก"
คนร้ายที่ถูกซูเปอร์แมนเวอร์ชันนักเลงโตนอกกฎหมายเข้ากำราบปราบปราม บางส่วนเป็นคนคดโกงหรือโจรที่พกพาอาวุธปืน แต่ส่วนใหญ่มักเป็นตัวร้ายที่ไม่มีคุณสมบัติโดดเด่นอะไรนัก อย่างเช่นพวกชอบใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หรือผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกเด็ก ตัวร้ายกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยมีฐานะร่ำรวย จนไม่จำเป็นจะต้องถือปืนไปปล้นธนาคาร แต่อาจเป็นเจ้าของกิจการเหมืองแร่ที่ไม่ยอมทำตามมาตรการรักษาความปลอดภัย, เจ้าสัวบริษัทก่อสร้างที่ลอบทำลายอาคารของคู่แข่ง, หรือนักการเมืองที่เข้าซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อเปลี่ยนให้มันกลายเป็นแผ่นกระดาษโฆษณาชวนเชื่อส่วนบุคคล
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ซูเปอร์แมนรุ่นต้นฉบับปี 1938 ไม่ใช่มือปราบอาชญากรรมที่สวมเครื่องแต่งกายแปลกประหลาด อย่างที่เราคุ้นเคยกับรูปลักษณ์และอุปนิสัยของซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไป แต่เป็นนักปฏิวัติหัวเอียงซ้ายอย่างแท้จริง
วิวัฒนาการของซูเปอร์แมนจากปากคำของผู้เขียน
แมตธิว เค. แมนนิง ผู้เขียนหนังสือ "ซูเปอร์แมน: คู่มือฉบับสมบูรณ์และเรื่องเล่านิยายวิทยาศาสตร์ของจอห์น คาร์เพนเทอร์" (Superman: The Ultimate Guide and John Carpenter's Tales of Science Fiction) บอกกับบีบีซีว่า
"ผมชอบหนังสือการ์ตูนฉบับเก่า ๆ มาก เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นผลงานของคนหนุ่มสาว ซึ่งรู้สึกคับข้องใจกับโลกที่มีแต่ความอยุติธรรมเต็มไปหมด และพวกเขามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะรู้สึกเช่นนั้น อย่าลืมว่าผู้เขียนและผู้วาดการ์ตูนซูเปอร์แมนทั้งสอง ล้วนเป็นชาวยิวที่เพิ่งย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่ปี ช่วงนั้นมีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้พวกเขาโกรธและไม่พอใจ แล้วจู่ ๆ พวกเขาก็ให้กำเนิดตัวละคร ที่ช่วยส่งเสียงแสดงความกังวลในใจออกมา ทั้งยังสามารถทำให้คนโกงต้องรับผิดและถูกลงโทษได้ด้วย"
ซีเกลและชูสเตอร์เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้อยู่ในเมืองคลีฟแลนด์ของรัฐโอไฮโอ ทั้งสองเติบโตขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และให้นิยามกับตัวละครซูเปอร์แมนในนิตยสาร Action Comics ฉบับแรกว่า "เขาคือวีรบุรุษของผู้ถูกกดขี่ข่มเหง ผู้สาบานว่าจะอุทิศทั้งชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยาก"
ซีเกลยังเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของเขาไว้ในหนังสือ "ซูเปอร์แมน: ประวัติความเป็นมาฉบับสมบูรณ์" (Superman: The Complete History) ที่เขียนโดยเลส์ แดเนียลส์ ว่าดังนี้ "เมื่อตอนที่เรายังเล็กมาก หากอยากจะดูหนังก็ต้องเก็บขวดนมไปขาย พวกเราจึงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นชนชั้นล่าง และรู้สึกเห็นอกเห็นใจประชาชนคนธรรมดาทั่วไปได้"
"ซูเปอร์แมนถือกำเนิดจากมุมมองความคิดและความรู้สึกที่เรามีต่อชีวิต และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อเห็นหนังสือการ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ที่คล้ายกันออกวางแผง เราจะรู้สึกได้ทันทีว่ามันคือการเลียนแบบที่ขาดอะไรบางอย่างไป นั่นก็คือความรู้สึกเมตตาสงสารที่โจและผมมีให้กับคนชั้นล่าง" ซีเกลกล่าว
แต่ถึงกระนั้น ซีเกลและชูสเตอร์ก็ไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนแนวเสรีนิยมเพียงสองคน ที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนระดับรากหญ้า "อุตสาหกรรมผลิตหนังสือการ์ตูนในสหรัฐฯ ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถจะหางานที่มั่นคงกว่านั้นทำได้" เฮิร์ชกล่าวอธิบาย "ส่วนสาเหตุนั้นอาจเป็นเพราะว่า พวกเขาเป็นคนยิว, เป็นผู้อพยพ, เป็นคนผิวสี, หรือเป็นผู้หญิง ทำให้เกิดสลัมของความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้มีความสามารถแต่ขาดโอกาสมารวมตัวกัน"
"เนื่องจากนักสร้างสรรค์เหล่านี้ ไม่อาจหางานที่บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่บนถนนแมดิสันแอฟวะนิว หรือเขียนเรื่องลงตีพิมพ์ในนิตยสารไลฟ์ (Life Magazine) ได้เหมือนคนอื่นเขา กลุ่มคนที่หัวกบฏหรืออย่างน้อยก็ไม่ยอมตามกระแสหลักเหล่านี้ จึงกลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท DC Comics จากบรรดาคนที่อยู่นอกกรอบ, ผู้อพยพ, และผู้ที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายซ้าย ซึ่งเติบโตขึ้นมาในมหานครนิวยอร์กในยุคนั้น"

ในเวลาต่อมาเรื่องราวของซูเปอร์แมนเริ่มมีความเป็นสังคมนิยมน้อยลง ให้ความสนใจกับตัวร้ายที่มีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้น และมุ่งเน้นชีวิตรักของซูเปอร์แมนกับโลอิส เลน มากขึ้น
ในอดีตมีซูเปอร์ฮีโร่น้อยรายที่มุ่งต่อสู้รุกรบแบบทหารอย่างซูเปอร์แมน โดยในการ์ตูนยุคแรกเริ่มตอนหนึ่ง ซูเปอร์แมนรื้อถอนทำลายชุมชนแออัดหรือสลัมลงทั้งหมด เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลสร้างบ้านประชาสงเคราะห์ที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่ (ซึ่งออกจะเป็นแผนการที่เสี่ยงมากอยู่) ในอีกฉบับหนึ่งซูเปอร์แมนเข้าไปจัดการแวดวงอุตสาหกรรมการพนัน ซึ่งทำให้ผีพนันจำนวนมากต้องล้มละลาย นอกจากนี้ยังมีตอนที่ซูเปอร์แมนประกาศสงครามกับผู้ทำผิดกฎจราจรทุกคน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนมีผู้เสียชีวิต ในตอนนี้เขาข่มขู่คนที่ขับรถเร็วหรือประมาทให้หวาดกลัว ลักพาตัวนายกเทศมนตรีที่ไม่ยอมบังคับใช้กฎจราจรอย่างจริงจังด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ซูเปอร์แมนยังเข้าจัดการกับคนโกงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำลายเต็นท์รถมือสองและโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้โลหะรวมทั้งอะไหล่ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยประกาศก้องว่า "นั่นเพราะพวกคุณใช้ชีวิตคนแสวงหาผลกำไร" การกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการประท้วงต่อผู้มีอำนาจและอิทธิพลโดยตรงนี้ แม้จะผิดกฎหมายแต่ก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่กล้าหาญและสร้างความปั่นป่วนได้ดี สะท้อนภาพของชีวิตคนเดินถนนและคนจนเมืองในสหรัฐฯ ยุคทศวรรษ 1930 ได้อย่างชัดเจน แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 90 ปีแล้วก็ตาม
ทว่าไม่นานหลังจากนั้น เรื่องราวของซูเปอร์แมนก็ได้หันเหไปสู่อีกทิศทางหนึ่ง โดยมุ่งให้ความสนใจกับตัวร้ายที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์จอมเพี้ยนและอสูรกายยักษ์มากขึ้น เริ่มห่างไกลจากประเด็นปัญหาของมวลชนผู้ด้อยโอกาสแห่งเมืองเมโทรโพลิสออกไปทุกที เรื่องราวที่ปรากฏในไม่กี่ฉบับหลังจากนั้น "ล้วนเป็นการเผชิญหน้ากับตัวร้ายที่เหนือจริง แม้นั่นจะทำให้การ์ตูนมีสีสันน่าตื่นเต้นขึ้นมาก แต่การต่อสู้ทางสังคมเพื่อคนชั้นล่างของซูเปอร์แมนก็ได้กลายเป็นอดีตไป" เวดกล่าว
เหตุใดซูเปอร์แมนถึงเปลี่ยนไป
บางคนอาจนึกสงสัยแบบขำ ๆ ว่า หินแร่วิเศษคริปโตไนต์ (Kryptonite) ได้ดูดกลืนเอาจิตสำนึกทางสังคมของซูเปอร์แมนไปจนเกลี้ยงหรือเปล่า แต่เรื่องนี้เฮิร์ชให้คำอธิบายว่า ซูเปอร์ฮีโร่ผู้นี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเพราะสาเหตุ 2 ประการ
ปัจจัยข้อแรกที่เปลี่ยนซูเปอร์แมน คือกระบวนการที่เรียกว่า blandification ซึ่งหมายถึง "การทำให้จืดชืดหรือเรียบง่ายลงกว่าเดิม" กระบวนการนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อสินค้ามียอดขายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีวี่แววว่าจะสะดุดหยุดลง "ซูเปอร์แมนได้รับความนิยมสูงอย่างเหลือเชื่อ นับตั้งแต่หนังสือการ์ตูนฉบับแรกออกวางแผงเลยทีเดียว เรื่องนี้ทำให้ทางบริษัททราบถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าที่มีอยู่ในทันที จึงไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ที่จะมาฉุดรั้งความนิยมนั้นในอนาคต ดังนั้นแจ็ก ลีโบวิตซ์ ประธานบริษัท DC Comics จึงต้องการให้ตัวละครนี้เป็นสินค้าที่มีความมั่นคง หากพวกเขาอยากจะขายปลอกหมอนและชุดนอนลายซูเปอร์แมนให้คนส่วนใหญ่ไปนาน ๆ การที่ปล่อยให้ตัวละครนี้สร้างความวุ่นวายไปทั่ว โดยเที่ยวโยนคนออกมาทางหน้าต่าง หรือขู่จะใช้แท่งเหล็กรัดคอให้ตาย ไม่น่าจะช่วยสร้างยอดขายได้สูงตามที่ต้องการในระยะยาว"
ส่วนปัจจัยประการที่สองที่เปลี่ยนซูเปอร์แมนนั้น เฮิร์ชบอกว่า "สิ่งสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือเหตุการณ์ที่สงครามโลกครั้งที่สองได้อุบัติขึ้น บรรดาผู้อพยพและคนผิวสีทั้งหมดที่อยู่ในวงการหนังสือการ์ตูน จำต้องแสดงออกซึ่งความรักชาติ เพื่อให้กลมกลืนกับสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้รับการปันส่วนกระดาษจากรัฐบาลเพื่อนำมาตีพิมพ์นิตยสารและหนังสือการ์ตูนต่อไป ในช่วงปี 1941 หากมีนักเขียนการ์ตูนทำสิ่งที่ขัดใจรัฐบาล ก็เสี่ยงจะไม่ได้รับการปันส่วนกระดาษได้"
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลส่วนตัวของผู้เขียนอย่างซีเกลและชูสเตอร์ ทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจการควบคุมตัวละครที่สร้างมากับมือ จนเรื่องราวซูเปอร์แมนต้องเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยหลังจากที่สายตาและการมองเห็นของชูสเตอร์ย่ำแย่ลง เขาจำต้องโอนงานวาดการ์ตูนไปให้ศิลปินคนอื่นรับผิดชอบแทน ส่วนซีเกลนั้นถูกเกณฑ์ทหารในปี 1943 ทำให้มีเวลามาเขียนเรื่องตอนใหม่ ๆ น้อยลง
แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งเลวร้ายที่สุดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1938 เมื่อซีเกลและชูสเตอร์ได้ขายลิขสิทธิ์ของซูเปอร์แมนให้ DC Comics ในราคาเพียง 130 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากนั้นเป็นต้นมา ทางบริษัทปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นลูกจ้างมากกว่าศิลปินเจ้าของผลงาน ทั้งสองพยายามฟ้องร้องเรียกคืนลิขสิทธิ์ดังกล่าวในปี 1947 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจอย่างยิ่ง สำหรับนักเล่าเรื่องคนแรก ๆ ที่พูดถึงการได้รับผลกรรมและการลงโทษบรรดาคนโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลขึ้นมาจากการกดขี่เพื่อนมนุษย์

เดวิด คอร์เรนสเว็ต รับบทซูเปอร์แมนในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของผู้กำกับเจมส์ กันน์ ภาพลักษณ์ของเขาในบทบาทนี้ ทำให้แฟนภาพยนตร์ถกเถียงกันขนานใหญ่ในโลกออนไลน์
แม้กระทั่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซูเปอร์แมนก็ยังไม่มีวี่แววว่า จะหวนกลับมาเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมที่ลงมือจัดการกับสำนักพิมพ์จอมเจ้าเล่ห์ "ซูเปอร์แมนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปตามกาลเวลา แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเสมอไป" แมนนิงกล่าว "ในยุคล่าแม่มดของลัทธิแม็กคาร์ธี ระหว่างช่วงทศวรรษ 1950 ตอนนั้นเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองพากันเผาหนังสือการ์ตูนทิ้ง ในขณะที่สภาคองเกรสก็กล่าวโทษว่า หนังสือการ์ตูนคือต้นตอของความเกเรเหลวไหลในหมู่เยาวชน"
"ตอนนั้นสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ถูกบังคับให้ตรวจสอบเซ็นเซอร์ตัวเอง ผ่านองค์กรที่เรียกว่าสำนักงานกำกับควบคุมหนังสือการ์ตูน (Comics Code Authority) หนังสือที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุมัติให้ตีพิมพ์ได้แล้ว จะมีตราประทับบนปกหนังสือ เพื่อรับรองว่าเนื้อหาข้างในนั้นปลอดภัยสำหรับเด็ก"
"ในยุคดังกล่าวซูเปอร์แมนมีบุคลิกที่อ่อนโยนลงเล็กน้อย แต่มีความเป็นพ่อที่ห่วงใยคอยดูแลลูกอย่างชัดเจนมากขึ้น เขาไม่ได้สนใจปราบปรามคนโกงในโลกของความเป็นจริงอีกต่อไป แต่หันไปสนใจเอเลียน มนุษย์ต่างดาว หรืออสูรกายจากต่างมิติ รวมทั้งมีงานหลักเป็นการพยายามทำลายแผนการของโลอิส เลน ที่คอยแต่จะสืบหาตัวตนที่แท้จริงของเขาให้ได้"
พัฒนาการของซูเปอร์แมนไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในบางยุคสมัยเขาคือสุภาพบุรุษอนุรักษนิยม ผู้เป็นเสาหลักแห่งคุณธรรมจริยธรรม จนถึงขั้นถูกเพื่อนตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ในค่าย DC Comics ด้วยกัน ล้อเลียนว่าเป็น "ลูกเสือใหญ่สีฟ้า" (the big blue boy scout) แมนนิงยังบอกว่า "บางครั้งซูเปอร์แมนก็ย้อนกลับไปมีลักษณะนิสัยแบบในต้นฉบับยุคก่อน ในฐานะผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมทางสังคม"
ส่วนซูเปอร์แมนในภาพยนตร์เรื่องใหม่นั้น เรายังไม่รู้แน่ว่าเขาจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่แบบไหน ดังนั้นเหล่านักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันและเจ้าสัวนักธุรกิจจอมโกง จงพากันจับตาเฝ้าระวังบนฟ้าไว้ ที่เห็นบินมาแต่ไกลนั้นอาจเป็นนก เป็นเครื่องบิน หรือซูเปอร์แมนจอมกบฏก็เป็นได้ !
https://www.bbc.com/thai/articles/c20w23y6y12o