
ฟังเสียง ‘เยาวชน’ | ปราปต์ บุนปาน
11.07.2025
มติชนสุดสัปดาห์
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน

เมื่อวันพุธที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม/พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่นำเสนอโดยภาคประชาชน คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองต่างๆ
แม้แนวโน้มของเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร จะมีความเห็นทำนองว่า สังคมไทยควรเปิดกว้างโอบรับ “ความแตกต่างหลากหลาย” หรือเป็น “สังคมหลากสีสัน” แต่พวกเราก็ควรยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องโทษใน “คดี 112”
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภาวันนั้น มีตัวแทนม็อบเยาวชนในช่วงต้นทศวรรษ 2560 ซึ่งโดนฟ้องร้องในคดี 112 ได้เข้ามาร่วมเป็น “ผู้ชี้แจง” ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนด้วย
หนึ่งในนั้นก็คือ “เบนจา อะปัญ” ที่ได้ชี้แจง/อภิปรายเหตุผลสนับสนุนในการนิรโทษกรรมคดี 112 ต่อที่ประชุมสภา ไว้อย่างซื่อตรง จริงใจ และน่ารับฟัง ดังนี้
“ดิฉันก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 8 คดีนะคะ ก็ (ติดอันดับ) ท็อปไฟว์กับเขาเหมือนกัน (หนึ่ง) 25 คดี, (สอง) 25 คดี, (สาม) 10 คดี, (สี่) 9 คดี, (ห้า) 8 คดี
“(ในจำนวนนี้) สองคนติดคุก สามคนลี้ภัย ดิฉันยังอยู่ตรงนี้ค่ะ ในฐานะผู้ชี้แจง ก็ไม่รู้อนาคตของตัวเองเหมือนกันว่า จะอยู่ตรงนี้ได้ถึงเมื่อไหร่? จะอยู่ข้างนอกได้ถึงเมื่อไหร่?
“ขอตอบท่านสมาชิก (สภาผู้แทนราษฎร) สักท่านหนึ่งนะคะ ที่ท่านบอกว่า 66/23 เป็นคำสั่งจากนายกฯ ไม่ใช่กฎหมาย ถูกต้องค่ะ ถูกเลยค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ใช่กฎหมาย แล้วท่านก็บอกว่า ไม่เคยมี พ.ร.บ. ออกมาตรงๆ ว่านิรโทษกรรม 112 ถูกต้องค่ะ ท่านก็ถูกอีกน่ะค่ะ
“แต่ว่าเคยมีปี 2521 ใช่ค่ะ เขาไม่ได้ระบุว่าให้นิรโทษ ม.112 เป็นลายลักษณ์อักษรตรงตัว เพราะอะไรรู้ไหมคะ? เพราะเขานิรโทษกรรมทั้งอีเวนต์ ซึ่งในนั้นมันก็รวม 112 เข้าไปด้วยค่ะ เพราะฉะนั้น ท่านจะมาบอกว่า ไม่มี 112 อยู่ในนั้น มันไม่ใช่ค่ะ มันมีอยู่ในนั้นนะคะ
“ขอชี้แจงอีกท่านหนึ่งนะคะ ที่บอกว่าคนที่ลี้ภัยไปคือพวกมีอภิสิทธิ์ ท่านรู้ไหมคะว่า ดิฉันนั่งจดบันทึกทุกวันว่า วันนี้เพื่อนเราหายไปหรือเปล่า? (ปรากฏว่าจนถึงตอนนี้ มีเพื่อนหายไป) ไม่ต่ำกว่า 20 คนค่ะ
“หลายคนในนั้นไม่ได้มีอภิสิทธิ์อะไรเลย การไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ สำหรับคนที่ไม่มีต้นทุน คนที่ไม่ได้ภาษาก็มี เพราะฉะนั้น ท่านจะมาบอกว่าเป็นอภิสิทธิ์ มันไม่ใช่
“เขาแค่คือกลุ่มคนที่ไม่อยากต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ที่มันไม่ยุติธรรม ท่านรู้ไหมคะว่า การขอหมายศาลเรียกพยานแต่ละครั้งมันยากเย็นแค่ไหน? บางพยานที่สำคัญ ศาลก็ไม่ได้ออกหมายเรียกให้ เพราะฉะนั้น มันจะยุติธรรมได้อย่างไรกับฝ่ายจำเลย?
“ทั้ง (คน) ที่ติดคุกอยู่ ที่กำลังจะติดคุก ที่ลี้ภัยกันอยู่ตอนนี้ ก็ล้วนเป็น (คดี) 112 ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า ถ้าท่านจะ ‘สันติสุข’ อะไรกัน หนึ่ง สอง สาม เนี่ยค่ะ ถ้ามันไม่รวม 112 เข้าไป มันจะสันติสุขแบบไหน? สันติสุขเฉพาะพวกท่านหรือเปล่า?
“ถ้าท่านบอกว่า เราอยากก้าวผ่านไปด้วยกัน อยากได้รับโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ทำไมท่านถึงจะไม่ให้โอกาสเยาวชนคนรุ่นใหม่แบบพวกเราได้ก้าวผ่านไปด้วยกันล่ะคะ? เหมือนคดีอื่นๆ น่ะค่ะ เราก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“ดิฉันเปลี่ยนอดีตไม่ได้ ไม่มีใครเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ ตั้งแต่วันนี้”
ดูเหมือนว่าเสียงของเยาวชนแบบเบนจาอาจไม่ได้ถูกรับฟังหรือเข้าหูบรรดา “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในสังคมไทย กระทั่งในสภา มากนัก
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า สังคมเราจะเดินหน้าไปสู่อนาคตได้อย่างไร ถ้าเราตัดสินใจทิ้งขว้าง “พลังแห่งอนาคตจำนวนหนึ่ง” ไว้ข้างหลัง หรือหาทางขจัดพวกเขาและเธอให้ออกไปพ้นๆ จากบ้านนี้เมืองนี้?
https://www.matichon.co.th/weekly/column/article_850841