
iLaw
21 hours ago
·
9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในวาระหนึ่ง สี่ ฉบับ ข้อถกเถียงสำคัญ คือ จะรวมคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 หรือไม่ โดยมีร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน ยืนยันนิรโทษกรรมคดีจากความขัดแย้งทางการเมือง ให้รวมคดี #มาตรา112 แต่ร่างจากพรรครวมไทยสร้างชาติเขียนชัดไม่รวมคดี 112 https://www.ilaw.or.th/articles/52989
แม้การออกกฎหมาย #นิรโทษกรรม เพื่อไม่เอาผิดการกระทำที่เกิดขึ้นไปแล้วจะไม่ใช่ลักษณะของระบบกฎหมายที่ดีนัก แต่ในทางปฏิบัติของประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการออกกฎหมาย #นิรโทษกรรมคดีการเมือง มาแล้วถึง 23 ฉบับ เป็นการยกเว้นโทษให้คณะรัฐประหารไปแล้วถึง 11 ครั้ง https://www.ilaw.or.th/articles/4873
นอกจากนี้หลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง และความรุนแรงการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมายังออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาทุกครั้ง ตั้งแต่
1) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
กำหนดนิรโทษกรรมเป็นช่วงเวลาว่า การกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อ 13 ตุลาคม 2516 และกระทำระหว่าง 8-15 ตุลาคม 2516 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/A/145/1.PDF
2) เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
กำหนดนิรโทษกรรมเป็นช่วงเวลาว่า การกระทำความผิดของบุคคลที่กระทำระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/A/097/1.PDF
3) เหตุการณ์พฤษภาคม 2535
นิรโทษกรรมการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมระหว่าง 17-21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ “เหมาเข่ง” ยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2535/A/063/1.PDF
จะเห็นว่าแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตของไทย ใช้วิธีกำหนด "ช่วงเวลา" และเหตุการณ์ความขัดแย้ง ทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องได้นิรโทษกรรมทั้งหมดโดยไม่เลือกข้อกล่าวหา ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมครั้งใดที่ยกเว้นบางข้อหา และไม่เคยมีการยกเว้นว่า คดีความตามมาตรา 112 ไม่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปี 2519 มีผู้ถูกจับกุมคุมขังในคดีมาตรา 112 จากเหตุ "ละครแขวนคอ" ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง ก็ได้รับนิรโทษกรรมไปพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้ยังเคยมีการนิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 2532 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2532/A/142/4.PDF ที่ยกเว้นความผิดให้กับขบวนการที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้เพื่อ "ล้มล้าง" ระบอบการปกครองเดิม โดยเขียนชัดเจนว่า นิรโทษกรรมให้กับความผิดในหมวด "ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นทั้งหมด
ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมครั้งใดที่ออกกฎหมายมาแต่ "ยกเว้น" ไม่ให้รวมความผิดบางประเภท บางข้อหาที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมและความขัดแย้งในเหตุการณ์เดียวกัน มีเพียงข้อเสนอในปี 2568 จากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่ให้ "ยกเว้น" คดีสำคัญๆ ท่ามกลางความขัดแย้งเอาไว้ แล้วให้นิรโทษกรรมเป็นเพียง "บางคดี"
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1143899544450330&set=a.625664036273886

