
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
yesterday
·
“กัลยา” ผู้ต้องขัง ม.112 ไกลบ้าน ถูกส่งตัวตรวจโรคลิ่มเลือดอุดตัน – ได้อ่านจดหมายจากภายนอก แต่เก็บไว้ไม่ได้ – ถูกตัดชื่อจากหลักสูตรอบรมในเรือนจำ
.
.
วันที่ 2 ก.ค. 68 ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ทนายความเข้าเยี่ยม “กัลยา” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี อายุ 30 ปี และผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กัลยาต่อสู้คดีเรื่อยมา ก่อนที่ 13 ก.พ. 2568 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้คดีของเธอสิ้นสุดลง
.
ทั้งนี้ กัลยาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2566 ภายหลังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุกตามศาลชั้นต้น และศาลไม่เคยให้ประกันตัวเรื่อยมาจนคดีถึงที่สุด ปัจจุบันถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 8 เดือนเศษ
.
กัลยาเล่าว่าเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา เธอถูกส่งตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากมีโรคประจำตัวกำเริบ คือเป็นลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาซ้าย ซึ่งต้องใส่อุปกรณ์เข้าเส้นเลือด ทำให้ไม่สามารถกระโดด หรือนั่งอยู่นาน ๆ ได้ เธอบอกว่าในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่ได้ถูกแอดมิท แต่เป็นการไปตรวจเลือด และรอฟังผลเลือดเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นก็ถูกนำตัวกลับมาที่เรือนจำเช่นเดิม
.
กัลยาพบว่าเธอเป็นโรคดังกล่าว ก่อนถูกคุมขังเมื่อปี 2566 ก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย อาทิ อาการชาตามร่างกาย มีเลือดออกมากผิดปกติ เลือดไหลง่ายและหยุดยาก เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ทำให้เธอต้องรักษาประคับประคองโรคไปในระหว่างถูกคุมขังอยู่นี้
.
เมื่อสอบถามว่ากัลยาได้รับจดหมายจากประชาชนที่ส่งเข้ามาให้กำลังใจในโครงการ Free Ratsadon หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2567 กัลยาเคยร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการปิดกั้นการสื่อสารของเธอกับบุคคลภายนอก เธอไม่ได้รับจดหมายจากประชาชนที่ส่งเข้ามา โดยพบว่ามีเงื่อนไขในการติดต่อทางจดหมายจะต้องเป็นบุคคลผู้ส่งใน 10 รายชื่อเยี่ยมเท่านั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวแตกต่างไปจากผู้ต้องขังชายในเรือนจําเดียวกันที่ไม่ได้มีเงื่อนไขเช่นนั้น ทำให้กรณีของอุดม ผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่นราธิวาสเช่นกัน ได้รับจดหมายจากประชาชนที่ส่งเข้าไป
.
ภายหลังการร้องเรียน พบว่าทางเรือนจำได้อนุญาตให้เธออ่านจดหมายจากภายนอกแล้ว แต่ไม่สามารถเก็บจดหมายไว้กับตัวเองได้ ได้แต่อ่านและส่งคืนเท่านั้น
.
ก่อนหน้านี้ กัลยายังได้ฝากข้อความขอบคุณประชาชนภายนอกที่ส่งจดหมายมาให้กำลังใจ ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อในระหว่างที่ถูกคุมขัง และขอบคุณกำลังใจจากโซเชียลมีเดียที่มอบความรักความห่วงใยให้กัน
.
กัลยาเล่าให้ทนายฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2567 เธอได้ลงชื่อเข้าร่วมอบรมหลักสูตรสัคคสาสมาธิ ซึ่งจะจัดปีละหนึ่งครั้งเป็นระยะเวลา 1 เดือน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว หัวหน้าแดนบอกว่าเธอไม่สามารถเข้าร่วมอบรมกิจกรรมนี้ได้ เนื่องจากยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี
.
จนกระทั่งในเดือน มิ.ย. 68 ภายหลังเป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว กัลยาลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าหัวหน้าแดนก็ได้คัดชื่อของเธอออก โดยเธอพยายามสอบถามว่าเหตุใดจึงต้องคัดชื่อเธอออก เนื่องจากในหลักสูตรนี้รับผู้เข้าร่วมอบรมไม่เกิน 40 คน เธอสังเกตว่าชื่อของเธออยู่ในลำดับที่ 11 จึงไม่น่าจะถูกคัดออกได้ เพราะไม่ได้ลงชื่อเกินกว่าโควต้าที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัด แต่เธอทราบต่อมาว่ามีผู้เข้าร่วมอบรมเพียงแค่ 26 คนเท่านั้น ไม่ได้เกินโควต้าแต่อย่างใด
.
เธอตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่จะไม่รู้ว่าคดีเธอสิ้นสุดแล้ว แต่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 หัวหน้าแดนก็เป็นผู้ไปรับตัวเธอกลับมาจากศาลด้วยตัวเอง ย่อมรู้ว่าคดีของเธอนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม ได้มีประกาศให้ผู้ต้องขังลงลายมือชื่อเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เธอได้รับแจ้งจากผู้ช่วยผู้คุมว่าไม่สามารถลงชื่อเข้าร่วมได้แล้ว เนื่องจากชื่อของเธอถูกขีดออกตั้งแต่คราวก่อน และแม้กัลยาจะขอพูดคุยกับหัวหน้าแดน ก็ได้รับคำตอบเพียงแค่ว่ายังไม่ว่างที่จะพูดคุยด้วย
.
กัลยาให้ความเห็นว่า เธอไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และไม่แน่ใจว่าการเกี่ยวข้องกับการเป็นนักโทษการเมืองหรือไม่ ถึงไม่ยอมให้เธอเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ โดยเธอไม่ได้มีการปฏิบัติผิดวินัยใด ๆ มาก่อน โดยการเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จะส่งผลต่อการเลื่อนชั้นของผู้ต้องขัง ซึ่งจะส่งผลต่อการได้รับประโยชน์หากมีการอภัยโทษในโอกาสสำคัญ นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าวยังจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นด้วย
.
กัลยายังเล่าว่าเธอยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใส่บาตรทำบุญ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการถวายพระพรอีกด้วย
.
ทั้งนี้ ทนายความเตรียมจะทำหนังสือสอบถามถึงทางเรือนจำ รวมทั้งกัลยาเองจะประสงค์จะยื่นขออภัยโทษรายบุคคลด้วย จึงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารต่อไป
.

.
อ่านเรื่องราวของกัลยา
ชีวิต ‘กัลยา’ ในวันที่ถูกขังไกลบ้านด้วย ม.112 สองศาลยืนจำคุก 6 ปี อยู่ที่เรือนจำนราธิวาส ไร้แววได้ประกัน แม้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เคยหลบหนี
1 ปีที่จำใจต้อง ‘ไกลบ้าน’ และชีวิตในคุกซ้อนคุก ของคนธรรมดาชื่อ “กัลยา”
ชีวิตพลัดถิ่น ในวันที่ถูกขัง ‘ไกลบ้าน’ ทำความรู้จัก เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่มีคนถูกขังด้วย ม.112 ถึง 2 คนแล้ว
https://tlhr2014.com/archives/76509