วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 03, 2568

ย้อนทวนความทรงจำประเทศไทยใต้รัฐบาลทหาร ผลพวงรัฐประหารปี 2557 มีอะไรบ้าง


คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ย้อนทวนความทรงจำประเทศไทยใต้รัฐบาลทหาร ผลพวงรัฐประหารปี 2557 มีอะไรบ้าง

2 กรกฎาคม 2025
บีบีซีไทย

กลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มรวมพลังแผ่นดินอธิปไตย" ออกมาเน้นย้ำเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าไม่เอารัฐประหาร แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลาออก, พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และปกป้องอธิปไตยชาติเท่านั้น หลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2568 ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังสนับสนุนหนทางนอกประชาธิปไตยอย่างการรัฐประหารก็ตาม

ที่ผ่านมา ประเทศไทยถือครองสถิติประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งองคมนตรี

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อย้อนกลับไปดูว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารครั้งก่อน ถึงแม้ล่าสุดยังไม่เกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหาร และการเมืองไทยกำลังอยู่ใน "ภาวะนิติสงคราม" หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

เกิดอะไรขึ้นบ้างในมิติการเมืองภายใต้การนำของ คสช.

1. รัฐธรรมนูญ 2560

หนึ่งในมรดกที่กลุ่มผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งไว้จากการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่จัดทำขึ้นโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. โดย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบเนื้อหา และสามารถทำได้เพียงลงประชามติ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ในวันทำประชามติ เท่านั้น

สิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ตกเป็นที่ถกเถียงของสังคมประการแรกคือ การไม่ได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยระบุเพียงว่า สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากบุคคลในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ฉีกหลักการดั้งเดิมที่ตั้งไว้หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน คือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่ง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า ระบบการเลือกนายกดังกล่าว "ทำให้นายกฯ มีความเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยลง"

ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อให้เกิดกรณี "งูเห่า" ได้ง่ายขึ้น โดย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมา หาก ส.ส. ถูกขับออกจากพรรคการเมืองก็จะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ทันที ยกเว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่อนุญาตให้ ส.ส. ที่ถูกขับออกจากพรรคการเมืองสามารถอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในทางกลับกัน รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า แม้ ส.ส. มีมติถูกขับออกจากพรรคการเมืองแต่ก็ยังคงสภาพความเป็น ส.ส. อยู่ ทำให้นักการเมืองย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น



2. สว. "ชุดเฉพาะกาล" และระบบการเลือก สว. ที่ "ซับซ้อนที่สุดในโลก"

อีกหนึ่งมรดกของ คสช. คือ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ที่ถูกเรียกขานว่า สว. "ชุดเฉพาะกาล" ซึ่งโดยปกติแล้ว สว. จะมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ถูกผ่านมาจากชั้นสภาผู้แทนราษฎร และตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร แต่ สว. 250 คน ส่วนมากถูกคัดเลือกมาโดย คสช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

อีกกลไกสำคัญของ ส.ว. ชุดนี้คือหน้าที่ในความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กรณ์อิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ถึงกระนั้น แม้ คสช. จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 แต่ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระบางส่วนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สว. ในยุค คสช. ยังดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น 250 สว. ยังมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลา 5 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่ง โดยได้ร่วมลงเสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลับเข้าทำเนียบอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 2562 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 249 เสียงของ สว. อย่างไม่แตกแถว

นอกจากนี้ในปี 2566 ในการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มี สว. จำนวนเพียง 13 คน เท่านั้นที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นทำให้พรรคก้าวไกลในเวลานั้นที่รวมคะแนนเสียงสภาล่างได้ 311 เสียง ไม่สามารถส่งนายพิธา ขึ้นเป็นนายกฯ ได้


คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งใน สว. "ชุดเฉพาะกาล" อภิปรายถึงความไม่เหมาะสมของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการรับตำแหน่งนายกฯ ในวันโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 13 ก.ค. 2566 เนื่องจากนโยบายแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ที่เกิดขึ้นหลัง "สว. เฉพาะกาล" หมดวาระลงหลังอยู่ในอำนาจมา 5 ปี ก็ถูกจัดขึ้นด้วยกติกาที่ กกต. ออกมายอมรับว่า "ซับซ้อนที่สุดในโลก"

โดยในการเลือก สว. 200 คนชุดใหม่ก็เป็นไปตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ สว. จะถูกเลือกโดยผู้สมัครด้วยกันเอง ไม่ใช่เลือกโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป และเมื่อผลเลือกตั้ง สว. ออกมา ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สว. ที่ได้รับเลือกนั้นมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายบ้านใหญ่ ทำให้มีผู้ยื่นคดีตรวจสอบ "คดีฮั้วเลือก สว." และปัจจุบันคดีกำลังถูกไต่สวน โดยคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลางคณะที่ 26 ของสำนักงาน กกต.

3. "มาตรฐานจริยธรรม" เครื่องมือฟันนักการเมือง

อีกประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกเรียกว่าเป็น "รัฐธรรมนูญปราบโกง" ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างมากเพื่อตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร ด้วยการจัดทำ "มาตรฐานทางจริยธรรม" เพื่อบังคับใช้ต่อ สส., สว., และ องค์กรอิสระ แต่การไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลของเหล่านักวิชาการว่า เรื่องจริยธรรมอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นนำ

เมื่อเดือน ส.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง เนื่องจาก "ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) จากการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า "มาตรฐานจริยธรรม" ดังกล่าวไปอ้างอิงตาม "มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561" ซึ่งเป็นการตีความและขยายความที่อันตราย ไม่สอดคล้องกับหลักการทางนิติศาสตร์

และล่าสุด "มาตรฐานจริยธรรม" ก็เป็นเครื่องมือที่ 36 สว. ชุดปัจจุบัน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณี "คลิปเสียงหลุด" ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จนนำมาสู่การสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เมื่อ 1 ก.ค.

4. คำสั่ง คสช. หลายร้อยฉบับ

นอกจากนี้ ตลอด 5 ปี เศษ ภายใต้การนำของ คสช. ได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เขียนขึ้นโดย คสช. โดยให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้ที่มีผลในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ณ วันที่ 7 พ.ค. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอด 5 ปี คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด 456 ฉบับ โดยไอลอว์แสดงความเห็นว่า คำสั่งหลายฉบับที่ออกมานั้นแสดงถึงความพยายามในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม, ควบคุมสื่อ, และยึดองค์กรอิสระ

5. ดัชนีคอร์รัปชันไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้แล้ว คณะรัฐประหารยังมีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชัน โดยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นการลดลงของปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ คสช. เข้าสู่อำนาจ
  • ในปี 2556 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร ประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และถูกจัดอันดับอยู่ที่ 102 จาก 177 ประเทศ
  • เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยก็ยังได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และถูกจัดอันดับอยู่ที่ 85 จาก 175 ประเทศ
  • ต่อมา ปี 2562 ที่ คสช. อยู่ในอำนาจเป็นปีสุดท้าย ประเทศไทยได้คะแนนตกลงมาเหลือ 36 เต็ม 100 และถูกจัดอันดับอยู่ที่ 101 จาก 180 ประเทศ

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ คสช. ถูกจำกัดอย่างไรบ้าง

รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2557 ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศในช่วงยึดอำนาจ ทำให้รัฐบาลสามารถกักกันบุคคลได้สูงสุดไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล และในช่วงปี 2562 มีผู้นำทางการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และผู้สื่อข่าว และผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกไปรายงานตัวกับ คสช. อย่างน้อย 900 ราย และจำนวนหนึ่งก็ถูกควบคุมตัวสูงสุดถึง 7 วัน

"เจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากต้องลงนามในเอกสารยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างดี ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะขออนุญาตทางการก่อนเดินทางออกนอกพื้นที่ที่อยู่อาศัยหากผู้ที่ถูกควบคุมตัวต้องการได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารขู่ลงโทษจำคุกและยึดทรัพย์สินต่อผู้ที่ไม่ไปตามหมายเรียกตัว" รายงานระบุ



นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่โดนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อ คสช.

นอกจากนี้ เสรีภาพในการทำงานของสื่อก็ถูกจำกัดภายใต้ยุคสมัย คสช. โดยมีการออกคำสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ คสช. ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ และออกหมายเรียกผู้ทำงานด้านสื่อให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร อีกด้วย เช่น เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2562 ภายหลังคำแถลงแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังเข้ายึดอำนาจ ทาง นางสาววาสนา นาน่วม และ นายศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวทั้งสองก็ตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการกำหนดกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทว่าในวันถัดมา ทหารกลับเรียกผู้สื่อข่าวเข้าพบ และขอให้พวกเขา "อย่าตั้งคำถามในลักษณะเช่นนั้นอีก" เพราะไม่เหมาะสม พร้อมย้ำว่าสื่อควรจะ "ให้กำลังใจ" กับ พล. อ.ประยุทธ์

ตลอดทั้ง 5 ปีภายใต้รัฐบาลทหาร ยังมีรายการที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ออกอากาศทุกวันศุกร์เวลา 20.15 น. และมีกฎหมายกำหนดด้วยว่า สถานีวิทยุทุกแห่งต้องถ่ายทอดรายการข่าวที่รัฐบาลผลิตวันละสองครั้ง แบ่งเป็นช่วงละ 30 นาที

รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2557 ยังกล่าวถึง การกำหนดเปลี่ยนเขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดีฐานความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และคดีทางการเมือง เช่น การละเมิดคำสั่ง คสช. ไปอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ที่ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ จากเดิมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา

โดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) รายงานว่า ใน เดือน พ.ย. 2562 มีพลเรือน 82 คนถูกดำเนินคดีทางอาญาในศาลทหารสำหรับความผิดดังกล่าว เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ทั้งนี้ สถิติของกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า ในช่วง 5 ปีของ คสช. มีการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร 2,408 คน จาก 1,886 คดี

ขณะเดียวกันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า จำนวนผู้ถูก "คุกคาม-ข่มขู่" ในช่วง 5 ปี 2 เดือน ที่ คสช. ครองอำนาจ มีอย่างน้อยเกือบ 500 คนที่ถูกคุกคามหลายรูปแบบและตั้งข้อหาความผิด
  • ประชาชนอย่างน้อย 592 คน ถูกติดตามคุกคามถึงบ้านหรือข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ
  • ประชาชนอย่างน้อย 428 คน โดนตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
  • ประชาชนอย่างน้อย 65 คน โดนตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
  • ประชาชนอย่างน้อย 129 คน โดนตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักร
  • ประชาชนอย่างน้อย 197 คน โดนตั้งข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ทั้งนี้องค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรวิจัยและสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ที่ให้คะแนนด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศต่าง ๆ โดยคำนวณคะแนนจาก "สิทธิทางการเมือง (political rights) และเสรีภาพพลเมือง (civil liberties) ที่บ่งบอกถึงสถานะทั่วไปของเสรีภาพในประเทศหรือดินแดน" ได้จัดให้ประเทศไทย ในปี 2557 อยู่ในระดับ "partly free" (มีเสรีภาพบางส่วน)

แต่หลังจากรัฐประหารในปี 2558 จนถึงปี 2562 ไทยก็ถูกลดระดับสิทธิเสรีภาพเป็น "not free" (ไม่มีเสรีภาพ) ก่อนที่จะได้ปรับเป็น "partly free" อีกครั้งในปี 2563 หลังมีการเลือกตั้งในปี 2562

มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: ชาติตะวันตกออกห่าง การทูตไทยเอนเอียงหาจีนมากขึ้น


ในปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 (G20 Summit) ณ นครหางโจว ประเทศจีน ตามคำเชิญจากจีน พร้อมกับได้เข้าหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

หลังเกิดรัฐประหารปี 2557 สหภาพยุโรป หรือ อียู (European Union-EU) ได้ชะลอความร่วมมือต่าง ๆ กับประเทศไทยออกไป เช่น ทบทวนความร่วมมือทางการทหาร ระงับการเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย รวมถึงสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือใด ๆ กับไทยจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตามระบอบประชาธิปไตย

สารนิพนธ์ ของ น.ส.เสวี่ย หยาง นิสิตปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2566 ยังชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารปี 2557 ได้นำไปสู่แนวทางใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย โดยบอกว่านโยบายต่างประเทศในยุค คสช. ไม่อาจเรียกว่า "การทูตแบบไผ่ลู่ลม" อีกต่อไป โดยคำนี้สื่อถึงการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น ไม่เอนเอียงไปทางมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

เธอพบว่ารัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีน จนเกิดความแน่นแฟ้นกับจีนทั้งในด้านการทหารและทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากประเทศจีนมีนโยบายต่างประเทศแบบไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น ๆ และรัฐบาลทหารของไทยเองก็เอนเอียงไปทางจีนเพื่อรักษาสถานภาพการถูกรับรองจากนานาชาติ รวมถึงแสวงหาความชอบธรรมในการปกครองประเทศ


สหรัฐฯ ไม่ได้ยกเลิกการฝึกซ้อมคอบราโกลด์ (Cobra Gold) ในปี 2558 แต่ส่งทหารเข้าร่วมลดลงกึ่งหนึ่ง

ในบทวิเคราะห์ของ มาร์ค เอส โคแกน ซึ่งเผยแพร่ในวารสารกิจการอินโด-แปซิฟิค ทางเว็บไซต์มหาวิทยาทัพอากาศ (Air University) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในปี 2566 บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยลงนามในข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศหลายฉบับกับจีน และมีการซื้อรถถัง VT4 ที่ผลิตโดยบริษัทจีน NORINCO รวมถึงเรือดำน้ำดีเซล S26T ของจีน จำนวน 3 ลำที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงตอนนี้ เนื่องจากเยอรมนีไม่ยอมส่งมอบเครื่องยนต์ให้

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขณะนั้น ยังยื่นข้อเสนอจัดตั้งโรงงานทางทหารเพื่อผลิตอาวุธขนาดเล็กและโดรนของจีนในไทยด้วย รวมถึงไทยยังมีการฝึกซ้อมทหารร่วมกับกับจีนมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจากคณะรัฐประหารก็ถอยห่างจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งขณะนั้นทางประธานาธิบดี บารัก โอบามา ออกมาประณามการทำรัฐประหารของ คสช. และประกาศคว่ำบาตรทางการทหารต่อประเทศไทย เช่น ยกเลิกการซ้อมรับ CARAT (Exercise Cooperation Afloat Readiness and Training) ยกเลิกการเยือนไทยของ พล.อ.แฮรี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปฟิซิก ยกเลิกการเชิญนายทหารชั้นสูงของไทยไปเยือนสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 2557 ระงับเงินช่วยเหลือทางการทหารรวมกันกว่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 155 ล้านบาท)

การก่อรัฐประหารปี 2557 ยังส่งผลให้ไทยหมดสิทธิในโครงการขายอาวุธให้กับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ หรือ Foreign Military Sales (FMS) ซึ่งมีมูลค่างบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐฯ ราว 1.3 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 40 ล้านบาท)

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้ยกเลิกการฝึกซ้อมรบระดับนานาชาติคอบราโกลด์ (Cobra Gold) ในปี 2558 แต่ส่งทหารเข้าร่วมลดลงกึ่งหนึ่ง เพื่อเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารแทน

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยยังพบว่า ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารใช้งบประมาณกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงระหว่างปี 2558-2560 เพื่อดำเนินการทูตผ่านการจัดหาอาวุธ (Procurement Diplomacy) ทั้งจากจีนและสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ และลดแรงเสียดทานจากชาติพันธมิตรด้วย

มิติทางเศรษฐกิจ: จีนขึ้นมาเป็นคู่ค้าสำคัญ - รัฐบาลทหารทำให้เกิด "ทุนนิยมพวกพ้อง"

ก่อนรัฐประหารราวหนึ่งปี รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2556 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธทป.) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการบริโภค ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงการลงทุนของภาคธุรกิจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ช่วงครึ่งปีหลังรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) เจอแรงกดดันอย่างหนัก เมื่อต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งนำไปสู่การคัดค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และหนึ่งในผู้นำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)" ที่ลงถนนชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ออกมาชุมนุมตอบโต้

ความไม่มั่นคงทางการเมืองเช่นนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ชะลอตัว ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอการลงทุนออกไปเพื่อประเมินสถานการณ์ ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวได้ช้า แม้สภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยพบว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรหลักที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2556


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หนึ่งในผู้นำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

เมื่อเข้าสู่ปี 2557 ธปท. พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 6.7% จากปีก่อนหน้า และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี อันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อนับตั้งแต่ปลายปี 2556 ตามมาด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานฉุกเฉิน การประกาศใช้กฎอัยการศึก และการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของการท่องเที่ยวไทยฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็วและช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557 เนื่องจากหลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทางรัฐบาลจากคณะรัฐประหารออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่งผลให้ปี 2557 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 24.8 ล้านคน ลดลงจากปี 2556 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 26.5 ล้านคน ไม่มากนัก

ในห้วงเวลาเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวของไทยก็เผชิญกับปัญหาทัวร์จีนศูนย์เหรียญที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวไม่สามารถทำรายได้ตามเป้าด้วยเช่นกัน แม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจำนวนมาก

ในปี 2559 พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยเขียนวิพากษ์ในมติชนออนไลน์ว่า การปราบปรามทัวร์จีนศูนย์เหรียญของรัฐบาล คสช. ไม่ช่วยให้นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้สูงกลับเข้ามา เนื่องจากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย และมีรายงานข่าวด้านลบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง

รัฐบาลทหารกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวัน ทำให้การท่องเที่ยวกลับมากระเตื้องในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557

ด้าน น.ส.เสวี่ย หยาง นิสิตปริญญาโทจากจุฬาฯ พบว่าหลังรัฐประหารปี 2557 ปริมาณการค้ารวมระหว่างไทย-จีน สูงกว่า ไทย-สหรัฐฯ เกือบ 2 เท่าในแต่ละปี นอกจากนี้การค้ากับจีนยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557-2561 และถึงแม้ว่ามีการชะลอตัวลงในปี 2562 แต่ก็ยังมีมูลค่ามากกว่าการค้ากับสหรัฐฯ

"แม้ไทยจะได้เปรียบการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า แต่รัฐบาลทหารกลับเลือกที่จะรักษาและส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับจีนมากกว่า" เธอกล่าวในสารนิพนธ์

ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยจีนที่แน่นแฟ้นขึ้น ในอีกทางหนึ่งก็เปิดช่องให้ธุรกิจจีนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมย้ายฐานการผลิตมาในไทยด้วยเช่นกัน

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งอนุญาตให้โรงงานประเภท 105 (โรงงานคัดแยกฝังกลบขยะ) และโรงงานประเภท 106 (โรงงานดำเนินกิจการรีไซเคิลขยะจากอุตสาหกรรม) สามารถดำเนินกิจการได้โดยระงับการใช้กฎหมายผังเมือง ทำให้ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย และก่อมลพิษให้กับชุมชน ประกอบกับการละเลยการตรวจสอบจากหน่วยงานท้องถิ่นยังทำให้สถานการณ์แย่ลง



อีกด้านหนึ่ง รศ. ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ เวย์แมกกาซีน (Way Magazine) เมื่อปีที่แล้วว่า การรัฐประหารปี 2557 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่เติบโตช้า ยังทำให้รายได้ประชาชนโตไม่ทันจ่ายและไม่สามารถจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้ ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันเขาก็พบว่าการรัฐประหารปี 2557 นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนที่แนบแน่นมากขึ้นในรูปแบบ "นายทุน-ขุนศึก" และผลิตสิ่งที่เขาเรียกว่า "ทุนนิยมพวกพ้อง" หรือ "ระบบทุนนิยมอุปถัมป์ผูกขาด" โดยมองว่ารัฐบาล คสช. เอาอำนาจนำของระบบเศรษฐกิจไปไว้ที่ระบบราชการที่นำโดยทหาร อันส่งผลให้เกิดการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

รศ. ดร.อภิชาต เรียกปัญหาทั้งหมดนี้ว่า "ภาวะต้มกบ" ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องโดยที่ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ทันรู้ตัวถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น โดยเขามองว่าภาวะนี้ทำให้ประเทศแก้ไขปัญหากับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ด้วย

นอกจากนี้ งานศึกษาของบริการวิจัยรัฐสภายุโรป (EPRS) ในปี 2563 ยังชี้ให้เห็นว่า มีประชากรตกอยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคนในช่วงปี 2558-2561 ด้วยเช่นกัน

https://www.bbc.com/thai/articles/cy7nykd74r1o