วันเสาร์, ธันวาคม 28, 2567

บทสนทนาที่น่าอ่าน ของคนที่ไปเจอคนไร้บ้านนั่งอ่านหนังสือ เธอเล่าว่า ช่วงที่มีขบวนเสด็จ ตำรวจเขาไม่ได้ไล่นะ เขาพูดดีมาก ขอความร่วมมือให้ไปหลบ พอขบวนผ่านไปแล้วค่อยออกมา มันเหมือนบิดาของสิทธัตถะไล่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ออกจากถนนเพราะไม่อยากให้ลูกชายตัวเองอยากบวช ละทิ้งการเป็นกษัตริย์


Baipat Nopnom
14 hours ago
·
ผมไม่คุ้นภาพคนไร้บ้านที่นั่งอ่านหนังสือมาก่อน
มันจึงเป็นภาพแปลกตามากเมื่อแรกเห็นเธอนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียวในมุมหนึ่งบนถนนราชดำเนิน
เธอเป็นหญิงไร้บ้านที่ไม่รวมกลุ่มกับคนอื่นๆ
ผมเจอเธอหลายรอบ ชะลอเท้าเวลาเดินผ่าน หันไปมองแล้วมองอีก แต่ไม่มีความกล้าจะเข้าไปทัก
พอได้ผ่านมาอีกเลยรวบรวมความกล้าเข้าไป
ภาษาร่างกายของเธอดูตื่น เกร็ง ระแวง และไม่ไว้ใจผม ส่วนท่าทางของผมก็ดูเงอะๆ งะๆ วางหน้าไม่ถูกพอๆ กัน
ผมรู้ว่า หากภาษากายไม่ได้ หรือผมเลือกคำไม่ดีตอนเข้าไปทัก เธอจะเป็นเหมือนแมวจรที่พร้อมจะกระโจนหนีไปได้ทุกเมื่อ
ผมค่อยๆ แนะนำตัว ถามชื่อเธอ ชวนคุย จนน้ำเสียงตึงๆ ของเธอเริ่มอ่อนลง
“ชอบอ่านนิยายเหรอ” เธอพยักหน้า
“ชอบอ่านแนวไหน” “เธอชูปกหนังสือให้ดู มันไม่ใช่วรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ หรือวรรณกรรมแนวผู้ยากไร้ปลดปล่อยต่อสู้ทางชนชั้นอะไรเลย มันเป็นนิยายรักน้ำเน่าชื่อออกแนว “บาปรักซาตาน” หรือ “สังเวียนเสน่หา” เทือกๆนั้น
ผมบอกเธอนั่งอยู่ตรงนี้ อย่าเพิ่งไปไหน ผมกลับไปบ้านหานิยายที่คิดว่าเธอน่าจะชอบมาให้สองสามเล่ม
เธอเล่าว่า“มีเพื่อนเป็นหมอนวดเอาหนังสือมาให้อ่าน เขาเอาอะไรมาให้ก็อ่าน นั่งอ่านคนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร
ผมบอกเธอว่า ผมอยากคุยกับเธอ แจ้งวัตถุประสงค์ชัดเจน ขออนุญาตถ่ายรูป แต่ถ่ายแบบไม่เห็นหน้า เพราะอย่าลืมว่าถึงเป็นคนไร้บ้าน เขาก็เป็นมนุษย์ มีความอาย ไม่อยากถูกถ่ายรูปโดยไม่รู้ตัว
มีหลายเรื่องที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้าน เช่น ความเหงาของพวกเขามีรูปทรงแบบไหน เขาหาความรื่นรมย์ยังไง หรือถ้าเขามีอารมณ์ทางเพศ เขาจัดการยังไง เรายังมีห้องหับมิดชิด แล้วเขาล่ะ เซฟเซ็กส์ยังไง ถุงยางจากไหน
เวลาไม่สบาย หาหมอยังไง มีหมอลงพื้นที่ตรวจตามวงรอบ หรือเขานอนข่มความเจ็บแบบนั้นจนมันหายปวดไปเอง มีคนไร้บ้านที่เป็นจิตเวช ซึมเศร้าด้วย
คนไร้บ้านต้องเผชิญกับความเดียวดายชีวิตห่างไกลจากคำว่า อบอุ่น ปลอดภัย หรือถูกสุขอนามัย ครอบครองเป้หนึ่งใบ เป้ที่บรรจุเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยนไม่กี่ชุด
ผ้าเก่าๆ ขาดเป็นรู และมีสีซีดจาง พร้อมกับผ้าห่มบางๆ ไว้คลุมตัวในคืนที่ยุงชุมและหนาวจัด บางวันฝนตกหนัก เนื้อตัวเปียกปอน หนาวสั่น ได้แต่หลบอาศัยใต้ชายคาตึก
ส่วนวันที่แดดจ้าก็ร้อนอบอ้าว ร้อนราวกับดวงอาทิตย์รีเรชั่นชิพกับโลก ร้อนจนนอนไม่ได้ เพราะพื้นซีเมนต์ดูดความร้อนไปสะสมก่อนจะคลายออกมา ร้อนจนไมเกรนขึ้น แทบเป็นฮีตสโตรก ข้าวกล่องที่คนใจดีให้มาก็บูดไวในฤดูนี้ แต่ก็ต้องกินเพื่อบรรเทาความหิวโหย พลางนั่งมองผู้คนที่เดินผ่านไปมา ต้องพบเจอกับสายตาที่มองเห็นแต่ไม่เห็น
ช่วงนึงตอนเรานั่งเงียบกันอยู่ มีมนุษย์เงินเดือนที่เหนื่อยล้ากับชีวิตหันมามองแวบหนึ่งก่อนจะเดินผ่านไปแล้วพูดกับคู่สนทนาว่า
“อย่างน้อยเราก็ยังมีงานทำ มีข้าวกิน มีบ้านอยู่”
บางคนใช้วิธีเปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่า หรือการได้รับรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่โชคร้ายกว่าตัวเองก็อาจทำให้เขารู้สึกดีขึ้น
แต่สำหรับคนไร้บ้านจะเปรียบเทียบตัวเองกับใครดี?
เธอเล่าว่า (เป็นคำพูดที่น่าสนใจมาก ไม่คิดว่าคนไร้บ้านจะพูดแบบนี้ได้) ช่วงที่มีขบวนเสด็จ ตำรวจเขาไม่ได้ไล่นะ เขาพูดดีมาก ขอความร่วมมือให้ไปหลบข้างหลังตึกราชดำเนินก่อน พอขบวนผ่านไปแล้วค่อยออกมา เข้าใจว่าเป็นเหตุผลของการรักษาความปลอดภัยตามขั้นตอนปกติ
แต่การให้คนไร้บ้านไปหลบหลังตึก มันเหมือนบิดาของสิทธัตถะไล่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ออกจากถนนเพราะไม่อยากให้ลูกชายตัวเองเห็นสัจธรรมชีวิตจนนึกอยากบวช ละทิ้งการเป็นกษัตริย์
จะเป็นยังไงถ้ากษัตริย์เห็นแต่สิ่งที่เขาอยากให้เห็น รถไม่เคยติด ทุกอย่างราบรื่น
เห็นแต่คนที่รอต้อนรับถูกเซ็ตไว้สวยงามเรียบร้อย
เพราะประชาชนของพระองค์ไม่ได้มีเพียงแค่ไพร่ฟ้าหน้าใสใส่เสื้อเหลือง หากแต่ยังมีคนยากจนฟืดเคืองคนไร้บ้านเนื้อตัวมอมแมมนั่งหลบหลังตึกอยู่ตรงนี้
กลางวันร้อนมั้ย
“ร้อนมากกกก ทำได้แค่เปลี่ยนมุมหลบแดดเอา”
“เข้าห้องน้ำที่ไหน
“แมคโดนัลด์ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย“
กินข้าวยังไง มีคนมาแจกข้าวอยู่ใช่มั้ย
”มีๆ จะมาเป็นรอบๆ มีที่เป็นเจ้าประจำ และเจ้าใหม่ๆ บางทีใครก็ไม่รู้จอดรถ เปิดท้ายแล้วยืนแจกข้าวกล่อง”
ส่วนใหญ่ข้าวกล่องมักจะเป็นเมนูอะไร
“กะเพราหมูสับไข่ดาว กับ หมูกระเทียม”
รถมาจอดนี่เดาออกเลยมั้ยว่าเมนูอะไร
“รู้ กะเพราหมูสับไข่ดาว มันซ้ำๆ น่าจะทำง่าย” เธอหัวเราะ
แล้วจริงๆ อยากกินอะไร
”ข้าวไข่เจียวหมูสับทอดดีๆ โปะข้าวมาก็อร่อยสุดๆ แล้ว หรูมากๆ เลย“
อยากกินอะไรอีก
”เตี๋ยวต้มยำ” เธอยิ้ม “เลือกไม่ได้หรอก มีคนเอามาให้กินก็บุญแล้ว”
วันๆ หนึ่งทำอะไรบ้าง
“ตื่นเช้าเดินไปวัดปรินายก ไปอาบน้ำที่นั่น ล้างห้องวัดให้แม่ชีคนนึงที่เมตตาให้ใช้ห้องน้ำและให้ข้าวมากิน สายๆ ก็เดินมานั่งตรงนี้ พอบ่ายก็ไปนั่งตรงนู้น” เธอชี้มือไปที่ฝั่งร้านลาบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมมองตาม
ร้านลาบตรงนั้นอร่อยนะ เคยกินมั้ย
”เคย ขอช้อนจานพลาสติกเขา”
ทำไมไม่นั่งโต๊ะดีๆ
”กลัวคนอื่นรังเกียจ” เธอหมายถึงกลัวตัวเองจะทำให้มู้ดแอนด์โทนของร้านเสีย กลัวจะทำให้โต๊ะอื่นๆ กินข้าวไม่อร่อย ซื้อและเดินไปนั่งหลบมุมกินข้างถนนเพียงลำพัง
แล้วเอาเงินจากไหนมาซื้อข้าว
“มันจะมีคนใจดีเอามาแจก 50 บาท 100 บ้าง มีคนรวยคนนึง พวกคนไร้บ้านจะจำได้ รถจะเปิดหลังคาได้ ถ้ารถเขาติดไฟแดงก็คือวิ่งไปขอเงินได้เลย เขาจะให้ทุกครั้ง”
ผมถามชีวิตก่อนหน้านี้ของเธอ
เธอเล่าว่า เคยทำงานประจำ งานดี ชีวิตดี วันนึงมาเที่ยวข้าวข้าวสารกับเพื่อน โดนล้วงกระเป๋า เงิน มือถือ บัตรหายเกลี้ยง เธอเดินวนเวียนอยู่วันสองวันแล้วตัดสินใจเป็นคนไร้บ้านย่านนี้
เธอเป็นคนไร้บ้านเมื่อปี 63 ช่วงที่โควิดกำลังระบาด แล้วก็อยู่ยาวจนถึงวันนี้ เธอมีบ้านที่ ตจว. แต่เป็นบ้านที่กลับไม่ได้ (ขอยืมคำ อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา)
มีเฟซบุ๊กมั้ย
“มี”
ผมขอชื่อ เธอสะกด ผมพิมพ์ตาม มีชื่อเธอจริงๆ ภาพโปรไฟล์เป็นหญิงสาวแววตาสดใส ผมสั้น ผิวขาว ต่างจากตอนนี้ที่ซอมซ่อ ผิวหยาบกระด้าง ผมยาวรุงรัง แทบไม่เหลือเค้าเดิม โทรมจนผมประเมินอายุไม่ถูก
ผมยื่นมือถือให้เธอดู เธอขยับเข้ามาใกล้ ผมเลื่อนโพสต์เธอไปเรื่อยๆ ภาพเธอกับเพื่อนร่วมงานที่กำลังปาร์ตี้อย่างมีความสุข ภาพเธอกับแฟนสาว เลื่อนไปเรื่อยๆ นัยน์ตาเธอสลดวูบ ดูหม่นเศร้าผมไม่คิดว่าแค่เรื่องโดนล้วงกระเป๋าจะทำให้เธอตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน มันต้องมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่เธอคงไม่สะดวกใจที่จะเล่า ผมไม่ขยี้ต่อ ผมควรรู้เท่าที่เธออยากให้รู้
อยากกลับไปมั้ย ผมหมายถึงชีวิตแบบในเฟซบุ๊กเธอส่ายหน้าตอบว่า “ไม่รู้”
เคยเจอคนรู้จัก แบบอยู่ๆ ก็เดินผ่านมามั้ย
”เคยเจอ เป็นรุ่นน้องที่ทำงานมันมาเที่ยวกับเพื่อนน่าจะมาข้าวสาร เขาจำได้เดินเข้ามาทัก แต่เราทำมึนไม่รู้จัก เขาเริ่มลังเลไม่แน่ใจว่าใช่รึเปล่า ทำท่าจดๆ จ้อง มองๆ แล้วก็ไป”
เรานั่งเงียบกันไปพักนึง ผมเหม่อมองไปที่อนุสาวรีย์ ส่วนเธอหยิบๆ หนังสือที่ผมให้ขึ้นมาดูแล้วก็เล่าว่า ตอนแรก “มีผู้หญิงที่เขาขายตัวเดินมาบอกว่าอย่ามานั่งแถวนี้คนเดียวมันอันตราย” แบบ มีคนเป็นห่วงเธอด้วย แต่เธอก็อยู่คนเดียวมาจนถึงวันนี้
ผมก็ขอนุญาตถามเธอว่า คนไร้บ้านเขานั่นกันยังไง แบบ ไม่มีถุงยาง ความปลอดภัย เซฟเซ็กส์ แถมไม่มีห้องหับมิดชิดให้ทำเรื่องแบบนั้น แล้วเขา...
“เอากันเหรอ” เธอพูดคำนั้น คำที่ผมพยายามเลี่ยง ”เขาก็ซื้อกันเองบ้าง มันจะมีห้องไม้คืนละ180 ก่อนถึงศาลาว่าการ แถวๆ นั้นแหละ”
แล้วผมก็เงียบอีก เธอก็เงียบ แปลกที่เธอไม่คิดจะถามเรื่องส่วนตัวผมกลับบ้างเลย เราทั้งคู่เลยทำเป็นมองนั่นมองนี่ไปเรื่อย
ทำไมชอบอ่านนิยาย ผมถามขึ้นท่ามกลางความเงียบ
“ก็โลกความจริงมันไม่น่าอยู่”เธอตอบสั้นๆ
ถามเธอว่าเสื้อผ้าเธอมาจากไหน เธอบอกผมลองเดินไปดูทางแยกคอกวัว ไปตามซอย มันจะมีตลาดคนไร้บ้าน ขายเสื้อผ้าตัวละ5บาท10บาทอยู่
หืม..ราคา5บาท10บาท ผมไม่อยากจะนึกถึงสภาพ
อีกไม่กี่อาทิตย์ถัดมาผมชวน โอม-ช่างภาพ ไปเดินตลาดคนไร้บ้าน
บนถนนราชดำเนินที่ว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจจากถนนฌ็องเซลิเซ่,ปารีส ตอนนี้ผมนึกภาพนั้นไม่ออก
ตึกปิดซ่อมบำรุง ริมถนนเห็นคนนั่งๆ นอนๆ เกลื่อนพื้น คนเดินสวนไปมา คนรอรถเมล์ กลิ่นเหล้าราคาถูกโชยหึ่ง แมวป่วยขนหลุดร่วงผิวหนังแหว่งเลือดแห้งเกรอะกรังกำลังคุ้ยถังขยะ คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นฉี่ และบางทีมีกองอ้วกแห้งๆ
ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ผู้กำกับหนังตระกูล Before sunrise,sunset ไม่น่าจะถ่ายหนังบนถนนเส้นนี้ได้
ผมชอบมูลนิธิกระจกเงามาก ที่มีที่อาบน้ำ ที่ซักผ้า ให้คนไร้บ้านใต้สะพานปิ่นเกล้าฝั่งเชื่อมเข้าถนนพระอาทิตย์
ปัญหานึงของคนไร้บ้านคือเรื่อง “กลิ่น” ถ้าเขาเนื้อตัวสะอาดขึ้น หอมขึ้น มันเป็นการคืนศักดิ์ศรีคืนภาพลักษณ์ให้กับเขา อย่างน้อยเวลาคนอื่นเดินผ่านเขาจะได้ไม่ต้องกลั้นหายใจ
แต่สิ่งที่เป็นการคืนศักดิ์ศรีให้เขาจริงๆ ที่ผมชอบที่สุดคือ โปรเจกต์ “จ้างวานข้า” ซึ่งเป็นโครงการจ้างงานคนไร้บ้านของมูลนิธิกระจกเงา
ที่หางานให้เขา เมื่อเขามีงาน เขาก็จะมีเงิน เมื่อมีเงินก็หาห้องเช่าหาบ้านให้อยู่ เมื่อคน “ไร้บ้าน” มีห้องอยู่ เขาก็จะไม่ใช่คนไร้บ้านอีกต่อไป
โอ้โห...นี่มันคือการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนคนนึงให้กลับมาเลย
อาทิตย์ถัดมา ผมไปคุยกับพี่หนูหริ่ง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ที่ทำเรื่องคนไร้บ้าน และตามหาคนหาย
ขณะที่หลายคนรู้สึกว่า เหนื่อย
อยู่ในโลกที่ยากจะคาดเดา
การเมืองที่ทำให้เบิร์นเอาท์
แต่เขาไม่จมอยู่กับโลกที่ผุพัง
เป็นพวกที่เชื่อว่า โลกยังมีความหวัง โลกดีกว่านี้ได้
เขาลุกเปลี่ยนแปลงมันด้วยนวัตกรรม อารมณ์ขัน และความคิดสร้างสรรค์
ถ้าถามว่าผมนับคือคนแบบไหน
ผมตอบได้ทันทีว่าผมนับถือคนแบบนี้!
-
ปีหน้าพบกับหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ 15 บุคคลคัดสรรครับ

https://www.facebook.com/editormoremag/posts/9370287616367028