วันจันทร์, ธันวาคม 30, 2567

ไทยรัฐพลัส คัดเลือก 5 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ควรถูกลืมในปี 2567 เรื่องที่คัดมา อาจไม่ใช่เรื่องราวที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี แต่ทั้งหมดเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อธิบายให้เห็นภาพกว้างของสภาพสังคมและการเมืองไทยได้มากกว่าที่คิด



5 เรื่องที่ไม่อยากให้ลืมในปี 2567

26 ธ.ค. 67
Thairath Plus

บันทึก 5 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2567 ที่คัดเลือกมา อาจไม่ใช่เรื่องราวที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี แต่ทั้งหมดเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อธิบายให้เห็นภาพกว้างของสภาพสังคมและการเมืองไทยได้มากกว่าที่คิด



เศรษฐาพ้นนายกฯ

เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลเป็น แพทองธาร ชินวัตร และการมีบทบาทมากขึ้นของ ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งชุด

การยื่นถอดถอนครั้งนี้เกิดจากการที่อดีต 40 สว. ลงชื่อยื่นคำร้องต่อศาลฯ ว่า พิชิต ชื่นบาน ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

จริงอยู่ว่ายังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การยุบพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคส้มร่างสามถือกำเนิดใหม่ในนามพรรคประชาชน แต่เมื่อเทียบกับกรณีฟันเศรษฐา การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีนั้นส่งผลสะเทือนทางการเมืองมากกว่าการยุบพรรคส้ม

ก่อนหน้านั้น มีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐาเป็นเพียงตัวสำรองในช่วงที่ แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่พร้อมจะเป็นผู้นำ เป็นที่มาของข้อสมมติฐานหลายอย่าง เช่น ดีลลับเอาทักษิณกลับบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงขั้นที่ว่า เศรษฐาอาจถูก ‘วางยา’ จากการแต่งตั้งพิชิต

หลังจากนั้น แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งระหว่างทางก็เกิดการเขย่าขั้วการเมืองใหม่ พลังประชารัฐของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องหลุดออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางข่าวลือว่า คนในบ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นกุนซือดีลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เมื่อบุตรสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น จนใครหลายคนบอกว่า ทักษิณกำลังทำหน้าที่ ‘นายกฯ ตัวจริง’ ทั้งวิพากษ์วิจารณ์พรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง ขึ้นเวทีหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นแต่พูดเรื่องการเมืองระดับชาติ ไปจนถึงงัดข้อกับพรรคร่วมอย่างภูมิใจไทยที่เริ่มออกท่าขัดขวางการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น

ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่ง ทุกอย่างจึงดูเหมือนจะเข้าทางทักษิณไปเสียหมด

อ่านเพิ่มเติม:
เศรษฐาหลุดนายกฯ ครม. พ้นทั้งชุด หานายกฯ คนใหม่จากแคนดิเดตเดิม



บุ้ง เนติพร เสียชีวิต

บุ้ง - เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตหลังจากอดอาหารและน้ำกว่า 100 วัน แต่จนถึงวันนี้ ยังมีนักโทษการเมืองและคดีมาตรา 112 ยังถูกคุมขังอีกหลายคน และกฎหมายนิรโทษกรรมก็ยังไม่เห็นอนาคต

นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังเริ่มอดอาหารและน้ำประท้วง (dry hunger strike) ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 เพียง 1 วันหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่มีการพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเรียกร้องให้ถอด เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภาออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ และสั่งจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล จากการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเมื่อ 19 ตุลาคม 2566

ข้อเรียกร้องในการอดอาหารของบุ้งมี 2 ข้อ คือ หนึ่ง-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสอง-ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก

เช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ โพสต์ข้อความส่งต่อทางกลุ่มนักกิจกรรมว่า บุ้งอาการวิกฤติ โดยโรงพยาบาลแจ้งว่าหัวใจหยุดเต้น ต้องเร่งปั๊มหัวใจ และนำตัวส่งโรงพยาบาล

เวลา 11.22 น. บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง วัย 28 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังอดอาหารมานาน 108 วัน ซึ่งเป็นการอดอาหารประท้วงยาวนานที่สุดในยุคหลังการชุมนุมใหญ่ปี 2563

จนถึงทุกวันนี้ สาเหตุการเสียชีวิตของบุ้งก็ยังไม่ถูกเปิดเผยชัดเจน และข้อเรียกร้องสองข้อก็ไม่เป็นผล เพราะยังมีนักโทษการเมืองและคดีมาตรา 112 ถูกจำคุกโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาสู้คดีเหมือนความผิดฐานอื่นๆ ทั้งที่ส่วนใหญ่คดียังไม่ถึงที่สุด

ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยตัวเลขผู้ต้องขังจากคดีแสดงออกทางการเมืองและมาตรา 112 นับถึง 12 ธันวาคม 2567 พบว่า
ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง มีอย่างน้อย 33 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 24 คน
ผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดี มีอย่างน้อย 22 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 15 คน
เยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล
ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ มีอย่างน้อย 10 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 9 คน

ส่วนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง 20 ปี ของทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมือง ก็มีแนวโน้มสูงว่าจะไม่นับรวมความผิดจากคดีมาตรา 112 เข้าไปด้วย

ล่าสุด อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ เพิ่งถูกศาลตัดสินคดีมาตรา 112 คดีที่ 6 จำคุกเพิ่มอีก 2 ปี 8 เดือน จากคดีปราศรัยใน ‘ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์’ ทำให้ขณะนี้ทนายอานนท์มีโทษจำคุกจาก 6 คดี รวม 18 ปี 10 เดือน 20 วัน

การเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร จึงเป็นภาพสะท้อนของการเรียกร้องสิทธิของนักโทษการเมืองที่ยังมองไม่เห็นปลายทางและความหวังในเร็ววันนี้

อ่านเพิ่มเติม:
108 วันของ บุ้ง เนติพร ก่อนถึงวันเดินทางไกล
ความตายของ บุ้ง เนติพร ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ความหวังที่ยังไม่ชัดเจนนักในรัฐบาลชุดนี้



ปลาหมอคางดำระบาด

การระบาดของปลาหมอคางดำ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเดือดร้อนมหาศาล ตามมาด้วยคำถามถึงความเกี่ยวข้องกับทุนใหญ่ และข้อพิพาทระหว่าง BioThai และ CPF

ปลาหมอคางดำมีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศหรือปลาหมอสี บริเวณใต้คางมีสีดำ เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น หรือ alien species สามารถกินได้ทั้งพืช สัตว์ หรือซากของสิ่งมีชีวิต และมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว อัตราการรอดสูงของตัวอ่อนกว่าปกติ และสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล

การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นในธรรมชาติลดลง จากการบุกรุกยึดครองพื้นที่ สัตว์น้ำวัยอ่อนของกุ้ง หอย ปู และปลา ล้วนตกเป็นเหยื่อของปลาหมอคางดำ เกิดเป็นวิกฤติการณ์สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศ

คำถามที่ว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายไปในแหล่งน้ำมีที่มาจากไหน นำมาสู่คดีความและการต่อสู้ระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่

ในเวทีเสวนา ‘บทเรียนหายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ’ จัดโดยมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 มีรายละเอียดส่วนหนึ่งพาดพิงไปถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ว่าเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำมาตั้งแต่ปี 2553 และเป็นต้นเหตุของการระบาดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ CPF แถลงข่าวโต้ว่าไม่ใช่ต้นตอการระบาด และเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ภาพและข้อมูลเท็จ เพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของบริษัท

ต่อมา เดือนกันยายน CPF แจ้งความดำเนินคดี BioThai ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยจำเลยที่หนึ่งคือ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ BioThai จากการจัดเวทีวิชาการสาธารณะเปิดเผยเบื้องหลังการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่ง BioThai นำเสนอหลักฐานหลายชิ้นระบุว่าศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่ฟาร์มยี่สารของ CPF

ตามมาด้วยคดีที่สองในเดือนธันวาคม เมื่อ CP All แจ้งความดำเนินคดี กล่าวหาว่า เฟซบุ๊ก BioThai โพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ซึ่ง BioThai คาดว่าน่าจะมาจากการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การมีอิทธิพลเหนือตลาดของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง

กรณีนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมที่กล้าชนกับทุนใหญ่แบบไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หลังจากก่อนหน้านี้เครือ CP ก็เคยถูกพาดพิงว่าพัวพันกับหมูเถื่อน ซึ่ง CP ออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง และล่าสุดจากการตรวจสอบของ DSI ก็ยังไม่พบหมูเถื่อนในร้านเครือ CP แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม:
รู้จักปลาหมอคางดำ



คดีตากใบหมดอายุความ

คดีสลายการชุมนุมและขนย้ายผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 หมดอายุความ 20 ปี โดยที่ไม่สามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาดำเนินคดีได้แม้แต่คนเดียว

การรื้อฟื้นคดีตากใบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเพราะคดีใกล้หมดอายุความ แต่คดีไม่มีความคืบหน้า วันที่ 25 เมษายน 2567 กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต 48 คน จึงฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาลนราธิวาสด้วยตัวเอง และต่อมาศาลประทับรับฟ้องวันที่ 23 สิงหาคม 2567

ข้อหาของจำเลย 7 คนในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องโดยสรุปคือ ร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ส่วนอีกคดีของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้ชุมนุม ถูกกล่าวหาว่า มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งคดีตากใบนั้นทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายอาญากำหนดโทษไว้คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10–20 ปี

ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยสองรอบ 12 กันยายน และ 15 ตุลาคม 2567 แต่ก็ไม่มีจำเลยคนใดปรากฏตัว และหลบหนีจนหมดอายุความ 20 ปี

จำเลยทั้ง 7 คน คือ
พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
พลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
พลตำรวจตรีศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ
ศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

นอกจากนี้อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้องอีก 8 ผู้ต้องหาโดยวินิจฉัยว่าจากพยานหลักฐานที่ได้ไต่สวน ประกอบด้วยทั้งพลขับและผู้ควบคุมการขนย้ายผู้ชุมนุม ด้วยความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น

คดีตากใบเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นความพยายามที่ใกล้เคียงที่สุดของประชาชนที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนกับการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ความพยายามครั้งนี้ก็จบลงที่การลอยนวลพ้นผิดอีกครั้ง เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนกล้าเดินเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

ชิ้นส่วนความทรงจำที่น่านำมาปะติดปะต่อเป็นภาพรวมของเหตุการณ์ เช่น ผู้เสียชีวิต 85 ราย จากการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ 7 ราย ที่เหลือขาดอากาศหายใจจากการขนย้าย 78 ราย, จังหวัดชายแดนใต้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษยาวนาน, ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ 20 ปีผ่านนายกฯ 9 คน จึงสัมพันธ์กับเรื่องนโยบายทางการเมืองและการจัดการกองทัพอย่างชัดเจน, มีคำขอโทษ แสดงความเสียใจ มีการจ่ายเงินชดเชย แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนร่วมและสั่งการเลือกที่จะหลบหนีความผิดมากกว่ารับผิดชอบ

แม้ว่าในกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว สิ่งที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปจึงคือการบันทึกความทรงจำต่างๆ เพื่อทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น บริบทแวดล้อม ผลสืบเนื่อง เพื่อไม่ให้ความสูญเสียจากการสลายชุมนุมตากใบหมดไปพร้อมๆ กับอายุความ

อ่านเพิ่มเติมที่:
ตากใบ ในความทรงจำ
เมื่อคดีตากใบกำลังจะหมดอายุความ และนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
20 ปีตากใบ นกกระดาษตัวสุดท้าย ที่ชายแดนใต้ต้องการ อาจเป็นความยุติธรรม



การกลับมาของ MOU 44

มวลชนอนุรักษนิยมกลุ่มหนึ่งพยายามปลุกกระแสยกเลิก MOU 44 เพราะจะนำไปสู่การเสียดินแดนเกาะกูดของไทยให้กัมพูชา แต่กระแสที่พยายามปลุกม็อบการเมืองในยุคนี้อาจจุดไม่ติดเหมือนก่อน

ผู้นำมวลชนรักชาติกลุ่มนี้ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล เรียกร้องให้รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ยกเลิก MOU 44 หรือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ที่ไทยและกัมพูชาลงนามร่วมกันเมื่อ 18 มิถุนายน 2544 โดยมวลชนกลุ่มนี้แสดงความกังวลว่า MOU 44 จะนำไปสู่การเสียเกาะกูดให้กัมพูชา เหมือนกรณีเขาพระวิหาร

สนธิยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยจะติดตามผลและพร้อมลงถนน ซึ่งสนธิย้ำคำเดิมเหมือนที่เคยใช้ในการชุมนุมทางการเมืองครั้งก่อนๆ ว่า สู้ครั้งนี้ต้องชนะลูกเดียว

คาดกันว่า การเรียกร้องของสนธิและมวลชนกลุ่มอนุรักษนิยม ไม่ได้เถรตรงไปยังเรื่อง MOU 44 แต่มีนัยทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง คือการลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เช่นประโยคที่ว่า ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ทับซ้อน มีแต่นายกฯ ทับซ้อน และ MOU 44 เป็น MOU ขายชาติ

ที่สำคัญคือ MOU 44 ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ทำไม MOU 44 ถึงเพิ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมา ทั้งที่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่มีใครพูดถึงหรือออกมาเรียกร้อง

แต่ดูเหมือนว่ากระแส MOU ขายชาติเพื่อเขย่ารัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร จะยังจุดไม่ติดเหมือนการชุมนุมของพันธมิตรหรือ กปปส. สะท้อนให้เห็นภาพรวมของการชุมนุมทางการเมือง ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองยังพอเดินหน้าได้ และคงไม่มีใครกล้าเป็น ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ เพราะการลงทุนครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่าใดๆ

แต่แม้ MOU 44 จะเป็นประเด็นไกลตัว และอาจไม่มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงการเสียดินแดน แต่ก็ไม่ควรประมาทการเคลื่อนไหวของมวลชนอนุรักษนิยม เพราะเมื่อมวลชนกลุ่มนี้เริ่มก่อตัว ข้อเรียกร้องอาจจะขยับไปเรื่อยๆ กระทั่งจุดกระแสได้ บทเรียนสำคัญคือการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อขับไล่ทักษิณ และ กปปส. ขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งผลของการชุมนุมใหญ่ทั้งสองครั้งจบลงที่รัฐประหาร และการหนีออกนอกประเทศของนายกฯ นามสกุลชินวัตร

อ่านเพิ่มเติม:
MOU 44 ทำความเข้าใจไม่ยาก เว้นเสียแต่ว่าไม่อยากจะเข้าใจ
ถ้าไทยยกเลิก MOU 44 จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105050