วันอาทิตย์, ธันวาคม 01, 2567
ข้อเสนอจาก เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคประชาชน ว่าด้วยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ - Natthaphong Ruengpanyawut
16h ·
ว่าด้วยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
เรียน พี่น้องประชาชนที่เคารพ
จากการที่ผมได้เข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ตอนล่าง ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวานนี้ และจากข้อมูลล่าสุดของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเมื่อเช้านี้ บ่งชี้ว่าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มีความรุนแรงและ และแผ่วงกว้าง การเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
และล่าสุดสถานการณ์ฝนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมายังคงสูงมาก ในพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดนราธิวาส พัทลุง ยะลา และสงขลา ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และคาดว่าปัญหาอุทกภัยจะยังคงอยู่จนถึงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึง
ขณะเดียวกัน ทีมอาสาสมัครของพรรคประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดได้รายงานให้ทราบว่า พี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต ขณะนี้ วัตถุดิบสำหรับการทำอาหาร น้ำดื่ม และเชื้อเพลิง เริ่มขาดแคลน เพราะไม่สามารถนำส่งเข้าไปยังพื้นที่ได้ โรงพยาบาลบางแห่งจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ที่ปลอดภัย แต่อุปกรณ์และความช่วยเหลือยังทำได้จำกัด และทำได้ด้วยความยากลำบาก
ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมา ผมเสนอให้รัฐบาลประกาศยกระดับภัยพิบัติจากระดับ 2 เป็นระดับ 3 เพื่อให้กระทรวงต่างๆ สามารถระดมและเคลื่อนย้ายสรรพกำลังจากทั่วประเทศ เข้าไปช่วยพี่น้องในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างเต็มที่และทันท่วงที โดยภารกิจเร่งด่วนที่ควรดำเนินการประกอบด้วย
1. จัดทำแบบจำลองการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยด่วนที่สุด เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ทราบโดยเร็วและทั่วถึงกัน
2. วางแผนโลจิสติกส์เพื่อจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม ยาเวชภัณฑ์(รวมทั้งนมผงสำหรับเด็กทารก) เครื่องใช้ส่วนตัว (ผ้าอ้อม ผ้าอนามัย) เชื้อเพลิง เรือ ชูชีพ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยในภาคใต้ตอนล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด จัดทีมและอุปกรณ์เข้าช่วยและค้นหาผู้ติดค้าง และ/หรือผู้สูญหายโดยเร่งด่วนที่สุด
3. เสริมกำลังคน ทีมงาน และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลพื้นที่ที่มีความสำคัญ เช่น โรงพยาบาล จุดอพยพ ศูนย์พักพิง สาธารณูปโภคพื้นฐาน (เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา) เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด และให้จุดอพยพ/ศูนย์พักพิงมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ
4. เตรียมแผนการระบายน้ำไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ที่ถนนตัดขวางเส้นทางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและมักทำให้น้ำท่วงขังตามมา
5. จัดเตรียมทีมแพทย์ ทีมดูแลสุขภาพจิต และทีมซ่อมบำรุงระบบสนับสนุนโรงพยาบาล เตรียมเข้าพื้นที่ทันทีที่เข้าพื้นที่ได้ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย
6. ขยายวงเงินการใช้งบประมาณทดรองราชการสำหรับการช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูและช่วยเหลือเยียวยาหลังน้ำลด ให้เพียงพอ และโดยเร่งด่วน และควรจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรอาสาสมัครกู้ชีพ/กู้ภัย ให้มีความเข้มแข็งในการเผชิญเหตุภัยพิบัติในระยะยาว
สำหรับน้องๆ มัธยมชั้นปีที่ 6 ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่กำลังกังวลเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่กำลังจะใกล้เข้ามาในต้นเดือนธันวาคม ขณะนี้ ทางพรรคประชาชนกำลังประสานงานพิจารณาแนวทางการเลื่อนการสอบออกไป โดยจะพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับน้องๆ ทุกคน ในประเทศ
สุดท้าย ผมขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ทีมงานอาสาสมัครจากทุกภาคส่วน ที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างแข็งขัน และขอให้กำลังใจทีมงานและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้ผ่านพ้นจากภัยพิบัตินี้ร่วมกัน ผมและพรรคประชาชนจะติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และทีมงาน/อาสาสมัครในพื้นที่