วันจันทร์, เมษายน 01, 2567

"ให้คนเท่ากัน" จุฬาฯ ยกเลิกการใช้นิสิตแบกเสลี่ยงขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว มองขัดต่อสิทธิมนุษยชน หันมาใช้รถกอล์ฟ EV


The Reporters
8h
·
UPDATE: จุฬาฯ ยกเลิกการใช้นิสิตแบกเสลี่ยงขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว หันมาใช้รถกอล์ฟ EV แทน ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ที่สนามศุภชลาศัย
วันนี้ (31 มี.ค. 67) งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ CU - TU Unity Football Match 2024 ที่ สนามศุภชลาศัย ซึ่งจัดภายใต้ธีม "Unity to Sustainability" ในส่วนของขบวนฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับแนวคิด Limitless Possibilities โดยช่วงการเดินขบวนพาเหรด ขบวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการใช้นิสิตขับรถ EV อัญเชิญพระเกี้ยวแทนการใช้เสลี่ยง
จากแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 เรื่องยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนความไม่เท่าเทียม ให้ยกเลิกกิจกรรม ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น เป็นประเด็นต่อเนื่องมายาวนานหลายปี จากเสียงสะท้อนของนิสิตที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมการแบกเสลี่ยง
รายงาน : ดาริกา ทับอุดม
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์
.....

"ให้คนเท่ากัน" จุฬาฯ ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว มองขัดต่อสิทธิมนุษยชน



24 ต.ค. 2564
ไทยรัฐออนไลน์

"จุฬาฯ" ประกาศยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

เฟซบุ๊กเพจ "องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)" ออกแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน

อีกทั้ง ผู้อัญเชิญซึ่งมาจากกลุ่ม CU Coronet ยังถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจุฬาฯ ในกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีและในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิ์อยู่ในหอพัก

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระ-เกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

ให้คนเท่ากัน.