วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 28, 2565

การเสียชีวิตของอองซาน บิดาของ อองซานซูจี คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศพม่า และเป็นจุดเริ่มต้นของความเลวร้ายที่ฝังรากลึกจนถึงปัจจุบัน - อ่านเรื่องราวของชายหนุ่มผู้รักในความถูกต้อง รักในการต่อสู้เพื่อแผ่นดินตนเองมาตลอด


I’m from Andromeda
Yesterday

การเสียชีวิตของอองซาน บิดาของ อองซานซูจี
คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศพม่า
และเป็นจุดเริ่มต้นของความเลวร้ายที่ฝังรากลึกจนถึงปัจจุบัน
ผมพยายามอธิบายเรื่องราวนี้ที่เกิดขึ้นให้ง่ายและชัดเจนมากที่สุด
ลองอ่านกันได้ครับ
ขอให้ประชาธิปไตยจงเจริญ
และขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ต่อสู้อยู่ที่พม่า
ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนต้องมี
We are all human

I’m from Andromeda
February 19, 2021
ออง ซาน คือชายหนุ่มผู้รักในความถูกต้อง
เขามีสายเลือดรักในการต่อสู้เพื่อแผ่นดินตนเองมาตั้งแต่รุ่นพ่อและปู่ของเขา
ออง ซาน ไม่พอใจและเห็นความไม่ชอบธรรมของประเทศอังกฤษในการยึดครองพม่ามาโดยตลอดตั้งแต่เขายังเล็ก
อังกฤษผู้ยึดครองพม่าอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ปีค.ศ.1855 หลังจากการต่อสู้มาหลายสิบปี รวมถึงการล้มราชวงศ์ทำลายระบบกษัตริย์ของพม่าไปจนหมดสิ้น
แรงงานจากอินเดียถูกส่งเข้ามาสร้างระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค นำทรัพยากรธรรมชาติอันอู้ฟู่ของพม่าไปสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ
แต่เงินเหล่านั้นแทบไม่ตกถึงมือประชาชนมือชาวบ้านเลย มันหล่นไปอยู่ในมือนายทุนชาวอังกฤษและอินเดียเสียหมด สร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่าผู้ถูกกดขี่อยู่ในดินแดนบ้านเกิดของตนเอง โดยคนจากแดนไกลผู้แสวงหาผลประโยชน์จากทวีปอื่นเพื่อเอารายได้เข้าประเทศตนเอง
ชาวพม่าต่างเฝ้าคอย พวกเขารอจังหวะที่จะทำให้ตนเองรอดพ้นจากเงื้อมมือมหาอำนาจ
และแล้วจังหวะนั้นก็มาถึง...
สงครามโลกครั้งที่สอง
————————————
จักรวรรดิญี่ปุ่น เล็งเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการต่อกรกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่พยายามรุกคืบมาทั้งทางอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังต้องการที่จะรวมตัวกับทหารเยอรมันและอิตาลีที่ดินแดนตะวันออกกลาง
8 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นยกพลบุกขึ้นทางอ่าวไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการรุกคืบเพื่อการยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน บุกเข้าไปยังประเทศพม่า ซึ่งตอนนั้นยังคงถูกยึดครองด้วยอังกฤษ ญี่ปุ่นต่อสู้กับทหารอังกฤษยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน
ญี่ปุ่นต้องหาตัวช่วย ญี่ปุ่นรู้ดีว่าพม่าต้องการเอกราชจากอังกฤษมาหลายสิบปี
จึงเกิดการร่วมมือกันระหว่างญี่ปุ่นและชาวพม่า ญี่ปุ่นขออาสาสมัครนักศึกษาพม่าจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งจำนวน 30 คน ไปฝึกบนเกาะไหหลำ และ ไต้หวัน
พวกเขาต้องการให้เด็ก 30 คนนั้น เป็นแกนนำในการกอบกู้เอกราชกลับมาจากอังกฤษ
และ 1 ใน 30 คนนั้น มี ออง ซาน รวมอยู่ด้วย
เดือนธันวาคม ค.ศ.1942 ทั้ง 30 คนฝึกเสร็จเรียบร้อย มาลงเรือที่เวียดนาม อ้อมมายังกรุงเทพ รอที่จะเข้าพม่าต่อไป
ทั้ง 30 คน เรียกตนเองว่าเป็น “Thirty Comrades”ทำพิธีกรีดเลือดร่วมสาบาน ว่าทั้งหมดจะไม่คิดทรยศคดโกงซึ่งและกัน
——————————
ออง ซาน และสหายร่วมรบ 30 คน เดินทางออกจากกรุงเทพ ไปยังย่างกุ้ง พวกเขารวบรวมชาวพม่าใจรักชาติได้เป็นจำนวนมาก มาร่วมสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นในการขับไล่อังกฤษออกจากประเทศ
การต่อสู้ของกองทัพญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับชาวพม่าเป็นไปได้ด้วยดี อังกฤษหมดหนทางจนต้องร่นถอยไปอินเดีย ญี่ปุ่นประกาศชัยชนะ และมอบเอกราชให้กับพม่าในนามรัฐพม่า ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1943
“เลือกผิดฝ่าย”
เหมือนจะเป็นการประกาศเอกราช
แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงยึดครองพม่า เพียงแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งปกครองโดยคนพม่าด้วยกันเอง
ญี่ปุ่นแต่งตั้ง ดร.บา มอ ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล ส่วน ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีกลาโหม พร้อมได้รับแต่งตั้งเป็นยศนายพล
แม้ญี่ปุ่นจะดูเหมือนจริงใจพยายามช่วยพม่า แต่พม่าก็รู้สึกได้ว่าญี่ปุ่นก็ไม่ได้จริงใจต่อพม่า ใครก็ตามที่เข้ามาต่างก็ต้องการผลประโยชน์แก่ตนเองทั้งสิ้น และกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นทราบกันดีถึงความโหดร้ายทารุณ พวกเขาไม่อาจการันตีได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนชาวพม่าหากกองทัพญี่ปุ่นยังคงอยู่ในดินแดนแห่งนี้
ออง ซาน คือคนแรกที่พยายามหันหลังกลับไปต่อกรกับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่กำลังจะพ่ายแพ้ในสงครามแปซิฟิก เขาประกาศตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ และไปเป็นพันธมิตรกับอังกฤษเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น
ฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษ รวมถึงกลุ่มของออง ซาน รวมหัวจนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกจากดินแดนไปได้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1945
สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
แม้ว่าอังกฤษจะกลับมาถือสถานะยึดครองพม่าดังเช่นก่อนสงคราม แต่ในครั้งนี้อังกฤษคิดจะทำการคืนเอกราชให้กับพม่า หลังจากยึดครองในฐานะอาณานิคมเป็นเวลาเกือบหนี่งร้อยปี
——————————
ในฝั่งประเทศอังกฤษ สภาอังกฤษจัดให้มีการอภิปรายเรื่องการคืนเอกราชให้พม่าเป็นครั้งแรก สมาชิกสภาต่างเรียกร้องให้มีการจับกุมออง ซานและพรรคพวก จากการไปร่วมมือกับญี่ปุ่นในการขับไล่อังกฤษ
แต่ แอตลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่เห็นดังนั้น เขาได้แสดงความชัดเจนว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอังกฤษจะต้องทำงานร่วมกับออง ซาน เพราะตอนนี้ออง ซาน ได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาวพม่าไปเรียบร้อยแล้ว
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1947 แอตลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงได้เชิญ ออง ซาน มาร่วมประชุมเจรจาการคืนเอกราชให้พม่า ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ระหว่างทาง ออง ซาน ได้แวะไปที่อินเดีย
ทั้งสองประเทศนี้ได้เป็นกลายมิตรกันเรียบร้อยแล้ว
จากความพยายามด้านการทูตของ ออง ซาน
ชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดีย เริ่มติดต่อสื่อสารโดยตรงกับ ออง ซาน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1946
พวกเขาส่งสัญญาณกันว่าทั้งพม่าและอินเดียจะต้องเป็นอิสระจากการควบคุมของอังกฤษ เนห์รู บอกกับ ออง ซาน ว่าทหารอินเดีย 12,000 นายที่ยังอยู่ในพม่าจะถูกถอนทยอยออกไปในไม่ช้า
ระหว่างที่ ออง ซาน แวะที่ นิวเดลี ประเทศอินเดีย
เนห์รู ปฏิบัติต่ออองซานด้วยความรักและความเคารพเป็นอย่างดี เนห์รู มอบชุดสูทตัดพิเศษให้กับออง ซาน เขากล่าวว่าชุดสูทตัวนี้จะใส่สบายและอบอุ่นกว่าในกรุงลอนดอนที่กำลังหนาวเหน็บ
ในที่สุด ออง ซาน ก็เดินทางมาถึงกรุงลอนดอน
เขาและ แอตลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เจรจาเงื่อนไขการเป็นอิสระกับอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม
และในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1947 แอตลี และรัฐบาลอังกฤษ ก็ทำข้อตกลงที่จะยอมรับรัฐบาลชั่วคราวของพม่า และตกลงที่จะให้มีการเลือกตั้ง
ออง ซาน จะเป็นคนกำหนดวันเลือกตั้งเอง และจะสิ้นสุด ก่อนวันที่อังกฤษจะประกาศเอกราชให้กับพม่า นั่นคือในเดือนมกราคม ค.ศ.1948
แอตลี ถามพม่าว่าจะให้ประเทศพม่าที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ไปตัดสินใจดูว่าพม่าจะอยากอยู่ในเครือจักรภพหรือไม่ รวมถึงอังกฤษจะให้การสนับสนุนในการเป็นสมาชิก UN
อู ซอว์ หนึ่งใน 30 สหายชุดแรกเช่นเดียวกับออง ซาน ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาครั้งนี้ด้วย
เขาปฏิเสธอย่างโอ้อวด และแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการสัญญาข้อตกลงฉบับนี้สักข้อเดียว
ปัญหาชนเผ่าในพม่าเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนไม่ต้องการระบอบการปกครองที่จะให้ใครขึ้นเป็นใหญ่ ทุกฝ่ายส่วนมากต้องการปกครองตนเอง มันคือเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ
แต่เสียงของอู ซอว์ ไม่ช่วยอะไร
การเจรจาสิ้นสุดลงเรียบร้อย
ออง ซาน กลับมายังพม่า เขาได้เชิญกลุ่ม “ชาวเขา” ทั้งหมดเข้าร่วมการเจรจา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 และมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการปกครองตนเองภายในพม่า
ข้อตกลงคือให้ชนเผ่าต่างๆ มารวมอยู่ด้วยกันเป็นประเทศเป็นระยะเวลา 10 ปี เหตุผลก็เพื่อให้เกิดความแน่นแฟ้นในชาวพม่าด้วยกันเอง
และหลังจาก 10 ปีแล้ว ชนเผ่าใดจะขอแยกตัวออกไป ก็สามารถไปได้เลย
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1947 พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยใช้สิทธิออกเสียงแบบสากล (สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในอินเดียก่อนได้รับอิสรภาพ)
ออง ซาน ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งในกลุ่มสันนิบาตเสรีชน ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้น เขากำลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าคนต่อไป
แต่ อู ซอว์ คว่ำบาตรและไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนี้
——————————-
“จุดเปลี่ยนของประเทศ”
ช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ.1947
มีข่าวลือออกมาว่ามีการออกปืน เบรน (ปืนกลเบาของอังกฤษ) กว่า 200 กระบอก ให้กับบุคคลที่ "ไม่ทราบชื่อ" จากคลังสรรพาวุธของกองบัญชาการกองทัพพม่าที่ยังควบคุมโดยอังกฤษ รวมถึงกระสุนกว่า 125,000 นัด ที่หายไปอย่างลึกลับอีกด้วย
ข่าวลือนี้สะพัดไปทั่วอังกฤษและพม่า หน่วยข่าวกรองในอังกฤษคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในย่างกุ้งเป็นอย่างมาก
รวมถึงมีข่าวลือว่ากลุ่มหัวรุนแรงของอังกฤษพยายามที่จะติดอาวุธฝ่ายค้านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลใหม่ และแทนที่ด้วยฝ่ายที่เห็นด้วยกับสถานะการปกครองที่ไม่ใช่เอกราชโดยสมบูรณ์
การปกครองที่ไม่เหมือนกับที่ ออง ซาน ต้องการ
19 กรกฎาคม ค.ศ.1947
ออง ซาน อยู่ที่อาคารสำนักเลขาธิการในย่างกุ้ง เขาต้องเป็นประธานการประชุมสภาบริหาร
10:30 น. มือปืนสามคนพร้อมปืนสเตน (ปืนของอังกฤษ) บุกเข้ามาในอาคาร และเปิดฉากยิงโดยไม่สนว่าใครเป็นใคร
ออง ซาน ได้ยินเสียงวุ่นวายจากข้างล่าง เขาลุกขึ้นยืน และกำลังจะหาทางหลบหนี
แต่ช้าไปเสียแล้ว มือปืนขึ้นวิ่งบันได ถีบห้องประชุม
และสาดกระสุนใส่ทุกคนอย่างไม่ยั้ง
วีรบุรุษผู้ก่อตั้งชาติของพม่าเสียชีวิตทันที
ด้วยเพียง 31 ปี
ทิ้งดอว์ขิ่นจี ผู้เป็นภรรยาให้เลี้ยงดูบุตรชายหญิง 3 คนโดยลำพัง รวมถึง ซู จี (อองซานซูจี) ในวัย 2 ขวบ
สมาชิกสภาอีก 4 คนในห้องเสียชีวิต
อีกสองคนบาดเจ็บสาหัส
อู นู เป็นสมาชิกสภาเพียงคนเดียวที่ไม่อยู่ในการประชุม เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าทันที
———————————-
ตำรวจเริ่มการสืบสวน พวกเขาบุกเข้าไปในบ้านของ อู ซอว์ และพบปืน สเตน และปืนไรเฟิล 18 กระบอกซ่อนอยู่ในตัวบ้าน รวมถึงรถจี๊ปที่ไม่มีป้ายทะเบียนจอดอยู่ในบริเวณของเขา
ตำรวจทำการระบายน้ำในทะเลสาบในตัวบ้านของ อู ซอว์ ตำรวจได้ค้นพบปืน เบรน 37 กระบอก และปืนพก 8 กระบอก
ตำรวจบุกไปที่บ้านของสมาชิกคนสำคัญอีกคนของพรรคของ อู ซอว์ พวกเขาพบระเบิดมือ 14 ลูก รวมถึงเครื่องมือทำระเบิด
จากการสอบสวนพบหลักฐานว่า อู ซอว์ ได้จ่ายเงินเป็นจำนวนก้อนใหญ่ให้กับเจ้าหน้าที่กองทัพอังกฤษ 2 คน เพื่อนำอาวุธออกมาจากคลัง
อู ซอว์ รับสารภาพทั้งหมดในศาล
เขาพรรคพวกถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1947
วันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948
อังกฤษทำพิธีมอบเอกราชให้ประเทศพม่า
วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 นายพล เน วิน หนึ่งในกลุ่ม 30 สหาย ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรี อู นู
และปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม
เป็นเวลานานกว่า 26 ปี