ไม่ต้องแปลกใจทำไมคนบนสื่อสาย ‘บายพ้าส’ จึงได้หัวฟัดหัวเหวี่ยงกับวิดีทัศน์ “มื้อที่สุขที่สุด” ของสิงห์คอร์ปกันนัก เพราะตรงข้ามกับความจริงอย่างสุดลิ่ม ทั้งที่หัวใจของโฆษณาชิ้นนี้อยู่ที่การ ‘ทำให้ซาบซึ้ง’ หรือ ‘romanticize’ กับชะตากรรม
จะเห็นว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คนไทยโรแมนติไซ้ส์กับการเอาชนะภาวะหดหู่ แบบ ‘against all odds’ กันมาก นับแต่ ‘ชัชชาติ’ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม.อย่างท่วมท้น มาจนลุง จุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตพัดลม ‘ฮาตาริ’ บริจาค ๙๐๐ ล้านให้โรงพยาบาลรามาฯ
แน่นอนว่าผู้ผลิตวิดีทัศน์ (มีแต่คนถามหา ใครนะตื้นเขินเหลือเกิน) เรื่อง ‘มากกว่า ของในถุง’ ตั้งใจจะจับเอาความรู้สึกกินใจอย่างมวลรวมกับปรากฏการณ์ ‘แจ็คฆ่ายักษ์’ หรือ ‘ยาจกกลายเป็นเทพ’ ก็น่าเสียดายที่เอามาใช้ ‘ผิดผีผิดไข้’
หากใครได้ท่องเว็บบนทางที่คู่ขนานกับสายหลัก จะพบว่าเมื่อผู้คนมีโอกาสได้ระบายความรู้สึก เปิดใจ และเล่าขานสู่สาธารณะกันได้สะดวก สิ่งที่ปรากฏบ้างดิบๆ สุกๆ บ้างหยาบบ้างละเอียดอ่อน มันสะท้อนจิตสำนึกร่วมอย่างหนึ่งของการโหยหา ‘ตัวตน’ แห่งปัจเจกชน
โดยเฉพาะมักเจอไม่ขาดสายในการเชิดชู ชื่นชม ต่อความสำเร็จของคนเล็กคนน้อย คนที่เกิดมาด้อยโอกาสกว่าคนอื่น ซึ่งไม่บังเอิญมีจำนวนมากกว่าคนที่คาบช้อนทองออกมาจากครรภ์มารดา หรือคนที่ได้รับแจกกล้วยอิ่มหมีพีมันดีแล้วอยากเป็นคนแจกเองบ้าง
เรื่องหนึ่งเพิ่งโผล่เมื่อสามสี่วันนี้เอง ผู้ใช้เฟชบุ๊คนาม warakorn sangsupon เล่าถึงคุณตาวัย ๘๓ ปี เจ้าของร้านขายกระเพาะปลาสูตรเยาวราช ที่กาดน้ำโท้ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ขายไม่ดีเตรียมปิดกิจการ เขาและคนรักเห็นเข้า สองตายายนั่งหงอยเหงาจับใจ
ทั้งคู่เลยอุดหนุน ๑๐ ถุง เวลาจ่ายเงินขอใช้บัตรธนาคาร คุณตายื่นโทรศัพท์มือถือของแกให้ช่วยจัดการโอนแทนเพราะทำเองไม่เป็น พอเห็นบัญชีคุณตามีเงินอยู่เพียง ๓ บาท เขาเลยเปลี่ยนใจรวบรวมเงินสดที่มีอยู่ติดตัว เหมากระเพาะปลาวันนั้นทั้งหมด
ชายผู้นี้นำเรื่องของคุณตากระเพาะปลาลงโพสต์เฟชบุ๊ค ว่าเขานำกระเพาะปลากลับบ้านแค่สิบถุง ที่เหลือแล้วแต่คุณตาจะแจกใคร “วันนี้ผมมีความสุขมาก ขอบคุณคุณตานะครับที่เป็นกำลังใจดีๆ ให้ผมเช่นกัน ในบางอารมณ์ผมคิดว่าผมแย่แล้ว ยังมีคนที่ลำบากกว่าผม”
เมื่อเขาโทรกลับไปถามไถ่คุณตาในวันรุ่งขึ้น ทราบว่าจากโพสต์เฟชบุ๊คทำให้มีคนใส่ใจไปอุดหนุนตุณตากันหนาแน่น “วันนี้ก็มีคนมาเหมา พรุ่งนี้ก็จะมีคนมาสั่งอีก” คุณตาขอบอกขอบใจยกใหญ่ “ขอบคุณที่ให้ชีวิตใหม่ผม ขอบคุณที่ทำให้ผมมีแรงสู้ต่อ”
‘warakorn’ บอกว่าเขาเองเป็นพ่อค้า เข้าใจและซึมซับกับสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ของการทำธุรกิจยุคนี้ดี ยุคที่ สิงห์คอร์ปโรแมนติไซ้ส์กับการที่พ่อลูกนั่งกินข้าวบนหลังคา บ้านซึ่งถูกน้ำท่วมติดเพดาน เพราะอาหารได้รับมาจากถุง ‘พระราชทาน’
เสียท่า ในตอนจบของวิดีทัศน์ อันมีภาพป้อมปราการยกพื้นสูงท่ามกลางทุ่งนาว้างเวิ้ง เรียงกันเป็นข้อความว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ยักมีภาพสองพ่อลูกนั่งหัวร่อต่อกระซิกกันอีก กับความยั่งยืนแบบนั้น
(https://m.youtube.com/watch?v=LOM17t1KhAc และ https://www.facebook.com/gustory/posts/pfbid0epoRiEim)