วันพุธ, ตุลาคม 21, 2563

วงการตุลาการกำลังเดือดเป็นไฟ ! มีคำสังกำชับบรรดาหัวหน้าศาล ไม่ให้ประกันตัวแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง อ้างว่ามีใบสั่งจากเบื้องบน


วงการตุลาการกำลังเดือดเป็นไฟ!

มีรายงานข่าวจากวงการตุลาการแจ้งว่า ขณะนี้ ประธานศาลฎีกาที่ติดเชื้อสลิ่มในกระแสเลือด เคยเป่านกหวีดร่วมกับกำนัน มีคำสังกำชับบรรดาหัวหน้าศาล อธิบดีศาลชั้นต้น และประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันตัวแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่ามีใบสั่งจากเบื้องบน

ทันทีที่ทราบว่าเมื่อวาน (19 ต.ค. 63) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ประกันตัวกลุ่มผู้ชุมนุม ประธานศาลฎีกาจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ยกหูโทรศัพท์ สั่งการไปยังศาลอุทธรณ์ทุกแห่ง ที่กำลังพิจารณาคำร้องทำนองเดียวกันนี้อยู่ว่า ห้ามให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยแอบอ้างว่ามีคำสั่งจาก"เบื้องบน"

นับเป็นการแทรกแซงอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการอย่างไร้ยางอาย
และเป็นการสร้างความมัวหมองแก่สถาบัน เรื่องนี้กำลังเป็นที่โจษขานกันอย่างกว้างขวางในแวดวงตุลาการ สร้างความอึดอัดใจแก่บรรดาผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมอย่างมาก

เชื่อว่าเร็วๆนี้ จะมีความเคลื่อนไหวจากบรรดาผู้พิพากษา เพื่อคัดค้านการแทรกแซงอำนาจเถื่อนจากประมุขของอำนาจตุลาการอย่างแน่นอน.

นี่คือเหตุผลที่ทนายอานนท์ และอีกหลายคนไม่ได้ประกันตัว
(มิตรท่านหนึ่ง)
...

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·

+++ศาลอาญาสั่งฝากขัง ‘ไมค์ ภาณุพงศ์’ คดีทำลายโบราณสถานฯ เหตุปักหมุดคณะราษฎร และคดียุยงปลุกปั่น ชุมนุม 19 ก.ย. ทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์ +++
.
วันที่ 19 ต.ค. 63 ศาลอาญา ถ.รัชดา มีคำสั่งพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี ‘ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก’ สองคดีคือ
.
1.คดีหมายเลขดำที่ ฝ.1311/2563 ข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุแห่งการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง
.
2. คดีหมายเลขดำที่ ฝ.1312/2563 ข้อหาบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32 จากกรณีปักหมุดคณะราษฎร 2563 เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 20 ก.ย. 63 บริเวณท้องสนามหลวง
.
ภาณุพงศ์ถูกจับกุมเมื่อ 17 ต.ค. 63 หลังปราศรัยในการชุมนุมย่านรามคำแหงจบ โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าทุบกระจกรถ และคุมตัวภาณุพงศ์ไปสอบสวนในกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ก่อนถูกคุมตัวไว้ 2 คืน จากนั้นภาณุพงศ์ถูกนำตัวมายังศาลอาญาในเช้าวันที่ 19 ต.ค. 63 โดยพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ซึ่งยื่นคำร้องขอฝากขังภาณุพงศ์สำนวนคดีละ 12 วัน ระหว่างวันที่ 19 – 30 ต.ค. 63 ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้สำนวนคดีละ 7 วัน โดยเริ่มฝากขังผัดแรกระหว่างวันที่ 19-25 ต.ค. 63
.
ราว 16.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ โดยใช้เงินประกันจาก 'กองทุนดา ตอร์ปิโด' กองทุนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุม คดีละ 100,000 บาท รวมแล้ว 200,000 บาท โดยระบุเหตุผลในคำร้องฯ ของทั้งสองคดีโดยสังเขปว่า
.
1. ภาณุพงศ์เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและยังต้องไปเรียน 2. ภาณุพงศ์เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่มีอิทธิพลจะยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน 3. ภาณุพงศ์ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งประพฤติดีมาตลอด 4. ยังไม่มีการพิพากษาว่าภาณุพงศ์เป็นผู้กระทำผิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคีในข้อ 14 (1) ตลอดจนรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2560 ยังได้บัญญัติรับรองหลัก “เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด” 5. “สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม” เป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญซึ่งสากลยอมรับ การกระทำของเจ้าพนักงานเป็นการยับยั้งเสรีภาพของประชาชน 6. ในประเทศไทยที่ขณะนี้หลักการสำคัญหลายประการพังทลายลง มีเพียงอำนาจศาลที่จะช่วยตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ฯลฯ
.
เวลา 16.50 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวภาณุพงศ์ในทั้งสองคดี โดยระบุเหตุผลเหมือนกัน คือ “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมโดยรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว กรณีน่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมืองหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง คืนหลักทรัพย์”
.
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ได้นำตัวภาณุพงศ์ไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผัดแรก 7 วัน ระหว่างวันที่ 19-25 ต.ค. 63 โดยทนายความได้เตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งฝากขังต่อไป
.
ข้อหาตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ นับเป็นข้อหาที่มีโทษหนัก โดยระบุว่าผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ขณะเดียวกันในวรรคสอง กำหนดว่าหากเป็นการกระทําต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ยังมีโทษจําคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไมเกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
.
++ ทั้งนี้ ภาณุพงศ์ได้ฝากบทกวีมากับทนายความที่เข้าเยี่ยมในช่วงเช้าวันที่ 19 ต.ค. 63 ด้วย ดังนี้ ++
.
จะติดคุก ติดคดี สักกี่ครั้ง
ก็มิอาจ ยับยั้ง ใจฉันได้
อุดมการณ์ ผู้รัก ประชาธิปไตย
ขังฉันได้ ก็แค่ตัว ใช่หัวใจ
จะยืนยัน สู้ต่อ ไม่ขอหยุด
เพราะปักหมุด สัญญาไว้ ไม่ถอยแล้ว
ขอทุกคน สู้ต่อ อย่าแตกแถว
ออกไปแล้ว จะสู้ใหม่ ให้มันจบที่รุ่นเรา
ไมค์ ระยอง
19 ต.ค. 63
ศาลอาญา


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h ·

+++ แจ้งข้อกล่าวหา “แอมมี่” ในเรือนจำ ปมสาดสี: ทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นอันตราย-พ.ร.บ.ความสะอาดฯ +++
.
.
19 ตุลาคม 2563 – เวลาประมาณ 11.00 น. ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง รองสารวัตรสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ ได้เดินทางไปที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพ เพื่อเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” ซึ่งถูกขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ภายหลังที่ถูกจับกุมจากการร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน
.
คดีที่เข้าแจ้งข้อกล่าวหานี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ “สาดสี” เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ในระหว่างที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมของกลุ่ม #เยาวชนแปลดแอก ที่ได้รับหมายเรียก 15 ราย เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. สําราญราษฎร์
.
พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 08.30 น. ร.ต.อ.วัชรินทร์ ศรีราม ในฐานะผู้กล่าวหาที่ 1 กับเจ้าหน้าที่รายอื่นอีก 9 นาย ที่ร่วมเป็นผู้กล่าวหา ได้มาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่ สน.สําราญราษฎร์ เนื่องจากจะมีกลุ่มผู้ต้องหา 15 ราย ที่กระทําความผิดจากเหตุการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เดินทางมารายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน
.
ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่เข้าประจําจุดด้านหน้าทางเข้า สน.สําราญราษฎร์ โดยให้ผู้กล่าวหาที่ 1 กับพวกยืนรักษาการณ์บริเวณหลังแผงเหล็กกั้น ต่อมาเวลาประมาณ 09.30 น. ได้มีกลุ่มมวลชนมาให้กําลังใจผู้ต้องหาที่ถูกหมายเรียกราว 100 คน เดินทางถึงบริเวณหน้า สน. และมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง ระหว่างนั้นเวลาราว 09.55 น. มีชายไม่ทราบชื่อ-นามสกุลจริง (ทราบภายหลังว่าคือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์) อายุราว 30 ปี แต่งกายด้วยเสื้อกล้ามสีขาว -กางเกงขายาวสีฟ้าอ่อน ใส่หมวกแก๊ปสีขาว แว่นตากันแดดสีขาว ถือกระป๋องพลาสติกบรรจุสีน้ำเงินเดินแทรกเข้ามาแล้วเท สาดใส่ผู้กล่าวหาที่ 1 – 10 ซึ่งยืนหลังแผงเหล็ก จนสีเปรอะเปื้อนเครื่องแบบ ทําให้ได้รับความเสียหาย รวมไปถึงทำให้พื้นถนนหน้าทางเข้า สน. เปื้อนสีเป็นบริเวณกว้าง จากนั้นชายที่สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ก็เดินกลับเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อมา ผู้กล่าวหาที่ 1-10 จึงได้เข้าแจ้งความให้ดําเนินคดีไชยอมร
.
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาไชยอมรว่า การกระทําดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ทําร้ายร่างกาย/จิตใจผู้อื่น แต่ไม่ถึงเป็นอันตราย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 และ “ทำให้ถนน/กำแพงเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์” ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไชยอมรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.
ภายหลังพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ ในช่วงค่ำแอมมี่ก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ในคดีร่วมชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563
.
ขอบคุณรูปประกอบจาก กันต์ แสงทอง (Kan Sangtong)
.
อ่านข่าวฉบับเว็บไซต์: https://www.tlhr2014.com/?p=22256


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
1h ·

++ “รุ้ง” ถูกแจ้งข้อหาเพิ่ม 3 คดี ส่วน “เพนกวิน” ถูกแจ้งอีก 4 คดีรวด ++
.
.
วานนี้ (19 ต.ค. 63) หลังจากศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ สามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป
.
เช้าวันนี้ (20 ต.ค. 63) เวลา 07.00 น. ณ เรือนจำอำเภอธัญบุรี พนักงานสอบสวนสภ.เมืองร้อยเอ็ดได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหานายพริษฐ์ ตามหมายจับคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 63
.
พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าเขาได้กล่าวปราศรัยปลุกปั่นประชาชนผู้ชุมนุมให้คล้อยตามการโจมตีการทำงานของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และยังมีการกล่าวปราศรัยในลักษณะ “จาบจ้วง” “ก้าวล่วงพระราชอำนาจ” ทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง สถาบันพระมหากษัตริย์ คดีนี้มีพ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับสืบสวนสภ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา
.
เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหา-คำให้การใดๆ โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ยอมรับอำนาจศักดินา" ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกเหตุผลดังกล่าวลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย
.
เวลา 14.15 น. พริษฐ์, ปนัสยา และณัฐชนน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอำเภอธัญบุรี หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 คน เป็นนายประกัน และกำหนด วงเงิน 200,000 บาท หากผิดสัญญาประกัน
.
แม้ว่าพริษฐ์และปนัสยาจะได้รับการประกันตัว แต่ทั้งสองได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ชนะสงครามเข้าอายัดตัวต่อทันที โดยคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อนำตัวไปแจ้งข้อหาตามหมายจับในอีกคดีหนึ่ง ขณะที่ณัฐชนนได้เดินทางกลับบ้าน
.
ต่อมาภายในบก.ตชด.ภาค 1 พนักงานสอบสวนอีกหลายสถานีตำรวจซึ่งมีการขอออกหมายจับทั้งพริษฐ์และปนัสยาไว้ก่อนหน้านี้ได้ทยอยเดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมอื่นๆ อีก โดยทั้งคู่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในอีก 3 คดีรวด ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอํานาจราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63, คดีการชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 และคดีการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 63 โดยมีข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ทุกคดี
.
ในคืนนี้ทั้งคู่จะถูกคุมตัวไว้ที่บก.ตชด.ภาค 1 ต่อ และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีอื่นๆ จะเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อพริษฐ์อีก หลังจากเขาเดินสายปราศรัยในหลายจังหวัดก่อนหน้านี้ โดยมีรายงานว่าจะถูกดำเนินคดีทั้งกรณีที่จังหวัดขอนแก่นเพิ่มเติม และคดีที่จังหวัดอุบลราชธานี
.
พรุ่งนี้ ยังต้องจับตาว่าทั้งพริษฐ์และปนัสยาจะถูกนำตัวไปขออนุญาตศาลเพื่อฝากขังเมื่อใด โดยหากนับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ที่ถูกควบคุมตัว ทั้งคู่ถูกคุมขังและควบคุมตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 วันแล้ว


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
1h ·

++“หมอลำแบงค์” ไม่ได้ประกันต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง หลังศาลไม่ให้ประกันเหตุปราศรัย #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ++
20 ต.ค. 63 เวลา ​16.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำสั่งไม่ให้ประกัน "หมอลำแบงค์" ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จากคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215 และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ
.
นายเทวัญ รอดเจริญ ผู้พิพากษาระบุเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวปติวัฒน์ว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา ประกอบกับคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคง และสังคมส่วนรวม อีกทั้งเจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาได้ตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากให้ประกัน ผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือไปมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันอีก”
.
ทั้งนี้ ข้อหา ม.116 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี, ม.215 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
.
เมื่อปี 58 "หมอลำแบงค์" พร้อม "กอล์ฟ-ภรณ์ทิพย์" เคยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดี ม.112 จากการแสดงละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนที่จะเขาพ้นโทษจำคุกได้รับอิสระภาพเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 60 สี่ปีต่อมาเขาต้องถูกขังในเรือนจำอีกครั้ง
.
นอกจากคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปติวัฒน์ยังถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 23 ก.ค. 63
.
อ่านทั้งหมดที่>> https://www.tlhr2014.com/?p=22271