อยากให้ใครอยู่ในแบงก์?วันนี้เห็นแท็ก #อยากให้อะไรอยู่บนธนบัตร เลยนึกถึงโพสต์นี้ เพื่อนๆ ช่วยกันระดมไอเดียมาได้ 2 ชุด: “ชาวต่างชาติที่ร่วมพัฒนาสยาม” กับ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ชุดนึงมี 6 ใบ (20, 50, 100, 500, 1000 บาท) ลองคิดกันต่อสนุกๆ https://t.co/pr8ocXZSZN
— Arthit ราษฎรที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่ฝุ่นละอองธุลีใดๆ ☂️ (@bact) October 22, 2020
ธนบัตร 5 ปอนด์สเตอร์ลิง ออกโดย Clydesdale Bank ในสกอตแลนด์ ด้านหน้าเป็นรูป อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะ “เพนิซิลลิน”
การจะเลือกบุคคลสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่งไปอยู่ในธนบัตร เราคงเดากันได้ไม่ยากว่า คนเหล่านั้นจะต้องมีความสำคัญกับประเทศหรือดินแดนนั้นมากแน่ จึงได้รับเลือกไปอยู่ในสิ่งของที่คนเกือบทุกคนใช้กันอยู่เกือบทุกวัน
สำหรับประเทศที่เคยผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชหรือปลดแอกจากระบอบเผด็จการ กลุ่มผู้นำการปฏิวัติก็มักจะถูกเลือกมาอยู่บนธนบัตร ในประเทศที่มีกษัตริย์ รูปกษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันมักจะถูกนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายประเทศหลายดินแดนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่น ญี่ปุ่น สเปน (ก่อนจะใช้เงินยูโร) อังกฤษและเวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และสกอตแลนด์ ที่บุคคลบนธนบัตรเป็นบุคคลอื่น ๆ ด้วย โดยเป็นบุคคลที่เคยทำคุณงามความดีให้กับประเทศหรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักปรัชญา กวี นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ (ไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ ใช้สกุลปอนด์สเตอร์ลิงเหมือนอังกฤษและเวลส์ แต่พิมพ์ธนบัตรเอง แยกต่างหากจาก Bank of England)
สกุลเงินยูโรน่าจะเป็นสกุลเงินเดียวที่ธนบัตรและเหรียญไม่มีรูปบุคคลเลย ทั้งนี้เป็นความตั้งใจในการออกแบบ ที่จะเลือกสิ่งที่ทุกประเทศในยูโรโซนสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปได้ จึงไปใช้รูปสถาปัตยกรรมแทน โดยสถาปัตยกรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่จริง แต่วาดขึ้นใหม่ให้มีรูปแบบที่พอจะทำให้นึกถึงสิ่งปลูกสร้างคล้าย ๆ กันในท้องที่ต่าง ๆ ของยุโรป โดยไม่เจาะจงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
เมื่อวันสองวันก่อน เพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่งลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเมืองไทยจะลองออกธนบัตร อาจจะเป็นธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสพิเศษ เราจะลองเลือกใครมาอยู่ในธนบัตรได้บ้าง ขอเอามาแปะต่อ :
ชุด “ชาวต่างชาติที่ร่วมพัฒนาสยาม” — ชุดนี้อาจจะออกเป็นที่ระลึกในวาระฉลองความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ
- 20 บาท – หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley, MD) ริเริ่มการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทย พิมพ์หนังสือพิมพ์และพจนานุกรมภาษาไทยฉบับแรก
- 50 บาท – พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) (Andreas du Plessis de Richelieu) อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือในครั้งที่สยามเริ่มสร้างกองทัพเรือแบบสมัยใหม่ขึ้นมา เจ้าของบริษัทสัมปทานรถรางรายแรกในสยาม และหุ้นส่วนผู้ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยาม (ร่วมกับพระนิเทศชลที-กัปตันอัลเฟรด จอห์น ลอฟตัล)
- 100 บาท – เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลัง ยัคมินส์) (Gustave Rolin-Jaequemyns) ที่ปรึกษาในการปรับปรุงระบบราชการและกฎหมายไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และหนึ่งในคนต้นคิดในการตั้งโรงเรียนกฎหมาย
- 500 บาท – พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) (Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาและตัวแทนเจรจาสนธิสัญญาต่าง ๆ ระหว่างไทยกับต่างประเทศในสมัย รัชกาลที่ 6 และ 7
- 1,000 บาท – ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ผู้ทรงคุณูปการต่อศิลปะไทยสมัยใหม่ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ชุด “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” — ชุดนี้อาจจะออกเป็นที่ระลึกในวาระฉลองรัฐธรรมนูญหรือวันชาติ 24 มิถุนายน หรืออาจจะเป็นในวาระวันเกิดของแต่ละคนก็ได้
(เหรียญ) 10 บาท – “เอกราช” – ดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้ากองกลางขบวนการเสรีไทย ผู้นำประเทศเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
- 20 บาท – “ปลอดภัย” – ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เขียนบทความ “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
- 50 บาท – “เศรษฐกิจ” – พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ผู้เขียนหนังสือ “ทรัพยศาสตร์” (ตำราเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเล่มแรก) ผู้ริเริ่มเรื่องธนาคารชาติ
- 100 บาท – “เสมอภาค” – หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน เปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- 500 บาท – “เสรีภาพ” – กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง “คณะสุภาพบุรุษ” (เขียนบทความสำคัญอันหนึ่งคือ “มนุษยภาพ”)
- 1,000 บาท – “การศึกษา” – เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้วางรากฐานการศึกษาพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ผู้ริเริ่มเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
(โพสต์ไปไม่ทันไร มีคนบอกว่า จะเอา “หลินปิง”!!!)
https://bact.cc/2012/people-in-banknotes/