วันศุกร์, ตุลาคม 02, 2563

อานนท์ นำภา ขอถามตรงๆไปที่ประยุทธ์ ถึงวันนี้แล้ว กษัตริย์ยอมเซ็นงบประมาณปี 64 ที่จะเริ่มใช้บริหารประเทศในวันนี้หรือยัง ถ้ายัง ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีคำแนะนำอย่างไรต่อกษัตริย์ ช่วยตอบให้ประชาชนทราบด้วย



อานนท์ นำภา
22h ·

ขออนุญาตถามตรงๆไปที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถึงวันนี้แล้ว กษัตริย์ยอมเซ็นงบประมาณปี 64 ที่จะเริ่มใช้บริหารประเทศในวันนี้หรือยัง ถ้ายัง ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีคำแนะนำอย่างไรต่อกษัตริย์
ช่วยตอบให้ประชาชนทราบด้วย
ขอบคุณ
อานนท์ นำภา
1 ตุลาคม 2563
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
กระทรวงการคลัง

สำนักพระราชวัง
...


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
20h ·

[ ปัญหากรณีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ]
วันนี้ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ เป็นอันว่าประเทศไทยไม่สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ได้ทัน จำเป็นต้องใช้ “งบประมาณปีก่อนไปพลางก่อน” ซึ่งส่งผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดินและระบบเศรษฐกิจ เพราะ การนำงบประมาณปีก่อนมาใช้ไปพลางก่อนนั้น ไม่สามารถนำงบลงทุนในโครงการใหม่ (ซึ่งช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานได้) มาใช้ได้ ทำได้แต่เพียงนำมาใช้จ่ายในรายจ่ายประจำจำพวกเงินเดือนข้าราชการและพนักงาน รวมถึงโครงการลงทุนเก่าที่ก่อหนี้ผูกพันมาจากงบประมาณปีก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การใช้งบประมาณปีก่อนไปพลางก่อน ยังทำให้ข้าราชการต้องรับภาระ “งานเอกสาร” อีกมากด้วย
...
- เหตุใดประเทศไทยไม่สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ได้ทัน? -
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 พ.ศ. .... ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 และผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2563 นั่นหมายความว่า จากวันที่ 22 กันยายนจนถึงวันที่ 30 กันยายน มีเวลาอีก 9 วัน ในการดำเนินการขั้นตอนการทูลเกล้าฯและการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 145 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน หากไม่มีกรณีโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน เมื่อหักระยะเวลา 5 วันออกไป ก็ยังเหลือเวลาอีก 4 วันในขั้นตอนทูลเกล้าฯและลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ให้ทันปีงบประมาณใหม่
ระยะเวลา 4 วัน ดูเหมือนสั้นมาก จนอาจดำเนินการในขั้นตอนทูลเกล้าฯและลงพระปรมาภิไธยไม่ทัน แต่ที่ผ่านมา ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ก็เคยใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ไม่นานนัก เช่น
• พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 8 ธ.ค. 2560 และสนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วทันทีในวันเดียวกัน พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 15 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯจนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 7 วัน
• พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 6 ก.ค. 2560 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 14 ก.ค. 2560 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 8 วัน
• พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 29 ธ.ค. 2559 สนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วทันทีในวันเดียวกัน พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 6 ม.ค. 2560 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 8 วัน
• พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 5 ก.ค. 2561 สนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 6 ก.ค. 2561 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2561 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 9 วัน
• พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวันที่ 19 ส.ค. 2562 ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 23 ส.ค. 2562 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 29 ส.ค. 2562 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 6 วัน
จะเห็นได้ว่า บรรดาพระราชบัญญัติเหล่านี้ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวงงานหรือแดนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ใช้ระยะเวลาในขั้นตอนทูลเกล้าฯและลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้น้อยมาก อยู่ที่ 6-9 วันเท่านั้น
หากลองเปรียบเทียบกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับงบประมาณในปีก่อน พบว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ 14 ก.พ. 2562 ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 18 ก.พ. 2563 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 24 ก.พ. 2563 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 6 วัน
ในขณะที่พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ซึ่งตราขึ้นเพื่อนำงบประมาณมาแก้ไขวิกฤตโควิด-19 นั้นผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวันที่ 22 มิ.ย. 2562 ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 26 มิ.ย. 2563 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 20 ก.ค. 2563 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 24 วัน
ในส่วนของการประกาศใช้พระราชบัญญัติที่ใช้เวลานานที่สุดในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 15 พ.ย. 2561 สนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 20 พ.ย. 2561 ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 9 มี.ค. 2562 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 109 วัน กรณีนี้ สมควรตั้งเป็นข้อสังเกตว่า สนช.และนายกรัฐมนตรีกระทำผิดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 146 บัญญัติว่า “ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว” ดังนั้น หากกรณีนี้เป็นกรณีที่ “พ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา” จริง พระมหากษัตริย์ไม่อาจลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่พ้นระยะเวลา 90 วันนั้นได้ แต่ต้องกลับมาให้ สนช.ประชุมและมีมติยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะให้นายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.ทูลเกล้าฯอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.ป. และ พ.ร.บ.อื่นๆที่ใช้ระยะเวลาการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้นานพอสมควร ได้แก่
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 7 มิ.ย. 2561 สนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7 มิ.ย. 2561 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 12 ก.ย. 2561 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 97 วัน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. วันที่ 14 ก.ย. 2560 สนช.ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 15 ก.ย. 2560 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 10 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 86 วัน
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32 ) พ.ศ. 2563 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวันที่ 24 ก.ค. 2563 ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 29 ก.ค. 2563 พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 5 ก.ย. 2563 รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธย 38 วัน
หรือล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. .... ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา 10 สิงหาคม 2563 ส่งหนังสือยืนยันไปยังสภาผู้แทนราษฎร 11 ส.ค. 2563 จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ รวมระยะเวลาจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าฯ จนถึงวันลงพระปรมาภิไธยมากกว่า 51 วัน
แม้รัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการพิจารณาลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติได้ภายในเวลา 90 วันก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระยะเวลาตั้งแต่การทูลเกล้าฯไปจนถึงการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ต้องใช้เวลาหลายเดือนเสมอไป ในหลายกรณี ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพระราชบัญญัตินั้นเป็นกฎหมายสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและจำเป็นต้องมีผลใช้บังคับโดยเร็วแล้ว ยิ่งใช้เวลาการทูลเกล้าฯและการลงพระปรมาภิไธยสั้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นคุณต่อพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะ หากปล่อยเนิ่นนานล่าช้าออกไป ประชาชนและผู้แทนประชาชนก็อาจเกิดความสงสัยได้ว่า เหตุใดกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนประชาชนไปแล้ว จึงไม่ได้รับการประกาศใช้เสียที
เมื่อพิจารณาถึงแนวทางปฏิบัติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประกอบกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้ให้ทันปีงบประมาณใหม่แล้ว ตลอดจนในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มีการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งอยู่หลายกรณี ทั้งหมดนี้ทำให้เราพอสรุปได้ว่า ระยะเวลา 4 วันในการทูลเกล้าฯและการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ย่อมอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้
แต่น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องรับผิดชอบในการทูลเกล้าฯและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับไม่กล้าหาญถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าต้องทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ให้ทันภายในวันที่ 1 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดแม้แต่จะเพียรพยายามใดๆ กลับเลือกที่จะประชุมคณะรัฐมนตรีและมีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 กันยายน อนุมัติให้มีการใช้งบประมาณปีก่อนไปพลางก่อนตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
...
- ปัญหาการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย -
การลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายนับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ยังอนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข
บางประเทศยังคงสงวนพระราชอำนาจยับยั้งการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้แก่กษัตริย์โดยกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่พระราชอำนาจนั้นเป็นเพียงการยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายชั่วคราวเท่านั้น เพราะในท้ายที่สุดรัฐสภายังคงมีอำนาจในการยืนยันร่างพระราชบัญญัติที่ตนให้ความเห็นชอบมาแล้วกลับไปอีกครั้งโดยให้มีผลใช้เป็นกฎหมายได้ทันที (เช่น ไทย นอร์เวย์)
บางประเทศถือกันว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีในระดับรัฐธรรมนูญไปแล้วว่ากษัตริย์ต้องลงนามในร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายทุกครั้งไป (เช่น อังกฤษ)
ในหลายประเทศ ไม่ได้กำหนดให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจยับยั้งชั่วคราว กำหนดแต่เพียงว่าร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ลงนาม และรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้กำหนดว่ากรณีจะเป็นอย่างไรหากกษัตริย์ไม่ยอมลงนามประกาศใช้พระราชบัญญัติ เพราะกษัตริย์จะลงนามในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาทุกครั้ง (เช่น เดนมาร์ก เบลเยียม สเปน ญี่ปุ่น)
ในขณะที่บางประเทศไปไกลถึงขนาดว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในร่างพระราชบัญญัติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เองโดยไม่ต้องมีกระบวนการทูลเกล้าฯให้กษัตริย์ลงนาม (เช่น สวีเดน)
ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและยังคงรักษาตำแหน่งกษัตริย์ให้เป็นประมุขของรัฐนั้น กษัตริย์จะยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายเป็นการชั่วคราวด้วยการไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายเท่านั้น (ซึ่งโดยหลักแล้วก็จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะ รัฐบาลคือเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว) และรัฐบาลก็เป็นผู้รับผิดชอบเอง กษัตริย์ไม่สามารถริเริ่มยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายได้ด้วยตนเองตามลำพัง เพราะขัดกับหลัก “The King can do no wrong – The King can do nothing – The King cannot act alone” ที่กษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิดเพราะกษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรเลย แต่เป็นองค์กรผู้ทำหน้าที่ลงนามกำกับต่างหากที่เป็นผู้รับผิดชอบ
หากปล่อยให้กษัตริย์ยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายได้ตามลำพังหรือปล่อยให้กษัตริย์ใช้เวลาลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัตินานเกินไป ย่อมกระทบกระเทือนต่อหลักความเป็นกลางทางการเมืองของกษัตริย์ หลีกหนีไม่พ้นที่สาธารณชนจะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของกษัตริย์ จนเกิดการตั้งคำถามว่า เหตุใดคนเพียงหนึ่งคนที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์สามารถยับยั้งขัดขวางมติของผู้แทนประชาชนได้
ดังนั้น เพื่อไปให้พ้นจากกรณีไม่พึงประสงค์ดังกล่าว หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ถวายคำแนะนำให้ยับยั้ง กษัตริย์จำเป็นต้องลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในทุกกรณีและโดยไม่ชักช้า