คณะละครข้ามภพยกขบวนเข้าทำเนียบฯ สรวลเสเฮฮากันน่าดูกับนายกฯ
และพวกรัฐมนตรีรองๆ “แถมบุกไปถึงห้องประชุม ครม.
พ่อเดชยังเข้าไปโชว์แร็พด่าตรงที่นั่งนายกฯ อีกต่างหาก เรียกเสียงฮา”
เป็นบรรยากาศสะท้อนความเป็นไทยๆ
ในวงกว้าง ดังที่นักเขียนของ ‘โพสต์ทูเดย์’ ณ กาฬ เลาหะวิไลย รำพึงไว้ “ด้วยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลากหลายประการ
อย่างเช่นรักง่าย โกรธง่าย หายโกรธง่าย เบื่อง่าย ฯลฯ...
ปัญหาสารพันที่เคยเกิดขึ้น
เป็นอันละวางได้หมด ขอเพียงได้ดูออเจ้า แต่งชุดไทย ส่งไลน์กันไปมาก็มีความสุขแล้ว...ทุกอย่างจึงเป็นไปตามสภาพภูมิสังคมของบ้านเรา
ที่จะหวังปฏิรูป จะเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากมาย ชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือคงจะยาก
จะเลือกตั้งปีไหน จะปฏิรูปอะไร
จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างไร ฯลฯ เห็นทีต้องค่อยๆ ไปแบบที่เป็นอยู่”
(จาก https://www.posttoday.com/columnist/546531 และ https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_919795)
โด่งดังปานนี้ แต่มีใครบ้างดูละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ แล้วย้อนดูตัว อย่าง อจ.เดชรัตน์
สุขกำเนิด แห่งคณะเศรษฐศษสตร์ ม.เกษตรฯ รำพันไว้ถึง ‘ความ
(ไม่) มั่นคงของมนุษย์ในยุคอยุธยา’
“ในกระแสที่คนไทยบางส่วนนิยมแต่งตัวย้อนยุคในปัจจุบัน
แต่เราก็แทบไม่เห็นคนไทยย้อนยุคไปแต่งตัวเป็น ‘ไพร่’ แม้ว่าไพร่จะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอยุธยาก็ตาม”
อาจารย์เดชรัตน์อธิบายว่า
แม้ไพร่จะเป็นชนชั้นที่มีอิสระ ต่างกับทาส
แต่ก็เป็นอิสรภาพแบบจำกัดต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำการก่อสร้างเม็กกะโปรเจ็ค
จึงได้มีการยอมขายตัวลงเป็นทาส เพื่อแลกกับ “หลักประกันที่จะมีข้าวปลาอาหารทาน”
ขณะที่ชีวิตขุนนาง อันเป็นกลุ่มตัวละครที่ผู้ชมส่วนใหญ่คลั่งไคล้
เป็นชนชั้นมีงานทำ แล้วยังมีบ่าวไพร่คอยบริการ แต่ “การดำรงชีพของขุนนาง...ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ตำแหน่งและสิทธิประโยชน์
(หรือศักดินา) ที่ตนมี”
อีกทั้งมี “การใช้หน้าที่การงานเพื่อหาประโยชน์ของหลวงและของตน...ดำเนินควบคู่กันไป
(แบบที่ใครๆ ในอยุธยาเขาก็ทำกัน)” อันนี้แหละที่ อจ.เดชรัตน์บอกว่า
“ความทับซ้อนของผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมจึงเป็นเรื่องที่แบ่งยากมากในสมัยนั้น
และน่าจะส่งผลต่อความนึกคิดของเหล่าขุนนาง แม้กระทั่งในยุคหลังๆ
ที่เวลาล่วงเลยมากว่า ๓๐๐ ปีด้วย”
ส่วนพวกขุนหลวงหรือเหล่าเจ้านาย (เทียบได้กับกษัตริย์)
เป็นผู้อยู่บนสุดของปิรามิดแห่งชนชั้น (แม้จะมีการสืบทอดอำนาจตามสายเลือด)
แต่สถานะตำแหน่งไม่ได้มั่นคงอย่างที่เราคิด มีการแย่งชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้น “ในหมู่เจ้านาย
(ซึ่งก็คือพี่น้อง) และขุนนางชั้นสูง (ซึ่งก็คือ ลูกน้องคนสนิทหรือเพื่อน)”
อจ.เดชรัตน์ตั้งข้อสังเกตุว่า “เราจึงเห็นแม่หญิงการะเกด
(หรือเกศสุรางค์) ตกใจหลายครั้ง เมื่อทราบถึงกติกาและความสัมพันธ์ของผู้คนในอยุธยา
และแม่หญิงก็พยายามสื่อสารกับชาวอยุธยาหลายครั้งว่า คนกับคนนั้นเท่ากัน”
นั่นเป็นความสวยงามของละครบุพเพสันนิวาส ที่
อจ.เดชรัตน์ชี้ว่าสะท้อนมาถึงอนาคตได้ “ความสวยงามของละครบุพเพสันนิวาสจึงมิได้อยู่ที่การธำรงความเป็นไทยเอาไว้เช่นเดิม...
หากนึกถึงแม่หญิงการะเกด
บรรพบุรุษผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยเหล่านั้น
ย่อมต้องเริ่มต้นจากการถูกมองแปลกๆ หรือถูกตั้งคำถาม หรือถูกตำหนิ
หรือกระทั่งถูกคุกคาม”
อจ.เดชรัตน์สรุปว่า การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น...ระหว่างความคุ้นเคยกับความใฝ่ฝัน
จึงเป็นธรรมะอันสำคัญ ที่ช่วยให้สังคมไทยนำความแตกต่างหลากหลายมา ‘วัฒนา’ จนเกิดวัฒนธรรมใหม่ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
นี่คือบทเรียนว่า “การปิดกั้นคนรุ่นใหม่
ด้วยมองเห็นว่าเป็นเพียง ‘เด็กฝึกงาน’ ของประเทศ จึงหามีประโยชน์อันใดต่อสังคมไทยไม่
นอกจากการธำรงไว้ซึ่งอำนาจและสถานภาพของพวกตน เท่านั้นเอง”
แต่คนที่ต้อนรับคณะละครพูดเล่นหัวให้เป็นเรื่องโปกฮา
ว่า “เอาขุนเรืองไปตัดหัว” เพราะ “เห็นออเจ้าอยากเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเหรอ” เป็นล้อเล่นที่แฝงลึกจิตสำนึกยุคอยุธยาที่รายล้อมไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
การช่วงชิง และความโหดเหี้ยม
ก่อนหน้านี้ ๑ วัน พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา เป็นประธานมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น
กล่าวตอนหนึ่งว่า
“การทำงานต้องอยู่ในสมองว่าเราทุกคนต้องทำอะไรบ้าง
ไม่ใช่เตรียมการไปสู่อนาคตเป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี
ผมไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้จริงๆ ทุกอย่างมันเป็นชะตาฟ้าลิขิตมาทั้งหมด”