วันอังคาร, เมษายน 03, 2561

ตูบ 'อิน' มากกับละครข้ามภพ ออกท่าขุนหลวง อ้าง 'ฟ้าลิขิต'

คณะละครข้ามภพยกขบวนเข้าทำเนียบฯ สรวลเสเฮฮากันน่าดูกับนายกฯ และพวกรัฐมนตรีรองๆ “แถมบุกไปถึงห้องประชุม ครม. พ่อเดชยังเข้าไปโชว์แร็พด่าตรงที่นั่งนายกฯ อีกต่างหาก เรียกเสียงฮา

เป็นบรรยากาศสะท้อนความเป็นไทยๆ ในวงกว้าง ดังที่นักเขียนของ โพสต์ทูเดย์ณ กาฬ เลาหะวิไลย รำพึงไว้ “ด้วยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลากหลายประการ อย่างเช่นรักง่าย โกรธง่าย หายโกรธง่าย เบื่อง่าย ฯลฯ...

ปัญหาสารพันที่เคยเกิดขึ้น เป็นอันละวางได้หมด ขอเพียงได้ดูออเจ้า แต่งชุดไทย ส่งไลน์กันไปมาก็มีความสุขแล้ว...ทุกอย่างจึงเป็นไปตามสภาพภูมิสังคมของบ้านเรา ที่จะหวังปฏิรูป จะเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากมาย ชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือคงจะยาก

จะเลือกตั้งปีไหน จะปฏิรูปอะไร จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างไร ฯลฯ เห็นทีต้องค่อยๆ ไปแบบที่เป็นอยู่


โด่งดังปานนี้ แต่มีใครบ้างดูละคร บุพเพสันนิวาสแล้วย้อนดูตัว อย่าง อจ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด แห่งคณะเศรษฐศษสตร์ ม.เกษตรฯ รำพันไว้ถึง ความ (ไม่) มั่นคงของมนุษย์ในยุคอยุธยา

“ในกระแสที่คนไทยบางส่วนนิยมแต่งตัวย้อนยุคในปัจจุบัน แต่เราก็แทบไม่เห็นคนไทยย้อนยุคไปแต่งตัวเป็น ไพร่ แม้ว่าไพร่จะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอยุธยาก็ตาม”

อาจารย์เดชรัตน์อธิบายว่า แม้ไพร่จะเป็นชนชั้นที่มีอิสระ ต่างกับทาส แต่ก็เป็นอิสรภาพแบบจำกัดต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำการก่อสร้างเม็กกะโปรเจ็ค จึงได้มีการยอมขายตัวลงเป็นทาส เพื่อแลกกับ “หลักประกันที่จะมีข้าวปลาอาหารทาน”

ขณะที่ชีวิตขุนนาง อันเป็นกลุ่มตัวละครที่ผู้ชมส่วนใหญ่คลั่งไคล้ เป็นชนชั้นมีงานทำ แล้วยังมีบ่าวไพร่คอยบริการ แต่ “การดำรงชีพของขุนนาง...ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ (หรือศักดินา) ที่ตนมี”

อีกทั้งมี “การใช้หน้าที่การงานเพื่อหาประโยชน์ของหลวงและของตน...ดำเนินควบคู่กันไป (แบบที่ใครๆ ในอยุธยาเขาก็ทำกัน)” อันนี้แหละที่ อจ.เดชรัตน์บอกว่า

“ความทับซ้อนของผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมจึงเป็นเรื่องที่แบ่งยากมากในสมัยนั้น และน่าจะส่งผลต่อความนึกคิดของเหล่าขุนนาง แม้กระทั่งในยุคหลังๆ ที่เวลาล่วงเลยมากว่า ๓๐๐ ปีด้วย”
 
ส่วนพวกขุนหลวงหรือเหล่าเจ้านาย (เทียบได้กับกษัตริย์) เป็นผู้อยู่บนสุดของปิรามิดแห่งชนชั้น (แม้จะมีการสืบทอดอำนาจตามสายเลือด) แต่สถานะตำแหน่งไม่ได้มั่นคงอย่างที่เราคิด มีการแย่งชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้น “ในหมู่เจ้านาย (ซึ่งก็คือพี่น้อง) และขุนนางชั้นสูง (ซึ่งก็คือ ลูกน้องคนสนิทหรือเพื่อน)”

อจ.เดชรัตน์ตั้งข้อสังเกตุว่า “เราจึงเห็นแม่หญิงการะเกด (หรือเกศสุรางค์) ตกใจหลายครั้ง เมื่อทราบถึงกติกาและความสัมพันธ์ของผู้คนในอยุธยา และแม่หญิงก็พยายามสื่อสารกับชาวอยุธยาหลายครั้งว่า คนกับคนนั้นเท่ากัน”

นั่นเป็นความสวยงามของละครบุพเพสันนิวาส ที่ อจ.เดชรัตน์ชี้ว่าสะท้อนมาถึงอนาคตได้ “ความสวยงามของละครบุพเพสันนิวาสจึงมิได้อยู่ที่การธำรงความเป็นไทยเอาไว้เช่นเดิม...

หากนึกถึงแม่หญิงการะเกด บรรพบุรุษผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยเหล่านั้น ย่อมต้องเริ่มต้นจากการถูกมองแปลกๆ หรือถูกตั้งคำถาม หรือถูกตำหนิ หรือกระทั่งถูกคุกคาม”

อจ.เดชรัตน์สรุปว่า การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น...ระหว่างความคุ้นเคยกับความใฝ่ฝัน จึงเป็นธรรมะอันสำคัญ ที่ช่วยให้สังคมไทยนำความแตกต่างหลากหลายมา วัฒนาจนเกิดวัฒนธรรมใหม่ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

นี่คือบทเรียนว่า “การปิดกั้นคนรุ่นใหม่ ด้วยมองเห็นว่าเป็นเพียง เด็กฝึกงาน ของประเทศ จึงหามีประโยชน์อันใดต่อสังคมไทยไม่ นอกจากการธำรงไว้ซึ่งอำนาจและสถานภาพของพวกตน เท่านั้นเอง”


แต่คนที่ต้อนรับคณะละครพูดเล่นหัวให้เป็นเรื่องโปกฮา ว่า “เอาขุนเรืองไปตัดหัว” เพราะ “เห็นออเจ้าอยากเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเหรอ” เป็นล้อเล่นที่แฝงลึกจิตสำนึกยุคอยุธยาที่รายล้อมไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การช่วงชิง และความโหดเหี้ยม

ก่อนหน้านี้ ๑ วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น กล่าวตอนหนึ่งว่า

“การทำงานต้องอยู่ในสมองว่าเราทุกคนต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่เตรียมการไปสู่อนาคตเป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้จริงๆ ทุกอย่างมันเป็นชะตาฟ้าลิขิตมาทั้งหมด”


ทว่า Konthai UK กับสมาชิกติดตามนับแสน เขาไม่คิดอย่างนั้นตามทั่นไปด้วยน่ะสิ