https://www.facebook.com/BBCThai/videos/2078643045690058/
ย้อนประวัติศาสตร์อาวุธเคมี
14 เมษายน 2018
บีบีซีไทย
ข่าวการใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในเมืองดูมาของซีเรีย รวมทั้งข่าวการใช้สารทำลายระบบประสาทหวังลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษ ทำให้เรื่องอาวุธเคมีกลายเป็นประเด็นที่โลกให้ความสนใจอีกครั้ง บีบีซีขอย้อนรอยประวัติศาสตร์การใช้อาวุธเคมีซึ่งเริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว
นายฮามิช เดอ เบรต์ตอง-กอร์ดอง อดีตทหารอังกฤษ และเจ้าหน้าที่หน่วยอาวุธเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์องค์การนาโต เล่าว่า อาวุธเคมีชนิดแรกของโลกคือ คลอรีน (Chlorine) เป็นสารทําลายระบบทางเดินหายใจ (Choking agent) แม้ในตอนแรกมันจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้เหยื่อพิการมากกว่าทำให้เสียชีวิต แต่ที่ผ่านมาอาวุธชนิดนี้ก็คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก
สารคลอรีนถูกใช้ครั้งแรกในสงครามเมืองอีเพรส์ครั้งที่ 2 ในเบลเยียม เมื่อปี 1915 และสร้างความหายนะครั้งใหญ่หลวง เพราะตอนนั้นยังไม่เคยมีการใช้สารคลอรีนเป็นอาวุธทางการทหารมาก่อน แม้จะเป็นสารเคมีพื้นฐานก็ตาม
สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เปิดฉากปฏิบัติการถล่มซีเรีย
ทรัมป์ขู่รัสเซีย "เตรียมตัวรับ" ขีปนาวุธ ตอบโต้การใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
ซีเรีย: 7 ปีของสงครามตัวแทน กับ หลายแสนชีวิตที่สูญเสีย
ต่อมาก็มีการใช้แก๊สมัสตาร์ด ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองผิวหนังและเกิดแผลพุพอง (Blister agents) จากนั้นกองทัพนาซีเยอรมนีได้พัฒนาสารทำลายระบบประสาท (Nerve agents) ขึ้น โดยเป็นสารสังเคราะห์จากกรดฟอสฟอริก ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และพบว่าสารทาบุน และโซมาน สามารถฆ่าคนได้มีประสิทธิภาพ
สารทำลายระบบประสาทถูกใช้อย่างแพร่หลายในสงครามอิหร่าน-อิรัก เมื่อปี 1984-1988 ซึ่งเหตุโจมตีเมืองฮาลับยาในอิรัก เมื่อวันที่ 16 มี.ค.1988 ยังติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 5,000 คนในเหตุโจมตีวันนั้น
ปัจจุบันอาวุธเคมีกลายเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาวุธเคมีในเมืองดูมาของซีเรียซึ่งจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศ นายฮามิช เดอ เบรต์ตอง-กอร์ดอง ชี้ว่า หากประชาคมโลกยังคงนิ่งเฉยและไม่ทำอะไรเพื่อต่อต้านอาวุธชนิดนี้ เราก็คงจะได้เห็นการใช้อาวุธเคมีแพร่หลายขึ้นทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้