วันศุกร์, เมษายน 07, 2560

ข้อสังเกตุเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐





ข้อสังเกตุเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ดังที่จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ เนื่องจากมีรูปลักษณ์แตกต่างกับฉบับร่างซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เล็กน้อย

แต่ว่าการปรับเปลี่ยนแปลงไป ล้วนเป็นสาระสำคัญสมดังเจตนาของ คสช. คณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศของรัฐบาลพลเรือนอันมาจากการเลือกตั้ง เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

และเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบุคคลิกโดดเด่น ได้รับการพระราชทานในราชพิธีสำคัญทางราชาธิปไตยโดยแท้

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ‘ประชาไท’ ได้ทำการเทียบเคียงความต่างระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กับรัฐธรรมนูญฉบับพระราชทานไว้อย่างละเอียด ว่าได้มีการแก้ไข (โดยการ ตัดออก เพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลง) รวมทั้งสิ้น ๘ มาตราด้วยกัน

(http://prachatai.org/journal/2017/04/70931)





ส่วนที่ตัดออก ได้แก่ มาตรา ๕ “มีการตัดทอนข้อความเดิมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกทั้งหมดสี่ วรรค ตั้งแต่วรรค ๓ จนถึงวรรค ๖

โดยแต่เดิม ในมาตรา ๕ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอุดช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและองค์กรแก้วิกฤต ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมข้อความซึ่งแต่เดิมไม่เคยระบุทั้งในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐”

ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับพระราชทาน ‘ไม่มี’ ข้อความที่ให้อำนาจแก่ศาลธรรมนูญทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการแก้ไขวิกฤตการเมืองเมื่อพบทางตัน

“จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย”

อันถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากบนและล่างอย่างเจาะจงว่า นอกจากจะให้อำนาจมหาศาลแก่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการแต่งตั้งและไม่ติดยึดกับประชาชนแล้ว ยังเป็นการล้ำหน้าฉกชิงอำนาจไปจากเบื้องบนด้วย

มาตรา ๑๕ เกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์ ให้เป้นไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น รัฐธรรมนูญพระราชทานไม่จำเพาะเจาะจงตำแหน่งไหน โดยตัดคำว่า “และสมุหราชองครักษ์” ออกไป

มาตรา ๑๘๒ เกี่ยวกับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งโดยปกติก็คือนายกรัฐมนตรี แต่ในกรณีพิเศษ อาจมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรี หรือประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองฯ ด้วยเหตุนั้นร่างฯ ฉบับประชามติจึงกำหนด “ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ”

แต่ รธน.ฉบับพระราชทานตัดข้อความนั้นออกไป คงไว้ซึ่งการตีความที่กว้างขึ้นได้อย่างเดิม

ส่วนที่มีการเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรา ๑๒ เรื่องคุณสมบัติขององคมนตรีที่ไม่ให้มีตำแหน่งทางการเมืองและฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ ก็ให้มีข้อยกเว้น “เป็นข้าราชการในพระองค์ ในตำแหน่งองคมนตรี” ได้

มาตรา ๑๖ กรณีพระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร แต่เดิมตามกฏมณเฑียรบาลจะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น





คสช. ได้จัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ว่า “จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้” เพื่อที่จะเกิดความสะดวกแก่พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ที่จะเสด็จแปรพระราชฐานไปมาระหว่างประเทศเยอรมนี ซึ่งทรงมีพระราชวังเป็นที่ประทับสองหลังในแคว้นบาวาเรีย

รัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมตามนั้นว่า “จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้” โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๑๗ มีการเพิ่มเติมข้อความส่วนหนึ่งให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๖ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ ‘มิได้’ หรือ ‘ไม่สามารถ’ ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ

หากองคมนตรี “พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ‘กำหนดไว้ก่อนแล้ว’ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

นี่ต่างกับฉบับร่างฯ ที่ผ่านประชามติเล็กน้อยคือ เดิมให้องคมนตรีเสนอแก่รัฐสภา “เพื่อขอความเห็นชอบ” แต่ฉบับพระราชทาน ให้องคมนตรีเสนอชื่อผู้ที่ทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วให้ประธานสภาประกาศในพระปรมาภิไธยได้เลย

มาตรา ๑๙ เกี่ยวกับการที่กำหนดว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องปฏิญานตนต่อที่ประชุมรัฐสภา มีเพิ่มเติมว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก”

นี่ก็จะเป็นการถวายความสะดวกแด่องค์พระประมุข หากเสด็จออกนอกพระราชอาณาจักรบ่อยครั้งเหมือนดั่งยังทรงเป็นสยามมกุฏราชกุมาร จะได้ไม่เป็นปัญหาเรียกประชุมรัฐสภาเดือนละครั้งสองครั้ง





(แม้นว่านิตยสาร ‘ทีซี’ ในเยอรมนีจะกล่าวในตอนท้ายของบทความเกี่ยวกับการเสด็จร้านอาหารเสติร์นในเมืองอุนเตอร์อัมเมอร์เกาของพระองค์เมื่อวานซืนไว้ว่า

“เมื่อครบหนึ่งปีของการไว้อาลัยในประเทศไทย ก็จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรีขึ้น

แล้วจะไม่ได้เห็นการทรงจักรยานในแถวแคว้นบาวาเรียก่อนถึงเทือกเขาแอ๊ลป์ ของพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครกันอีก”

https://www.tz.de/…/thailaendischer-koenig-macht-radl-ausfl…)

มาตรา ๒๗๒ เป็นเจตนารมณ์ ปณิธาน ความต้องการของคณะทหาร คสช. โดยแท้ ดังที่ปรากฏในคำถามพ่วงประชามติ “ทำให้ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง ๕ ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓๕๐ คน และสมาชิกวุฒิสภา ๒๕๐ คน เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๙ ระบุว่าวุฒิสมาชิกในวาระเริ่มแรกทั้งหมดจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.”

โดยที่มี ‘ทีเด็ด’ ของมาตรานี้ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งได้สมาชิกสภาตามมาตรา ๒๖๘ แล้ว เกิดอาเพศมีเหตุผิดปกติ (สมดังวิสัยทัศน์อันแหลมคมของคณะทหาร คสช.) ไม่สามารถเสนอชื่อผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ได้ละก็

“สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” สามารถเข้าชื่อกันขอให้มีการยกเว้นข้อกำหนดตามมาตรา ๘๘ และเสนอชื่อใครก็ได้

(ไม่ว่าจะเป็นประยุทธ์ อนุทิน หรือ ทักษิณ เว้นแต่เจ้าตัวประกาศไม่ขอรับ หรือยักท่าไม่อยากได้ไว้ก่อน ก็ไม่ควรมีการเสนอชื่อคนนั้น เดี๋ยวจะเป็นการหักหาญน้ำใจ)

“กรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด...ให้ยกเว้นได้”

ก็กลับไปหามาตรา ๑๕๙ เพื่อสภาทำการลงมติผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อใหม่ที่ผ่านการยกเว้นมาแล้วนั้น

แต่จะเป็นใครอีกปีกว่าน่าจะรู้ ก่อนถึงวันนั้นขอเชิญหรรษากับลุงตู่ไปพลางๆ