“สิริพรรณ” วิเคราะห์ 7 ข้ออันตรายร่างรัฐธรรมนูญ
มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2559 รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงข้อวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำเสนอในเวที “Thailand’s Draft Constitution and Referendum: Principles, Stakes, Directions” จัดโดย ISIS Thailand โดยมี นรชิต สิงหเสนี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันทำหน้าที่โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมเป็นวิทยากร
สรุปข้อวิเคราะห์ได้ว่า
1.ร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องการให้พรรคเสนอชื่อใครก็ได้ 3 คน ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งขัดแย้งกับหลักการอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชน
2. ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) จะนำไปสู่การแข่งขันเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค การซื้อเสียงจะสูงขึ้น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจะกลับมา พรรคเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ แรงจูงใจในการสร้างสถาบันพรรคการเมืองจะลดลง ประชาชนจะขาดความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมืองเพราะไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี และเกิดความสับสนระหว่างความชอบผู้สมัคร vs. พรรค และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
3. การให้อำนาจองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบรัฐสภาและรัฐบาลฝ่ายเดียว ขัดแย้งกับหลักตรวจสอบ ถ่วงดุล
4. ศักดิ์ศรี สิทธิ และการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง
5. การทำประชามติต้องคำนึงถึงมาตรฐานและหลักการสากล ต้องให้รณรงค์ได้ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายไม่รับ อย่าให้เหมือนการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และการไม่แจกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชน แจกเฉพาะบทสรุป จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสรุปได้ตรงความหมายโดยปราศจากอคติ
6. ข้อเสนอของ คสช.ในบทเฉพาะกาล 5 ปี ให้เพิ่มจำนวน ส.ว.จาก 200 เป็น 250 เท่ากับครึ่งหนึ่งของ ส.ส. เปลี่ยนจากการเลือกกันเองระหว่างกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม มาเป็น การสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาและให้สำรองที่นั่ง 6 ที่ไว้สำหรับ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ชัดเจนว่าเป็นความพยายามให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นกลไกคัดง้างสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกเหนือไปจากการติดตั้งกลไกคัดง้างเสียงข้างมากไว้ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
วุฒิสภาตามข้อเสนอของ คสช.จะมีอำนาจใกล้เคียงหรือเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎรเลยทีเดียว กล่าวคือ สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ ควบคุมการบริหารของรัฐบาลได้ด้วย ที่ยังไม่ชัดเจนคือมีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายจนถึงที่สุดหรือไม่
**ดูเหมือนแนวคิดนี้ จะคล้ายกับบทเฉพาะกาล 4 ปี ของรัฐธรรมนูญ 2521 ขาดก็แต่ข้อเสนอของ คสช. ยังไม่ไปไกลขนาดให้อำนาจวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร
7. ข้อเสนอของ คสช. อีกประการคือ ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนของพรรคการเมืองเป็นความลับ ไม่เปิดเผยระหว่างการเลือกตั้ง ผลในประการนี้ก็จะกลับไปคล้ายอดีตกาลของประเทศไทย ที่สภาเป็นผู้โหวตด้วยเสียงข้างมากเลือก “ใครก็ได้”เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเปิดพื้นที่ต่อรอง แลกเปลี่ยนระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง
สิ่งที่ได้ทราบในวันนี้คือ
a. มาตรา 207 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างล้นเหลือ ถูกปรับให้กลับไปคล้ายมาตรา 7 เดิม แต่จะมีข้อความที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ จะระบุว่าในภาวะวิกฤติ องค์กรใดบ้างที่จะมาทำหน้าที่แก้ปัญหาร่วมกัน ต้องรอดูเนื้อความจริง ในวันที่ 29 มีนาคม ว่าองค์กรแก้วิกฤติจะคล้ายกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างชุดอาจารย์บวรศักดิ์หรือไม่
b. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกใส่กลับเข้าไปในมาตรา 4 แต่ดูเหมือนคณะกรรมการยกร่างไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า วิธีเขียนเรื่องสิทธิในร่างฉบับนี้ ได้ลดทอนสิทธิที่ประชาชนพึงมี เคยมี และถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ก่อนหน้านี้อย่างไร
ดังที่ อาจารย์มีชัยเคยเปรียบเทียบไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ฮีทเตอร์ (Heater) แล้วทำไมประชาชนยังต้องการผ้าห่มอีก
จึงตอบประเด็นนี้ไปว่า **เหตุผลที่ประชาชนยังต้องการผ้าห่ม แม้กรรมการร่างจะเสนอฮีทเตอร์ให้ เพราะประชาชนเป็นคนควบคุมผ้าห่มเองได้ ส่วนฮีทเตอร์นั้นถูกเปิดและปิดโดยรัฐ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม**
c. การทำประชามติจะใช้เกณฑ์ “เสียงที่มากกว่า” เช่น หากโหวตรับ มีจำนวนมากกว่าโหวตไม่รับ ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิ
d. กรรมการยกร่างยังไม่ยืนยันว่าจะรับข้อเสนอของ คสช. ทั้งหมด แต่เชื่อได้ว่า ณ เวลานี้ ใครจะกล้าปฎิเสธคำขอจาก“The Power That Be”