ประยุทธ์ดอดไปอเมริกาเมื่อคืน ร่วมประชุมความมั่นคงทางด้านปรมาณู หรือ Nuclear Security Summit ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ช่วงวันที่ ๓๑ มีนา ถึง ๑ เมษา
รับประกันงานนี้ไม่มีการประท้วง ฉะนั้นย่อมไม่มีการจัดรถบัสขนคนไปให้กำลังใจ ประหยัดงบประมาณสถานทูตได้อีกหน่อย แต่คงไม่ประหยัดงบฯ ต้อนรับคณะนายกฯ เท่าไรนัก
อย่างไรก็ดีการไปอเมริกาของ ‘ตุ๊ดตู่’ ครั้งนี้แม้จะดูไม่มีความหมายอะไรนัก แต่ว่ายังมีนัยยะแฝงเร้นเล็กน้อย
ไม่ใช่การได้รับรางวัล ‘Nuclear Industry Summit Awards’ ที่เป็นเพียงหนึ่งใน ๑๗ ประเทศที่เขาจับเอามาเชิด หากเป็นการเสนอตัวมีบทบาทช่วยสหรัฐในการรบกับ ‘ไอสิส’
ในถ้อยแถลงทางการรัฐบาล คสช. อ้างว่าการไปร่วมประชุมนิวเคลียร์ที่อเมริกา “เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของไทยร่วมกับประชาคมโลก วางรากฐานโครงสร้างด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่ง...”
กับ “พบและหารือร่วมกับสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐ เพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับภาคเอกชนของสหรัฐ”
(http://www.tnamcot.com/content/435763)
หากแต่แท้จริงความสำคัญของการที่ประธานาธิบดีโอบาม่าเชิญผู้นำประเทศต่างๆ กว่า ๕๐ แห่งไปร่วมประชุม ‘สุดยอด’ สองวัน นั้นอยู่ที่การหาความร่วมมือกำจัดกวาดล้างขบวนการก่อการร้ายไอสิสเป็นหลักใหญ่
“ประเด็นการสนทนาเรื่องต่อต้านไอสิสนี้กำหนดมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว” นางลอร่า โฮลเกต ผู้อำนวยการอาวุโสของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ สำหรับการลดจำนวนอาวุธร้ายแรง การก่อการร้าย และภัยคุกคาม กล่าวในการแถลงข่าวประชุมสุดยอดครั้งนี้
“นี่ก็เป็นจังหวะปะเหมาะพอดี หลังจากที่ปรากฏคลิปวิดีโออันน่าห่วง” นางโฮลเกตอ้างถึงคลิปวิดีโอกว่าสิบชั่วโมงซึ่งทางการเบลเยี่ยมค้นพบในครอบครองของตัวการก่อการร้ายวางระเบิดในกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน และในเบลเยี่ยมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เป็นวิดีโอการติดตามสะกดรอยบรรดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานปรมาณูในยุโรป
พวกผู้ก่อการร้ายไอสิสได้แสดงให้เห็นว่าต้องการครอบครองอาวุธปรมาณู “ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นองค์กรก่อการร้ายแสดงความทะเยอทะยานที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์กัน” รองที่ปรึกษาความมั่นคงกล่าวในการแถลงข่าวเดียวกัน
“น้อยคนเชื่อว่าไอสิสจะสามารถผลิตระเบิดอะตอมิคได้” รายงานข่าวเอเอฟพีระบุ “แต่หลายคนหวั่นว่าพวกนั้นมีช่องทางได้ยูเรเนี่ยมและพลูโตเนี่ยมมาไว้ในครอบครอง และผลิต ‘ระเบิดสกปรก’ ก็ได้
ระเบิดดังกล่าวไม่ถึงกับทำให้เกิดการระเบิดทำลายขนาดใหญ่โต แต่จะปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่สภาพแวดล้อมเป็นภัยมหันต์ต่อสุขภาพร่างกาย ก่อผลร้ายทางการแพทย์และเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้เนื่องจากสารกัมมันตรังสีในปริมาณน้อยมีอยู่เกลื่อนกลาดตามมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่อื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งนับแต่ทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา มีแร่กัมมันตรังสีหายไป หรืออยู่ในครอบครองของผู้ไม่ได้รับอนุญาตแล้วถึง ๒,๘๐๐ รายการ
โครงการสกัดกั้นไอสิสไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์นี้ประธานาธิบดีโอบาม่าเป็นผู้ริเริ่มไว้เมื่อปี ๒๕๕๓ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึงปีในช่วงบั้นปลายของการดำรงตำแหน่ง การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการมัดแขนกำชับกับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อให้ประธานาธิบดีคนต่อไปให้ความสำคัญสืบเนื่องต่อไปในสมัยหน้า
(http://www.straitstimes.com/…/isis-threat-raises-stakes-for…)
ไม่ว่าคณะทหาร คสช. จะมองเห็นช่องเสนอตัวช่วยปราบไอสิส เพื่อให้สหรัฐผ่อนปรนไม่กดดันเรื่องการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน และสงวนท่าทีไม่จี้ไม่ไชให้เร่งจัดการเลือกตั้งนำรัฐบาลพลเรือนมาบริหารประเทศโดยไว
เหมือนเช่นที่สหรัฐปฏิบัติต่อรัฐบาลทหารของอียิปต์ หรือไม่ อียิปต์โมเดลที่เคยเป็นไปได้ก็อาจจะกลายเป็นเพียงฝันร้ายช่วงหนึ่ง ของปรากฏการณ์อาหรับเบ่งบานเท่านั้น
เมื่อปลายอาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง มีบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทม์ชิ้นหนึ่งกล่าวถึงนโยบายต่างประเทศสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโอบาม่าสมัยสอง เรียกร้องให้เปลี่ยนแนวทางเสียใหม่ “Time to Rethink US Relationship with Egypt”
รัฐบาลทหารแปลงกายเป็นพลเรือนของอียิปต์ซึ่งมาจากการยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง (คล้ายไทย)โดยนายพลเอลซีซีเมื่อปี ๒๕๕๖ ที่สหรัฐแถลงแสดงท่าไม่พอใจในระยะต้นๆ แล้วมีการระงับเงินช่วยเหลือทางทหารอยู่พักเดียว เมื่อปรากฏว่ารัฐบาลทหารไล่ล่าสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งองค์การสิทธิมนุษยชนแจ้งว่าตายไปนับพันคน
แต่แล้วเมื่อนายพลเอลซีซีถอดเครื่องแบบไปลงเลือกตั้งได้คะแนนท่วมท้น ๘๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ สหรัฐก็กลับไปโอนเงินช่วยเหลือ ๑.๓ พันล้านดอลลาร์กลับเข้าบัญชีกองทัพอียิปต์ตามปกติอีก เพื่อใช้จ่ายในปฏิบัติการณ์ฟาดฟันกับไอสิส
มิใยที่เสียงเรียกร้องอึงมี่ มีการยื่นคำร้องเรียนถึงประธานาธิบดีโอบาม่าทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชน กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางสองคนที่เคยทำงานให้รัฐบาลโอบาม่าสมัยแรก ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลของนายพลเอลซีซีปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างหนักหนายิ่งกว่าเก่า
จนถึงจุดที่ ทามาร่า ค้อฟแมน วิตเตส ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันบรุ๊คกิ้งที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ บอกว่า “อียิปต์ไม่ใช่สมอเรือยึดเหนี่ยวความมั่นคง หรือแม้แต่หุ้นส่วนที่ควรไว้วางใจอีกต่อไปแล้ว”
(http://www.nytimes.com/…/time-to-rethink-us-relationship-wi…)
ฉันใดก็ฉันนั้น หากจะมีการอ้อล้อขอเป็นหุ้นส่วนความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ต้านไอสิสกับโอบาม่า เพื่อให้อเมริกาลูบหลังเหมือนอย่างอียิปต์ ประเทศไทยในยุคยืดเวลาเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลประยุทธ์ก็ยัง ‘ไร้สาระหาที่ติมิได้’ เกินกว่าพี่เบิ้มที่ไหนจะเชื่อมือ
ทั้งที่เวลานี้พื้นที่ประเทศไทยอยู่นอกเหนือเป้าหมายของกระบวนการไอสิส หากชักศึกจิฮ้าดเข้าบ้านเพื่อจะให้ค่าใช้จ่ายจากผู้อุปถัมภ์ตามมาด้วย จะมีปัญหาการทำหน้าที่ยามรักษาความปลอดภัยให้แก่ชาวบ้านที่ไม่อิโหน่อิเหน่
เหมือนพวกไอ้เณรตามสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเจ็บตายง่ายๆ เป็นเหยื่อแลกงบฯ ดับไฟ ด้วยไหม