https://tlhr2014.wordpress.com/2016/03/18/military_prison/
18 มีนาคม 2559
“…ใน มทบ.11 มันเป็นสิ่งที่มืดกับเขา ทุกอย่างคือความมืด การถูกผูกตา ใส่โซ่ตรวน … มันคือความมืดสำหรับเขา”
ถ้อยคำตอนหนึ่งของ น.ส.เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความผู้ต้องหาคดีวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad เมื่อถูกถามถึงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (เรือนจำ มทบ.11) ภายใต้สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
จุดเริ่มต้นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี หรือที่คนทั่วไปน่าจะคุ้นเคยในชื่อเรือนจำ มทบ.11 ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 ภายใต้คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 โดยการลงนามของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมในการคุมขัง และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น”
ผู้ต้องหาคนแรก ๆ ที่ถูกโอนย้ายไปเรือนจำภายในค่ายทหารแห่งนี้ คือ นายอาเดม คาราดัก และนายยูซูฟู ไมไรลี ผู้ต้องหาจากคดีวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เซ็นคำสั่งย้ายผู้ต้องหาไปยังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ในวันที่ 14 ก.ย. 2558 ต่อมา เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลการทุจริตในโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์ และนำไปสู่การจับกุมกวาดล้างเครือข่ายแอบอ้างเบื้องสูงที่เป็นข่าวใหญ่โตช่วงปลายปี อย่างกรณี ‘หมอหยอง’ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ ทั้งสามคนต่างก็ถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีตามมาเป็นคดีที่สอง
ลำพังการถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี อาจไม่มีประเด็นให้สาธารณชนสนใจมากนัก หากไม่เกิดการเสียชีวิตของผู้ต้องหาถึงสองรายในระยะเวลาไม่ห่างกัน ด้วยสาเหตุการตายที่ประชาชนต่างรู้สึกว่ามีเงื่อนงำอำพราง และปราศจากการตรวจพิสูจน์อย่างเปิดเผยให้สิ้นสงสัย
หากคดีวางระเบิดแยกราชประสงค์เป็นจุดเริ่มต้นของเรือนจำ มทบ.11 ก็อาจกล่าวได้ว่าคดีแอบอ้างเบื้องสูงนี่เอง ที่แย้มพรายให้เห็นถึงสภาพความลึกลับและโหดร้ายภายในเรือนจำกลางค่ายทหารแห่งนี้ เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้คุมพิเศษ และพนักงานราชทัณฑ์ประจำเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีแล้ว ก็แทบไม่มีใครอื่นอีกที่รู้แน่ชัด หรือสามารถระบุพิกัดได้ว่าเรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่จุดใดภายใน มทบ.11 แหล่งข้อมูลเดียวที่เผยแพร่สถานที่ตั้งเรือนจำต่อสาธารณะ คือ แผนที่แนบท้ายคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ระบุว่าเรือนจำแห่งนี้กินเนื้อที่ 1 ไร่ และตั้งอยู่ในอาณาเขตของ มทบ.11 นั่นย่อมหมายความรวมไปถึงว่า ไม่เคยมีใครเห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ แม้แต่ญาติหรือทนายความที่ได้เข้าไปเยี่ยม ก็เข้าเยี่ยมได้เพียงสถานที่ซึ่งถูกจัดไว้ให้ ภายใต้การจับตามองของเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น ส่วนหน่วยงานภายนอกที่ติดต่อขอตรวจเยี่ยมสภาพภายในเรือนจำต่างก็ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
…แล้วแสงไฟก็เริ่มจับมาที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี…
ภาพข่าว “เปิด3ผู้ต้องหาหมิ่นเบื้องสูง “หมอหยอง-อาท-สว.เอี๊ยด” จาก http://www.dailynews.co.th/crime/355744 |
“ห้องขังที่เรือนจำชั่วคราวไม่ใช่ห้องขังเหมือนเรือนจำปกติทั่วไป แต่ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหาร ซึ่งมีประตูทึบ ผนังปูน 4 ด้าน และทางเรือนจำชั่วคราวฯ ได้เสริมความมั่นคงโดยการติดลูกกรงเพิ่มเติม ภายในห้องขังมีเครื่องหลับนอนผู้ต้องขัง ใช้ระบบขังเดี่ยว ผู้ต้องขังทั้งหมดไม่มีโอกาสพบกัน…”
เช่นเดียวกับสถานที่ตั้ง ข้อเท็จจริงในแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว ก็เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังภายในเรือนจำแห่งนี้ หลังจากนั้น ข่าวการตายของ ‘หมอหยอง’ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ในวันที่ 9 พ.ย. 2558 ก็ตามมา โดยมีข่าวลือหนาหูว่าหมอหยองเสียชีวิตมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน อันเป็นผลมาจากการไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558 อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์ว่า หมอหยองเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 และผลการตรวจพิสูจน์โดยแพทย์จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต
จากนั้น ผู้ต้องหาอีกชุดหนึ่งก็ถูกนำตัวมาคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี หรือเรือนจำ มทบ.11 ท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสองผู้ต้องขังภายในเรือนจำกลางค่ายทหารที่ยังไม่จางไป
26 พ.ย. 2558 จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ และนายณัฐพล ณ วรรณ์เล สองผู้ถูกกล่าวหาในคดีวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad ถูกนำตัวมาแถลงข่าวการจับกุมซึ่งระบุว่า เขาทั้งสองและพวกวางแผนเตรียมป่วนกิจกรรมสำคัญในกรุงเทพมหานคร และประสงค์จะประทุษร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล คสช.
บ่ายวันเดียวกันนั้น ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขัง จ.ส.ต.ประธิน และณัฐพล ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี หลังถูกควบคุมตัวโดยทหารตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2558 ตามมาด้วยการควบคุมตัวนายวัลลภ บุญจันทร์ และนายพาหิรัณ กองคำ เพิ่มในคดีเดียวกันหลังจากนั้นหนึ่งวัน
ทั้งคู่ถูกศาลทหารกรุงเทพสั่งขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเช่นเดียวกับ จ.ส.ต.ประธิน และณัฐพล ก่อนนายฉัตรชัย ศรีวงษา ซึ่งเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2558 จะถูกสั่งขังในเรือนจำ มทบ.11 อยู่ 12 วัน จึงจะได้รับการปล่อยตัว แล้วจับกุมนายฉัตรชนก ศรีวงษา ฝาแฝดของเขามาแทน
ฉัตรชนกได้รับการปล่อยตัวเช่นเดียวกับฝาแฝดผู้พี่ซึ่งคาดกันว่าเป็นการจับกุมผิดตัว และผู้ต้องหารายล่าสุดในคดีนี้ที่ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังที่เรือนจำแขวงถนนนครไชยศรี คือ นายวีรชัย ชาบุญมี ผู้ถูกจับกุมในวันที่ 6 ธ.ค. 2558
และคดี Bike for Dad นี่เองที่นำพาให้เบญจรัตน์ มีเทียน เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรือนจำ มทบ.11 ในฐานะทนายความที่เข้ามาติดต่อลูกความซึ่งถูกคุมขังภายในเรือนจำแห่งนี้
เมื่อทนายความต้องติดต่อคุกทหาร
“ครั้งแรกที่เข้าไปมีเจ้าหน้าที่ทหารถือปืนอยู่ตลอด ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นเราหนีไม่รอดนะ ถ้าเกิดเขาสั่งยิงทิ้งตรงจุดนั้น ถามว่ามีทหารคนไหนกล้าเป็นพยานให้เราไหม ไม่เลย เพราะเขาจะถือคำสั่งเป็นใหญ่ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็ต้องทำ อันนี้คือคำยืนยันจากทหาร เขามาขอร้องว่า ทนายพยายามอย่าเข้ามาภายใน มทบ.11 เพื่อความปลอดภัยของพี่ พี่อย่าพยายามเข้ามาจุดนี้ เพราะถ้าเขาสั่งมายังไงผมก็ต้องทำ”
ทนายความผู้เคยย่างก้าวเข้าไปในเรือนจำ มทบ.11 เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์เกี่ยวกับเรือนจำแห่งนี้
ด้านนายชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเดม คาราดัก จำเลยในคดีระเบิดราชประสงค์ ก็พบอุปสรรคในการเข้าเยี่ยมลูกความเช่นกัน เขาให้ข้อมูลว่า แม้จะเป็นทนายความที่ศาลมีนบุรีแต่งตั้งเข้ามาในคดี แต่เมื่อคดีระเบิดราชประสงค์ถูกโอนย้ายมาพิจารณาคดีในศาลทหาร พร้อมกับที่ผู้ต้องหาถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ชูชาติก็เริ่มไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมลูกความ เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่า ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความของอาเดมจากศาลทหารกรุงเทพก่อน
ระหว่างที่ทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกความได้นี่เอง ได้ปรากฏข่าวว่า อาเดม คาราดักยอมรับสารภาพ จากที่ก่อนหน้านี้ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ทนายความชูชาติจึงพยายามขอเข้าเยี่ยมลูกความอีกครั้ง แต่ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง (ยศขณะนั้น) กลับแจ้งว่าอาเดมมีทนายความที่ศาลทหารแต่งตั้งให้แล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ชูชาติเข้าเยี่ยมจนกว่าศาลทหารกรุงเทพจะแต่งตั้งให้เป็นทนายความในคดีนี้
ข้อความที่ทนายความถ่ายทอดนั้นชี้ให้เห็นถึงความพยายามกีดกันไม่ให้ผู้ต้องหามีทนายความ หรือได้พบทนายความเพื่อปรึกษาคดี ซึ่งต่างจากการเข้าเยี่ยมในเรือนจำทั่วไป ที่ทนายความสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ แม้จะยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็นทนายความในคดีก็ตาม
ในฐานะทนายความที่ต้องเข้าออกเรือนจำไปเยี่ยมลูกความและสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เบญจรัตน์เล่าว่าในเรือนจำ มทบ.11 มีทหารหลายนายถือปืนควบคุมอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นทางเข้า ทางออก หรือหน้าห้องที่ทนายความเข้าพบลูกความก็มีทหารถือปืนเฝ้าอยู่ตลอดเวลา แต่ละครั้งที่ลูกความถูกพาตัวเข้ามาจะมีผ้าสีดำปิดตา และใส่โซ่ตรวนไว้เสมอ รวมไปถึงมีทหารประกบตลอดเวลาที่เธอคุยกับลูกความ ซึ่งแต่ละครั้งถูกจำกัดเวลาพูดคุยเพียง 15 นาทีเท่านั้น
“ขนาดต่อหน้าทนายความยังปรากฏภาพอย่างนี้ สิทธิที่ผู้ต้องหาพึงมี กล้าพูดได้เลยว่าเขาไม่มีเลย สิทธิที่จะพบทนายสองต่อสองไม่มี ในนั้นมีโรงพยาบาลหรือไม่ก็ไม่รู้ สิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้บอกความจริงกับทนายเขาไม่มี เพราะการพูดคุยแต่ละครั้งมีทหารสองสามนายนั่งเฝ้า ถ้าเกิดเขาพูดความจริงไป อันตรายอาจจะเกิดแก่ตัวเขา เขาจะพูดตลอดว่ากลัวเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้วสองคน”
ความเห็นที่ถูกระบายออกมาของทนายความผู้พบเจอลูกความในสภาพดังกล่าวเป็นประจำ
เช่นเดียวกัน ทนายความชูชาติเปิดเผยว่า ตอนที่อาเดมถูกพามาจะมีทหารสองนายถืออาวุธปืนเดินประกบ โดยที่อาเดมถูกปิดตาพามาที่ห้องรับรอง เมื่อมาถึงทหารที่ถืออาวุธจะรออยู่ด้านนอกห้อง แต่ระหว่างการพูดคุยของทนายความกับลูกความ จะมีทหารสองนายที่อ้างว่าเป็นล่ามคอยจดทุกอย่างที่พูดคุยกัน และอัดเสียงไว้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ในการเข้าเยี่ยมระยะหลัง ทนายความชูชาติจะต้องเขียนคำถามที่จะใช้ถามอาเดมไปให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปรึกษากับทหารดูก่อนว่าจะถามได้กี่ข้อ และระหว่างถามก็มีเจ้าหน้าที่ทหารยืนคุมทุกครั้ง ซึ่งคำถามที่ได้รับอนุญาตให้ถามได้ส่วนใหญ่เป็นคำถามปลายปิดเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่ของค่ายทหารมาตั้งเป็นเรือนจำชั่วคราว ทำให้นอกจากผู้ถูกควบคุมตัวต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานราชทัณฑ์แล้ว ยังต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารอีกด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิในการที่จะรับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความเป็นการลับ เพราะการพูดคุยระหว่างทนายความกับผู้ต้องขังภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีจะมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมรับฟังอย่างใกล้ชิดเสมอ
นั่นหมายความว่า คำถามต่าง ๆ ที่จะถูกใช้ในการสอบถามข้อเท็จจริงในคดี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ต่างในชั้นศาลของทนายความ จะต้องถูกกลั่นกรองว่าเป็นคำถามที่สามารถถามได้หรือไม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารก่อน ซึ่งแตกต่างจากเรือนจำราชทัณฑ์ปกติอย่างมาก เพราะในเรือนจำปกติจะมีการจัดห้องให้ผู้ถูกควบคุมตัวและทนายความได้ปรึกษากันเป็นส่วนตัว ในระยะที่ผู้คุมไม่อาจได้ยินเสียงสนทนา และไม่มีการคัดกรองคำถามระหว่างทนายความและผู้ถูกควบคุมตัวเช่นนี้
การปฏิเสธสิทธิในการปรึกษาทนายความเป็นการลับดังกล่าวของผู้ถูกควบคุมตัว เป็นการละเมิดต่อข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง รวมถึงบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด และมีสิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
ชีวิตผู้ต้องขังในคุกทหาร
ทนายความเบญจรัตน์ให้ข้อมูลว่า ในขณะที่เรือนจำปกติจะไม่มีการใส่โซ่ตรวน ไม่มีการปิดตา และมีห้องสำหรับพบทนายความเป็นการส่วนตัว ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะพูดคุยกับทนายความหรือบุคคลที่ตนเองไว้วางใจ แต่เรือนจำ มทบ.11 ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีสิทธิที่จะพูดคุยกับทนายความสองต่อสอง ไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะมองไปในที่ต่าง ๆ
“การผูกตาเป็นการบอกผู้ต้องหาในตัวว่าเธออยู่ในที่มืดนะ จะทำอะไรก็ให้ระมัดระวัง แม้แต่คำพูดก็ให้ระมัดระวัง” เบญจรัตน์ตั้งข้อสังเกต
ทั้งนี้ ตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยการกำกับดูแลการบริหารงานยุติธรรมโดยผ่านศาลทหาร (Principles Governing the Administration of Justice Through Military Tribunals) ได้วางหลักเกณฑ์ห้ามคุมขังพลเรือนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ทหาร ดังนี้
“เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการว่าด้วย “การจำแนกประเภทนักโทษ” ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อนักโทษ จึงไม่ควรอนุญาตให้ขังพลเรือนไว้ในเรือนจำทหาร โดยให้รวมถึงพื้นที่มีเพื่อลงโทษวินัยทหารและเรือนจำทหาร หรือค่ายอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ ไม่ว่านักโทษดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการควบคุม ระหว่างการรอพิจารณา หรือเป็นผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษตามกฎหมายทหารก็ตาม”
ด้วยหลักการดังกล่าว เมื่อมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ซึ่งทนายความเข้าถึงตัวผู้ถูกคุมขังได้อย่างยากลำบาก รวมถึงผู้ต้องขังบางคน อาทิ อาเดม คาราดัก, ยูซูฟู ไมไรลี, หมอหยองและพวก ยังถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหมายศาล ไม่ต้องมีข้อกล่าวหา ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือทนายความเข้าถึงตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ ถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ
การควบคุมตัวโดยอำเภอใจนี้ นับว่าได้ละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ที่ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกายบุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้…”
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงของสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำที่ปรากฏในแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ ประกอบกับคำบอกเล่าบางส่วนจากลูกความ ทนายความเบญจรัตน์ยืนยันว่า เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีมีความแตกต่างที่สำคัญจากเรือนจำทั่วไป คือการใช้ระบบขังเดี่ยว
“เรือนจำปกติเขาจะได้พูดคุยกับเพื่อนของเขา มีการร่วมทำกิจกรรมที่ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำจัดหาไว้ว่าเวลานี้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจะมีระบบของเขา เพื่อป้องกันความเครียดที่จะเกิดกับผู้ต้องหา แต่ในเรือนจำนี้ไม่มี คุณอยู่คนเดียว เอาตัวไปขังไว้ในห้องเล็ก ๆ สี่เหลี่ยม ทั้งวันทั้งคืนคุณต้องอยู่ตรงนั้น เมื่อมีคนมาขอเยี่ยมนั่นแหละ โอกาสเดียวที่เขาจะได้เห็นแสงแดด โดยสภาพของเขาที่เขาเป็นอยู่ มีช่องเล็ก ๆ ที่ประตูเหล็กพอที่เขาจะได้หายใจแค่นั้น ไม่มีใครพูดด้วย ไม่มีใครคุยด้วย การทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่มี มันจะต่างจากเรือนจำปกติ มันไม่ใช่สิ่งดี” เบญจรัตน์ให้ความเห็น
และหากเป็นจริงตามคำบอกเล่าบอกเล่านี้ หมายความว่าผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีโอกาสออกจากห้องขังมาเห็นโลกภายนอก และได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เป็นเวลาประมาณ 15 นาที ในเฉพาะวันที่มีคนมาขอเยี่ยมเท่านั้น
ตามมาตรฐานหลักเกณฑ์ขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง (Standard Minimum for The Treatment of Prisoners) กำหนดให้สภาพที่พักของผู้ถูกคุมขังจะต้องมีช่องหน้าต่างที่กว้างเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกคุมขังสามารถดำเนินกิจวัตรต่าง ๆ โดยได้สัมผัสกับแสงแดดและได้รับอากาศอย่างเพียงพอ โดยในแต่ละวันผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องมีเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ในการออกมาภายนอกเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกาย และการใช้อุปกรณ์ในการควบคุมตัวนักโทษตามมาตรฐานดังกล่าวอนุญาตให้ใช้ได้เพียงกุญแจมือ โซ่ตรวน และเสื้อรัดแขนเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏว่าอาเดม คาราดัก ผู้ต้องขังรายแรก ๆ ในคดีระเบิดราชประสงค์ ที่ถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำแห่งนี้ เปิดเผยว่าตนถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ
“ตอนนั้นเขาถูกทรมานและกดดันอย่างหนัก จนต้องรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา เขายังคงยืนกรานว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ข้อหาเดียวที่เขายอมรับคือการเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ทนายความชูชาติยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์หลังเข้าเยี่ยมอาเดมภายในเรือนจำ มทบ.11 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559
ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) กำหนดให้รัฐภาคีต้องเร่งสอบสวนการซ้อมทรมานที่เชื่อได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในรัฐโดยทันที แม้จะไม่มีการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวมาก่อน รวมถึงบุคคลแต่ละคนควรมีสิทธิร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานแก่เจ้าพนักงาน โดยได้รับการประกันว่าผู้ร้องเรียนและพยานจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการร้องเรียนดังกล่าว
แต่ปรากฏว่าเมื่อชูชาติแจกจดหมายข่าว และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในคดีระเบิดราชประสงค์ว่า ขณะที่ลูกความของตนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายความมั่นคงเข้าไปดำเนินการกระทำการทรมานและขมขู่ เพื่อให้ลูกความของเขารับสารภาพในบริเวณเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวหลายครั้ง
ทว่านอกจากเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ได้เร่งให้มีการสอบสวนการกระทำทรมานแต่อย่างใดแล้ว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับออกมาให้สัมภาษณ์ข่มขู่ทันทีว่าจะดำเนินคดีกับทนายความชูชาติ เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายและกระทบต่อความมั่นคง จึงจะดำเนินคดีฐานกระทำผิดกฎหมายความมั่นคง ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ขัดต่อข้อ 12 และข้อ 13 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)
ความพยายามยกเลิกเรือนจำในค่ายทหาร
“เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมในการคุมขัง และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น”
ดูเหมือนข้ออ้างข้างต้นในการตั้งเรือนจำแห่งนี้จะสวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะในแง่การรักษาความปลอดภัย ที่มีผู้เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวถึงสองราย ความเหมาะสมในการคุมขังที่ไม่เข้าเกณฑ์ขั้นต่ำตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยการกำกับดูแลการบริหารงานยุติธรรมโดยผ่านศาลทหาร ซึ่งเห็นว่าไม่ควรควบคุมตัวพลเรือนในพื้นที่ของทหาร และไม่ผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ทั้งยังมีการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นไปอย่างโหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอดตั้งแต่มีการตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี วันที่ 9 ธ.ค. 2558 นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ในคำฟ้องระบุว่า คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 มีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ขัดต่อหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 34 เนื่องจากไม่อธิบายคำว่า “คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ” และ “คดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง” ไว้ให้ชัดเจน ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ไม่สุจริต เพราะออกโดยเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ลงนามในคำสั่งตั้งเรือนจำเป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ที่ทำรัฐประหารโดยประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองไว้ชัดเจนว่า ต้องการใช้อำนาจจัดการกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
นอกจากนี้ คำฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำ มทบ.11 ยังระบุอีกว่า คำสั่งตั้งเรือนจำขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีความมั่นคงมีลักษณะเป็นความผิดทางการเมือง การตั้งเรือนจำขึ้นพิเศษสำหรับคุมขังผู้กระทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมีเหตุจากความเห็นทางการเมืองและมีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน
ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรียังเป็นการใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ เนื่องจากเรือนจำไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองความปลอดภัยได้ จากการที่มีผู้เสียชีวิตภายใต้การควบคุมถึงสองราย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถใช้ดุลพินิจเลือกมาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสม กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังน้อยกว่า โดยที่ยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการรักษาความปลอดภัยและความเหมาะสมในการคุมขังได้
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี |
แม้เรือนจำอาจจะดูเหมือนเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการยุติธรรม หากแต่เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับเรือนจำกลางค่ายทหารแห่งนี้ ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมภายใต้ คสช. นั้น ได้ดึงเอาทหารเข้ามาเป็นผู้กุมบทบาทในแทบจะทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในคดีความมั่นคง
อาจกล่าวได้ว่า คสช. ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน คือโจทก์หรือคู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งยังเป็นคู่ขัดแย้งที่มีอำนาจให้บริวารของตนอย่างเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมหรือค้นทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล แล้วนำคนเหล่านี้ขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหารซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหม อันอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร คือ คสช. อีกคำรบหนึ่ง ก่อนจะส่งคู่ขัดแย้งของตนเข้าไปขังเดี่ยวภายในเรือนจำทหารในท้ายที่สุด
“คดีเขาถูกฟ้องคดีในศาลทหารกรุงเทพนะ อำนาจการสั่งการว่าจะขังที่เรือนจำไหนมันขึ้นอยู่กับคำสั่งของศาล เพราะฉะนั้นเป็นอำนาจของศาลเท่านั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ที่จะสั่งขังลูกความของเราตรงไหน” เบญจรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ เธอเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะนำผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงไปคุมขังภายในเรือนจำ มทบ.11 ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหาร เนื่องจากทนายความเบญจรัตน์เห็นว่า ในคดีความมั่นคง คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้ทหารสามารถตรวจค้นหรือควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งคดีความมั่นคงเหล่านี้ยังถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร และถูกควบคุมตัวต่อในเรือนจำภายในค่ายทหาร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้คุมพิเศษ
“การสู้คดีคือว่าเราไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหา เพราะตัวผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมตัวของ คสช. ซึ่งเป็นคู่กรณี เป็นตัวโจทก์ตั้งแต่แรก แม้จะพูดก็ยังพูดไม่ได้ ทนายความจะได้อะไรจากเขา ตราบใดที่ยังอยู่ใน มทบ.11 ไม่มีทนายคนไหนที่จะได้ความจริงจากผู้ต้องหาในการต่อสู้คดี” ทนายความเบญจรัตน์กล่าว
อ้างอิงจาก
คําสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ ๓๑๔/๒๕๕๘ เรื่อง กําหนดอาณาเขตเรือนจําชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ราชทัณฑ์ อนุมัติย้ายผู้ต้องหาคดีระเบิดไปมทบ.11
ราชทัณฑ์เสียงแข็งไม่ให้เข้าดูคุก มทบ.11 – เอ็นจีโอเผย 3 จังหวัดใต้ยังเข้าได้
ดูแถลงกรมราชทัณฑ์แจงเหตุ ‘หมอหยอง’ เสียชีวิต ด้านสื่อรายงานญาติรับศพแล้ว
บรรยากาศ “แดนสนธยา” ในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 จากสายตาทนายที่เข้าเยี่ยม
“อาเดม” ยอมรับคือ “ชายเสื้อเหลือง”!
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
รอยเตอร์ตีข่าว “อาเดม” พลิกลิ้นคดีระเบิดราชประสงค์-อ้างถูก “ทรมาน” ให้รับสารภาพ
จำเลยคดีระเบิดแยกราชประสงค์ปฏิเสธทุกข้อหา ทนายแถลงอาเดมถูกซ้อม-ขู่ส่งกลับจีน
ศรีวราห์”เผยเสนอ”ผบ.ตร.” เห็นควรฟ้องทนายมือบึ้มกรุง
เปิด! คำฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ.11
คุมตัวทีมปล้นปืนไปฝากขัง