วันอาทิตย์, มีนาคม 27, 2559

ไทยเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ทางด้านประชาธิปไตยไปแล้ว ในสายตาตัวแทนอียู





ไทยเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ทางด้านประชาธิปไตยไปแล้ว ในสายตาตัวแทนอียู

ในปาฐกถาเปิดการประชุมกำหนดนโยบายทางการค้าต่อประเทศกลุ่มอาเซียน ของบรรดาตัวแทนสหภาพยุโรปเมื่อกลางอาทิตย์ที่ผ่านมา (๒๓ มีนาคม) ในกรุงบรัสเซล นายโฮสุก ลี-มากิยาม่า ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองสหภาพยุโรป ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซล






ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดให้เป็น รัฐล้มเหลว’ ไปเสียแล้ว “ในขอบข่ายของประชาธิปไตย ใช่ ประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลว” นายโฮสุกกล่าว

แม้ว่ารัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนใหม่ออกไปสู่การลงประชามติในเดือนกรกฎาคม แล้วอาจมีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐ แต่นายโฮสุกกลับเห็นว่า “ก็ยังไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

“ประชาชนคนไทยไม่ได้เชื่อถือในประชาธิปไตย” ผู้ที่เป็นองค์ปาฐกของการประชุมกล่าวด้วยความผิดหวังอย่างรุนแรง “การเลือกตั้งมีจำนวนพอๆ กับการรัฐประหาร ๑๑ ครั้งละมั้ง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้” แถมด้วยว่า

“ผมไม่เห็นประเทศไหนสักแห่งนะ ที่มีหน่วยทหารในกองทัพเดียวกันมีการขัดแย้ง”

ที่ประชุมได้ฟังคำให้การจาก ดร. จรัล ดิษฐาภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ยืนยันว่า “๗๐ เปอร์เซ็นต์ของชนชั้นกลางในประเทศไทย ไม่มีความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย”





ดร.จรัลยังให้ความเห็นต่อที่ประชุมอียูด้วยว่า การออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ “ไม่มีความหมายอะไร”

ข้อมูลที่ออกมาจากการประชุมสนทนาของตัวแทนอียูนี้ระบุว่า ข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปนั้นทำให้ประเทศในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปีนส์ สามารถพัฒนาประชาธิปไตยไปได้อย่างดียิ่ง แต่กรรีเช่นนั้นยังใช้ไม่ได้กับไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการตกลงทำสัญญาการค้าเสรีระหว่างอียูกับเวียตนามและสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยที่เป็นคู่ค้าขนาดใหญ่อันดับสามในหมู่ประเทศอาเซียน ได้ถูกทางอียูระงับการตกลงทวิภาคีการค้าเอาไว้ เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น อีกทั้งทางอียูยังปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ที่เจรจาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ด้วย

นอกจากนั้น ผลแห่งการอภิปรายของกลุ่มตัวแทนอียูเป็นการคอนเฟิร์มโดยปริยายว่า จะ ‘ยังไม่เจรจาทวิภาคีการค้าเสรีกับไทย’ อีกทั้งจะ ‘ไม่ลงนามข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกัน’ ด้วย

จนกว่าจะได้เห็นสัญญานชัดเจนว่า “ไทยมีความสามารถพอแสดงให้เห็น ในการรักษาสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ” ซึ่งนายแฟร้งค์ พรู้สท์ สมาชิกสภาอียูของฝรั่งเศสบอกว่าเป็น “มาตรฐานข้อแม้” ที่จะต้องเกิดขึ้นเสียก่อน

ยังมีตัวแทนอียูจากชาติต่างๆ อีกหลายคนกล่าวในทำนองเดียวกัน ในการประชุม

(https://www.eureporter.co/…/thailand-european-commission-s…/)

เมาโร เปตริคชิโอน รองผู้อำนวยการใหญ่คณะกรรมการกำกับการค้าของสหภาพยุโรป ผู้เข้าร่วมประชุมอีกคนหนึ่งแถลงรายละเอียดของข้อแม้ต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องแสดงให้ปรากฏก่อนอียูจะเริ่มเปิดการเจรจาการค้าอีกครั้งกับไทย

โดยเฉพาะเรื่อง “FTA (ข้อตกลงการค้าเสรี) จะต้องรวมถึงบทว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเข้าไปมีส่วนร่วมสนทนากับประชาสังคม”

หากแต่นายเปตริคชิโอน ตัวแทนอียูจากอิตาลี่ซึ่งทำงานรับผิดชอบด้านข้อตกลงทางการค้าของอียูมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ มองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาสองฝ่ายกับไทยในเร็ววันนี้ เพราะว่า “สถานการณ์เวลานี้ไม่ดีเอาเสียเลย” เขาว่า

“เรายังมองไม่เห็นหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่ารัฐบาลของประเทศไทยต้องการหันเข้าสนทนากับชุมชนนานาชาติ การเจรจาจะเริ่มใหม่ได้ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นสัญญานว่าเขาพร้อมที่จะทำ”

ทั้งที่คณะทหารที่ยึดอำนาจในประเทศไทยมาได้เกือบสองปีเข้านี่แล้ว อ้างว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งปีหน้า ครั้นเมื่อสำนักข่าวอียูรีพอร์ตเตอร์ถามว่า โอกาสที่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและเสรีได้เพียงใด

นายเปตริชิโอนยอมรับว่าเขาไม่สามารถหวังอะไรได้เลย “ผมจะไม่กลั้นใจรอดูหรอก”

อีกทั้งกรณีถ้ามีการเลือกตั้งอัน ‘เที่ยงธรรมและเสรี’ ในประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ นี้แล้ว จะเพียงพอไหมสำหรับเปิดการเจรจาการค้าเสรีขึ้นใหม่ นางบาบาร่า ล็อคบิห์เลอร์ สมาชิกสภาอียูจากพรรคกรีนของเยอรมนีชี้ว่า







“นี่เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน แต่ก็จะต้องมีการปรับปรุงอย่างขนานใหญ่ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ปรากฏแจ้งชัดด้วย”

นางล็อคบิห์เลอร์ซึ่งเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสภาอียู เอ่ยถึงสภาพ ‘เยี่ยงทาส’ ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทยว่าเป็นข้อกังวลอย่างเจาะจงประการหนึ่ง ในการประชุมสนทนาในเบลเยี่ยมกว่าสองชั่วโมง อันเต็มไปด้วยการนำเสนอหลักฐานข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแรงงานทาส การค้ามนุษย์ และการกดขี่เยี่ยงทาสยุคใหม่ ในประเทศไทย

ที่ซึ่ง ไอรีน วิดาล แห่งมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (อีไอเอฟ) ของประเทศอังกฤษ แจ้งว่า “เราได้พบปัญหาใหญ่ในกิจการประมงของไทย หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในปีหน้าแล้ว ฝ่ายอำนวยการทางการค้า (อียู) จะต้องเข้าไปประสานงานร่วมกับผู้อำนวยการแผนกต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานี้”