วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 06, 2557

หาก คสช. ต้องการความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกได้โดยสันติ + คำให้การกรณีการชูป้ายผ้า "นวมทอง ยังไม่ตาย" และแถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน + นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ออกโรงหนุน ‘12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน’ ไม่ร่วมปฏิรูป คสช.


ผมไม่แน่ใจว่า 'ตรรกะวิธีคิด' ของ คสช. ที่ขู่จะใช้ 'มาตรา 44' ของ 'คำสั่งยึดอำนาจ' (ที่ตั้งชื่อว่า 'รัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว') หากมีการเคลื่อนไหวต่อต้านนั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดอะไร

โดยปกติแล้ว ถ้าใครออกมาต่อต้านรัฐโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เช่น หยิบอาวุธขึ้นสู้ ปลุกปั่นให้จลาจล หรือ ใช้ความรุนแรงปิดถนนหรือบุกยึดสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจัดการด้วยกฎหมายที่มีอยู่โดยปกติได้อยู่แล้ว ไม่ต้องอ้าง 'กฎอัยการศึก' เสียด้วยซ้ำ

และก็น่าคิดเหมือนกันว่า ก่อนหน้านี้ มีประชาชนกลุ่มใดที่ต่อต้านรัฐโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย และฝ่ายผู้นำในกองทัพในวันนั้น (ที่กลายมาเป็น คสช. ในวันนี้) ได้เคยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมากน้อยเพียงใด ?

ส่วนถ้าประชาชนเขาจะใช้วิธีการสันติ เช่น ออกแถลงการณ์ จัดเสวนา หรือ รวมตัวกันนั่งกินส้มตำเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กฎหมายต้องคุ้มครองประชาชนครับ

ตรงกันข้าม ถ้าประชาชนถูกรัฐกดขี่ให้แสดงออกโดยสันติไม่ได้ รัฐต่างหากที่จะเป็นฝ่ายเพิ่มแรงกดดันให้เกิดความรุนแรงตามมา

ดังนั้น หาก คสช. ต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้างเมืองดังที่ประกาศไว้จริง ก็โปรดเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกได้โดยสันติ แทนที่จะไปขุ่มขู่ด้วยอำนาจที่ปราศจากฐานคิดทางกฎหมายครับ.



...

คำให้การที่ สน.นางเลิ้ง กรณีการชูป้ายผ้า "นวมทอง ยังไม่ตาย" ของกลุ่มนักศึกษา เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


โดย อานนท์ นำภา

เพิ่งกลับจากไปให้การที่ สน.นางเลิ้ง กรณีการชูป้ายผ้า "นวมทอง ยังไม่ตาย" ของกลุ่มนักศึกษา เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมให้การไป ๓ ประเด็นดังนี้

๑) การชูป้ายผ้าซึ่งมีข้อความว่า “นวมทอง ยังไม่ตาย” ของกลุ่มนักศึกษาเนื่องในวันคลายวันเสียชีวิตของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งสละชีพเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการใช้เสรีภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพดังกล่าวไม่ว่ากฎหมายใดหรืออำนาจใดๆก็หาตัดสิทธิเสรีภาพหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นว่านั้นได้ เพราะการใช้เสรีภาพดังกล่าวหาได้ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่สงบแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการยืนยันในเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการต่อต้านการัฐประหาร อันเป็นการปล้นอำนาจประชาชนอีกด้วย การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวศาลยุติธรรมเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังปรากฏเทียบเคียงในคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีหมายเลขดำที่ ๓๑๓/๒๕๕๔ หมายเลขดำที่ ๕๕๗/๒๕๕๕ ระหว่างพนักงานอัยการสูงสุดโจทก์ กับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จำเลย

๒) การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ข้าพเจ้าเห็นว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมีความเป็นมิตรกับประชาชนดี แต่ระดับบังคับบัญชายังไม่มีความเข้าใจในสถานการณ์ จนบางครั้งได้สั่งการที่เกินเลยกว่ากรณีและเกินกว่าความจำเป็น ซึ่งข้าราชการไม่ควรที่จะไปฝักใฝ่ในเผด็จการ และไม่ควรไปรับใช้คณะรัฐประหาร แต่ควรมีบทบาทในการ พิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธะกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อํานาจโดยมิชอบและพันธะกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย

การได้อํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การได้อํานาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ย่อมเป็นการได้อํานาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐรับรองอํานาจ ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทําการปฏิวัติ หรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว หรือยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร เท่ากับเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อํานาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย ดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์ จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือ รัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวที่ ทําการปฏิวัติหรือรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกัน โดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอํานาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศะ ในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชา จึงไม่ควรไปรับรองอํานาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทําการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ควรร่วมกับประชาชนต่อต้านอำนาจดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กรณีดังกล่าว นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผุ้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ ๒/๒๕๕๒ หมายเลขคดีแดงที่ ๙/๒๕๕๒

๓) การบังคับใช้กฎอัยการศึกของคณะรัฐประหาร ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐประหารจงใจและลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจและกฎหมายไปตามอำเภอใจโดยมิใยดีต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม นับแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ก็ได้มีการละเมิดต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนต่างต้องทนทุกข์ทั่วหน้า กระนั้นคณะทหารยังกระทำการอันอัปยศอย่างยิ่งยวดโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ ทำการรัฐประหารปล้นอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทย ออกประกาศคำสั่งอันมิชอบด้วยหลักนิติรัฐนิติธรรม บังคับขู่เข็ญให้ประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจของคณะเผด็จการทหาร และเมื่อได้อำนาจไปแล้วยังกระทำการที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบหลายครั้งหลายคราวอย่างมิเกรงกลัวต่อกฎหมาย การออกมาต่อต้านการใช้อำนาจดังกล่าวจึงเป็นความชอบธรรมและจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการระงับยับยั้งการใช้อำนาจเผด็จการอันมิได้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยของคณะทหาร ข้าพเจ้าขอชื่นชมกลุ่มนักศึกาดังกล่าวและเสียใจที่มิได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควรในการทำกิจกรรมในแต่ละครั้งของนักศึกษาที่มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยเหล่านั้น

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
....

แถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอให้ยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

ตามที่ 12 องค์กรภาคประชาสังคม และรายชื่อบุคคล 17 รายได้ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมาโดยแถลงการณ์ประกาศจุดยืนในการไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร เช่น คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีหรือกระบวนการใด ๆ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื่องจากกลไกดังกล่าวทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชนและไม่สามารถตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมายหรือโครงการพัฒนาใดๆในช่วงรัฐประหารได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ว่าบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่และบางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังพร้อมอาวุธไปที่บ้านเพื่อเชิญตัวบุคคลดังกล่าวไปให้ข้อมูลแต่ในวันดังกล่าวมีเพียง 2 รายได้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารแล้วที่ค่ายประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้สอบถามถึงสาเหตุและความคิดเห็นในการออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมให้ลงนามว่าหากเจ้าหน้าที่เรียกไปพบเมื่อใดต้องไปพบในทันที ส่วนรายอื่นๆมีนัดหมายในวันถัดไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอแสดงความห่วงกังวลถึงการปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารดังต่อไปนี้

1. การออกแถลงการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 รับรองว่าบุคคลมีสิทธิที่จะมีการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม พฤติการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปพบอันเนื่องจากสาเหตุการออกแถลงการณ์ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนและเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพดังกล่าวโดยตรง

2. แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน แต่การใช้อำนาจดังกล่าวก็มีเงื่อนไขจำกัดเพียงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเท่านั้น ทั้งนี้มาตราดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการกระทำใดๆก็ได้ตามที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง

3. พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารย่อมเป็นการตอกย้ำแถลงการณ์ของ 12 องค์กรภาคประชาชนสังคม ว่าภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ประชาชนไม่อาจตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมายหรือโครงการพัฒนาใดๆได้ แม้การวิจารณ์รัฐโดยสุจริตก็ไม่สามารถกระทำได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลดังกล่าวและกลุ่มอื่นๆ ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และเคารพนิติรัฐในการปกครองประเทศ ทั้งนี้เพราะการปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค

ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ที่มา ประชาไท

12 องค์กรคนรุ่นใหม่ออกแถลงการณ์ หนุน 12 องค์กรภาคประชาชนอีสานปฏิเสธไม่เข้าร่วมการปฏิรูป ชี้เป็นความกล้าหาญ ปฏิเสธอำนาจที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม ร้องหยุดบังคับประชาชนให้รัก ระบุหาก คสช. ต้องการเรียกปรับทัศนะคติ ให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนรับทราบด้วย

5 พ.ย. 2557 นักกิจกรรมทางสังคม 12 องค์กร ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ประเทศไทย “แด่…ความรักที่บังคับกระชับมิตร” จากกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัว 12 องค์กรภาคประชาชนในอีสานเข้าไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนะคติ หลังจากได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ‘ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ท คสช.” เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ ระบุว่า 12 องค์กรภาคประชาชนอีสานปฏิเสธไม่เข้าร่วมการ
ปฏิรูป เพราะพวกเขารักในสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ไม่ได้มีความรักให้ คสช. และไม่ได้มีจิตใจฝักใฝ่ในอำนาจการปกครองที่ได้มาด้วยการยึดอำนาจเอาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง

“พวกเขาทั้ง 12 องค์กร กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธในอำนาจที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า คสช. ได้ใช้กฎอัยการศึกในการบีบบังคับเอาความรักจากประชาชน โดยที่ไม่เข้าใจว่าความรักต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย และในระบอบการปกครองผู้นำก็ต้องถามประชาชนว่าประชาชนต้องการรูปแบบใด หากประชาชนต้องการปกครองด้วยประชาธิปไตยประเทศชาติก็ต้องเป็นประชาธิปไตย หาก คสช.ไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานความรักข้อนี้ ก็ไม่อาจ “คืนความสุขให้ประชาชน” ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การบีบบังคับจิตใจกันและกันนอกจากจะไม่ได้ความรักกลับคืนมาแล้ว กลับจะทวีความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น

ในตอนท้ายของแถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ฯ ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ ขอให้ยุติการบังคับหัวจิตหัวใจประชาชนให้รักในบุคคลใด องค์กรใด ระบอบการปกครองแบบใด และหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการเรียกตัวใครไปปรับทัศนะคติ ขอให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย นอกจากนั้นยังขอให้คืนอำนาจที่แท้จริงให้กับประชาชนเพื่อฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ประเทศไทย

“แด่…ความรักที่บังคับกระชับมิตร”

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกตัว ๑๒ องค์กรภาคประชาชนในอีสานเข้าไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนะคติ หลังจากได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ” ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ท คสช.” เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ไม่ขอร่วมการปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากอำนาจไม่ชอบธรรมที่มาจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ยอมรับเครื่องมือและกลไกของรัฐบาล เช่น คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้มีการยึดโยงจากอำนาจประชาชน และได้ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

จากการที่ ๑๒ องค์กรภาคประชาชนอีสานปฏิเสธไม่เข้าร่วมการปฏิรูปนั้น ด้วยเหตุผลว่า เพราะพวกเขารักในสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ไม่ได้มีความรักให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ได้มีจิตใจฝักใฝ่ในอำนาจการปกครองที่ได้มาด้วยการยึดอำนาจเอาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง พวกเขาทั้ง ๑๒ องค์กร กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธในอำนาจที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้กฎอัยการศึกในการบีบบังคับเอาความรักจากประชาชน โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าความรักนั้น ไม่ใช่ได้มาด้วยการบังคับ ขู่เข็ญ เพราะความรักมันไม่อาจจะบังคับให้ใครรักใครได้ ไม่อาจบังคับให้รักกลุ่มบุคคลใดได้ หรือแม้แต่บังคับให้รักการปกครองเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ แต่ความรักต้องเกิดจากความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นชายกับหญิงหรือรัฐกับประชาชน ต่างต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย นี่คือพื้นฐานความรักที่มนุษย์พึงมีให้แก่กันและกัน ในระบอบการปกครองผู้นำก็ต้องถามประชาชนว่าประชาชนต้องการรูปแบบใด หากประชาชนต้องการปกครองด้วยประชาธิปไตยประเทศชาติก็จะต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานความรักข้อนี้ ก็ไม่อาจ “คืนความสุขให้ประชาชน” ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นเท่ากับว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ผิดคำสัญญาของตนเองและผิดสัญญาต่อประชาชน การบีบบังคับจิตใจกันและกันนอกจากจะไม่ได้ความรักกลับคืนมาแล้ว กลับจะทวีความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น

พวกเราในนามตัวแทนของพลังคนรุ่นใหม่มีข้อเรียกร้อง ดังนี้

ขอให้ยุติการบังคับหัวจิตหัวใจประชาชนให้รักในบุคคลใด องค์กรใด ระบอบการปกครองแบบใด
หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการเรียกตัวใครไปปรับทัศนะคติ ขอให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

ขอให้คืนอำนาจที่แท้จริงให้กับประชาชนเพื่อฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ด้วยความศรัทธาต่อ

สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
องค์กร

๑. เครือข่ายนักกิจกรรมภาคใต้
๒. เชียงรายเรนเจอร์
๓. เพื่อชีวิตฅนเมือง
๔. ตำนานฅนเมือง
๕. สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์
๖. บัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย
๗. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม(ดาวดิน)
๘. กลุ่มรักเพื่อนมนุษย์
๙. กลุ่มกระพรุนไฟ
๑๐. กลุ่มอาปูตาเย
๑๑. กลุ่มกวีไฮกุไร้ชีพ
๑๒. กลุ่มเสรีนนทรี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
12องค์กรภาคประชาชนอีสาน ประกาศไม่ร่วมปฏิรูปคณะรัฐประหาร คสช.
ศูนย์ทนายความสิทธิฯ เรียกร้องทหารหยุดคุกคาม 'กลุ่มภาคประชาสังคมไม่ร่วมปฏิรูป'
ทหารเรียกคุยผู้จัดงานที่ขอนแก่น หวั่นจัดเวทีการเมือง