วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 13, 2557

"รัฐธรรมนูญของใคร?" จะเขียนรัฐธรรมนูญ ต้องเพื่อประชาชน...ไม่ใช่ต้านประชาชน...ไม่ใช่เขียนเพื่อจะปกครองเขาอย่างเดียว


::จะเขียนรัฐธรรมนูญ ต้องเพื่อประชาชน::
...ไม่ใช่ต้านประชาชน ต้องให้ประชาชนเขารู้สึกว่าเป็นปากเป็นเสียงให้เขา
...ให้ประชาชนมีอำนาจและสามารถควบคุมตัวเขาได้ ไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อจะไปปกครองเขาอย่างเดียว
::หมายเหตุ::.."รัฐธรรมนูญของใคร?"


ooo

'จาตุรนต์' ชี้หากไม่มีประชามติ ก็อย่าหวังรธน.ที่เป็นปชต.


by Wiroon Pleejun
Voice TV
12 พฤศจิกายน 2557

'จาตุรนต์' ชี้ การจะหวังให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ประชาชนทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือต้องให้มีการลงประชามติ และรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าก่อนการรัฐประหารมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองที่ดูจะปนๆกัน ระหว่างข้อเสนอที่ก้าวหน้ากับข้อเสนอที่ล้าหลัง แต่พอใกล้จะถึงเวลายกร่างเข้าจริงๆ ข้อเสนอต่างๆกลับค่อนไปทางล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่จะมาร่าง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกันเกือบทั้งหมดและบรรยากาศทางการเมืองที่ห้ามเสนอความเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยแล้ว การจะหวังให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ทางที่จะลดความเสียหายในเรื่องนี้ก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจว่า จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างกันขึ้นหรือไม่ นั่นก็คือต้องให้มีการลงประชามติ ซึ่งข้อเสนอนี้กำลังได้รับการขานรับและสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศ

เพื่อให้การลงประชามติเป็นประโยชน์จริงๆ และสามารถกล่าวอ้างได้ว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเป็นที่ยอมรับของประชาชน ผมขอเสนอหลักการเกี่ยวกับการลงประชามติ ดังนี้

1. ควรจะประกาศเสียแต่เนิ่นๆว่า เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะให้มีการลงประชามติ ไม่ใช่ไปตัดสินใจให้มีการลงประชามติในนาทีสุดท้าย

2. การลงประชามติที่จะมีขึ้น ไม่ควรให้อยู่ในสภาพมัดมือชกเหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ หากลงประชามติไม่ผ่านก็อาจเอารัฐธรรมนูญที่เลวร้ายยิ่งกว่ามาใช้แทน แต่ควรจะให้ตกไปแล้วร่างใหม่แม้จะเสียเวลาก็ตาม

3. ก่อนการลงประชามติเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ควรยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกเสียก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นและรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี
ooo

นักวิชาการหนุน "ประชามติรธน." ยกตัวอย่างบทเรียนอดีตผู้นำทหารชิลี


สำหรับประเด็นเรื่อง "การมีส่วนร่วมและการทำประชามติ" ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ยังคงเป็นที่เรื่องถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่ารธน. ฉบับชั่วคราว จะไม่ได้มีมาตราใดบัญญัติว่าจะต้องทำประชามติ แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ออกมาให้ความเห็นแล้วว่า "สามารถทำได้" ในทางเทคนิค ทั้งนี้ ต้องรอดูสาระสำคัญ รวมถึงแนวคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรธน. มากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลง จนกระทบต่อความเป็นอยู่ของชีวิตประชาชนก็สามารถทำประชามติได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ในความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า "ควรจะทำประชามติ ทำไมจะไม่ควรทำ การทำประชามติเท่ากับว่าเป็นสัญญาประชาคมว่าเราตกลงกันอย่างนี้ การมาฉีกรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าผิดสัญญา เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัย ในคณะจะออกกฎระเบียบกันก็ต้องพูดกันในที่ประชุมว่าจะเอาอย่างนี้ ไม่ใช่เอาตามความเห็นของคณบดี แต่เอาความเห็นของประชาคมทั้งประชาคม ก็ตกลงแล้วปฏิบัติตามร่วมกันให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประเทศก็เหมือนกับองค์กร ช่วยกันพาย ช่วยกันพัฒนาประเทศ ถ้าเกิดว่าเอาตามอำเภอใจของคนบางกลุ่มซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็จะเดินไม่พร้อมกัน ขัดกันไปเรื่อย

และว่า "ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไร ที่จะไม่ทำประชามติ ยกเว้นว่าดึงดันเอา ถ้าการทำประชามติจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนช้าออกไปก็ควรยินดีจะช้า แต่ที่ช้ากันอยู่ตอนนี้ทำไมไม่ไปเร่งกระบวนการตรงนี้ ช้าไปเพื่อลงประชามตินั้นมีเหตุสมควรให้ช้า แต่ว่าเหตุอื่นเยอะแยะที่ทำให้ช้านี่น่ารังเกียจมากกว่าเยอะ"

"จะบอกว่าให้ผ่านไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ ก็ทำไมไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ พูดเหลวไหลเฉื่อยแฉะไป ฟังดูเหมือนเอาสีข้างเข้าถู ทำไมไม่ทำซะตอนนี้" รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว


ด้าน ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เเน่นอนว่าต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายปกครองสูงสุดของประชาชนเเละประเทศนี้ อย่างไรก็ต้องให้คนในประเทศได้มีโอกาสตัดสินใจ "ยอมรับ" หรือ "ไม่ยอมรับ" ด้วยการทำประชามติ ประเทศที่มีการยึดอำนาจเผด็จการ อย่างในเเทบลาตินอเมริกา รัฐบาลทหาร เช่น อาร์เจนติน่าเเละบราซิล เวลาจะออกกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ล้วนเเล้วเเต่ทำประชามติ เป็นเรื่องปกติเเละไม่ใช่เรื่อง "เสียเงิน" อย่างที่ สนช.บางคนกล่าวอ้าง

ส่วนตัวคิดว่าการเสียเงินให้คุณมาร่างนี่เเหละ นับเป็นเรื่องเสียเงินมากกว่า เรื่องประชามติ นั้นเป็นเรื่องของความชอบธรรม ถ้าไม่มีประชามติ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นไร้การมีส่วนร่วมจากประชาชน อย่าลืมว่า คุณใช้เงินภาษีประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมาย เป็นกติกาสูงสุดที่มีผลต่อคนทั้งประเทศ จำเป็นที่ต้องยึดโยงกับประชาชน ตอนนี้ไม่มีกระบวนการไหนที่พิสูจน์ได้เลยว่ายึดโยงกับประชาชนเเละประชาชนให้ความเห็นชอบ

การลงประชามติถือว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาการปกครองสูงสุดของประเทศในเมื่อคสชต้องการคืนความสุขให้กับประชาชนและหนึ่งในนั้นคือรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นห่วงไปใยกับการถามประชาชนทั้งประเทศ ว่าท่านมีความสุขไหมกับสิ่งที่ คสช.ทำ

ยกเว้นคสช. กลัวว่าความสุขในสายตาท่าน อาจจะเป็นความสุขคนละชุดกับที่ประชาชนต้องการ เหมือนกับที่นายพลปิโนเช่ต์ แห่งชิลี เคยย่ามใจและแพ้มาแล้วในการทำประชามติปี ค.ศ. 1988 ที่จะขออนุญาตอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีไปอีก 8 ปี หลังจากอยู่มาตั้งแต่ทำรัฐประหารในปี ค.ศ.1973

ในช่วงที่ปิโนเช่ต์ครองอำนาจ เขามั่นใจว่าความสุขที่เขาให้คือการทำให้เศรษฐกิจชิลีเติบโต คือความสุขที่ประชาชนอยากได้ หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คนชิลีต้องการคือสิทธิและเสรีภาพในการเป็นคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิโนเช่ต์ลืมตลอดเวลา

เเต่ตรงนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ขนาดตัวเผด็จการเอง ก็ยังยอมทำประชามติ เพราะประชาชนเป็นคนเลือกในท้ายที่สุด เเม้กระทั่งในช่วงเผด็จการ