การรัฐประหารไทยถูกประณามที่การประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรป
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 เวลา 14.30 – 18.00 น. เวทีภาคประชาสังคมเอเชียยุโรป ครั้งที่ 10 (ASEM 10) เมืองมิลาน มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ ที่ต่างประเทศครั้งแรกเกี่ยวกับเมืองไทย หลังรัฐประหาร 22พฤษาคม 2557 ในหัวข้อ “หลังรัฐประหาร: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย (After the Coup: Defending Democracy and Human Rights in Thailand)”
ในการจัดการประชุมครั้งนี้ ได้เกริ่นถึงเหตุผลของการจัดเวทีวิชาการครั้งนี้ขึ้นมาว่า “การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กฎอัยการศึก เสรีภาพในการพูดและสิทธิในการชุมนุมถูกปิดกั้น นักกิจกรรมหลายร้อยคนถูกจับและถูกคุมขัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้แต่งตั้งตัวเองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยทหารและคนรักเจ้า คณะรัฐประหารได้พุ่งเป้าการปราบปรามไปยังขบวนการคนเสื้อแดง ที่เริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากรัฐประหาร 2549 มีการออกบทบัญญัติใหม่ รวมทั้งร่างหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เพื่อใช้บีบบังคับคนไทยให้ต้องรักชาติ และยอมสยบอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทหาร พร้อมอ้างว่านี่คือคุณสมบัติของความเป็น “ไทย”
ณ เวทีการประชุมประชาชนเอเชีย-ยุโรปที่มิลาน ครั้งนี้ จึงได้จัดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมุมมองของขบวนการประชาชนต่อสถานการณ์ปัจจุบันของการเมืองในประเทศไทย ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานหวังว่า การประชุมครั้งนี้ จะส่งผลสู่การวางแผนกิจกรรมต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมทั้งในยุโรปและเอเชีย หรือในภูมิภาคอื่นๆ จะสามารถกระทำได้ เพื่อสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”
ต้องขอบคุณองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชีย และยุโรป ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ขึ้นมา ทั้ง เอเชียเฮาท์ (Asienhaus) ประเทศเยอรมันนี. กลุ่มนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (International Solidarity Group for Democracy and Human Rights in Thailand) และองค์กร LEMS – Laboratorio di Etnografia dei Movimenti Sociali (Italy) จากประเทศอิตาลี
ประเด็นรัฐประหารไทยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ต่อเนื่อง ในหลายเวทีการอภิปราย ตลอดช่วงเวลาสามวันของการประชุม
ในระหว่างรอเทปการเสวนาที่จะเผยแพร่ในเวลาอีกไม่นาน ขอนำเสนอถึงผลสรุปของการประชุมแห่งนี้ ที่ส่งผลให้มีการออกแถลงการณ์จากที่ประชุมภาคประชาสังคมเอเชียยุโรป ต่อกรณีประเทศไทย และจะเป็นข้อแถลงการณ์ที่จะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐบาล 53 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุม ASEM ครั้งนี้ ที่มีการอ่านประกาศให้ที่ประชุมรับรองอย่างกึกก้องว่า
“ประเทศไทย
AEPF 10 การประชุมภาคประชาสังคมเอเชียยุโรป ครั้งที่ 10 ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการทำรัฐประหาและการสถาปนารัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไทย พวกเราห่วงใยเป็นพิเศษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยขน การจับกุมและการคุกคามโดยเผด็จการทหาร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรายวัน รวมทั้งความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นของการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร และการข่มขู่คุกคามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
พวกเราขอเสนอแนะถึงมาตรการแรกที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน ต่อรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งหลาย คือ การรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ที่อยู่ภายใต้การคุกคามและถูกดำเนินคดีในประเทศไทย
ASEM คือกระบวนการของรัฐบาลพลเรือน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และรัฐบาลประชาธิปไตยทุกประเทศที่ร่วมในการเจรจา ASEM จำเป็นต้องยึดมั่นในการดำรงหลักการแห่งรัฐบาลพลเรือนนี้ไว้ รัฐบาลทั้งหลายจะต้องไม่ยอมให้เผด็จการทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุม ASEM10 ของพวกเขา”
สำหรับบรรยากาศในการเสวนากว่า 3 ชั่วโมง เข้มข้นทั้งบนเวที และการแลกเปลี่ยนจากผู้ร่วมเสวนา
นักกิจกรรมจากมาเลเชียให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐประหารไทยมาก ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกผลักดันเรื่องสิทธิและเสรีภาพในประเทศของตัวเอง โดยได้แลกเปลี่ยนถึงหลายวิธีแห่งการฝ่าความกลัว และการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ที่กฎหมายก็ไม่อาจจะนำมาใช้จัดการกับประชาชนได้
ขณะนี้ นักกิจกรรม นักศึกษา และภาคประชาสังคมที่เมืองมิลาน เริ่มให้ความสนใจต่อกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ จะเดินทางมาประชุม ASEM ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม และกำลังมีการนัดหมายเตรียมการประท้วงเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 16 ตุลาคม
ทั้งนี้ มีข่าวว่า มวลชน กปปส. จากสวิสเซอร์แลนด์ จะเดินทางมาต้อนรับเผด็จการทหารประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มิลาน ซึ่งคนไทยที่มาหนุนเผด็จการทหาร คงจะต้องหาเหตุผลอย่างหนักพกติดตัวกันมาด้วยว่า เพราะอะไรถึงเดินทางมาสนับสนุนเผด็จการทหาร ที่มีพฤติกรรมการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมากมาย ทั้งการออกคำสั่งให้มีการสังหารประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบจนบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ทั้งทำการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง และที่สำคัญการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศในทุกด้านอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ในขณะนี้ให้ได้