วันพุธ, กุมภาพันธ์ 12, 2568

ร่าง รธน. ของพรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตราบใดที่รัฐสภาชุดปัจจุบัน ไม่ได้มีมาตรฐานเรื่องการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต่ำกว่ารัฐสภาชุดที่แล้ว เพราะในปี 2563 เคยเห็นชอบอย่างท่วมท้นจากรัฐสภา ณ เวลานั้น มาแล้ว


Parit Wacharasindhu (Itim)
@paritw92

[ ร่าง รธน. ของพรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตราบใดที่รัฐสภาชุดปัจจุบัน ไม่ได้มีมาตรฐานเรื่องการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต่ำกว่ารัฐสภาชุดที่แล้ว ]
.
ผมต้องขอบคุณสื่อหลายสำนักที่ได้ช่วยกันทำตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา 13-14 ก.พ. นี้
.
แต่ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง ที่น่านำมาเปรียบเทียบด้วย คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เสนอเมื่อปี 2563 เพราะร่างฉบับดังกล่าวถูก “รับหลักการ” และได้รับความ “เห็นชอบ” จากรัฐสภา ณ เวลานั้น อย่างท่วมท้น:
- เห็นชอบโดย 576 จาก 732 สมาชิกรัฐสภา (79%)
- เห็นชอบโดย 241 จาก 276 สส. รัฐบาล ของรัฐบาลประยุทธ์ (87%)
- เห็นชอบโดย 127 จาก 245 สว. ชุดบทเฉพาะกาลที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. (52%)
.
พอนำมาเปรียบเทียบกับร่างของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยในวันนี้ เราจะเห็นว่าเนื้อหาที่ร่าง 2 ฉบับกำลังเสนอในวันนี้ แทบไม่มีส่วนไหนที่เกินเลยไปกว่าสิ่งที่รัฐสภาเคย “รับหลักการ” ไปแล้วเมื่อปี 2563.
.
ผมสรุปให้เห็นถึง 4 ประเด็นหลัก
.
[ 1. ข้อเสนอหลัก : เพิ่มหมวด 15/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ]
.
1.1. สสร. มี “ที่มา” อย่างไร
.
- ร่าง พท. 2563 (ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ): เลือกตั้ง 100% (200 คนแบบแบ่งเขตจังหวัด)
- ร่าง พท. 2568: เลือกตั้ง 100% (200 คนแบบแบ่งเขตจังหวัด)
- ร่าง ปชน. 2568: เลือกตั้ง 100% (100 คนแบบแบ่งเขตจังหวัด + 100 คนแบบบัญชีรายชื่อระดับประเทศ)
.
สรุป: ทั้ง 3 ร่างเสนอตรงกันว่าให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยมีความแตกต่างกันแค่ที่ระบบเลือกตั้ง (พรรคประชาชนเราเสนอให้มี สสร. ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อหวังจะให้ สสร. มีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม)
.
1.2. สสร. มี “อำนาจ” จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดใดบ้าง ?
.
- ร่าง พท. 2563 (ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ): ทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1-2
- ร่าง พท. 2568: ทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1-2
- ร่าง ปชน. 2568: ทุกหมวด แต่ต้องไม่เปลี่ยนระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ
.
สรุป: พรรคประชาชนยืนยันว่าเราไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องล็อกหมวด 1-2 เพราะเราได้เขียนล็อกไว้แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆก็ตามจะต้องไม่เปลี่ยนระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ รวมถึงการปรับปรุงข้อความในหมวด 1-2 ในประเด็นที่ไม่กระทบต่อระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2540 สู่ รัฐธรรมนูญ 2550 และสู่ รัฐธรรมนูญ 2560 - อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจถึงความเห็นต่างในประเด็นนี้ เราจึงไม่ได้นำเรื่องการยกเว้นหรือไม่ยกเว้น หมวด 1-2 มาเขียนในตัว “หลักการ” ของร่างเพื่อไม่ให้ประเด็นนี้กลายมาเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นต่างจากเรา ไม่สามารถรับหลักการร่างของพรรคประชาชนได้ และเพื่อให้ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่พวกเรายังสามารถพูดคุยและปรับแก้ได้ในชั้นกรรมาธิการหลังวาระที่ 1
.
[ 2. ข้อเสนอรอง : แก้ไขมาตรา 256 เรื่องเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ]
.
2.1. การแก้รายมาตราจะต้องได้เสียงเห็นชอบจากใครบ้างใน “รัฐสภา”?
.
- รธน. 2560 (ปัจจุบัน): 1/2 ของสมาชิกรัฐสภา + 20% ของ สส. “ฝ่ายค้าน” + 1/3 ของ สว.
- ร่าง พท. 2563 (ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ): 1/2 ของสมาชิกรัฐสภา
- ร่าง พท. 2568: 1/2 ของสมาชิกรัฐสภา
- ร่าง ปชน. 2568: 1/2 ของสมาชิกรัฐสภา + 2/3 ของ สส.
.
สรุป: แม้ สว. บางคนได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดเงื่อนไขพิเศษเรื่อง 1/3 ของ สว. แต่เราต้องยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำให้ สว. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาหรือลงมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเคียงข้าง สส. แต่อย่างใด แถมยังเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2540 และสอดคล้องกับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พท. ใน 2563 ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ และเคยได้รับความเห็นชอบจากถึง 52% ของ สว. บทเฉพาะกาลชุดที่แล้วด้วยซ้ำ
.
2.2. การแก้รายมาตราในเรื่องใดบ้างที่ต้องทำ“ประชามติ” เพิ่มเติม หลังรัฐสภาเห็นชอบ ?
.
- รธน. 2560 (ปัจจุบัน): หมวด 1 + หมวด 2 + หมวด 15 + คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง + อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
- ร่าง พท. 2563 (ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ): ไม่มีเรื่องใดเลยที่ต้องทำประชามติ
- ร่าง พท. 2568: หมวด 1 + หมวด 2 + หมวด 15
- ร่าง ปชน. 2568: หมวด 15
.
สรุป: แม้ร่างของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยรอบนี้ มีการเสนอให้ลดเงื่อนไขในการทำประชามติสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อทำให้เราไม่ถูกบังคับให้ต้องทำประชามติบ่อยครั้งเกินไป เมื่อมีการแก้รายมาตราหรือปรับข้อความในประเด็นเล็กๆน้อยๆ แต่เราจะเห็นได้ว่าร่างของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยรอบนี้ ยังไม่ได้ตัดเงื่อนไขในการทำประชามติออกทั้งหมด เหมือนกับที่เคยถูกเสนอในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พท. ใน 2563 ที่รัฐสภาเคยรับหลักการ และเคยได้รับความเห็นชอบจากถึง 52% ของ สว. บทเฉพาะกาลชุดที่แล้วด้วยซ้ำ
.
.
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภาในสัปดาห์นี้ โดยรวมแล้วไม่ได้มีเนื้อหาที่เกินเลยไปจากเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2563 และที่รัฐสภา ณ เวลานั้น เคยมีมติ “รับหลักการ” มาแล้วอย่างท่วมท้น ด้วยเสียงสนับสนุนจาก 87% ของ สส. รัฐบาล สมัยรัฐบาลประยุทธ์ และ 52% ของ สว. สมัยบทเฉพาะกาล
.
ดังนั้น ตราบใดที่รัฐสภาชุดปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีมาตรฐานเรื่องการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต่ำกว่ารัฐสภาชุดที่แล้ว ร่างของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยก็ควรจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน





https://x.com/paritw92/status/1889326494176223549


 


 https://x.com/PPLEThai/status/1889330582192295987