วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2567

รำลึก 51 ปี 14 ตุลา : เมื่อการเบ่งบานของประชาธิปไตยใน 14 ตุลา ไม่ได้เกิดแค่ในศูนย์กลางกรุงเทพฯ


Atukkit Sawangsuk
5 hours ago
·
เมื่อการเบ่งบานของประชาธิปไตยใน 14 ตุลา ไม่ได้เกิดแค่ในศูนย์กลางกรุงเทพฯ
https://wevis.info/the-flourish-of-14th-oct/...
14 ตุลา 2516 ถูกคนรุ่นหลังมองข้าม
เพราะมองว่าประชาชนถูกแย่งอำนาจ
เพราะมองว่านักศึกษาส่วนหนึ่งมีอุดมการณ์ราชาชาตินิยม
(ที่จริงคือกลุ่มที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทั้งหมด)
+เพราะคนตุลา โดยเฉพาะพวกรุ่น 14 ตุลา ดันเป็นเหลืองอี๋
:
แต่อันที่จริงถ้ามองวิวัฒนาการ จาก 14 ถึง 6 ตุลา
มันเป็นจุดกำเนิดความตื่นตัวทางการเมือง ทางเสรีภาพ
ตามมาด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกบังคับทรงผมนักเรียน การประท้วงของกรรมกร ชาวนาชาวไร่
อย่างที่พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย เคยกล่าวไว้ 14 ตุลา เป็นจุดกำเนิดการประท้วงเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนสืบต่อมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งก่อน 14 ตุลาไม่เคยมี
.....

เมื่อการเบ่งบานของประชาธิปไตยใน 14 ตุลา ไม่ได้เกิดแค่ในศูนย์กลางกรุงเทพฯ

ปักหมุดประชาธิปไตย ผ่านเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทั่วประเทศไทย ก่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ
.
ครบรอบ 51 ปี กับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 “วันประชาธิปไตย”

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ภาพจำของใครหลายๆ คน คงหนีไม่พ้นภาพ ‘นิสิต นักศึกษา อาจารย์ และปัญญาชน’ ที่ ‘ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนราชดำเนิน มาจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสิ้นสุดที่พระราชวังสวนจิตรลดา’
.
ภาพจำเหล่านั้น อาจจะเป็นภาพที่ ‘ผู้กำหนดประวัติศาสตร์’ ต้องการที่จะให้พวกเราเห็นผ่านหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือช่องทางที่ง่ายที่สุดอย่าง ‘การศึกษา’ ที่เกือบครึ่งชีวิตของใครหลายๆ คนรับรู้การบันทึกเหตุการณ์ความอุกอาจครั้งนี้อยู่ในบทเรียนเพียงไม่กี่หน้าเท่านั้น
.
จุดเริ่มต้นของความตึงเครียดในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เริ่มขึ้นจากความคับแค้นใจของประชาชนที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบ ‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ หรือการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมจากกลุ่มเผด็จการทหารคณาธิปไตยเหล่านี้ ทำให้เสรีภาพทางการเมืองและการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยถูกแช่แข็งมานานนับ 10 ปี ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่กลุ่ม ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ปัญญาชนเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเรียกร้องความเป็นธรรม และความคิดดังกล่าวไม่ได้คุกกรุ่นอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เพียงที่เดียว
.
ความเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่มักเริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนตุลาคม 2516 หลังจากเหตุการณ์จับ 12 แกนนำเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 8 ตุลาคม 2516 การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในสมัยนั้นเกิดขึ้นผ่านการฟังวิทยุกระจายเสียงข่าวสาร หนังสือพิมพ์ และการติดต่อสื่อสารกันผ่านกลุ่มองค์กรนักเรียน นักศึกษา ภายใต้กลุ่มผู้นำหลักในกรุงเทพฯ อย่าง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)
.
งานชิ้นนี้ตั้งใจอยากพาทุกคนไปสำรวจดูว่า นอกจากภาพการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้นำขบวนการอย่างศูนย์กลางนิสิตฯ ที่บทเรียนหรือหน้าสื่อต่างๆ พยายามนำเสนอกันมาโดยตลอดนั้น ยังมีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนส่วนอื่นๆ ในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมเป็นแสงสว่างของการจุดประกายประชาธิปไตยในครั้งนี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง
.


ข้อมูลดังกล่าว มาจากการรวบรวมของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา อาจมีบางจังหวัดที่ไม่สามารถระบุเครือข่ายได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นผู้เข้าร่วมจากโรงเรียนหรือวิทยาลัยใดบ้าง (จังหวัดที่ไม่ปรากฏชื่อ หมายถึงจังหวัดที่ไม่มีการบันทึกในแหล่งที่มาของข้อมูล) แต่ส่วนใหญ่ในเกือบทุกจังหวัดมีการเคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมร่วมกัน ผ่านการติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และจดหมายจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยการแสดงออกทางการเมืองของทุกจังหวัดมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การปราศรัย การไฮด์ปาร์ค จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการ แปะโปสเตอร์ประณามการกระทำที่รุนแรง และมีหลายกลุ่มที่พยายามจะเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถเข้ามาได้เนื่องจากถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
.
แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีเป้าหมายหลักร่วมกันคือ “เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ และทวงคืนความเป็นประชาธิปไตย” และบทบาทอื่นๆ ที่สำคัญหลังเหตุการณ์การนองเลือดในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในกรุงเทพฯ ได้แก่ การเปิดรับบริจาคเงิน บริจาคโลหิต ส่งมายังศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และร่วมไว้อาลัยต่อวีรชน 14 ตุลา
.

ภาคเหนือ


ภาคใต้



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



ภาคกลาง


ภาคตะวันออก

.
ข้อมูลข้างต้นทำให้เราได้เห็นว่า การผลิบานของประชาธิปไตยไม่ได้เกินขึ้นเพียงแค่ในศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ ที่เดียว แม้ว่าในยุคสมัยนั้นเทคโนโลยีจะไม่ได้มีการพัฒนาจนสื่อสารได้รวดเร็วและง่ายดายอย่างทุกวันนี้ แต่ความมุ่งหมายเดียวกันที่เด็ดเดี่ยวชัดเจนทำให้เกิดความร่วมมือจนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ของคนหนุ่มสาว เหตุการณ์ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งบันทึกสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ควรถูกลบเลือนหายไป
.
ที่มา
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. ก่อนจะถึง 14 ตุลาคม 2516.
ประจักษ์ ก้องกีรติ (2545). ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14 ตุลาคม ในต่างจังหวัด. http://www.14tula.com/.
เปิดลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516. https://www.thaipbs.or.th/now/content/410.

https://wevis.info/the-flourish-of-14th-oct/...