มติรัฐสภา 233:103 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจำนวนครั้งประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
(https://www.bbc.com/thai/articles/c1dv2k38d5ro)
.....
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
6h
·
[ ระบอบการเมืองของประเทศควรปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ มิใช่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันรัฐสภามีอำนาจนิติบัญญัติในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย ]
.
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ (29 มี.ค.) มีการพิจารณาญัตติของ สส. พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
.
.
[ ไม่เห็นด้วยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ไม่ต้องการขัดขวางญัตตินี้ ]
.
ในส่วนของพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ สส.บัญชีรายชื่อ ได้อภิปรายถึงความสำคัญของการยืนยันอำนาจนิติบัญญัติในการจัดทำกฎหมายสูงสุดตามระบอบประชาธิปไตย โดยระบุว่าประเด็นสาระสำคัญของญัตติในวันนี้คือปัญหาที่รัฐสภาเราเองไม่เข้าใจว่าเรามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ตนเข้าใจความตั้งใจดีของผู้เสนอญัตติและยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ปรารถนาจะขัดขวางญัตตินี้ อย่างไรก็ตามพวกตนมีความจำเป็นต้องสงวนความเห็นไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ด้วยเหตุผลสองประการ
.
ประเด็นแรก พรรคก้าวไกลเห็นว่าการที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยเข้าสู่การพิจารณานั้น เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่ท่านอ้างด้วย
.
ประเด็นที่สอง สมาชิกรัฐสภาไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยให้ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องไปถามหรือขออนุญาตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสิ่งที่รัฐสภามีอำนาจชัดเจนอยู่แล้ว ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
.
ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นนั้น ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะไปเปิดช่องหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเองจนเสียสมดุลทางอำนาจในระบบรัฐสภา ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ
.
การใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาในการไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภาจึงไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 3 และการทำประชามติของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้วตามมาตรา 256 ( แล้วเท่านั้น
.
ส่วนที่ท่านยังเห็นว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จึงบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาไม่ได้ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่มีข้อความตรงไหนในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่วินิจฉัยเช่นนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีความเห็นประกอบคำวินิจฉัยเท่านั้น ว่าหากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอออกเสียงประชามติ ก่อนที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภา และถ้าไปอ่านให้ละเอียดมากขึ้นในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่าตุลาการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำประชามติ 2 ครั้งเท่านั้น
.
[ ถ้ายึดตามไพบูลย์ นิติตะวัน เท่ากับชาวไทยต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ไปนิรันดร ]
.
ชัยธวัชอภิปรายต่อไป ว่ายิ่งไปกว่านั้นหากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ดี จะเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เกิดขึ้นจากคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และคณะ ซึ่งเห็นว่าการที่สมาชิกรัฐสภาในขณะนั้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ รัฐสภาจึงมีอำนาจทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราเท่านั้น และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในประเด็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
.
“ถ้าเราเชื่อตามไพบูลย์และคณะ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้พวกเราประชาชนชาวไทยจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ศูนย์ไปโดยนิรันดร เราจะไม่สามารถใช้กลไกตามระบบรัฐสภาใดๆ เลยที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ นอกจากมีทางเดียวคือรอให้มีคณะรัฐประหารชุดใหม่เข้ามาล้มล้างการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทิ้งเสีย” ชัยธวัชกล่าว
.
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยที่ไม่ได้วินิจฉัยอย่างที่ไพบูลย์และคณะมีความเห็นเลย และยังไม่ได้วินิจฉัยตรงไหนเลยด้วยว่าให้จัดทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่ศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง
.
[ ความเห็นและดุลพินิจของประธานรัฐสภา มีปัญหา ]
.
ดังนั้น ความเห็นและดุลพินิจของประธานรัฐสภาจึงมีปัญหา ไม่ได้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วยิ่งถ้าไปอ่านคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อนบรรจุเข้าสู่สภาด้วย เพราะเสียงส่วนใหญ่บอกว่าควรทำ 2 ครั้ง หลังผ่านวาระที่ 3 แล้ว และหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วแค่นั้นเอง
.
ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าเมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตนได้อภิปรายไปทั้งหมดแล้ว มันชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 และ 2
.
นอกจากนี้ รัฐสภายังสามารถหาข้อยุติเรื่องนี้ได้ด้วยกลไกของรัฐสภาเอง เช่น การเสนอญัตติให้รัฐสภาปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น หรือลงมติเรื่องนี้ก็ได้ ซึ่งสุดท้ายตนเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาเห็นอย่างไร รัฐสภาก็จะดำเนินการไปตามนั้น รัฐสภาเราตีความรัฐธรรมนูญ มีอำนาจของตนโดยไม่ต้องไปขออนุญาตใครได้
.
เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องไปถามหรือขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เรามีอำนาจอยู่แล้ว พวกตนในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็ไม่เห็นด้วยให้รัฐสภาต้องยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตที่ผ่านมาการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลายครั้งกลายเป็นการเปิดช่องหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขยายอำนาจของตนเอง หรือบางครั้งก็ตีความรัฐธรรมนูญเกินบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย
.
[ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง ]
.
ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าปัจจุบันรัฐสภาปฏิบัติต่อศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะที่กำลังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ผูกขาดตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง วินิจฉัยอย่างไรก็ได้ โดยที่บางครั้งนักนิติศาสตร์ยังอธิบายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย ว่าคำวินิจฉัยเหล่านั้นตรงตามหลักกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาศัยเพียงแต่อำนาจที่อ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ทำให้สถาบันทางการเมืองอื่นต้องสยบยอมจำนนกันหมด
.
“หากพวกเรายังมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ต่อไป ในอนาคตระบอบการเมืองของประเทศที่ควรจะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ควรจะปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอะไรก็ไม่รู้ การกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชอบ” ชัยธวัชกล่าว
.
[ ก้าวไกลของดออกเสียง ]
.
ชัยธวัชอภิปรายทิ้งท้าย ว่าด้วยเหตุและผลที่ตนกล่าวมาทั้งหมด สมาชิกรัฐสภาจากพรรคก้าวไกลจึงขอสงวนความเห็นไว้ในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ด้วยการงดออกเสียงในญัตตินี้ ไม่ใช่เพราะต้องการการขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เพราะต้องการขัดขวางร่างฯ ของพรรคเพื่อไทย แต่เพราะตนเชื่อว่าในวันนี้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาซึ่งมาจาก สส. ฝั่งรัฐบาลมากพออยู่แล้วที่จะทำให้ญัตติฉบับนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหา แต่พวกตนขออนุญาตงดออกเสียง เพื่อส่งเสียงเตือนให้รัฐสภาแห่งนี้ช่วยกันทบทวนและแก้ไขระบบการเมืองของพวกเราในอนาคต เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยของเรามีดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ โดยมีอำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด
.
.
[ เปิดคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ]
.
โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ ได้อภิปรายยืนยันว่ารัฐสภาไม่ควรจำเป็นต้องมาพิจารณาญัตตินี้ตั้งแต่ต้น เพราะประธานรัฐสภาควรจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่างซึ่งมีหลักการเดียวกันตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่มีส่วนไหนของร่างที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
.
หากเปรียบเทียบระหว่างเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ร่าง และเนื้อหาสาระคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จะเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่างนั้นเป็นการเสนอแก้ไข มาตรา 256 และเพิ่มเติม หมวด 15/1 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลในการนำไปสู่การมี สสร. มาจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
ในเชิงกระบวนการ หากร่างดังกล่าวถูกบรรจุและได้รับความเห็นชอบผ่าน 3 วาระของรัฐสภา มาตรา 256 ( ก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีการจัดประชามติหลังผ่านวาระที่ 3 ซึ่งตนขอเรียกว่าเป็นประชามติ (ข) ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของประชาชน ก็จะมี สสร. เข้ามามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดว่าจะต้องมีประชามติอีกครั้งเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. จัดทำขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งตนขอเรียกว่าประชามติ (ค) ซึ่งจะทำให้โรดแม็ปในการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการทำประชามติทั้งหมด 2 ครั้ง คือประชามติ (ข) และ (ค)
.
กระบวนการทั้งหมดนี้ จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เพราะเมื่อไปดูคำวินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าใจความสำคัญของคำวินิจฉัยอยู่ที่วรรคท้าย ที่ระบุว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
.
แต่เพราะประธานตีความคำว่า “เสียก่อน” ต่างไปจากตน ซึ่งสำหรับตนนั้นหมายถึงการทำประชามติ “เสียก่อน” จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ประธานไปตีความคำว่า “เสียก่อน” ให้หมายถึงการทำประชามติ “เสียก่อน” จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น โรดแม็ปในการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง คือประชามติ (ก) ก่อนที่จะมีประชามติ (ข) และ (ค)
.
พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าแม้ตนยืนยันว่าไม่มีข้อความตรงไหนในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่า จำเป็นต้องเพิ่มประชามติ (ก) เข้ามา แต่ตนก็ยอมรับว่าภาษาและข้อความในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ สามารถทำให้เกิดความคลุมเครือได้ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐสภาทำได้คือการไปดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายบุคคล เพื่อเข้าใจความหมายที่แท้จริงของตุลาการแต่ละคน ซึ่งเป็นกระบวนการที่คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ยังไม่ได้ทำในข้อนี้
.
ดังนั้น ตนจึงขออนุญาตนำเสนอคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพื่อชี้ให้เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร
.
1) วรวิทย์ กังศศิเทียม ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจน ใน 2 วรรคสุดท้าย ว่าแม้จะต้องมีการจัดประชามติครั้งหนึ่งก่อน แต่ “ก่อน” ในที่นี้ หมายถึง “ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งประชามติ (ข) ก็บรรลุเงื่อนไขดังกล่าว โดยจำเป็นต้องทำประชามติ (ก) ก่อนจะมีการบรรจุร่างแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา
.
2) ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนเช่นกัน ว่าแม้จะต้องมีการถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาหรือไม่ แต่คำถามนี้สามารถถาม “ในช่วงเวลาเดียวกัน” กับประชามติ (ข) ที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วตามมาตรา 256 ( โดยอาจจะแบ่งเป็น 2 คำถามคือ เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ สสร. และผ่านความเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภาหรือไม่ โดยในประโยคสุดท้ายก็เขียนไว้ชัดเจนว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ “มิได้มีเจตนารมณ์ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนจะเสนอญัตติหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”
.
3) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงประชามติ (ก) โดยในวรรครองสุดท้ายก็เขียนไว้ชัดเจนว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการขออาณัติจากประชาชน โดยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม [ในหมวด 15] เพื่อให้ประชาชนลงประชามติ” ซึ่งก็คือประชามติ (ข) และในวรรคสุดท้ายก็เขียนไว้ชัดเช่นกันว่าประชามติที่ต้องจัดทำก่อนนั้น คือประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (
.
4) อุดม สิทธิวิรัชธรรม ก็ไม่มีส่วนไหนเช่นกันที่พูดถึงความจำเป็นของประชามติ (ก) เป็นเพียงการบอกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มหมวดเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาจะ “ต้องมีบทบัญญัติ[ที่นำไปสู่]การออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก่อนจะดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงต้องมีการ “ออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เมื่อจัดทำเสร็จแล้วอีกรอบ ซึ่งก็สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
.
5) ปัญญา อุดชาชน แม้คำวินิจฉัยจะเขียนไว้ว่าการถามประชาชนด้วยคำถามที่ว่าเห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่จะต้องใช้กลไกตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญที่ ครม. ขอให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นกลไกที่แตกต่างจากประชามติที่จะต้องเกิดขึ้นตาม มาตรา 256 ( อยู่แล้ว แต่คำวินิจฉัยก็ไม่มีจุดไหนที่เขียนว่าคำถามประชามติที่ ครม. ควรถามผ่านกลไกมาตรา 166 กับคำถามประชามติที่จะต้องถามตามมาตรา 256 ( ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันเดียวกันหรือถามพร้อมกันได้ในประชามติ (ข) ทีเดียว
.
6) วิรุฬห์ แสงเทียน และ 7) นภดล เทพพิทักษ์ ข้อความที่ใช้นั้นมีความคล้ายกับคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งทำให้เราไม่รู้ว่าทั้งสองท่านมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร มากกว่าที่เราเห็นอยู่แล้วในคำวินิจฉัยกลาง
.
บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ น่าจะเป็นตุลาการท่านเดียวที่วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่าจำเป็นต้องทำประชามติ (ก) ก่อนจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากมีการเขียนไว้ชัดเจนว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ …จะต้องเริ่มต้นด้วยการขอฉันทามติจากประชาชน… โดยการจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน” และ “หากประชาชนได้มีฉันทามติให้ดำเนินการได้แล้ว รัฐสภาจึงจะมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้”
.
9) จิรนิติ หะวานนท์ คำวินิจฉัยเขียนไว้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะมีการทำประชามติกันกี่ครั้ง ท่านเป็นตุลาการหนึ่งเดียวที่ตีความว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใดๆ ได้เลย
.
พริษฐ์อภิปรายต่อไป ว่าจะเห็นได้ชัดเจนว่าจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีตุลาการ 5 ท่านวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ / ตุลาการ 2 ท่านวินิจฉัยคล้ายกับคำวินิจฉัยกลางที่รัฐสภาอาจยังมีมุมมองที่แตกต่าง / ตุลาการ 1 ท่าน วินิจฉัยว่ายังบรรจุไม่ได้จนกว่าจะมีการทำประชามติ (ก) ก่อน / และตุลาการ 1 ท่านวินิจฉัยว่าเราไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย ซึ่งอนุมานได้ว่าคำวินิจฉัยกลาง (ซึ่งเป็นเสมือนการสรุปรวบยอดความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน) กำลังชี้ว่าประธานรัฐสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
.
[ ประธานรัฐสภาควรบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทย-ก้าวไกล เดินหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเร็วที่สุด ]
.
ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าการตัดสินใจของประธานรัฐสภาในการไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในวันนี้ จึงเป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากการที่คณะกรรมการของท่านเองก็ยอมรับเอง ว่าไม่ได้ศึกษาข้อมูลคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายบุคคลก่อนจะเสนอแนะความเห็นให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจดังกล่าว
.
ตนเข้าใจดี ว่าถึงแม้วันนี้ประธานจะตัดสินใจทบทวนและบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สมาชิกรัฐสภาบางคนก็อาจจะเห็นแย้งและเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นเรื่องดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต การคาดการณ์แบบนั้นก็ไม่ควรจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้ประมุขของสภาไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
.
“ดังนั้น แทนที่เราจะต้องใช้เวลาอีกไม่รู้กี่ชั่วโมงในวันนี้ไปกับการพิจารณาญัตติที่เรากำลังอภิปรายอยู่ แทนที่เราจะต้องใช้เวลาอีกไม่รู้กี่สัปดาห์หรือกี่เดือนไปกับการรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยสิ่งที่ผมเห็นว่ามีความชัดเจนอยู่แล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่ท่านเห็นข้อมูลที่ผมได้อภิปรายในวันนี้ ท่านจะทบทวนการตัดสินใจของท่าน และตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เพื่อให้เราเดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนได้โดยเร็วที่สุด และด้วยกระบวนการที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย” พริษฐ์กล่าว
.
.
สำหรับผลการลงมติ ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบกับญัตติที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 233 ไม่เห็นด้วย 103 งดออกเสียง 170 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0