25/03/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธอมนุษยชน
เข้าสู่ปลายเดือนมีนาคม 2567 สถานการณ์คดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในยุคหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา พุ่งทะลุขึ้นมากกว่า 300 คดีแล้ว หลังตำรวจในหลายสถานียังทยอยออกหมายเรียกคดีทั้งเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่อง นักกิจกรรมหลายคนยังถูกแจ้งข้อหาในคดีใหม่เพิ่มอีก
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 24 มี.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 270 คน ในจำนวน 301 คดี (ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนจำนวน 20 คน ในจำนวน 23 คดี)
เท่ากับในระยะเวลา 3 ปี 4 เดือนเศษนี้ โดยเฉลี่ยแล้วในทุก ๆ 4 วันจะมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นใหม่ 1 คดี
สถิตินี้เป็นเพียงจำนวนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจะมีคดีซึ่งไม่ได้เป็นที่รับทราบอีกอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้จำนวนที่แท้จริงอาจจะมีมากกว่านี้ และสถิตินี้ยังนับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว ไม่ได้นับกรณีที่มีกลุ่มต่าง ๆ ไปแจ้งความไว้ แต่ยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกหรือแจ้งข้อกล่าวหา
ในจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือออกหมายเรียกใหม่ในช่วงรัฐบาลที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน ไม่น้อยกว่า 15 คดี
คดีในช่วงหลัง พบว่าเป็นคดีที่มีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปแจ้งความกล่าวหานักกิจกรรมหรือประชาชนเอาไว้ค่อนข้างมาก โดยมีสองกลุ่มหลักที่พบว่าเป็นผู้กล่าวหาในช่วงปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) กลุ่มหลังนี้ไปแจ้งความไว้ในหลายสถานีตำรวจในท้องที่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งพบว่าตำรวจทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีใหม่อยู่เป็นระยะ รวมทั้งยังแจ้งความคดีในกรุงเทพฯ อีกด้วย ดังกรณีของ “เจ๊จวง-เจ๊เทียม” สองแม่ค้าขายบะหมี่หมูกรอบที่ถูกแจ้งข้อหาที่ สน.บางนา ล่าสุด จากกรณีป้ายที่ติดหน้าร้าน
สำหรับสถิติรวมของคดีมาตรา 112 ที่มีกลุ่มเหล่านี้หรือประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา มีไม่น้อยกว่า 154 คดี ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล
สถานการณ์ที่ทำให้คดีเพิ่มขึ้นในปี 2567 ยังพบว่ามีกรณีที่ตำรวจย้อนออกหมายเรียกนักกิจกรรมไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2563-64 ซึ่งมีกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ ไปแจ้งความไว้ก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ออกหมายเรียกมาก่อน อาทิ คดีของนักกิจกรรม 3 คน กรณีอ่านแถลงการณ์ “ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 หรือคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ตำรวจก็เพิ่งมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา
กรณีของเพนกวินล่าสุด ทำให้คดีที่เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นเป็น 25 คดี เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยจำนวนคดีมากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นอกจากนั้น ยังมีกรณี “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่กลับคำให้การในคดีต่าง ๆ จากเดิม เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทำให้ศาลให้โจทก์แยกฟ้องนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ยังต่อสู้คดีเข้ามาใหม่ และทยอยพิพากษาเฉพาะในส่วนของไบรท์ ทำให้ต้องนับสถิติคดีแยกออกจากกัน จำนวนคดีจึงเพิ่มขึ้น 4 คดี ทั้งหมดเป็นคดีจากการชุมนุมในช่วงปลายปี 2563
รวมทั้งยังมีกรณีของประชาชนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีทนายความ แต่อัยการเพิ่งสั่งฟ้องคดีในช่วงสองเดือนนี้ ทำให้ศูนย์ทนายฯ เพิ่งได้รับทราบข้อมูลคดีดังกล่าว เช่น คดีของ “ลอเฟย์สัน” ช่างไฟที่ถูกฟ้องคดีจากการคอมเมนต์โพสต์ในกลุ่ม “ตลาดหลวง” หรือคดีของ “นารา” ที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สอง กรณีคอมเมนต์ข้อความตั้งแต่ช่วงปี 2563
สำหรับคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหานั้น สถานการณ์คดีช่วงปัจจุบันเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้คดีจำนวมากแทบจะทยอยขึ้นสู่ศาลอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ ผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ก็ยังทยอยเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ศาลโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะไม่ให้ประกันตัวหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ทำให้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยกว่า 27 คน แยกเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา 18 คน ผู้ถูกคุมขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 7 คน และผู้ถูกคุมขังในคดีเยาวชนตามมาตรการพิเศษที่ศาลกำหนดจำนวน 2 คน ขณะที่ยังคดีทยอยมีคำพิพากษาในปีนี้อีก ทำให้ต้องจับตาสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองต่อไป
.
ย้อนอ่านรายงาน 10 ข้อสังเกตในรอบ 3 ปี หลังการกลับมาของ ม.112
ย้อนดูตาราง สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67
https://tlhr2014.com/archives/65844