วันพฤหัสบดี, มีนาคม 21, 2567

อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สรุป10 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นานกว่า 150 ปี เราจะเห็นสัญญาณและอาการต่าง ๆ ของความเปลี่ยนแปลงในสยามประเทศไทยได้ แต่คำถาม ที่ต้องการคำตอบ คือ สยามประเทศไทย (ของ) "เรากำลังไปทางไหนกัน ?"


Charnvit Kasetsiri
6h
·
#Sighs of Major Changes in Thailand - Modern Siam
สัญญาณ และอาการของยุค "สมัยใหม่" ในสยามประเทศไทย
ถ้าเราเอาปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ของ "ความเป็นสมัยใหม่"
นั่นคือ เรื่องราวของรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง
และเรื่องของการธำรงรักษาไว้ซึ่ง “ประชาธิปไตย” บนพื้นฐานของ
สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
กับในทางตรงกันข้าม เรื่องที่อุบัติขั้นในช่วงเวลาด้วยกัน
คือ การทำลายสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นสลับกันไป สลับกันมา
นำมาใส่ลงในกรอบของ long history - longue durée
หรือ ประวัติศาสตร์ช่วงยาว ๆ นาน ๆ กว่า 150 ปี
เราจะเห็นสัญญาณและอาการต่าง ๆ
ของความเปลี่ยนแปลงในสยามประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้
.
หนึ่ง) เมื่อ 159 ปีมาแล้ว
เมื่อ พ.ศ.2408 หรือ (ค.ศ.1865) (ตรงกับสมัย ร.4)
หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน
แปลและตีพิมพ์รัฐธรรมนูญอเมริกา
ออกเป็นภาษาไทยครั้งแรก


.
สอง) อีก 19 ปีต่อมา หรือเมื่อ 140 ปีมาแล้ว
เมื่อ ร.ศ. 103 หรือ พ.ศ.2427/28 (ค.ศ. 1884) (ตรงกับสมัย ร.5)
กลุ่มเจ้านายและขุนนาง (หนุ่ม)
เสนอให้ปฏิรูประบอบการปกครองสยาม
ให้เป็นราชประชาธิปไตย
ให้เหมือนกับระบอบใหม่ของญี่ปุ่น
สมัยจักรพรรดิเมจิ ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ
และมีคณะรัฐมนตรี
ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระประมุข
แต่ข้อเสนอนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
.
สาม) อีก 28 ปีต่อมา หรือเมื่อ 112 ปีมาแล้ว
เมื่อ ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ.2454 (ค.ศ.1912) (ตรงกับสมัย ร.6)
เกิด "กบฏ" ของนายทหารหนุ่ม
นำโดย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์
(นายแพทย์ เหล็ง ศรีจันทร์ พ.ศ. 2425-2502)
วางแผนยึดอำนาจ
จะทำการปฏิวัติระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช
ให้เป็นประชาธิปไตย
แต่คณะผู้ก่อการ ถูกจับกุมคุมขังเข้าตะรางทั้งหมด
.
สี่) อีก 20 ปีต่อมา หรือเมื่อ 92 ปีมาแล้ว
เมื่อ พศ.2475 (ค.ศ.1932) (ตรงกับสมัย ร.7)
เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เปลี่ยนระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช
ให้เป็นประชาธิปไตยและรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ใต้รัฐธรรมนูญ
นำโดย "คณะราษฎร" 24 มิถุนายน
ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 100 นาย
.
ห้า) อีก 15 ปีต่อมา หรือเมื่อ 77 ปีมาแล้ว
เกิดรัฐประหาร พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) (ตรงกับสมัย ร.9)
นายทหารนอกราชการ นำโดยผิน ชุณหะวัณ
ยึดอำนาจจากรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ที่มาจากการเลือกตั้ง

คณะทหาร นำนายควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยม
กลับมาเปน นรม.
นี่คือจุดเริ่มต้นของ "วัฎจักรแห่งความชั่วร้าย"
ของการปฏิวัติรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ
ทำลายการเลือกตั้ง
และทำลายระบบรัฐสภา
ตลอดจนทำลายสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค
.
หก) อีก 10 ปีต่อมา หรือเมื่อ 67 ปีมาแล้ว
เกิดรัฐประหาร พ.ศ.2500 (ค.ศ.1957) (ตรงกับสมัย ร.9)
จอมพล ส.ธนะรัชต์ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ("สกปรก")
ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ส.ธนะรัชต์ ทำการยึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง พ.ศ.2501 (ค.ศ.1958)
นำประเทศไทย เข้าสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร
ที่มีอำนาจสมบูรณ์ตาม "คำสั่งของคณะปฎิวัติ"
โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเปนประมุข�
.
เจ็ด) อีก 16 ปีต่อมา หรือเมื่อ 51 ปีมาแล้ว
เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2516 (ค.ศ.1973)
(ตรงกับสมัย ร.9 รัฐบาลถนอม กิตติขจร)
วันนั้น 14 ตุลา เป็น “วันมหาปิติ" Day of Great Joy
มีนักเรียน/นักศึกษา/วีรชน คนหนุ่มสาว กับประชาชน
ลุกขึ้นมาประท้วงระบอบทหาร "คณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์"
ผู้คนจำนวนแสน ๆ เข้าร่วมประท้วงกลางถนนราชดำเนิน
เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" และ "รัฐธรรมนูญ"
เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ
คณาธิปไตยทหาร กระทำ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime)
ปราบปราบหนัก ด้วยอาวุธสงคราม
ประชาชน คนหนุ่มสาวขัดขืน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเครือข่าย เข้ามาห้ามทัพ
ทำให้คณาธิปไตยทหาร ล้มครืนลง
ถนอม/ประภาส/ณรงค์ ลี้ภัยไปต่างประเทศชั่วคราว
ในเหตุการณ์นั้นมีประชาชน และเยาวชน
ถูกทำลายชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 800
ผู้มีส่วนร่วมในขบวนการครั้งนั้น คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว
คือ ชนชั้นกลางในเมือง กทม. และต่างจังหวัด
พร้อมทั้งสื่อมวลชนก้าวหน้า
.
แปด) อีก 3 ปีต่อมา หรือ 48 ปีมาแล้ว
เกิดการรัฐประหารและอาชญากรรมรัฐ
พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) (ตรงกับสมัย ร.9 และรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช)
วันนั้น พุธที่ 6 ตุลา เป็น "วันมหามหาวิปโยค" Day of Great Sorrow
จอมพลถนอมซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ (สหรัฐฯ)
ได้บวชเป็นเณรที่สิงคโปร์
แล้วได้รับ...อนุญาตให้กลับเข้ามาบวชเป็นพระ
ณ วัดบวรนิเวศ บางลำพู กทม.
มีนักศึกษาและประชาชน 3,000 ชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์
เรียกร้องให้รัฐบาล นรม. เสนีย์ ปราโมช (ประชาธิปัตย์)
ขับไล่ถนอมออกจากประเทศ
มีกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัดตั้ง เช่น นวพล กระทิงแดง
และวิทยุเครือข่ายทหารบก/ยานเกราะ
ที่อ้างอิง โหน ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์
ทำการโจมตีและกระทำการกวาดล้างนักศึกษากับประชาชน
ด้วยข้ออ้าง "หมิ่นพระบรมเดชาฯ" ม. 112
และกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ต้องการล้มเจ้า - และเป็น "คอมมิวนิสต์
ผู้กุมอำนาจรัฐไทย-ชนชั้นปกครอง
อีลีตชนชั้นนำ-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง ร่วมด้วยช่วยผสมโรง
มีการนำกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน
เข้ามาก่อ "อาชญากรรมรัฐ" ทำการปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม
ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับท้องสนามหลวง
และแล้ว เหล่าบรรดาขุนทหารก็กระทำ "รัฐประหาร" ขึ้นอีก
พร้อมทั้งรับข้อเสนอให้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
ผู้นำฝ่ายตุลาการ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้ถูกทำลายชีวิต 40 (?) ราย,
บาดเจ็บ 3,000 (?)
คนหนุ่มสาวจำนวนมากหนีเข้าป่า
ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น จากทุก ๆ ฝ่าย
คือ ฝ่ายผู้ถูกกระทำ มีเยาวชนคนหนุ่มสาว
และประชาชนบางส่วนจากการปฏิวัติ พ.ศ.2516 (ค.ศ.1973)
กับฝ่ายผู้กระทำและปฏิบัติการ คือ "ชนชั้นกลาง" กับผู้กุมอำนาจรัฐ-ชนชั้นปกครอง/อีลีต-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง-ตำรวจ
ซึ่งตั้งตน เป็นปฏิปักษ์/สร้างความเกลียดชัง
และใช้คำปลุกระดมว่า "หนักแผ่นดิน"
โดบอ้างและอิงศาสนาพุทธว่า "ฆ่าคอมมูนิสต์ ไม่บาป"
ปฏิบัติการณ์ครั้งนั้น ได้รับความร่วมมือ และช่วยกระพือข่าว
โดยสื่อมวลชน "กระแสหลัก" ของทั้งรัฐและเอกชน ทั้ง นสพ./วิทยุ/ทีวี
.
เก้า) อีก 48 ปีต่อมา หรือ 32 ปีมาแล้ว
16 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์ "พฤษภาเลือด 2535 (1992)" (ไม่ใช่ "ทมิฬ")
หรือ Bloody May 1992
(ตรงกับสมัย ร.9 และรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร)
วันนั้น ประชาชน คนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น
ซึ่งชุมนุมประท้วงเป็นประจำ ๆ ณ บริเวณถนนราชดำเนิน กทม.
ทำการเรียกร้องให้รัฐบาลของ นรม. พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่
ไม่ได้ลงรับเลือกตั้ง รวมกับบรรดา "คณาธิปไตยทหารกับนักการเมือง"
ต้องลาออกจากตำแหน่ง
รัฐบาลสุจินดากระทำ "อาชญากรรมรัฐ" (state crime) อีกครั้ง
คือปราบปราบประชาชน อย่างหนักด้วยอาวุธและกระสุนปืนสงคราม
ประชาชนไม่ยอมแพ้ ทำการขัดขืน ต่อสู้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ
ทำให้ รัชกาลที่ 9 เข้ามาห้ามทัพ
คณาธิปไตยทหาร/รัฐบาลล้มครืน
แต่หัวหน้าคณาธิปไตยได้รับอนุญาตให้ลาออก
โดยไม่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
ครั้งนั้น มีผู้ถูกทำลายชีวิต 44 (?) ราย, บาดเจ็บ 600 (?)
ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น คือ ชนชั้นกลางในเมือง กับชาวกรุง
รวมทั้งสื่อมวลชนเอกชน นัก นสพ. และยังรวมทั้งมีเยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมด้วย
.
สิบ) อีก 18 ปีต่อมา หรือ 14 ปีมาแล้ว
18 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์ "เมษา/พฤษภาอำมหิต พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)"
หรือ Black April-May
(ตรงกับสมัย ร.9 และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
วันนั้น ประชาชน คนเสื้อแดง ชาวบ้าน (ที่ถูกกล่าวหาว่า "โง่"
และ "ถูกจ้าง") มาจากภาคอีสาน/ภาคเหนือ
ได้เข้าร่วมกับคนชั้นกลาง ชาวกรุง รวมแล้วจำนวนหลายหมื่น
ดำเนินการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องบนถนนราชดำเนิน
และสี่แยกราชประสงค์
เรียกร้องให้ นรม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) "ยุบสภา"
และให้จัดมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่
รัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพบก
ใช้กำลังทหารกระทำ "อาชญากรรมรัฐ" อีกครั้ง
ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม
พร้อมตั้งข้อกล่าวหาว่า "ก่อการร้าย"
พร้อมทั้งอ้าง/อิง/สถาบันกษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่ง ม. 112
ของประมวลกฎหมายอาญา
ครั้งนั้น มีผู้ถูกทำลายชีวิต 100 (?) กว่าราย บาดเจ็บ 2,000 (?)
ผู้มีส่วนร่วม มีทั้ง "ชาวบ้าน" จากชนบทอีสาน/เหนือ
ร่วมกับ "ชาวกรุง" คนชั้นกลาง
รวมทั้งหญิงวัยกลางจำนวนมาก
เหตุการณ์ครั้งนี้ มีเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมบ้าง จำนวนหนึ่ง
ในเหตุการณ์นี้ สื่อมวลชนภาครัฐ และภาคเอกชนจำนวนมาก
ที่ทำการรายงานข่าว เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง ถือฝักถือฝ่าย
.
สรุป ทั้ง 10 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ช่วงระยะเวลายาวนาน long history - longue durée
ดังที่ได้กล่าวมานี้
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
ดังนั้น จึงไม่ได้รวมถึงเหตุการณ์อีกจำนวนมาก
ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด หรือในเขตชนบทห่างไกล
ไม่ว่าจะเป็น ขบถ ร.ศ. 102 (1902 Rebellions) พ.ศ.2445 (สมัย ร.5)
หรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น “ตากใบ” พ.ศ. 2547 (ค.ศ.2004)
(สมัย ร. 9 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร)
ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงไม่รวมเหตุการณ์
ที่เกิดในภูมิภาค และต่างจังหวัด
ที่อาจจะรุนแรงกว่า แต่ไม่เป็นที่รับรู้ใน กทม.เท่าที่ควร
.
Question and Answer
คำถาม ที่ต้องการคำตอบ คือ
สยามประเทศไทย (ของ) "เรากำลังไปทางไหนกัน?"

ไทยเรา จะปรองดอง สมานฉันท์ ปฏิรูป
หรือ เกี้ยเซี้ยะ กันได้หรือไม่ ?
หรือนี่เป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่
ของ “ก๊ก” ต่าง ๆ ในเมืองไทย ตามแบบของ “สามก๊ก”
และที่สำคัญ
คือ เราจะหลีกเลี่ยง การนองเลือด การจลาจล
และ “กาลียุค” ดังที่ปรากฎใน
“เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ได้หรือไม่ ?
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
20/3/2567/2024
(จบ)

ที่มา (https://www.facebook.com/charnvit.ks)