ข้อถกเถียงทางทฤษฎี: การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ‘มีเหตุผล’ จริงหรือ?
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ที่หลายฝ่ายพูดถึงในขณะนี้ คือการที่ผู้ลงคะแนนไม่เลือกพรรคที่ตนเองสนับสนุนมากที่สุด แต่หันไปลงคะแนนให้กับพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้เสียงของตนต้อง ‘เสียไปโดยเปล่าประโยชน์’
นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเห็นว่า ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice theory) ซึ่งมองว่า กิจกรรมของมนุษย์ล้วนเกิดขึ้นจากการคิดและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล สามารถใช้อธิบายตรรกะของพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ได้ กล่าวคือ เมื่อผู้ลงคะแนนต้องการให้พรรคที่ตนเองเลือกได้รับชัยชนะ การตัดสินใจเลือกพรรคที่ตนเองไม่ได้สนับสนุนมากที่สุด แต่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากกว่า จึงถือเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล เพราะผู้ลงคะแนนจะได้รับความพึงพอใจสูงสุดเมื่อพรรคที่ตนเองเลือกชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนหนึ่งกลับไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เสียงของผู้ลงคะแนนแต่ละคนมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งน้อยมากๆ จนแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้น หากประชาชนออกไปลงเลือกตั้งเพียงเพื่อให้เสียงของตน ‘สัมฤทธิ์ผล’ (instrumental reason) สุดท้ายแล้ว อาจจะไม่มีประชาชนคนไหนออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลย
พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อคะแนนเสียงของแต่ละคนไม่กระทบผลการเลือกตั้ง การออกไปเลือกตั้งด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เสียงของตนสัมฤทธิ์ผล จึงไม่ใช่พฤติกรรมที่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด
แนวคิดนี้เรียกว่า “ความย้อนแย้งของการลงคะแนนเสียง” หรือ non-voting paradox
ในปัจจุบัน ตรระกะที่นำไปสู่การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงวิชาการ แต่เนื่องจากยังไม่มีทฤษฎีหรือแนวคิดอื่นที่สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมการลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ได้ดีไปกว่าทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล นักวิชาการส่วนใหญ่จึงยังใช้ทฤษฎีนี้เป็นกรอบการวิเคราะห์อยู่ แม้จะยอมรับว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่สามารถอธิบายการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม
ประสบการณ์ของสหราชอาณาจักรกับ 3 คำถามสำคัญ
ประเทศที่เป็นตัวอย่างของการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างชัดเจนที่สุดประเทศหนึ่ง คือสหราชอาณาจักร การก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party: SDP) และการร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ทำให้การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์กลายเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และนำไปสู่ระบบการเมืองแบบสามพรรค (third-party politics) ในที่สุด
ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปปี 1983 และปี 1987 พันธมิตรทั้งสองพรรคได้จับกระแสต่อต้านกลุ่มอนุรักษนิยม และกระแสต่อต้านนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กในขณะนั้น มาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ในทำนอง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ยิ่งไปกว่านั้น ในการเลือกตั้งปี 1987 ทั้งสองพรรคได้ร่วมกันส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวในแต่ละเขตเลือกตั้ง แล้วรณรงค์ให้ประชาชนเลือกผู้ลงสมัครจากพันธมิตรนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการชนะเลือกตั้งเหนือพรรคอนุรักษนิยมของแทตเชอร์
ตั้งแต่นั้นมา นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เริ่มศึกษาการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ในสหราชอาณาจักร โดยมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจ 3 คำถาม
คำถามที่ 1 ‘ผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์คิดเป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด’
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้มีสัดส่วนมากนัก งานศึกษาของ Heath และ Evans (1994) พบว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรปี 1987 ผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของผู้ไปออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ข้อค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับงานศึกษาของ Niemi, Whitten และ Franklin (1992) ที่ถึงแม้จะใช้คำนิยามและวิธีวัดการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ต่างกัน แต่ก็พบว่า การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1987 มีผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของผู้ไปออกเสียงเลือกตั้ง[1]
คำถามที่ 2 ‘ปัจจัยใดทำให้มีการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์’
ในช่วงทศวรรษ 1980 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเขตเลือกตั้ง และปัจจัยเชิงบุคคล
สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเขตเลือกตั้ง ผลจากงานศึกษาชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า โอกาสชนะการเลือกตั้งของพรรคที่ผู้ลงคะแนนสนับสนุน มีความสัมพันธ์เชิงลบกับการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ หากพรรคซึ่งมีคะแนนนำอันดับ 1 และอันดับ 2 มีคะแนนทิ้งห่างจากพรรคที่ตนสนับสนุนมาก ผู้ลงคะแนนก็จะหันมาลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น เพราะเกรงว่าเสียงของตนจะเสียเปล่า อย่างไรก็ตาม ระดับความสูสีของการแข่งขันระหว่างพรรคที่มีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ของผู้ลงคะแนนที่สนับสนุนพรรคอื่น
ในแง่ของปัจเจกบุคคล ปัจจัยที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การศึกษา ความนิยมและความยึดโยงกับพรรค และความรู้สึกไม่ชอบพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง โดยพบว่า ผู้ลงคะแนนที่มีการศึกษาสูงกว่า จะมีโอกาสลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ดีกว่า แต่เป็นผลมาจากโอกาสในการรับข้อมูลข่าวสารที่มากกว่า
ในทางตรงกันข้าม ความนิยมและความยึดโยงกับพรรคการเมืองกลับมีความสัมพันธ์กับการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ในเชิงลบ หากผู้ลงคะแนนมีความชื่นชอบและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนมากขึ้น โอกาสในการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์จะลดลง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลจากงานศึกษาพบว่า ความรู้สึกไม่ชอบ ‘พรรค’ ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง ส่งผลให้มีผู้ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น แต่ความรู้สึกไม่ชอบ ‘หัวหน้าพรรค’ กลับไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งที่ในเวลานั้น กระแสต่อต้านแทตเชอร์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ลงคะแนนเสียงชาวสหราชอาณาจักร ใช้อุดมการณ์ของพรรคเป็นเกณฑ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มากกว่าใช้การตัดสินจากตัวบุคคล
คำถามที่ 3 ‘การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์มีบทบาทในทางการเมืองมากน้อยเพียงใด’
จากการศึกษาการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 Kim และ Fording (2001) พบว่า การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในระดับเขต คือมีผลเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของ ‘เก้าอี้’ ในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของพรรคร่วมรัฐบาลได้
นอกจากนี้ งานศึกษาดังกล่าวยังชี้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1980s การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากพรรคใหญ่เพียงสองพรรคในขณะนั้น ซึ่งได้แก่พรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงาน (Labour Party) ต่างมีแนวคิดและอุดมการณ์สุดขั้ว จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ โดยการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์เริ่มมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หลังจากที่พรรคแรงงานลดความเป็นฝ่ายซ้ายลง และได้ขยับเข้ามามีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats Party: LDP)[2] มากขึ้น
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์กับการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทย
เมื่อหันกลับมามองการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในปี 2562 ในบริบทของการเมืองไทย จะเห็นได้ว่า โอกาสที่จะมีผู้ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์จำนวนมากนั้น อาจมีไม่มากนัก ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้นั้นคงมีน้อยเช่นกัน เห็นได้จากความแตกต่างระหว่างการเมืองไทยกับการเมืองในสหราชอาณาจักรใน 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก ระบบพรรคการเมืองของสหราชอาณาจักรนั้น ตั้งอยู่บนเข็มทิศอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจน ทำให้นโยบายของแต่ละพรรคแตกต่างกัน เกณฑ์การตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงของประชาชนจึงเป็นเรื่องของ ‘อุดมการณ์ของพรรค’ มากกว่า ‘ตัวบุคคล’ ในทางกลับกัน ระบบพรรคการเมืองของไทยรวมไปถึงนักการเมืองเอง กลับมีความลื่นไหล (fluid) สูง นโยบายที่นำเสนอก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิดใดที่ชัดเจน ทำให้คนไทยจำนวนมากใช้ ‘ตัวบุคคล’ เป็นเกณฑ์หลักในการลงคะแนนเสียง
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ระบบพรรคการเมืองของสหราชอาณาจักรเอื้อให้การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าของไทย (หากนักการเมืองไทยไม่เปลี่ยนสังกัดพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง) เพราะในสหราชอาณาจักร ประชาชนที่เกรงว่าเสียงของตนจะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ สามารถหันไปเลือกพรรคใหญ่ที่มีอุดมการณ์และนโยบายใกล้เคียงกับพรรคที่ตนสนับสนุนที่สุดได้ ส่วนในกรณีของไทยนั้น การลงคะแนนเสียงที่ขึ้นกับตัวบุคคลจะทำให้การหันไปเลือกพรรคอื่น ที่หัวหน้าพรรคหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุนไม่ได้สังกัดอยู่ เกิดขึ้นได้ยากกว่า
ประเด็นที่สอง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร ใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่มีระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ของไทยนั้น คะแนนเสียงของประชาชนจะถูกนำไปคิดทั้งในระดับเขต และในระบบบัญชีรายชื่อ การเสียคะแนนเสียงโดยเปล่าประโยชน์จึงไม่เกิดขึ้น เพราะหากพรรคที่ตนสนับสนุนไม่ชนะการเลือกตั้งในระดับเขต คะแนนเสียงนั้นก็จะถูกนำไปคิดรวมในระบบบัญชีรายชื่ออยู่ดี
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์จะเป็นที่แพร่หลายหรือไม่ หรือพรรคการเมืองหน้าใหม่ขนาดเล็กจะได้ที่นั่งเท่าไร ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ พรรคการเมืองใหม่เหล่านี้ได้เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ได้สร้างความตื่นตัวทางการเมือง และได้จุดประกายความหวังให้เห็นว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีพลังจะสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป
พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง
ที่มา
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ : ประสบการณ์ของสหราชอาณาจักร
1O1
13 Mar 2018
อ่านเพิ่มเติม
1. “อนาคตของการเลือกตั้ง” บทความโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตีพิมพ์ในมติชนออนไลน์ วันที่ 6 มีนาคม 2561.
2. “คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง, นายกฯ คนนอก และการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์” บทความโดยสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตีพิมพ์ในประชาไท วันที่ 3 มีนาคม 2561.
3. “พรรคใหม่ ‘ในฝัน’” บทความโดยใบตองแห้ง ตีพิมพ์ในประชาไท วันที่ 3 มีนาคม 2561.
4. ““ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์” เพื่ออะไร? คำตอบถึงคุณใบตองแห้ง” ตีพิมพ์ในประชาไท วันที่ 2 มีนาคม 2561.
อ้างอิง
1. Fisher, S. 2001. “Extending the Rational Voter Theory of Tactical Voting”, Paper prepared for presentation at the Mid–West Political Science Association Meeting, Chicago.
2. Franklin, M., Niemi, R. & Whitten, G. 1994. “The Two Faces of Tactical Voting”, British Journal of Political Science, 24 (4), pp. 549-557.
3. Heath, A. & Evans, G. 1994. “Tactical Voting: Concepts, Measurement and Findhings”, British Journal of Political Science, 24 (4), pp. 557-561.
4. Kim, H. & Fording, R. 2001. “Does Tactical Voting Matter? the Political Impact of Tactical Voting in Recent British Elections”, Comparative Political Studies, 34 (3), pp. 294-311.
5. Laboue, D. & Bowler, S. 1992. “The Sources of Tactical Voting in British Parliamentary Elections, 1983-1987”, Political Behaboir, 14 (2), pp. 141-157.
6. Niemi, G., Whitten, G. & Franklin, M. 1992. “Constituency Chatacteristics, Individual Characterisics and Tactical Voting in the 1987 British General Election”, British Journal of Political Scienct, 22 (2), pp. 229-240.
เชิงอรรถ
[1] งานเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งหาสัดส่วนของผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์เกือบทั้งหมด เน้นศึกษาการเลือกตั้งทั่วไปช่วงทศวรรษ 1980 จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร มีทิศทางเป็นอย่างไร และมีจำนวนมากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน
[2] พรรคเสรีประชาธิปไตยก่อตั้งขึ้นในปี 1988 จากการรวมตัวกันของพรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคเสรีนิยม