5 มิถุนายน 2022
ที่มา The Reporters
ช่วงนี้เราคงเห็นหลายๆโพสต์ชื่นชมว่า กทม. ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์นั้น เมื่อแจ้งปัญหาใดๆ ไป เช่นฟุตบาทชำรุด, ฝาท่อแตก, ไฟไม่สว่าง, น้ำท่วมขังเรื้อรัง ฯลฯ แล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาแก้ไขให้อย่างรวดเร็ว
… กลไกเบื้องหลังการแจ้งปัญหา ก็คือระบบที่ชื่อว่า “Traffy Fondue” ( ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ) นั่นเอง ซึ่งเป็นระบบที่เปิดกว้างให้ประชนแจ้งและติดตามปัญหาเมือง สำหรับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารับเรื่อง
ประชาชนแจ้งปัญหาได้ง่ายๆ โดยแทบไม่ต้องโหลดแอพอะไรใหม่ ใช้แค่แอพ LINE ที่ใช้อยู่เดิม ก็เพิ่มเพื่อน @traffyfondue ก็แชทแจ้งปัญหาได้เลย
หรือถ้าเป็นชาวกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีอีกวิธีให้เลือก คือเข้าไลน์ไปเพิ่มเพื่อน @chadchartofficial แล้วเข้าไปในนั้น เลือกเมนู “รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย” ก็ได้
ซึ่งในตอนท้ายบทความนี้ เราได้สรุปวิธีอย่างละเอียดไว้ให้ด้วย แต่ก่อนอื่น เรามารู้จักประวัติของระบบนี้กันก่อน
เจาะประวัติ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์”
ที่จริงระบบนี้มีมานาน 7 ปีแล้ว ริเริ่มพัฒนาโดยพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย นำโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( NECTEC ) และทีมงานอีก 10 คน
เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากการที่ศูนย์ NECTEC จะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) โดยใช้ภูเก็ตเป็นเมืองเริ่มต้นทดลอง
เริ่มจากการสร้างแอพและแพลตฟอร์มติดตามรถจัดเก็บขยะ 16 คัน โดยติดเซ็นเซอร์ไว้กับรถแต่ละคันเพื่อติดตามว่ามีการจัดเก็บบ่อยแค่ไหน ใช้เวลาเก็บนานเท่าไร และเส้นทางการเก็บเป็นอย่างไร และนำไปทิ้งที่ใด ฯลฯ
ช่วงแรก ระบบก็รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เท่านั้น แต่สักพักก็พบปัญหาอื่นที่เซ็นเซอร์ติดตามไม่ได้ เช่นปัญหาขยะนอกถัง ฯลฯ ทางทีมงานจึงเพิ่มแอพให้ชาวบ้านแจ้งปัญหาได้ด้วย
นั่นทำให้ระบบใหม่นี้กลายเป็นแพลตฟอร์มรับการแจ้งปัญหาจากชาวบ้าน โดยประชาชนสามารถถ่ายรูปปัญหา ระบุตำแหน่ง แล้วแจ้งปัญหาได้ง่ายๆ
และเนื่องจากทาง NECTEC มีการทำเว็บ traffy.in.th เพื่อใช้ในระบบแก้ปัญหาจราจรอยู่แล้ว ช่วงนั้นจึงมีการตั้งชื่อแอพติดตามรถขยะนี้ว่า “Traffy Waste” ให้เป็นระบบย่อยใน Traffy อีกที
โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภาครัฐ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มาตั้งแต่แรกถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้นทีมงานจึงเล็งเห็นว่า ระบบนี้สามารถใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องขยะ โดยใช้ได้กับทุกปัญหาเมือง และใช้ได้กับทุกเมืองในประเทศไทยเลยด้วย
นั่นเพราะแอพเดียว แพลตฟอร์มเดียว สามารถใช้ได้กับทุกเมืองโดยแทบไม่ต้องพัฒนาแอพอะไรเพิ่มเหลือแต่ว่าแต่ละเมือง แต่ละหน่วยงาน ต้องจัดหาเจ้าหน้าที่มารับเรื่องในจำนวนมากพอ และตลอดเวลาเท่านั้น ( ซึ่งปัจจุบันใน กทม. ก็มีข้าราชการเจ้าหน้าที่จำนวนนับพันมาประจำรับการแจ้งปัญหาจากแอพนี้ตลอด )
และนั่นทำให้ในปี พ.ศ. 2561 มีการตั้งชื่อแอพนี้ใหม่ โดยนำด้วย Traffy เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนคำว่า‘Waste’ เป็นคำว่า ‘Fondue’ ซึ่งไม่ใช่ชื่อขนมแต่อย่างใด แต่เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับ ‘ฟ้องดู’ ซึ่งหมายถึงให้ประชาชน ‘ฟ้อง’ ปัญหาและมีเจ้าหน้าที่มา ‘ดู’ และแก้ไขนั่นเอง
การที่แอพ Traffy Fondue จะทำงานได้ จึงไม่ได้มีแค่ทำแอพให้คนดาวน์โหลด แต่ต้องมีระบบ‘ซอฟต์แวร์หลังบ้าน’ ให้เจ้าหน้าที่ใช้งาน โดยมีทั้งเป็นแอพมือถือสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ออกไปหน้างาน และเว็บบนคอมพิวเตอร์สำหรับเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน
และยังมีซอฟต์แวร์ ‘chatbot’ คอยรับแชททั้งจากในแอพและผ่าน LINE เช่นถ้าเป็นคน กทม. ก็สามารถแจ้งผ่านไลน์ ‘เพื่อนชัชชาติ’ แล้วระบบแชทบอทจะแยกแยะประเภทปัญหาได้อัตโนมัติ เพื่อส่งไปให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้อ่านอย่างถูกต้องตรงหน่วยงานจริงๆ
ฉะนั้น Traffy Fondue ถูกใช้ในหลายๆเมือง เช่น ภูเก็ต, อุบลราชธานี, และอีกหลายจังหวัดมาก่อนแล้วโดยถูกใช้ในเทศบาล 357 แห่ง อบต. 350 แห่ง หน่วยงานสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 96 หน่วยงาน นิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง และยังมีหน่วยงานที่ใช้ระบบนี้ในการรับแจ้งปัญหาอาคาร สถานที่หรือปัญหาประเภทอื่นๆ อีกมากกว่า 600 หน่วยงาน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ดังและฮิตเพราะชัชชาติ
การที่แอพ ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ เพิ่งจะเป็นที่รู้จักกันมาก และใช้กันมากในกรุงเทพฯช่วงนี้ ก็มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2563 )
ในครั้งนั้น ดร. ชัชชาติ ( ซึ่งเริ่มเตรียมตัวจะสมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ) ได้ชมการนำเสนอระบบนี้จากดร.วสันต์ ภัทรอธิคม จึงได้รู้จักแพลตฟอร์มและทีมงานเบื้องหลัง และเลือกนำมาเป็นกลไกสำคัญในการรับแจ้งปัญหาต่างๆ จากประชาชนในปัจจุบัน
แม้แพลตฟอร์ม ‘ทราฟฟี่ ฟองดู’ นี้จะริเริ่มมา 7 ปี และเปลี่ยนใช้ชื่อนี้มา 4 ปีแล้ว แต่ถือได้ว่าเพิ่งจะ‘mass’ คือโด่งดังได้ราวเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา การ ‘ถูกเลือก’ โดยผู้ว่าฯ ชัชชาตินี่เอง
ปริมาณข้อมูลรับแจ้งโดยรวมทั้งระบบนั้น สูงกว่าเมื่อก่อนถึงเกือบ 100 เท่า โดยทุกวันนี้รับปัญหาเฉลี่ยวันละ 4 พันเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากชาว กทม. นั่นเอง ซึ่งตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์คือวันที่29 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติโพสต์ถึงระบบนี้ ซึ่งมีการรับแจ้งวันเดียวถึงกว่า 2 หมื่นคน
โดยปัญหาส่วนใหญ่นั้น อันดับแรกเป็นเรื่องถนน รองลงไปเป็นเรื่องฟุตบาททางเท้า ต่อด้วยเรื่องไฟส่องสว่าง และเรื่องขยะ ตามลำดับ โดยปัญหาต่างๆ สามารถถูกแก้ได้โดยขั้นตอนง่ายๆ คือเจ้าหน้าที่เขตเข้าไปดูแพลตฟอร์มนี้ – รับรู้ปัญหา – แล้วเข้าไปแก้หน้างานได้แทบจะทันทีหรือภายในไม่กี่วัน
ทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องทำเรื่องเอกสารไปขออนุมัติเป็นขั้นเป็นตอนหลายชั้น เพื่อรอขั้นสุดท้ายให้ผู้ว่าฯเซ็นอนุมัติ ซึ่งอาจกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนตามแบบระบบราชการยุคเก่าๆ
ซึ่งกระบวนการใหม่นี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติเรียกว่าเป็น ‘platform’ ที่เน้นแนวกว้าง ไม่มีลำดับขั้น ต่างจากแบบเก่าแก่ที่ผู้ว่าฯ เรียกว่าเป็นแบบ ‘pipeline’ ( ท่อ ) ที่ต่อยาวเป็นลำดับขั้นจากเจ้าหน้าที่หน้างาน ถึงหัวหน้าแต่ละขั้น ผ่านเลขาฯ ผ่านรองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ เสียเวลา และไม่สามารถรองรับปัญหาจำนวนมหาศาลทุกวันนี้ได้
และใน platform นี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สามารถไปติดตามได้ตลอดเวลา ว่าเจ้าหน้าที่เขตต่างๆ ได้ไปรับรู้เรื่องที่แจ้งเข้ามาหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และได้ติดตามลงพื้นที่ไปแก้ไขจนประชาชนพอใจแล้วหรือยัง ? โดยตรวจสอบผ่านแพลตฟอร์มอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาเบื้องล่างเป็นทอดๆ ผ่านระบบที่เปรียบได้กับ ‘ท่อ’ แบบเก่าๆ
สรุปวิธีใช้ Traffy Fondue
แอพ Traffy Fondue โหลดฟรีใช้ฟรี ไม่มีมีค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และไม่ต้องโหลดแอพTraffy Fondue ด้วย
ซึ่งจุดนี้มีประชาชนหลายคนสับสน ไปโหลดแอพ ‘Traffy Fondue’ มา แล้วก็งงว่าจะใช้อย่างไร ซึ่งความจริงแล้วการโหลดแอพนี้เป็นงานของทางฝ่ายที่รับเรื่องเท่านั้น
เพราะสำหรับประชาชนผู้แจ้งแล้ว ใช้แค่แอพ LINE ที่ใช้อยู่เดิม ก็เพิ่มเพื่อน @traffyfondue ก็แชทแจ้งปัญหาได้เลย
หรือถ้าเป็นชาวกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีอีกวิธีให้เลือก คือเข้าไลน์ไปเพิ่มเพื่อน @chadchartofficial แล้วเข้าไปในนั้น เลือกเมนู ‘รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย’ ก็ได้
จากนั้นทั้ง 2 ช่องทางก็มีขั้นตอนคล้ายกัน คือพิมพ์ปัญหาที่ต้องการแจ้งในช่องแชท >> ถ่ายรูป >> ระบุประเภทปัญหา >> และแชร์ตำแหน่งที่เกิดปัญหา >> แล้วกดส่ง
ซึ่ง 14 ประเภทปัญหาที่แจ้งผ่าน Traffy Fondue ได้ ก็คือ …
1) ความสะอาด ขยะ
2) ไฟฟ้า ประปา
3) ไฟถนนเสีย
4) ถนน ทางเท้า
5) อาคารสถานที่ชำรุด
6) อุปกรณ์ครุภัณฑ์ชำรุด
7) จุดเสี่ยง
8) สาธาณภัย: น้ำท่วม ไฟไหม้ เผาไหม้
9) ต้นไม้ กลิ่น เสียง สัตว์
10) ขึ้นทะเบียน ประชาสัมพันธ์
11) ความช่วยเหลือ
12) สุขภาพ
13) เบาะแสทุจริต
14) อื่นๆ
ประชาชนสามารถเลือกไปแจ้งปัญหาผ่านทางไลน์ได้ โดยเพิ่มเพื่อน @traffyfondue แล้วพิมพ์แจ้งปัญหาได้ทันทีที่หน้าแชท
ตัวอย่างเช่น พิมพ์แจ้งว่า ‘พบถนนชำรุด’ หรือ ‘ไฟถนนดับ’ แล้วระบบจะสอบถามรายละเอียดที่จำเป็นเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ
จากนั้นหลังจากแจ้งปัญหาแล้ว ผู้แจ้งสามารถติดตามการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ได้ผ่านหน้าแชทเดิมรวมถึงประเมินความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย
แหล่งข้อมูลและภาพ
traffy.in.th/?page_id=1660
mhesi.go.th/index.php/news/6785-traffy-fondue-smart-city.html
youtu.be/umaySnMKRiQ
youtu.be/7cTfAJwZDU0