วันอังคาร, ตุลาคม 26, 2564

คุณเจ เมื่อวาน โพสต์ในฐานะอดีตผู้อัญเชิญไปละ วันนี้โพสต์ต่อ เขียนในฐานะศิษย์เก่าและอาจารย์มหาลัย


Jay Pattajit Tangsinmunkong
19h ·

เมื่อวาน โพสต์ในฐานะอดีตผู้อัญเชิญไปละ
โพสต์นี้ ขอลองเขียนในฐานะศิษย์เก่าและอาจารย์มหาลัย (มือใหม่) บ้างค่ะ
.
ประเด็นเรื่องที่ อบจ. ยกเลิกกิจกรรมผู้อัญเชิญพระเกี้ยว แล้วมีอาจารย์ในมหาลัยหรือศิษย์เก่ามากมายออกมาต่อต้าน...
.
จริง ๆ คำถามที่น่าจะเอาขึ้นมาถกถามและถกเถียงพร้อม ๆ กันคือ คุณค่าและความหมายของ "มหาวิทยาลัย" รึเปล่านะ
.
มากไปกว่าสถานที่ที่นิสิตนักศึกษาเข้ามาซึมซับความรู้จากอาจารย์ที่ศึกษาเฉพาะด้านในแต่ละสาขาวิชา มากไปกว่าการที่นิสิตนักศึกษาได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมจากการพบปะเพื่อน ๆ หลากหลายคณะที่มีโลกทัศน์และพื้นเพที่แตกต่าง...
.
มหาวิทยาลัย ควรเป็นชุมชนที่นิสิตนักศึกษาได้ลองตั้งคำถาม เป็นเวทีให้นิสิตนักศึกษาได้โยนประเด็นและข้อถกเถียง และให้นิสิตนักศึกษาได้ลองสร้างสรรค์ หรือประดิษฐ์ไอเดียใหม่ ๆ...
.
พูดง่าย ๆ คือเป็น Safe zone ให้อนาคตของชาติเหล่านี้ ได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้ผลดี ผลเสียที่จะตามมาจากการตัดสินใจแต่ละแบบ และค่อย ๆ เติบโตก่อนที่จะโบยบินไปสู่สังคมแห่งการทำงาน...
.
เพราะอย่าลืมว่า สำหรับเด็กรุ่นนี้ ความรู้อยู่เพียงการคลิก download และสังคมอยู่เพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอ...หากมหาวิทยาลัย ไม่พยายามใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ของ community ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ยังเชื่อว่าปริญญาบัตรคือการ์ดไม้ตายที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตคนคนนึงเหมือนที่เคยเชื่อกันมา...กว่าจะรู้ตัวอีกที ทุกอย่างอาจจะสายไป
.
.
หากมองจากมุมนี้ การยกเลิกกิจกรรมผู้อัญเชิญฯ มันก็เป็นเพียงการ test idea ลงในชุมชนมหาวิทยาลัยในรูปแบบหนึ่ง..
สิ่งที่เด็กรุ่นนี้ทำ มันคือการแก้โจทย์ที่เด็กหอในถูกเกณฑ์โดยไม่เต็มใจ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของคนแต่ละตำแหน่งในขบวนทั้ง ๆ ที่ทุกคนเป็นนิสิตจุฬา ฯ เท่า ๆ กัน...
.
หากมองให้ไกลไปกว่าการจัดรูปขบวน มองให้ไกลกว่าตราสัญลักษณ์พระเกี้ยว หรือรูปแบบของเสลี่ยงว่าจำเป็นต้องมีคนแบกหรือไม่...สิ่งที่เราเห็นจากประกาศของ อบจ. คือ การลองโยนคุณค่า เรื่อง ความเท่าเทียม และการมองคน “ให้คนเท่ากัน” ลงไปสู่ชุมชนมหาวิทยาลัย...และดูผลสะท้อนจากการประกาศนั้น...เท่านั้นเอง...
.
การยกเลิกขบวน ไม่ได้มีความหมายใหญ่โตไปถึงการด้อยค่าผู้ก่อตั้งสถาบัน และไม่ควรมีนัยยะที่สื่อไปถึงการลบหลู่ศักดิ์ศรีของจุฬาฯ และไม่ควรมีความเกี่ยวพันอันใดต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย...เพราะหากชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะบอบบางถึงเพียงนั้น คงไม่สามารถอยู่รอดมาร้อยกว่าปี...
.
และความรักและเคารพในมหาลัย มันควร go beyond รูปแบบว่าเราจะ “สักการะ” และเชิดชูตราของมหาวิทยาลัยอย่างไร แต่มันคือ เราจะใช้ความรู้ประสบการณ์ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ และโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นอย่างไร...สิ่งนี้ต่างหากเล่า คือเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้...มิใช่หรือ..
.
คำถามที่น่าถามกว่า คือ คณาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้บริหารมหาลัย...เราได้สร้าง safe zone หรือบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ของนิสิตนักศึกษารุ่นปัจจุบัน ให้สมชื่อ "เสาหลักแห่งแผ่นดิน" อย่างที่กล่าวอ้างแล้วหรือยัง...
.
เราต้องไม่ลืมว่า สังคมมันวิวัฒนาการไปข้างหน้าจนเรามาถึงจุดนี้ได้...ก็ด้วยความกล้าที่จะตั้งคำถามต่อขนบประเพณีอันเก่าแก่ ความกล้าที่จะหักล้างทฤษฎีเก่าและเสนอไอเดียใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคสมัย...มากกว่าความดันทุรังที่จะรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาอย่างไร้ข้อกังขา...
.
มิฉะนั้นแล้ว เราคงยังเชื่อว่าโลกแบน และการหมอบกราบหรือการเอานักโทษไปขังในตะกร้อให้ช้างเตะก็คงยังเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้...มิใช่หรือ
.
อีกอย่าง คำนิยามนึงของ วัฒนธรรม คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น...เป็นผลผลิตของมนุษย์ในแต่ยุคสมัย...นี่แปลว่า มันจะถูกปรับเปลี่ยน รื้อถอน หรือนำกลับมาทำซ้ำได้เสมอ...อาจจะมีวันนึง ที่ชุมชนมหาลัยเกิด nostalgia ต่อประเพณีในอดีต แล้วอยากรื้อฟื้นประเพณีนี้กลับมาด้วยรูปแบบใหม่ ๆ...ความเป็นไปได้นี้ก็ใช่ว่าจะเท่ากับศูนย์...
.
สิ่งที่เรา ในฐานะศิษย์เก่าควรกระทำ คือ ปล่อยให้มันเป็นฉันทามติของชุมชนมหาวิทยาลัยแต่ละยุคสมัยได้ตัดสินและเรียนรู้กันเองต่างหาก...มิใช่หรือ...
.
ด้วยความเคารพรัก
เจ
ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 73
.....

Puangthong Pawakapan
11h ·

ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เราก็หมดความหวังกับมหาวิทยาลัยไทยมาตลอด เวลาเห็นมหาวิทยาลัยทำเรื่องไร้สาระ-ทำลายตัวเอง ทำลายโอกาสของนิสิตนักศึกษา ก็ได้แต่ถอนใจ วันนี้ขอพูดหน่อยแล้วกัน
ปรากฏการณ์หลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรสรุปบทเรียนได้แล้วว่า หากจะยังเดินหน้าให้มีพิธีกรรมสารพัดชนิด ก็ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือกึ่งบังคับให้นิสิตนักศึกษาต้องเข้าร่วม กิจกรรมอะไรที่เป็นเรื่องของเขา ก็ควรให้อำนาจพวกเขามีส่วนร่วมและตัดสินใจ ถ้าพวกเขาทำผิดพลาด ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนนิสิตนักศึกษาของเขาเอง เราควรไว้ใจ มี trust ให้พวกเขาควบคุมตรวจสอบกันเอง
ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังอยากรักษาพิธีกรรมบางอย่าง ที่ถูกนิสิตนักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์สารพัด ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทำให้มันเรียบง่ายขึ้น เล็กลง รบกวนและบังคับคนอื่นให้น้อยที่สุด อย่ามองเป็นเรื่องแพ้-ชนะ แต่มองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คุณไม่สามารถหยุดมันได้ ถ้ายังอยากรักษาของเก่าไว้ ก็ต้องปรับตัว สถาบันและประเพณีที่ปรับตัวไม่ได้ ก็มีแต่จะตายลงในที่สุด --- มหาวิทยาลัยชอบเรียกร้องให้นักการเมืองเรียนรู้ ปรับตัว ปฏิรูป แต่พอถึงเรื่องของตนเอง ก็ทำตัวไม่ต่างกับไดโนเสาร์ เอาแต่จะชนะเด็ก ใช้อำนาจกระทำกับเขาโดยไม่จำเป็น
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรยึดให้มั่นว่ามหาวิทยาลัยคือแหล่งสร้างเสริมความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา เพื่อเป็นพลังให้กับสังคมต่อไป มหาวิทยาลัยไม่ใช่วัด ไม่ใช่สถาบันศาสนา ไม่ได้มีหน้าที่ “บังคับให้คนเชื่อฟัง” สิ่งที่คนรุ่นเก่าเชื่อว่าเป็นสัจธรรม --- ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับสังคมและมนุษยชาตินั้น บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีต แล้วปรับให้มันเข้ากับปัจจุบัน หลายเรื่องเกิดจากการกล้าตั้งคำถามกับของเก่า รื้อทิ้งของเก่า คิดใหม่ ทำใหม่ --- มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่กล้าคิด กล้าทำ สิ่งใหม่ๆ ที่อาจท้าทายความเชื่อเดิม ตราบเท่าที่นิสิตนักศึกษานำเสนอด้วยสันติวิธี พวกเขาต้องทำได้โดยปราศจากการคุกคาม หรือลงโทษ
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องจัดวางความสัมพันธ์กับนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันกับศิษย์เก่าให้ดี มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในไทย มักมีศิษย์เก่าที่มีทั้งอำนาจในระบบราชการ ธุรกิจ และการเมือง พวกเขาสร้างระบบเครือข่ายเส้นสาย-อุปถัมภ์ของตนขึ้นมา สนิทสนมและเกรงใจกันมากเกินไป มากจนมหาวิทยาลัยขาดความเป็นอิสระ ปล่อยให้ศิษย์เก่ามีอำนาจกดดันกิจการภายในของมหาวิทยาลัยมากเกินไป หลายครั้งก็ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยสนับสนุนกลุ่มการเมืองของฝ่ายตน หรือต่อต้านฝ่ายที่ตนเกลียดชัง
ทั้งๆ ที่ศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัยไทยนั้น ทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยของตนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่มักได้รับเงินบริจาคจากศิษย์เก่าและมหาเศรษฐีในแต่ละปีจำนวนมหาศาล กระนั้น มหาวิทยาลัยในต่างประเทศกลับรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้ดีกว่ามหาวิทยาลัยไทย
..
Qinglin Cherry

เรื่องเล้กๆ แค่พระเกี้ยว ยังให้เด้กๆเขาคิดเองไม่ได้ ต้องครอบความคิดเขาไว้
แล้ว นักเรียน ที่นี้จะคิดอะไร ที่มีประโยชน์ และเรื่องใหญ่ๆ ที่มีประโยชน์ ต่อประเทศ หรือชาวโลกได้