วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 28, 2564

โต้บวรศักดิ์ เรื่องการแห่พระเกี้ยวจุฬา ในมุมมองปรัชญาการเมืองของอริสโตเติ้ล


เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์
Yesterday at 2:51 PM ·

อริสโตเติ้ล, กษัตริย์, ทาส, และการแห่พระเกี้ยวของจุฬาในงานบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์
.
เวปไซด์มติชนออนไลน์ลงข่าวว่า ในวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เขียนผ่านเฟซบุคของอาจารย์ ถึง คุณเนติวิทย์และ อบจ. โดยมีประเด็นที่อาจารย์อธิบายเป็นข้อๆดังนี้คือ 1. การที่นิสิตกลุ่มนี้เห็นว่า การแบกพระเกี้ยวและนิสิตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวขึ้นเสลี่ยง เป็นการ "สนับสนุนและสะท้อนถึงระบบอำนาจนิยม" นั้น นักศึกษาควรระลึกว่า อริสโตเติ้ล กล่าวว่าการปกครองที่ดีมีอยู่สามรูปแบบ การปกครองที่เลวมีอยู่สามรูปแบบ รูปแบบหนึ่งของการปกครองที่ดีคือการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และปกครองเพื่อประโยชน์ของพลเมือง (monarchy) และรูปแบบหนึ่งของการปกครองที่เลวคือการปกครองโดยกษัตริย์ที่ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (tyranny) อาจาร์อธิบายความดีของกษัตริย์รัชกาลที่ห้าหลายอย่างเพื่อจะบอกว่าพระองค์ทรงปกครองเพื่อประโยชน์ของพลเมือง (และดังนั้นข้อสรุปที่สื่อนัยไว้ก็คืออันใดอันหนึ่งในสองอันนี้ 1.การแบกเสลี่ยงไม่เป็นอำนาจนิยม เพราะเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ดีตามแบบอริสโตเติ้ล หรือ 2. การแบกเสลี่ยงเป็นอำนาจนิยม แต่เป็นอำนาจนิยมที่รับได้เนื่องจากเป็นอำนาจของกษัตริย์ที่ดีตามแบบอริสโตเติ้ล) 2. การที่ อบจ. อ้างว่าการที่มีนิสิตจำนวนมากแบกเสลี่ยงและมีนิสิตจำนวนน้อยนั่งบนเสลี่ยง "ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่าเทียมกัน" ขัดกับหลักความเสมอภาค แต่อันที่จริงอาจารย์บอกว่าไม่ขัด เพราะเป็นเพียงการแบ่งงานกันทำ เปรียบเหมือนนิสิตก็มีบางคนเป็นประธาน อบจ., นักเรียนบางคนก็ได้เป็นนิสิตจุฬา บางคนก็ไม่ได้เป็น, ประชาชนก็มีบางคนเป็นประธานาธิบดี บางคนก็ไม่ได้เป็น การทำงานคนละหน้าที่กันเป็นการแบ่งกันทำงาน ไม่ได้เป็นการแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นยังมีการเลือกปฏิบัติที่สมควรทำเลยทีเดียวเช่น การช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส มากกว่าพลเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส 3. การที่นิสิตกลุ่มนี้นำสัญลักษณ์พระเกี้ยวและประเพณีที่เกี่ยวข้อง ไปโยงกับความเป็นศักดินา ทำให้ทำร้ายจิตใจคนไทยที่รักสถาบัน ทำร้ายจิตใจคนที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการทำร้ายวัฒนธรรมไทย ทำให้คนไทยไม่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม อาจารย์ยังได้กล่าวว่าการบังคับให้นิสิตมาแห่พระเกี้ยวโดยเอาเรื่องสิทธิ์การอยู่หอพักของจุฬามาเป็นข้ออ้างเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ แต่มันเป็นคนละเรื่องกับประเด็นการใช้เหตุผลสามข้อข้างต้น
.
ดิฉันคิดว่าการที่อาจารย์กล่าวถึงประเด็นนี้ควรเป็นโอกาสให้พวกเราได้สานสนทนากัน เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่กระจ่างต่อไป และเนื่องจากดิฉันเองเป็นนักปรัชญาที่ศึกษาจริยศาสตร์ และเป็นนักศึกษาอริสโตเติ้ล จึงอยากขอโอกาสเสริมในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้คือ 1. ประเด็นเกี่ยวกับอริสโตเติ้ล 2. ประเด็นเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกัน 3. ประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันดีงาม
.
1. ผู้ที่ศึกษาอริสโตเติ้ลปัจจุบันนี้ที่เรียกตนเองว่าเป็นนักคิดในสายอริสโตเติ้ล มักใช้คำว่า "อริสโตเติ้ลใหม่" (neo-Aristotelianism) มาอธิบายจุดยืนของตนเอง เป็นเพราะว่าอริสโตเติ้ลพูดผิดหลายเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง เช่นบอกว่าคนบางคนเกิดมาเหมาะที่จะเป็นทาส เพราะตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องให้คนสั่ง บอกว่าผู้หญิงคิดได้ดีไม่เท่าผู้ชาย จึงต้องให้ผู้ชายปกครองผู้หญิง (โปรดดูเช่น Rosaline Hursthouse, On Virtue Ethics, Oxford: Oxford University Press, 2010) แม้นักคิดในสายอริสโตเติ้ล ยังปฏิเสธความคิดของอริสโตเติ้ลหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครอง จนถึงกับต้องเรียกตัวเองว่าเป็นอริสโตเติ้ลใหม่ดังกล่าว นอกจากนั้น ความคิดที่ว่าการปกครองรูปแบบใดดีที่สุดในความคิดของอริสโตเติ้ลก็ยังไม่ชัดเจน มีนักคิดถกเถียงกันอยู่ (ดูเช่น Liz Ann Alexander, "The Best Regimes of Aristotle's Politics" ใน History of Political Thought, Vol 21, No. 2, 2000) และแม้มีบางคนคิดว่าอริสโตเติ้ลเชื่อเหมือนเพลโตเรื่องที่ว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นปราชญ์ แต่อริสโตเติ้ลก็ไม่ได้คิดว่านี่เป็นการปกครองเดียวที่ "เหมาะสม" ในทุกกรณี อริสโตเติ้ลเพียงบอกว่า คณาธิปไตย และประชาธิปไตย เช่นเดียวกับระบบกษัตริย์ จะดีได้ ถ้าผู้ปกครองปกครองโดยถือประโยชน์ของพลเมืองเป็นหลัก
.
ทั้งสองประเด็นดังกล่าว คือการที่อริสโตเติ้ลพูดผิดมาแล้วเรื่องผู้หญิงและเรื่องทาส กับการที่ยังมีความคลุมเครือว่าอริสโตเติลคิดว่าการปกครองรูปแบบใดที่ดีที่สุดกันแน่ และดีที่สุดในบริบทนครรัฐกรีกโบราณหรือว่าดีที่สุดในทุกที่ทุกเวลา ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่นักศึกษาอริสโตเติ้ลให้ความสำคัญกับหัวใจหลักของการศึกษารัฐศาสตร์และจริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ล (ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกันอย่างมาก) หัวใจหลักที่ว่าก็คือ อริสโตเติ้ลคิดว่า ความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ (สิ่งที่ดีสำหรับรัฐ) และจริยศาสตร์ (สิ่งที่ดีสำหรับคน) เป็นความรู้ที่เรียกว่า ปัญญาทางจริยธรรม (practical wisdom หรือ phronesis) ลักษณะของปัญญาทางจริยธรรมคือมันเป็นความรู้ที่ไม่คงที่แน่นอน แต่ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามสถานที่ ตามสถานการณ์ ตามบริบทสังคมและบริบทของผู้คนที่เกี่ยวข้อง (E.N. 1094b 11-12 เป็นต้น) สิ่งที่ทำให้ความคิดของอริสโตเติ้ลมีบทบาทสำคัญในการคิดเรื่องจริยศาสตร์ปัจจุบัน คือการที่จริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ลยอมรับว่าประเด็นเรื่องความยุติธรรม ความถูกต้อง ความดี ไม่มีหลักเกณฑ์สากลแน่นอนที่ไม่เปลี่ยนแปลง คนฉลาดจะตัดสินเรื่องทางจริยธรรมไปตามการหล่อหลอมของสังคม (ที่อริสโตเติ้ลเรียกว่าเป็น "จุดเริ่มต้น") ในขณะที่คนฉลาดก็จะมองเทียบไปในที่ต่างๆด้วย อริสโตเติ้ลเดินทางมากมายเพื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในหมู่นครรัฐกรีก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเทียบเคียงการปกครองกับทุกประเทศทั่วโลก วิพาษวิธี (dialectic) ของอริสโตเติ้ลคือการไม่คิดว่าความรู้หยุดนิ่งตายตัว แต่คิดว่าความรู้ต้องถูกสอบทาน ตรวจสอบ ต้องเป็นที่ถกเถียง เพราะว่ามนุษย์เริ่มต้นด้วยการอยู่ในบริบทของตัวเอง เขาจึงต้องพยายามสุดความสามารถที่จะขยายประสบการณ์ ขยายบริบทของตัวเอง ด้วยการไม่คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด ความฉลาดของอริสโตเติ้ลไม่ได้อยู่ที่เขาได้ความคิดวิเศษมาที่ผิดไม่ได้ แต่ความฉลาดของเขาคิอการคิดว่า ความรู้ต้องถูกสอบทาน ความรู้เกี่ยวกับความดี ความถูกต้อง ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คนฉลาดคือคนที่ไม่คิดว่าทุกสิ่งในวัฒนธรรมของตนเองเป็นสิ่งดี แต่คนฉลาดคือคนที่รู้ข้อจำกัดของตนว่าความรู้ทางจริยธรรมที่แน่นอนเป็นสากลไม่มี แต่ความจริงสำหรับมนุษย์ได้มาจากการสานเสวนาในหมู่มนุษย์ ปรับเปลี่ยนเทียบเคียงกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป การอ้างอริสโตเติ้ล โดยทำให้อริสโตเติ้ลเป็นผู้ "ค้นพบ" "เชื่อมั่น" ในความจริงอันใดอันหนึ่งทางจริยศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงเป็นการเอาเพียงแต่ชื่ออริสโตเติ้ลมากล่าว แต่ทำลายเนื้อแท้ของปรัชญาของอริสโตเติ้ล เพราะอริสโตเติ้ลเชื่อในความรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ตายตัว และตอบสนองต่อบริบทและสถานการณ์เฉพาะหน้า
.
นอกจากนั้นการที่อริสโตเติ้ลกล่าวถูกหรือผิดก็ตามเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่ดี ก็ยังไม่เกี่ยวกับการที่การแบกเสลี่ยงจะแสดงลักษณะอำนาจนิยมหรือไม่ การเชื่อมโยงเรื่องอริสโตเติ้ลเข้ากับอำนาจนิยม (หรือไม่อำนาจนิยม) ของการแบกเสลี่ยง เป็นข้ออ้างที่ไม่เกี่ยวข้องใดกับข้อสรุป
.
2. เรื่องการแบ่งงานกันทำไม่ถือเป็นความไม่เท่าเทียม อันนี้ก็คิดได้ง่ายๆว่า การแบ่งงานกันทำดังกล่าว ถ้าทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการสมัคร การถูกคัดเลือก การได้รับการศึกษาที่เหมาะกับงาน ก็เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งงานกันทำ เช่นการที่มีบางคนเป็นประธานาธิบดีดังที่อาจารย์กล่าวแล้ว เนื่องจากพลเมืองสหรัฐทุกคนมีสิทธิสมัครเป็นผู้แทนของพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่หัวใจของการเถียงเรื่องการแบกเสลี่ยงเป็นสัญลักษณ์ของการไม่เท่าเทียมกันนั้น เป็นเพราะในอดีต คนที่อยู่บนเสลี่ยงไม่ได้อยู่บนนั้นเพราะได้รับการเลือกตั้ง เพราะได้คะแนนสูงสุดในการสอบคัดเลือก หรือเพราะมีคุณสมบัติดีที่สุด แต่ในอดีต คนที่อยู่บนเสลี่ยง ได้อยู่บนเสลี่ยงเพราะศักดิ์ฐานะของตระกูล ในสปิริตนี้ จึงมีความคิดว่า ประเพณีการแบกเสลี่ยง เป็นสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้ง ถ้าเราคิดว่าในปัจจุบันเราจะมองการแบกเสลี่ยงว่าเป็นเพียงการแบ่งงานกันทำ โดยไม่คิดถึงอดีต ก็อาจยังคิดได้ว่า การแบ่งงานกันทำ (ถ้ามันใช่) ก็ยังต้องคิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเป็นนักเสรีนิยม หรือเป็นเพราะเราเป็นคนที่คิดเอื้อเฟื้อต่อมนุษย์คนอื่นก็ตาม) การให้คนบางคน แบกคนอื่นขึ้นบ่า โดยคนๆนั้นไม่ได้กำลังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงกายกรรม หรือเต้นเชียร์ลีดเดอร์ หรือกำลังเก็บมะม่วง ย่อมเป็นการแสดงความไม่เท่าเทียมกัน เพราะเป็นการยกคนอื่นขึ้นสูง โดยไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากคิดว่าคนอื่นควรอยู่ในที่สูง ในบริบทเช่นนี้ (ถ้าคิดตามอริสโตเติ้ล ที่ต้องพิจารณาบริบทของสถานการณ์) ก็ย่อมสื่อความไม่เท่าเทียมกันอยู่ดีเนื่องจากไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะเข้าใจได้ว่าคนบางคนไม่สามารถจะเดินมาเท่าๆกับเพื่อนได้ แต่ต้องถูกแบกมา ซึ่งแน่นอน เราควรแบกในกรณีที่คนๆนั้นป่วยหนัก หรือขาแพลง หรือเป็นผู้พิการ เราไม่อาจแบกคนที่มีสุขภาพดี สามารถเดินเองได้ เพียงเพราะเราคิดว่าเขาควรถูกแบก แล้วยังคิดว่าการกระทำนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับความไม่เท่าเทียมกัน นี่เป็นเรื่องของ common sense หรือความคิดสามัญสำนึกทั่วๆไปอยู่แล้ว
.
3. เรื่องการทำร้ายจิตใจคนไทย และทำร้ายวัฒนธรรม เราคิดได้ง่ายๆว่า เราไม่รู้จริงๆว่าคนไทยคิดอย่างไร เพราะไม่มีใครกล้าถามจริงๆ ถึงถามก็ไม่กล้าตอบ และยังคิดได้ว่า ทำไมคนไทยต้องมีสิทธิคิดหรือรู้สึกได้อย่างเดียว ต่อให้คนที่คิดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในการแบกเสลี่ยงเป็นคนกลุ่มน้อย (ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาเป็นหรือไม่ ดังกล่าวแล้ว) ทำไมเขาไม่มีสิทธิจะเป็นคนกลุ่มน้อย ทำไมคิดแล้วไม่มีสิทธิพูด
.
อีกกรณีหนึ่งที่สำคัญ คือเราได้ยินอยู่เสมอว่า เราควรรักษา "รากเหง้าของความเป็นไทย" ซึ่งในข้อนี้นักปรัชญาชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ควรเป็น สิ่งใดมีมาก่อน แปลว่าสิ่งนั้นมีมาก่อน ยังไม่ได้แปลว่ามันดีหรือไม่ดี เราต้องการข้ออ้างเพิ่มเติม (เพิ่มเติมจากการอ้างว่ามันมีมาแล้ว) เพื่อจะสรุปว่ามันเป็นสิ่งดี ลำพังการบอกว่า สิ่งนั้นนี้เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรม ยังไม่ได้บอกอะไรเลย เพราะใครก็อ้างได้ว่าอะไรก็ได้เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรม เช่นการมีทาส การที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ การทรมานสัตว์ กัดปลาตีไก่ การที่ผู้ชายมีภรรยามาก ก็ล้วนแต่มีที่มายาวนานในวัฒนธรรม ไม่ได้แปลว่าดี ดังนั้นเมื่อมีคนพูดว่า การวิจารณ์ของบางอย่าง เป็นการทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม ผู้พูดกำลังคิดอนุมาน (assume) ไว้ก่อนแล้วว่าสิ่งนั้นดี (ไม่เห็นมีใครบอกว่า การมีทาสเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม เป็นต้น) แต่การอนุมาน (assume) ในลักษณะนี้ เป็นการใช้เหตุผลผิดพลาด เพราะประเด็นที่เถียงกันคือ สิ่งนั้นดีไหม ควรคงอยู่ไหม เมื่อผู้เถียงกล่าวว่าการตั้งคำถาม หรือการปฏิเสธสิ่งนั้น เป็นการทำลายวัฒนธรรม เท่ากับคิดแล้วว่าเป็นสิ่งดี (เนื่องจากเราไม่ใช้ข้ออ้าง ทำลายวัฒนธรรม กับสิ่งไม่ดี เช่นการมีทาส การปล้น การโกง ซึ่งก็มีอยู่ในวัฒนธรรมเหมือนกัน) การคิดไว้ก่อนว่าสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งดี และใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อจะนำไปสู่ข้อสรุปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี เป็นการใช้เหตุผลผิดพลาด เพราะเอาข้อสรุปไปอยู่ในข้ออ้าง เหมือนกับบอกว่า สิ่งนั้นดีเพราะสิ่งนั้นดี โดยจริงๆแล้วไม่ได้ให้ข้ออ้างใดเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปนั้นเลย เราจึงไม่ควรใช้ข้ออ้างเรื่องรากเหง้าวัฒนธรรม เพื่อบอกว่าส่วนไหนของวัฒนธรรมควรคงอยู่ มันผิดหลักการใช้เหตุผลอย่างน้อยสองข้อ คือเป็นการเอาข้อสรุปไปไว้ในข้ออ้าง (begging the question) และเป็นการคิดว่าสิ่งที่เป็นคือสิ่งที่ควร (naturalistic fallacy) ยังไม่นับการที่มันเป็นการตราหน้าคน (ad hominem) ว่าเป็นผู้ร้าย อย่างไม่ยุติธรรมเพราะไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลย
.
นี่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดของดิฉันค่ะ อริสโตเติ้ลบอกว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นพลเมือง ในความหมายว่า เกิดมาเพื่อถกเถียงหาความจริง หาความถูกต้อง ความดี ร่วมกับคนอื่น แม้เขาจะพูดอะไรบางอย่างผิด แต่สิ่งที่พูดไม่ผิดก็คือ มนุษย์ไม่ควรคิดว่าตัวเองรู้สิ่งที่จริงแท้แล้ว และหยุดการวิพากษ์สอบทานความคิดของตัวเองค่ะ
...
อานนท์ นำภา
10h ·

ข้อความฝากวันที่ 27 ต.ค. 64
.
“ผมทราบข่าว เรื่อง สภานิสิตของจุฬา ยกเลิกการแบกพระเกี้ยวผมได้แต่ยิ้มในใจว่า มันมาถึงยุคความเสมอภาคเท่าเทียม และ คนรุ่นใหม่ตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วจริง ๆ
.
สังคมเก่ากำลังจะทลายลงสังคมที่มีความเสมอภาคกำลังจะเข้าแทนที่ เป็นภารกิจของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องช่วยกันสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน ฝากความคิดถึง ถึงคุณเนติวิทย์ด้วย”