วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2562

อนาคตใหม่ : "สถานีต่อไป" ของ ธนาธร-ปิยบุตร-ชาวอนาคตใหม่ หลังคดียุบพรรค



ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

11 ธันวาคม 2019

การตั้งสำนวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ไม่ใช่เรื่องเหนือคาดของบุคคลระดับนำของพรรค ตลอดขวบปีที่ผ่านมา สารพัด "ข่าวลือ" เกี่ยวกับคนอนาคตใหม่มักกลายเป็น "ข่าวจริง" มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งยุบ อนค. จากปม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ให้พรรคตัวเองเพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก็เช่นกัน

ปลายปี 2560 "นักธุรกิจหมื่นล้าน" จับเข่าพูดคุยกับ "นักกฎหมายมหาชนดีกรีดอกเตอร์" หลายครั้งหลายครา ก่อนตัดสินใจ "ออกจากพื้นที่ปลอดภัย" ทิ้งอาชีพการงานที่มั่นคง-คุ้นชิน กระโจนเข้าสู่ถนนสายการเมือง ก่อตั้งพรรคการเมืองน้องใหม่

ปลายปี 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ต้องเตรียมต่อสู้ใน "นิติสงคราม" (Lawfare) เพื่อรักษาพรรคที่เพิ่งสร้าง พร้อม ๆ กับมองหา "สถานีต่อไป" ให้พลพรรคอนาคตใหม่

ปิยบุตรโต้ข่าวลือยุบพรรคปม "ธนาธรปล่อยกู้พรรค" เตือนฉายหนังม้วนเดิม ระวังจบไม่เหมือนเดิม
ธนาธร ถูกร้องคดีที่ 7 ให้ กกต. สอบปม "ปล่อยกู้" ร้อยล้านแก่พรรคอนาคตใหม่
ธนาธรแจ้ง ป.ป.ช. อนาคตใหม่ เป็น "ลูกหนี้" ของหัวหน้าพรรค 191 ล้านบาท
เปิดคำวินิจฉัย-คำโต้แย้งธนาธร หลังศาลรัฐธรรมนูญให้พ้น สภาพ ส.ส.

"เราคาดหมายตั้งแต่ก่อตั้งพรรค แต่ไม่คิดว่ามาเร็วกว่าที่คิด" และ "วันนี้เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่งของการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" ปิยบุตรแถลงหลังทราบมติ กกต.

จับตา "ไม่เปิดศาลไต่สวน" ใช้ตุลาการชุดเดิม

ถึงขณะนี้บรรดาผู้สนับสนุน อนค. และลูกศิษย์ของ ปิยบุตร ในโลกออนไลน์ เริ่มรอลุ้น-รอเชียร์เลขาธิการ อนค. วัย 40 ปีให้ขึ้นไต่สวนคดียุบพรรคในศาลรัฐธรรมนูญ ทว่าฉากดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้น

หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดียุบ อนค. ไว้พิจารณา อาจแจ้งให้พรรคส่งคำคัดค้านแก้ข้อกล่าวหาของ กกต. ภายใน 15 วันโดย "ไม่เปิดศาลไต่สวน" ก็ได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ มีหลักฐานสำคัญคือคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และโฆษกพรรค ที่ยอมรับว่านายธนาธรให้พรรคกู้เงินจริง แต่ระบุจำนวนไม่ตรงกัน จึงเหลือแต่ข้อกฎหมายให้วินิจฉัยว่าการให้พรรคกู้ยืมเงินเข้าข่ายเป็น "เงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่

กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่
คำบรรยายภาพผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ไปให้กำลังใจหัวหน้าพรรคในระหว่างเข้ารับทราบคำสั่งคดีวิจารณ์ คสช. ปม "ดูด ส.ส." ซึ่งต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้


การไม่เปิดศาลไต่สวนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยครั้ง แต่ใช่ว่ามิเคยเกิดขึ้นเลย ย้อนกลับไปคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน" โดยศาลมีมติรับคำร้องเมื่อ 27 ก.พ. และนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในสัปดาห์ถัดไปคือวันที่ 7 มี.ค.

อดีตนักการเมืองผู้มีประสบการณ์ถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองรายหนึ่งวิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า กระบวนการอันรวดเร็วในศาลรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับเหตุผลที่ว่า "จะให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดไหนเป็นผู้ตัดสินคดียุบพรรค" เนื่องจากมีตุลาการ 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 70 ปี แต่ขณะนี้ว่าที่ตุลาการชุดใหม่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโดยสมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งต้นกันมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 จึงมีการคาดการณ์กันว่าผลที่ออกมาอาจไม่เป็นคุณกับ อนค. เท่าไรนัก

ผลที่ตามมาหากคำตัดสินออกมาในทางลบ

สถานการณ์ของ อนค. ในเวลานี้อยู่ในภาวะ "กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง" ด้านหนึ่งต้องระดมสรรพกำลังชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษา "พรรคสีส้ม" เอาไว้ แต่อีกด้านก็ต้องเตรียมหา "ทางหนีทีไล่" ในกรณีที่ อนค. ต้องสิ้นชื่อจากสารบบการเมืองไทย

หากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทางลบ ผลกระทบที่ตามมาภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คืออะไร
  • หนึ่ง กก.บห. 16 คน (รวมถึง นิรามาน สุไลมาน อดีต กก.บห. ที่ขณะเกิดเหตุยังมีตำแหน่งในพรรค) ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 92)
  • สอง กก.บห. ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ห้ามจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็น กก.บห. พรรคอื่น หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ภายในกำหนด 10 ปี (มาตรา 94)
  • สาม ส.ส.อนค. จะหายไป 11 คน จากยอดเดิม 80 คน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็น กก.บห. ในห้วงที่กระทำการ
  • สี่ ส.ส. ที่เหลืออยู่ 69 คน ต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 101) โดยระหว่างนี้อาจมี "เหตุแทรกซ้อน" จากการช้อนซื้อตัวผู้แทนฯ ในภาวะ "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" แกนนำพรรคจึงต้องเตรียมจัดการให้เกิดการ "เกาะกลุ่ม-รวมตัว" กันไว้ให้ได้มากที่สุด
  • ห้า กกต. อาจเดินหน้าเอาผิด "คดีอาญา" ในอีกสำนวนที่ตั้งรออยู่ คือความผิดตามมาตรา 66 ซึ่งมีทั้งโทษจําคุก ปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและ กก.บห. (มาตรา 124, 125)

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพส.ส. พรรคอนาคตใหม่ระหว่างไปให้กำลังใจหัวหน้าพรรคที่สำนักงาน กกต. ต่อสู้คดีถือหุ้นสื่อ

แผนสืบทอด "อุดมการณ์" และรักษา "ผู้คน"

ว่ากันว่าระดับนำของ อนค. เริ่มตระหนักว่า "ข่าวลือ" เรื่องการทำให้ อนค. หายไปมีโอกาสกลายเป็น "ข่าวจริง" เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมานี้เอง จากที่ "ไม่เคยเชื่อ" และพร่ำบอกต่อสาธารณะอยู่เสมอว่า "ไม่มีแผนสำรอง-แผนสอง"

ธนาธรยอมรับระหว่างพบปะสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) เมื่อ 2 ธ.ค. ว่าได้ข้อมูลจาก "แหล่งข่าวบางคน" ว่าในช่วงกลางเดือน ธ.ค. จะมีผลคำตัดสินคดียุบ อนค. ออกมา แต่ก็เป็นแค่ "ข่าวลือที่ไม่มีคำยืนยัน"




กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่


อย่างไรก็ตามระยะหลังมานี้ ท่าทีของธนาธรเปลี่ยนไป สะท้อนผ่านคำกล่าวในหลายกรรมหลายวาระ ซึ่งมีนัยแฝงถึง "สิ่งที่ต้องการรักษาไว้" หาก อนค. ต้องมีอันเป็นไปทางการเมือง

ธนาธรเปรียบเปรย อนค. คือ "ผู้คน" ไม่ใช่แค่ธนาธรหรือปิยบุตร... ไม่ใช่พรรค/สำนักงาน แต่คือ "อุดมการณ์/เจตจำนงที่แน่วแน่" เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น... อนค. คือ "การเดินทางที่ผู้คนมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน"

การ "สืบทอดอุดมการณ์" และ "รักษาผู้คน" ทั้งประชาชน 6.2 ล้านเสียงที่ลงคะแนนเลือก อนค. และผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาธรกับพวกต้องขบคิด ซึ่งธนาธรเคยประเมินไว้ว่าจะมี ส.ส. ราว 60 คนที่ "ยังเหนียวแน่น" และ "ไปอยู่พรรคใหม่ด้วยกัน"

คำถามคือ "สถานีต่อไป" สำหรับชาว อนค. คืออะไร

ธนาธรกับพวกมีเวลา 60 วันในการจัดการทางธุรการ ซึ่งคล้ายมีเพียง 2 ทางเลือก ระหว่างการยกคณะไปสังกัดพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" ซึ่งมีที่นั่งในสภาอยู่แล้ว หรือรวมพลเข้ายึด "พรรคไร้ชื่อ" จัดการเปลี่ยนชื่อและค่อย ๆ สร้างชื่อขึ้นมาใหม่ในแบบอนาคตใหม่

คำถามต่อไปคือ ผู้นำคนใหม่ของชาวอนาคตใหม่จะเป็นใคร ซึ่งต้องได้รับความยอมรับในหมู่ ส.ส. สะท้อนอุดมการณ์ของ อนค. และสามารถยึดตรึงประชาชนผู้สนับสนุนพรรคสีส้มเอาไว้ได้

กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่
คำบรรยายภาพระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งต้นปี 2562


เป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของ อนค. ว่าพรรคการเมืองแห่งนี้มีผู้ก่อตั้งหลัก 3 คน นอกจากธนาธรและปิยบุตร ยังมี ชัยธวัธ ตุลาธน รองเลขาธิการพรรค ซึ่งช่วงแรก ๆ ขอ "งดออกชื่อ-งดออกหน้า" ด้วยเหตุผลส่วนตัว และเหตุผลทางการเมืองที่ว่าหากประสบปัญหาขึ้นกับ อนค. จะได้มีคนถือธงนำภาคต่อ

แต่ไม่นานนัก ชัยธวัธก็เข้ามามีตำแหน่งแห่งที่ใน อนค. ในฐานะรองเลขาธิการพรรค ทว่าไม่ได้อยู่ในโครงสร้าง กก.บห. ตามกฎหมาย จึงเป็นผู้รอดชีวิตทางการเมือง และคาดว่าจะกลายเป็นโต้โผหลักในภารกิจ "สืบทอดอุดมการณ์-รักษาผู้คน"

สถานีต่อไปของธนาธร-ปิยบุตร กับโอกาสลงถนน?

หากธนาธร-ปิยบุตรถูกสกัดไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ อะไรคือสถานีต่อไปของคนทั้งคู่

ธนาธรเคยถูกตั้งคำถามหลายครั้งว่าจะนำมวลชนลงถนนหรือไม่

ความจริงก่อนตัดสินใจตั้งพรรค ธนาธรและปิยบุตรเคยพิจารณาระหว่างการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) แล้วค่อยพัฒนาเป็นพรรค หรือตั้งพรรคการเมืองทันที แต่หลังแยกย้ายกันไปขบคิด-พูดคุยปรึกษาผู้คน พวกเขาเห็นตรงกันว่าต้องตั้งพรรคการเมือง

ในวันที่ได้เข้าสภา แต่ต้อง "เว้นวรรค" การทำหน้าที่ ส.ส. ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ธนาธรถูกถามว่าบทบาทการเมืองนอกสภายังเป็นการขับเคลื่อนในนามพรรค ไม่ใช่ลงสู่ท้องถนนใช่หรือไม่ หัวหน้า อนค. ตอบว่า "เราเชื่อมั่นว่าการได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ดีที่สุดคือการกระทำผ่านรัฐสภา ถ้าเราไม่เชื่อก็คงไม่มาตั้งพรรค รัฐสภาคือสถานที่อันทรงเกียรติ และเหมาะสมที่จะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยมากที่สุด" (25 พ.ค. 2562)

THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพภาพสุดท้ายก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเดินออกจากห้องประชุมสภาเมื่อ 25 พ.ค. 2562 ถูกนำมาฉายซ้ำในกิจกรรม "อยู่ไม่เป็น"


ในวันหลังพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และลาออกจาก กมธ.งบประมาณปี 2563 "ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องการเห็นผมอยู่ในสภา ผมก็ไม่อยู่ในสภา ก็กลับไปอยู่กับประชาชน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพี่น้องประชาชนลุกขึ้นยืนตรง ไม่ยอมก้มหัวให้กับระบอบเผด็จการ..." (29 พ.ย. 2562) จนถูกมองว่า "น้ำเสียงเปลี่ยนไป"

ขณะที่ปิยบุตรเปรียบเปรียบพรรคการเมืองเหมือนร่างกาย ซึ่งมีวิญญาณและหัวใจ ร่างกายไปที่ไหนจิตวิญญาณก็ตามไป "ต่อให้ยุบไปกี่ครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจิตวิญญาณแบบอนาคตใหม่จะอยู่ไปตลอดกาล... ยืนยันว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่สามารถขัดขวางการทำงานของผมและคุณธนาธรได้" ปิยบุตรระบุ

เขาเคยย้ำกับบีบีซีไทยว่า "การทำการเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบพรรค"

อย่างไรก็ตาม "ปัญหาเฉพาะหน้า" ว่าด้วย "ผู้คน" ที่ธนาธร-ปิยบุตรต้องเร่งจัดการภายใต้เวลาอันจำกัด น่าจะเป็นเรื่องยากที่เขาปลีกเวลาไปคิดถึงการทำการเมืองบนท้องถนนในเวลาอันสั้นนี้

ที่สำคัญฐานมวลชนของ อนค. ไม่ใช่ "พลังนอกสภา" แต่เป็นผู้ศรัทธากับการเมืองในระบบรัฐสภา