วันเสาร์, ตุลาคม 26, 2562

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน




ที่มา FB


คำว่า "ตายเสียดีกว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างถูกกดทับทรมาน" เป็นวลีที่มาจากปากของคนรอดชีวิตบนรถบรรทุกที่ขนย้ายคนออกจากหน้า สภ.อ.ตากใบ

วันนี้เหตุการณ์ตากใบครบรอบ 15 ปีแล้ว แต่ยังตราตรึงสำหรับญาติพี่น้องคนเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติพี่น้อง รวมถึงหัวใจคนมลายูทั้งมวล

ผมลงไปสัมภาษณ์เหยื่อผู้บาดเจ็บ และญาติคนตายหลังเหตุการณ์ราวๆ 2 ปี กี่สิบครอบครัวจำไม่ได้ แต่ทุกวินาทีที่พูดคุยกันยังเห็นความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสปรากฏอยู่ในแววตาและคำพูด พวกเขาบอกผมว่า ไม่ขอเรียกว่าฝันร้าย เพราะมันคือความจริงที่ไม่อาจละทิ้งให้ผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ เหยื่อบางคนเกิดภาพหลอน ฝันร้ายในค่ำคืน และเริ่มปรากฏอาการทางจิตในเวลาต่อมา

ทุกอย่างมาจากวันนั้น ในยุคสมัยแห่งกำปั้นเหล็ก หลังเหตุการณ์กรือเซะผ่านไปไม่กี่เดือน 25 ตุลาคม 2547 ช่วงเย็นหลังการสลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 คนในเหตุปะทะ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย ผู้ชุมนุมที่เหลือถูกควบคุมตัว 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกจำนวน 22 คัน (ข้อมูลบางแห่งบอก 24 คัน) คนทั้งหมดถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และปีนขึ้นรถบรรทุกจากเก้าอี้ มีกระบอกปืนในมือเจ้าหน้าที่เป็นอำนาจสั่งการ ให้คนที่ขึ้นไปก่อนประชิดเข้าข้างในแล้วนอนคว่ำหน้า คนที่เหลือตามขึ้นไป ที่ไม่พอก็ต้องเบียดให้พอ คนที่ขึ้นไปก่อนถูกซ้อนทับชั้นแล้วชั้นเล่า

ประมาณ 150 กิโลเมตรจากหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ.) ตากใบ จ.นราธิวาสไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หากเปิด GPS ปัจจุบันจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่ 15 ปีก่อนนั้น รถบรรทุกที่แล่นตามกันเป็นขบวนใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง แต่เนิ่นนานชั่วกัปกัลป์สำหรับหลายคนที่ถูกซ้อนทับ ทุกคนยังไม่ได้เปิดบวชกินอาหารมื้อแรกหลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่เมื่อร้องโอดโอยขอความช่วยเหลือก็ถูกสั่งให้เงียบจากเจ้าหน้าที่ที่ยืนควบคุมอยู่ท้ายรถ

ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งบอกว่า บนรถคันที่เขาถูกยัดใส่มานั้นแต่ละวินาทีหายใจอย่างทรมาน บนร่างกายมีแต่น้ำปัสสาวะและอุจจาระจากคนที่อยู่ข้างบน มีบางคนบอกในวินาทีนั้นว่าไม่ไหวแล้ว อยากตายไปเสียดีกว่า บางคนปลอบเพื่อนร่วมชะตากรรมให้เอ่ยพระนามของอัลลอฮ์ เพื่อขอพรจากพระเจ้าให้มีชีวิตรอดออกไปจากความทรมานนั้น เสียงหลักบนรถจึงเป็นเสียงร้องต่อพระเจ้า แม้จะเห็นว่าคนที่อยู่ล่างสุดแน่นิ่งไปนานแล้ว

และวินาทีที่ผู้ชุมนุมถูกลำเลียงไปนอนราบกับพื้นภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็เห็นศพนอนตายเกลื่อนอยู่บนพื้นท้ายรถบรรทุก

77 คนเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย และอีก 1 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผลชันสูตรศพชี้สาเหตุการตายว่าเกิดจาก "ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน"

คนที่ตายหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทรมานไปแล้ว แต่คนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนมากประสบภาวะทุพพลภาพ พิการจากการถูกกดทับอวัยวะเป็นเวลานาน รวมทั้งพ่อแม่ลูกเมียของคนที่ตายซึ่งต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้กระทำ และการชดเชยเยียวยาที่สมเหตุสมผล นี่คือภาวะของความกดทับความรู้สึกอย่างแท้จริง

ภายหลังเหตุการณ์ช่วง 2 ปีแรก เป็นภาวะอันแตกสลายทางความรู้สึกของคนมลายู ผู้ชุมนุมบางส่วนยังถูกควบคุมตัวหลังเหตุการณ์เพื่อสอบสวน ทหารลงไปตามชุมนุมต่างๆ ทุกวันเพื่อกดดัน ปิดล้อมหาตัวผู้มีส่วนร่วมกับเหตุชุมนุม เหตุการณ์ความรุนแรงตามมามากมายหลังจากนั้น

โดยตัวเหตุการณ์ ตากใบไม่เหมือนกับเหตุการณ์กรือเซะ แต่ตากใบเป็นประวัติศาสตร์ของการถูกกระทำจากสายตาของคนพื้นที่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ถูกชักพาไปโดยสถานการณ์ให้เข้าไปร่วมชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ และส่วนใหญ่เข้าไปในฐานะของผู้สังเกตการณ์หรือไทยมุงด้วยซ้ำ(ส่วนใหญ่ไปซื้อหาของกินเพื่อละศีลอดในวันที่ 10 ของเดือนรอมฏอน และ สภ.อ.ตากใบอยู่ใกล้ตลาด) แต่เมื่อมีการสลายการชุมนุม พวกเขาก็ถูกกวาดต้อนให้อยู่ในฝ่ายเดียวกับผู้ชุมนุมทันที

เหมือนกับความเข้าใจผิดจนเหมารวมจากสังคมไทยส่วนใหญ่ว่าผู้ชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบเป็นพวกโจร พวกเขากวาดต้อนผู้ชุมนุมที่ตากใบไปอยู่ในความหมายเดียวกับกลุ่มเหตุการณ์กรือเซะ (และในกรอบปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หน้า สภ.อ.ตากใบวันนั้นด้วย) ทั้งที่ภายหลังจากเหตุการณ์นั้น รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมากมายเพื่อเยียวยาชดใช้ผลจากการกระทำอันผิดพลาดครั้งนั้น และในรายละเอียดของกระบวนการยุติธรรม ยังปรากฏให้เห็นการไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อตัดตอนผู้สั่งการแลกกับการชดใช้ทางแพ่ง

โดยมโนธรรมสำนึกของคนมลายู เหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ทั้งคนเจ็บ ญาติคนตาย ยอมถอยร่นจนสุดขอบของความยุติธรรมแล้ว ยอมรับการไกล่เกลี่ยเพื่อให้มันจบไป กัดกลืนความเจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยฟางเส้นสุดท้ายคือคดีการไต่สวนกรณีเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 78 ราย ที่ศาลพิพากษาเมื่อ 29 พ.ค. 2552 ว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และ "ผู้ตายทั้งหมดตายเพราะขาดอากาศหายใจ" ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยคำพิพากษานี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด

วลี "ตายเสียดีกว่าถูกกดทับอย่างทรมาน" จึงอาจไม่ได้หมายถึงผู้คนในท้ายรถบรรทุกคนนั้นอีกแล้ว แต่คนที่ยังอยู่ และมองไม่เห็นว่า อากาศที่ตนเองหายใจเข้าออกทุกวันนั้นพรากชีวิตของผู้คนได้อย่างไรหากไม่มีผู้กระทำ

เหตุการณ์ความรุนแรง นักรบรุ่นใหม่ๆ ของขบวนการใต้ดินที่ปรากฏขึ้นในรอบสิบปีนี้ คือคำตอบ

15 ปีเหตุการณ์ตากใบ ไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรถอดบทเรียนว่า ครั้งหนึ่งรัฐไทยเคยลิดรอนคุณค่าชีวิตพลเมืองอย่างไร และควรแก้ไขตรงไหน

และเราจะมีชีวิตอยู่บนความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไรกัน.

(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10157676187068582&set=a.336417008581&type=3&theater)