วันจันทร์, มิถุนายน 24, 2562

ย้อนอดีตหวยบนดิน : รายได้ที่สูญไปของรัฐให้กับใครก็ไม่รู้???





ย้อนอดีตหวยบนดิน : รายได้ที่สูญไปของรัฐให้กับใครก็ไม่รู้???


BY SARA BAD 
ON AUGUST 16, 2018
ISPACE THAILAND


“หวยกับคนไทย เป็นเรื่องที่คงแยกจากกันไม่ได้” คงเป็นคำกล่าวที่เป็นสัจธรรมของคนในสังคมไทย เพราะถือเป็นการเสี่ยงโชคเล็กๆน้อยๆที่พอได้ลุ้นด้วยเงินร้อย แลกกับเงินล้าน(หากเป็นลอตเตอรี่ 6 ตัว) และกับหวยใต้ดินที่หาซื้อได้ง่ายกว่าเดินเข้าเซเว่นอีก เพราะมีขายอยู่ทุกหัวระแหงของสังคม ซึ่งในปัจจุบันยังมีการปรับเปลี่ยนมาขายแบบออนไลน์ด้วยแล้วยิ่งเข้าถึงกันได้ง่ายกว่าอดีต พอถึงวันที่ 1 หรือ 16 ของทุกเดือน ชาวบ้านชาวช่องทุกที่แทบเงียบกริบ เพื่อลุ้นหวยเวลาบ่าย พอถึงเวลาบ่ายสี่ คงได้รู้กันว่าดวงใครเฮงหรือดวงใครกุด


แต่ส่วนมากดวงมักกุดเสียมากกว่า เพราะหลักคณิตศาสตร์ก็เป็นสัจธรรมอยู่แล้วว่าซื้ออย่างไรก็ไม่คุ้ม เจ้ากินเรียบ เพราะหากซื้อ 2 ตัว(บน-ล่าง) หากถูกได้เงินกลับมาเพียง 1 บาท ต่อ 60-70 บาท(ซึ่งอัตราต่อรองอยู่ที่ 1 ต่อ 100) อย่างไรเสียก็ขาดทุนแน่ๆอยู่แล้ว 30% หรือ 3 ตัว หากทายถูกจะได้เงินเพียง 1 บาท ต่อ 400-500 บาท ซึ่งอัตราต่อรองอยู่ที่ 1 ต่อ 1000 ตัวเลข ถือว่าขาดทุนอัตโนมัติเลย 50% หรือจะเป็นล็อตเตอรี่ ที่ซื่อหนึ่งใบ 80 บาท หากถูกรางวัลที่ 1 จะได้เงินกลับมา 6 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 1 บาท ต่อ 75,000 บาท ซึ่งอัตราทางคณิตศาสตร์เลข 6 ตัวอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000,000 บาท ถือว่าขาดทุนมากกว่าหวยชนิดอื่น ก็ถึงขนาดรัฐต้องเรียกว่า “สลากกินแบ่ง” คือ ได้กำไรทุกงวดอยู่แล้ว

รัฐได้เงินเท่าไหร่กับลอตเตอรี่ รายงานของสำนักข่าวออนไลน์ The Standard หัวข้อ “กองสลากฯ บ่อเงินรัฐบาล 10 ปี คนไทยซื้อลอตเตอรี่ 6.7 แสนล้านบาท ถูกรางวัล 4.3 แสนล้านบาท” เขียนโดยคุณพลวุฒิ สงสกุล ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้บรรยายว่า ตลอด 10 ที่ผ่านมา คนไทยซื้อลอตเตอรี่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2551 มีการซื้อลอตเตอรี่ 13,899.65 ล้านบาท และปี 2561 33,303 ล้านบาท(แค่ 10 เดือน) รวมเป็นเงินสูงถึง 6.7 แสนล้านบาท โดยคิดเป็น 21.434 ล้านคน เฉลี่ย 9 งวดต่อปี เฉลี่ยคนไทยซื้องวดละ 275 บาท หน่วยงานกองสลากฯ ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐที่นำส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุด มากกว่าการไฟฟ้าฯ และ ปตท.อีกด้วย

กองสลากได้เงินแล้วเงินไปไหน? รายได้หลักของกองสลากฯ คือ การจำหน่ายลอตเตอรี่ และยังมีรายได้จากสถานะการเป็นโรงพิมพ์ โดยรับจ้างพิมพ์งานจากภายนอก โดยเฉพาะงานพิมพ์ส่ิงพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลง เช่น ตั๋วรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตั๋วรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) คูปองผ่านทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมถึงสลากกาชาดต่างๆ

โดยกองสลากฯ มีการแบ่งสัดส่วนรายได้โดยต้องจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายลอตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 20% ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ กองสลากฯ ยังจัดสรรเงินขายลอตเตอรี่ 3% เข้ากองทุนเพื่อพัฒนาสังคม โดยแบ่งเป็น 6 ส่วนคือ โดยเสด็จพระราชกุศล การศึกษาและกีฬา การสาธารณสุข ศาสนา สังคมสงเคราะห์ ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปี 2559 กองสลากฯ บริจาคเงินครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน รวม 293,035,748 บาท

เรื่องของสลากกินแบ่งรัฐบาล(ลอตเตอรี่) ถือว่าเป็นการเสี่ยงโชคของคนไทยที่รัฐได้ประโยชน์ โดยการมีรายได้จากการเสี่ยงโชคของคนไทย และเงินรายได้นั้นก็เข้าสู่งบประมาณแผ่นดินหรือการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาสังคม แต่กับหวยใต้ดินละ???

หวยบนดิน?

ย้อนประวัติความเป็นมาความพยายามนำ “หวยใต้ดิน” ขึ้นมาจำหน่ายอย่างเปิดเผยและทำให้ถูกกฎหมายมีมานาน แต่ไม่มีใครกล้าทำ จนกระทั่ง “สลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หวยบนดิน” เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2546 มีมติให้สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เพิ่มเติมจากการจำหน่ายสลากกินเแบ่ง(ลอตเตอรี่) ตามเดิมอยู่แล้ว

โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำ “หวยใต้ดิน” ซึ่งผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดินและนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ โครงการสำคัญที่นำรายได้จาก “หวยบนดิน” ไปใช้ คือ โครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ(ODOS) เป็นต้น(อ้างจาก นพนันท์ วรรณเทพสกุล,โครงการวิจัย “เศรษฐกิจหวยใต้ดิน : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน,หน้า 25-32) โดยมีจำหน่ายในราคา 20,50, และ 100 บาท ต่อหนึ่งสลาก พิมพ์การสั่งจองของตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ อัตราการจ่าย 2 ตัว อยู่ที่ 55 บาท และ 3 ตัว อยู่ที่ 400 บาท

หวยบนดิน เป็นนโยบายที่ถูกใจชาวบ้าน เพราะพวกเขารู้สึกเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของคนจน ไม่เหมือนกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่คนขายเอาเปรียบจากการขายเกินราคา หรือหวยล็อก ที่มีการจ่ายกันเพียงแค่ครึ่งราคาของหวยใต้ดิน และการจ่ายรางวัลของหวยใต้ดินก่อนหน้านั้นมีความไม่แน่นอนสูง(นพนันท์,หน้า 26)

คุณูปการของหวยบนดิน ทำให้จำนวนเงินการซื้อสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว แซงหน้าเงินค่าจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลภายในปีแรกที่เปิดขาย และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อๆมา เงินส่งให้กับรัฐเพิ่มขึ้น ทำให้การเล่นหวยใต้ดินน้อยลง เมื่อรัฐบาลนำหวยบนดิน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2546-16 พฤศจิกายน 2549 ทำให้รัฐมีรายได้จากการจำหน่ายทั้งสิ้น 135,000 ล้านบาท(ผาสุข พงษ์ไพจิตร และคณะ,2543) ทำให้ขนาดของธุรกิจหวยใต้ดิน ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของการจัดสรรรายได้สลากแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 มีสาระสำคัญเพื่อเป็นค่ายใช้จ่ายในการบริหารงานไม่เกินกว่า ร้อยละ 20 โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นส่วนลดในการซื้อสลากฯ ค่าตอบแทน ค่าภาษีการพนัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในการบริหาร นำมาสมทบเข้า “กองทุนเงินรางวัล” เพื่อไปใช้สำหรับการจ่ายรางวัลสลากฯ ภายหลังหักค่าบริหารกองทุนและการประกันความเสี่ยงในการจ่ายเงินรางวัลแล้ว หากกองทุนมีเงินเหลือเพียงพอในแต่ละช่วงเวลา จะจัดสรรรายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ คือ เพื่อสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ ตามที่สำนักงานสลากฯ กำหนด โดยเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

จากโครงสร้างการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายที่กล่าวมาจะเห็นแล้วว่า รายได้หรือกำไรจากการขายหวยบนดิน ไม่ต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะมีเป้าหมายให้นำไปใช้เพื่อกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มพิเศษ โดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กยากจน และเด็กด้อยโอกาสขึ้นมาดูแล โดยขณะนั้นมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การจัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้กับการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนจากหวยบนดิน(นพนันท์,หน้า 29) โครงการสลากเลขท้าย 2 และ 3 ตัว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นการนำเงินของคนจนกลับคืนไปเพื่อพัฒนาชีวิตเด็กยากจน

หวยบนดินสิ้นอายุขัยลงไปไม่กี่ปี จากจุดเริ่มต้นในการจำหน่ายงวดแรก เมื่อ 1 สิงหาคม 2546 ด้วยเหตุผลเรื่องการดำเนินการขัดต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพราะหวยบนดิน มีการดำเนินการเข้าข่ายสลากกินรวบ(สลากชนิดที่ขายเป็นการเสี่ยงโชค โดยผู้ซื้อกรอกเลขที่ต้องการลงบนสลาก) ไม่ใช่สลากกินแบ่ง(มีเลขพิมพ์ลงไปแล้ว) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกสลากกินรวบ แต่ด้วยข้อมูลเพียง 3 ปีเศษ นับจากปี 2547-2550 สามารถพิสูจน์ได้ว่า หวยบนดิน ได้รับความนิยมสูงมาก แน่ชัดยิ่งกว่าเดิม จากตัวเลขระหว่างปี 2547-2549 ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 ปีเต็ม ของการออกจำหน่ายหวยบนดินให้กับประชาชน รวมทั้งสิ้น 132,802 ล้านบาท ในปี 2549 ยอดการจำหน่ายหวยบนดิน แซงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ในปี 2550 หวยใต้ดินยุติลง ทำให้เศรษฐกิจการพนันตกไปอยู่ในมือหวยใต้ดิน

เงินที่ได้จากหวยบนดินเอาไปทำอะไร?

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและน่าสนใจที่สุด คือ “โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ” ริเริ่มในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถูกยกเลิกในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ และได้กลับมาใหม่ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้กับเด็กไทยที่เรียนเก่งจากทุกอำเภอทั่วประเทศไทยจะได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งถือเป็นความฝันของเด็กเรียนดีแต่มีฐานะยากจน และเป็นการลงทุนสร้างอนาคตประเทศผ่านเยาวชนเหล่านี้ เป็นการยื่นโอกาสให้กับเด็กยากจนที่ด้อยโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้เท่าเทียมกับเด็กที่มีฐานะดี โดยโครงการนี้เริ่มต้นจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิน ชินวัตร ซึ่งได้ใช้กำไรจากโครงการหวยบนดิน สนับสนันโครงการนี้ 100 เปอร์เซนต์ เริ่มต้นครั้งแรก ปี 2547 ถือเป็นรุ่น 1 มีเด็กเรียนดีที่มีฐานะยากจนได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ 921 คน,รุ่น 2 พ.ศ.2549 มีเด็กยากจนสอบชิงทุนได้อีก 918 คน ทั้ง 2 ปี สำเร็จการศึกษาเดินทางกลับมาแล้ว 1,275 คน รัฐบาลทักษิณ ทำได้เพียงสองรุ่น ก็ถูกยุบไปในรัฐบาลพล.อ.สรยุทธ์ จุฬานนท์ และในปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลปีแรก(2554) ที่ได้รื้อฟื้นโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอรุ่นที่ 3 โดยใช้เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน มีผู้สอบชิงทุนรุ่นที่ 3 ได้อีก 689 คน และรุ่นที่ 4 ปี 2556 ที่ประชุม ครม.ให้เห็นชอบเดินหน้าโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ รุ่นที่ 4 รวมทั้งสิ้น 1,856 ทุน โดยรัฐบาลอนุมัติงบสนับสนุน 14,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 7 ปี

โครงการอื่นๆที่เกิดขึ้นจากนโยบายหวยบนดิน (อ้างจาก
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ข้อมูล ณ วันที 9 ธันวาคม 2549)


ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 1 – 125,000,000.00 บาท

สัปดาห์วิทยาศาสตร์ – 35,500,000.00 บาท

ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 2 – 400,590,000.00 บาท

โครงการอ่าน เขียน เรียน เที่ยว – 10,000,000.00 บาท

โครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) – 50,113,732.00 บาท

โครงการเสริมความรู้และสร้างรายได้นักเรียนในระหว่างปิดภาคฤดูร้อน – 10,000,000.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ – 600,000.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ – 289,626,730.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ – 195,072,737.00 บาท

โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 – 773,000.00 บาท

ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 3 – 402,519,000.00 บาท

โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” – 446,469,420.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย – 2,000,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย – 470,227,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษา ณ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย – 11,340,000.00 บาท

โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส – 402,519,000.00 บาท

โครงการประชาสัมพันธ์งานและพัฒนายุทธศาสตร์ สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส – 31,000,000.00 บาท

ทุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข – 2,000,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์แก่สังคมและราชการ – 526,221,000.00 บาท

พิธีมอบทุนสนับสนุนการศึกษาในส่วนของต่างจังหวัด – 600,000.00 บาท

โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 (1 อำเภอ 1 ทุน) – 186,297,575.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย – 1,691,773,173.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย – 8,950,000.00 บาท

ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา – 4,521,067.00 บาท

ทุนการศึกษาของนักเรียนระดับอุดมศึกษา – 276,360,892.00 บาท

ทุนการศึกษาของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ – 3,463,308.00 บาท

โครงการบัณฑิตเพื่อความมั่นคง – 1,374,000.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบ เด็กด้อยโอกาส – 49,700,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อยแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน – 120,348,960.00 บาท

ทุนการศึกษาโครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชน – 798,499,960.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดที่ 3 – 852,584,110.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส – 9,496,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ – 317,355,680.00 บาท

โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” – 91,227,307.00 บาท

โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” – 9,778,067.00 บาท

โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” – 3,463,308.00 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กพิการ เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคเอดส์ – 19,102,290.00 บาท

ค่าใช้จ่ายจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2548 – 35,000,000.00 บาท

ค่าใช้จ่ายโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ประจำเดือนกันยายน 2548 – 385,091,348.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษา ณ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย – 3,024,000.00 บาท

โครงการ “โรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลออทิสติก” – 2,424,114.00 บาท

ค่าใช้จ่ายในกระบวนการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 – 44,065,000.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดที่ 1 สำหรับทุนการศึกษาปี 2548 – 1,590,320,300.00 บาท

ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ งวดที่ 1 สำหรับทุนการศึกษาปี2548 – 606,667,840.00 บาท

ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา – 4,513,391.00 บาท

ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา – 273,437,422.29 บาท

โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 ปี 2549 88,013,264.50 บาท

ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ งวดที่ 2 สำหรับทุนการศึกษาปี 2548 – 2,170,034,540.00 บาท


อ้างอิง

พลวุฒิ สงสกุล,2561,กองสลากฯ บ่อเงินรัฐบาล 10 ปี คนไทยซื้อลอตเตอรี่ 6.7 แสนล้านบาท ถูกรางวัล 4.3 แสนล้านบาท,(ออนไลน์),ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561.สืบค้นเมื่อ16 สิงหาคม 2561,ที่มาลิงก์

https://thestandard.co/lottery-big-source-of-government-revenue/

นพนันท์ วรรณเทพสกุล,2554.โครงการวิจัย เศรษฐกจหวยใต้ ดิน : มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านธรกิจการพนัน.สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2561 เข้าถึงได้ที่ https://firebasestorage.googleapis.com/v0/b/tonypedia-18aec.appspot.com/o/uploads%2Ffiles%2F1184%2FB1HqZoxMm.pdf?alt=media&token=a850690e-d7aa-4e4f-8fa5-ef07ff53a91f