วันศุกร์, กันยายน 28, 2561

สื่อนอกชี้รัฐบาลทหารใช้นโยบาย 'เงิน' ฟาดหัว 'สกัด' 'ทักษิณ'





สื่อนอกชี้รัฐบาลทหารใช้นโยบาย 'เงิน' ฟาดหัว 'สกัด' 'ทักษิณ'


September 27,2018
Voice TV


สื่อต่างประเทศเผย รัฐบาลทหารใช้นโยบาย 'อุ้มคนจน' หวังชนะเลือกตั้งในพื้นที่อีสาน ไม่ต่างจากการใช้เงินฟาดหัว พร้อมระบุ ว่าที่พรรคการเมืองประกาศหนุน 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกฯ แม้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยตรง


เว็บไซต์บลูมเบิร์กและเดอะสเตรทไทม์ส เผยแพร่บทความ Thai Junta Throws Money at Poor Northeast in Bid to Stop Thaksin เพื่อบอกเล่าสถานการณ์การเมืองไทยช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยระบุว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ คาดว่าคนไทยจะได้เลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงรัฐบาลทหารของไทย เพื่อหยั่งเสียงประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหารไทยและหัวหน้า คสช. ใช้วิธีเดินสายพบปะประชาชนในต่างจังหวัดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งยังประกาศว่าจะบังคับใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน มอบเงินช่วยเหลือคนจน และกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงโครงการประกันราคาผลผลิต การออกบัตรสวัสดิการประชารัฐ หรือ 'บัตรคนจน' ตลอดจนประกาศว่าจะเดินหน้าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัด

บลูมเบิร์กระบุว่า นโยบายช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย เป็นสูตรที่ช่วยให้พรรคของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคย'ประสบความสำเร็จมาก่อน' จึงไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลทหารจะใช้วิธีมอบเงินแบบเดียวกันเพื่อชนะใจประชาชน




เกษตรกรรายหนึ่งให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กว่า ข้อดีของรัฐบาลทหาร คือ ทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งเหมือนช่วงหลายปีก่อนหน้า และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยกลุ่มต่างๆ ก็ช่วยให้หลายครอบครัวมีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้น

พื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดคะแนนเสียงของรัฐบาลในอนาคต คือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีประชากรมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าสามารถแบ่งที่นั่งมาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นอดีตรัฐบาลได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จ.อุบลราชธานี เป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพราะถึงแม้ว่าในปี 2554 เพื่อไทยจะมีคะแนนเสียงทิ้งห่างในการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถคว้าที่นั่ง 3 เขตในอุบลราชธานีมาครอบครองได้ อีกทั้งในปี 2559 ซึ่งมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็พบว่าเสียงส่วนใหญ่ในอุบลฯ ร้อยละกว่า 60 ต่าง 'เห็นชอบ' กับรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ผศ.ดร.เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า พื้นที่ภาคอีสานถูกมองว่าเป็นฐานที่มั่นด้านคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในอดีต ทำให้รัฐบาล คสช.ต้องเดินเกมต่ออย่างรอบคอบ

ส่วนว่าที่ 'พรรคการเมือง' ที่ประกาศจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคพลังประชารัฐ บ่งชี้ว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าได้โดยตรง แต่เขาก็ได้พูดยืนยันกับสื่อในประเทศว่าตนเองนั้นก็สนใจเรื่องการเมืองเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายต้องการเปิดทางเอาไว้ในกรณีที่ต้องกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองและบริหารประเทศอีกครั้ง