วันศุกร์, เมษายน 06, 2561

iLAW คุยลึกๆ กับคนจำนวนหนึ่ง เพื่อรวบรวมประสบการณ์ จากการที่เคยถูกพวกที่ไม่เคยเข้าใจสิทธิมนุษยชนและละเมิดมากที่สุด (คสช.) จับตัวไป 'ปรับทัศนคติ'





"ไม่เคยเข้าใจสิทธิมนุษยชนและละเมิดมากที่สุดคือพลเอกประยุทธ์ เอาแค่การเอาตัวเองไปเป็นประธานในงานวันสิทธิมนุษยชนสากลก็คือการประจานตัวเองเหมือนกับเอาคนทุศีลมาอบรมสงฆ์ที่ประพฤติพรหมจรรย์
มิตรสหายท่านหนึ่ง

...

#Attitudeadjusted? บันทึกประสบการณ์คนที่เคยถูกคสช. 'ปรับทัศนคติ'


9 กุมภาพันธ์ 2018
ที่มา iLaw


หลังการรัฐประหารในปี 2557 คสช. อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกออกคำสั่งเรียกให้บุคคลสำคัญ ทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจชื่อดังเข้าไปพูดคุยในค่ายทหารโดยให้เหตุผลว่า เพื่อทำความเข้าใจและขอให้ร่วมมือกับ คสช. เพื่อให้สถานการณ์ในประเทศที่กำลังวุ่นวายกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสร้างความสามัคคีระหว่างคนในชาติหลังจากที่บ้านเมืองต้องบอบช้ำจากความแตกแยกทางการเมืองมาอย่างยาวนาน บางคนถูกกักตัวไว้ในค่ายทหารนาน 7 วัน หรือน้อยกว่านั้น ตามใจ คสช. จะพิจารณา

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการใช้อำนาจเรียกคนมาปรับทัศนคติของ คสช. กลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักการเมืองคนสำคัญ แต่ลามไปถึงประชาชนธรรมดาที่มีความตื่นตัวและเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ไปจนถึงแกนนำชาวบ้านในพื้นที่พิพาทต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของ คสช. ในพื้นที่ของตัวเอง โดย คสช. ใช้อำนาจพิเศษเรียกตัวคนมาพูดคุยลักษณะนี้ ในทุกๆ ประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อเนื่องยาวนานกว่าสามปี

ในผลงานชุด #attitudeadjusted? ไอลอว์รวบรวมประสบการณ์ของประชาชนจากหลายบทบาทและภูมิหลังที่ประสบชะตากรรมร่วมกัน คือ การถูกพาเข้าไป "ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหาร แม้ว่าความแตกต่างระหว่างสถานภาพทางสังคม บทบาท ประเด็นที่แต่ละคนเคลื่อนไหวรวมทั้งช่วงเวลาและพื้นที่ที่แต่ละคนถูกเรียกรายงานตัวจะมีผลทำให้่ประสบการณ์ที่พบเจอในค่ายทหารแตกต่างกันไป แต่ทุกกรณีก็มีจุดที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการใช้อำนาจที่กว้างขวาง เกินความจำเป็น และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างของ คสช. ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบให้กับคณะทหารชุดอื่นในอนาคต หากประเทศไทยยังหนีไม่พ้นวังวนของการรัฐประหาร

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

#Attitude adjusted?: ทวีพร: เรียกนักข่าวประชาไทจิบกาแฟหลังเผยแพร่การ์ตูนเกี่ยวกับม.112

ช่วงเดือนตุลาคมปี 2558 ทวีพร อดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไทภาคภาษาอังกฤษทำสกู๊ปพิเศษ "สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง" ประมวลลักษณะการกระทำตามข้อกล่าวหาของคดี 112 หลายๆคดีมารวมในภาพการ์ตูนหนึ่งภาพประกอบคำบรรยายสั้นๆของแต่ละคดีพร้อมลิงค์อ้างอิง หลังจากเผยแพร่บทความชิ้นนั้นเรื่องแปลกๆก็เริ่มเกิดขึ้นกับชีวิตของทวีพร

รถฮัมวีไปป้วนเปี้ยนแถวๆหมู่บ้าน โทรศัพท์ทวงหนี้และโทรศัพท์จากชายลึกลับโทรไปที่สำนักงาน คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังบทความชิ้นนั้นถุกเผยแพร่และถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์ ก่อนที่สุดท้ายทุกอย่างจะกระจ่างเมื่อทวีพรและหัวหน้างานของเธอจากสำนักข่าวประชาไทต้องเดินทางเข้าค่ายทหารเพื่อพูดคุยกับนายทหารระดับสูงนายหนึ่ง

อ่านต่อเรื่องราวแปลกๆที่เข้ามาในชีวิตของทวีพรและบทสนธนากับชายในชุดพราง ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitude Adjusted?: "นัท": เหมือนจะทำให้เราบ้า เจ็ดวันในค่ายทหาร ของวัยรุ่นที่ถูกกล่าวหาเป็น "แฮกเกอร์"

หลังมีกระแสการโจมตีเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงต่างไม่นิ่งนอนใจเร่งติดตามหาตัวบุคคลที่น่าจะเป็นผู้กระทำการจนกระทั่งมีการจับกุมตัววัยรุ่นอย่างน้อยสิบคนไป "สอบถาม" ในค่ายทหารก่อนส่งตัวไปดำเนินคดี ไม่ว่าผู้ที่ถูกจับกุมทั้งสิบคนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีเว็บไซต์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ในชั้นศาล แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่ากังวลที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือการใช้อำนาจพิเศษของคสช.เป็นส่วนหนึ่งของการนำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่าเป็นการใช้อำนาจที่มีความจำเป็นหรือเป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาอยู่แล้ว

"นัท" นักศึกษาปวส.ด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีเว็บไซด์เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำในค่ายทหารให้ไอลอว์ฟังว่า ตั้งแต่กระบวนการจับกุมตัวที่เจ้าหน้าที่แผงตัวเป็น "คนส่งพิซซ่า" มาเคาะประตูบ้านก่อนทำการจับกุมตัว บรรยากาศช่วงที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารซึ่งเขาต้องตอบคำถามซ้ำๆซากในคำถามที่ตัวเขาไม่มีคำตอบ ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมด "นัท" สะท้อนว่า ประสบการณ์ทั้งเจ็ดวันเหมือนจะทำให้เขาเป็นบ้า

อ่านต่อเรื่องราวที่กดดันจนทำให้"นัท" แทบเป็นบ้า ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitude adjusted?: คุยกับ 'เซีย ไทยรัฐ' คนเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่ใครๆก็ขำแต่ทหารไม่ขำ

ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เดินทางไปร่วมประชุมกับสหประชาชาติ ศักดาหรือ 'เซีย ไทยรัฐ' เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เขียนการ์ตูนล้อเผยแพร่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ทำนองว่า หัวหน้าคสช.ไปกล่าวสุนทรพจน์อย่างสวยหรูที่สหประชาชาติ แต่ต้องกลับมาเผชิญปัญหารุมเร้าในประเทศ การ์ตูนชิ้นนั้นส่งผลสะเทือนถึงขึ้นทำให้ศักดาต้องไปนั่งดื่มกาแฟกับทหาร

แม้ว่าศักดาจะใช้เวลาในค่ายทหารไม่นานนักและไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่การถูกเรียกไปปรับทัศนคติก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเขาอยู่ไม่น้อย ศักดายอมรับว่าเขาต้องพยายามลดความเข้มข้นของเนื้อหาการ์ตูนลงบ้างแต่ก็พบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความตึงเครียด

อ่านต่อเรื่องราวหลังแก้วกาแฟระหว่างศักดากับทหาร ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitude adjusted?: อ.กฤษณ์พชร ปรับทัศนคติ - ท่องเที่ยวเชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

"เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีความทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่เนี่ย มันอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา มันจะเกิดปัญหา" และคำพูดลักษณะคล้ายๆกันออกจากปากของนายทหารชั้นผู้ใหญ่คู่สนทนาของ กฤษณ์พชร โสมณวัต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แปดคนจัดแถลงข่าวอ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เพื่อตอบโต้กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวในทำนองว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนสอนให้นิสิตนักศึกษาต่อต้านอำนาจรัฐ การออกแถลงการณ์ครั้งนั้นทำให้นักวิชาการ 8 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน ในภายหลังกฤษณ์เพชรได้เข้าไปพูดคุยกับทหารในค่ายทำให้การถูกตั้งข้อกล่าวหาคนเขาเป็นอันยุติไป

อ่านบรรยากาศการปรับทัศนคติและวิธีคิดที่ต่างกันระหว่างทหารกับนักวิชาการ ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitude adjusted?: ประสิทธิ์ชัย แกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับการทัศนศึกษา "คุกทหาร"


ประมาณสี่เดือนหลังการรัฐประหาร 2557 ประสิทธิชัยและกลุ่มประชาชนในภาคใต้ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนและประโยชน์สูงสุดเป็นของประชาชนในนามกลุ่ม "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" จัดกิจกรรมเดินเท้าจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานคร หลังจากออกเดินจากอำเภอหาดใหญ่ได้เพียงสองวันประสิทธิชัยและเพื่อนรวมเก้าคนถูกพาตัวไป "ปรับทัศนคติ" ในมลฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายคอหงส์) ที่จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นประสิทธิชัยและเพื่อนถูกคุมตัวในค่ายเป็นเวลาสี่วันโดยในวันที่สองของการควบคุมตัวประสิทธิชัยได้ไป "ทัศนศึกษา" ในที่ที่เขาคงไม่เคยจินตนาการว่าจะได้ไปนั่นคือคุกที่ใช้คุมขังทหารที่ทำผิดวินัยโดยมีผู้คุมที่เป็นทหารบรรยายเรื่องต่างๆในคุกเช่นประเภทของนักโทษทหารและวิธีการลงโทษให้ฟัง ครั้งนั้นทหารพยายามปรับทัศนคติประสิทธิชัยว่าวิธีคิดเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของเขาและเพื่อนเป็นแนวคิดที่ผิดและเขาควรเห็นพ้องกับนโยบายของรัฐซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า

แม้จะถูกคุมตัวเป็นเวลาสี่วันและมีโอกาสเห็น "คุกทหาร" แต่ประสิทธิชัยก็ยังคงรณรงค์เรื่องพลังงานและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ประสิทธิชัยและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าว ครั้งนั้นประสิทธิชัยและแกนนำอีกสองคนถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติในมณฑลทหารบกที่ 11 โดยเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลสำคัญเช่นพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล รวมทั้งผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสิทธิ์ชัยเล่าว่าตลอดการพูดคุยพล.ท.สรรเสริญพยายามจะแสดงท่าทีประนีประนอมแต่บรรยากาศโดยรวมในการพูดคุยปรับทัศนคติรอบที่สองถือว่าตึงเครียดกว่าครั้งแรก

อ่านต่อเรื่องราวประสบการณ์ในค่ายทหารของประสิทธิชัย ต่อได้ ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitudeadjusted?: “แดน” - ประสบการณ์ใน “คุกทหาร” และชีวิตที่พังทลาย

ถ้ายังจำกันได้ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่โทรทัศน์ทุกช่องจะถ่ายทอดภาพนายทหารคนหนึ่งนั่งอ่านรายชื่อ "บุคคลสำคัญ" ที่ต้องเข้ารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

"แดน" เป็นหนึ่งในสามร้อยกว่ารายชื่อที่ถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์ เขาตัดสินใจเผชิญหน้ากับโชคชะตาด้วยการเข้ารายงานตัว ตอนนั้นเขาคิดว่าถ้าหากจะถูกกักตัว ก็คงจะเป็นการกักตัวในบ้านพักและเมื่อถึงเวลาก็คงได้รับการปล่อยตัว แต่ในความเป็นจริงที่เผชิญนั้นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เขาถูกส่งตัวไปกักขังยังคุกทหารในจังหวัดนครปฐม "มท.บ.11"

ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ "แดน" ก็ยังคงจำวันที่เขาเดินเข้าสู่กรงขังได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 7 วัน ที่อยู่ภายในคุกทหารได้สร้างความทรงจำอันเลวร้ายให้แก่เขา ไม่ใช่เพียงแต่บาดแผลในจิตใจเขาเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ชีวิตทางด้านครอบครัวของเขาล่มสลายลูกเมียหนีหาย เส้นทางทำมาหากินเกือบเป็นศูนย์ และเขายังถูกตีตราว่าเป็น "คนคุก" เพียงเพราะอุดมณ์การทางเมืองของเขา

อ่านเรื่องราวประสบการณ์ในคุกทหารของ "แดน" ต่อได้ ที่นี่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


#Attitude adjusted? เพียรรัตน์: ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการแห่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้?

เมื่อพูดถึงการเชิญคนไป "ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหาร หลายคนอาจเข้าใจว่ามีแต่คนที่ออกมาประท้วงหรือคัดค้านรัฐประหารเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำก็คงไม่ถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นแน่แท้ แต่ความเข้าใจที่ว่าก็ดูจะไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะการยืนยันสิทธิในการใช้ที่ดินเอกชนที่หมดสัมปทานของเกษตกรไร้ที่ดินจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้กลายเป็นเหตุให้คสช.เรียกเพียรรัตน์ อดีตประธานสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้าค่ายปรับทัศนคติเป็นเวลาสามวัน

ในฐานะที่เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์ฯ เพียรรัตน์ถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงว่า เป็น "ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการ" ที่สามารถสั่งให้สมาชิกสกต.ทำอะไรก็ได้ เพียรรัตน์จึงถูกเรียกตัวเข้าไปพูดคุยในค่ายทหารโดยเจ้าหน้าที่หวังว่าเขาจะสามารถเกลี้ยกล่อมให้สมาชิกของสหพันธ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มทรัพย์อ.ชัยบุรีจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกจากพื้นที่ทำกินได้ โดยระบุว่าสมาชิกของสกต.ในชุมชนเพิ่มทรัพย์บุกรุกเข้ามาใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย

แม้ว่าในค่ายทหารเพียรรัตน์จะได้รับการดูแลอย่างดี พักในห้องที่ตัวเขาเองเล่าว่า "ติดแอร์สบายกว่าบ้านตัวเอง" แต่ก็ต้องเผชิญกับปฏิบัติการจิตวิทยาจากเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เช่นการพูดทำนองว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือจะต้องอยู่นาน หรือการถูกพาไปนั่งคุยใกล้ๆกับคุกทหารที่มองเห็นทหารที่ทำผิดวินัยขณะถูกลงโทษได้ อย่างไรก็ตามการถูกเรียกเข้าค่ายและปฏิบัติการณ์จิตวิทยาก็ไม่ได้ทำให้เพียรรัตน์กลัวเกรงแต่อย่างใด เพราะเขาและสมาชิกสกต.ต่างรู้ดีว่าแนวทางการต่อสู้สกต.ที่ยึดที่ดินหมดสัมปทานจากเอกชนมาจัดสรรให้เกษตรกรไม่มีที่ทำกินมาใช้ประโยชน์ ได้สร้างความไม่พอใจให้ทั้งภาครัฐ นายทุนและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจนมีความเสี่ยงที่อาจจะติดคุกหรือถึงขั้นตายได้อยู่แล้ว

อ่านประสบการณ์การถูกเรียกเข้าค่ายของเพียรรัตน์ต่อ ที่นี่