วันพฤหัสบดี, เมษายน 05, 2561

ชวนอ่าน...เมื่อรั้วของชาติกลายเป็น “ตัวปัญหา” - ประชาไท เปิดความคิดเสรีพิศุทธ์ ว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพ ประชาธิปไตยไม่เจริญเพราะทหารคือปัญหา + ทหารเกณฑ์คืออู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ





เปิดความคิดเสรีพิศุทธ์ ว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพ เมื่อรั้วของชาติกลายเป็น “ตัวปัญหา”


ปณิธาน เมฆาวงษ์: สัมภาษณ์/เรียบเรียง
อิศเรศ เทวาหุดี: ภาพประกอบ

ที่มา ประชาไท
2018-04-04 


เสรีพิศุทธ์ชี้ “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” เป็นแค่ใบไม้ใบเดียวในป่าใหญ่ ชูปฏิรูปทหารทั้งกองทัพ ระบุประเทศชาติล้มลุกคุกคลาน ประชาธิปไตยไม่เจริญเพราะทหารคือปัญหา ก้าวแรกต้องแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม นายกฯ ต้องปลดทหารได้ ไม่ใช่ให้ทหารปลดนายกฯ



ก่อนหน้านี้พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เสนอความคิดว่าควรมีการยกเลิกทหารเกณฑ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ให้กองทัพสามารถทุจริตคอร์รัปชั่นได้โดยง่าย ตั้งแต่การเริ่มต้นตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ ไปถึงขั้นตอนของการฝึกทหารใหม่ จนกระทั่งปลดประจำการ จำนวนเรียกเกณฑ์พลเรือนเข้ากรมกองไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ไร้ซึ่งสภาวะสงคราม และไปด้วยกันไม่ได้กับอัตราการเกิดของชายไทยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด


เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส: ทหารเกณฑ์คือ อู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ


อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งวันนี้ผันตัวมาเล่นการเมืองภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย ยืนยันชัดเจนว่า หากเขามีอำนาจการยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับเขา ทหารเกณฑ์ เป็นเพียงใบไม้ใบเดียวในป่าใหญ่ เขาบอกว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นเพียงเรื่องจิ๊บจ๊อย การปฏิรูปทหารทั้งกองทัพต่างหากที่เป็นเรื่องที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ หากว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง และเขาได้เป็นรัฐบาล

“จะไปกลัวอะไร ประยุทธ์มันรุ่นน้องผม” นั่นคือคำตอบเมื่อเราถามว่า ในทางปฏิบัติจะยกเลิกเกณฑ์ทหารได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ตอบคำถามคาใจ ที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อที่ว่า เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ ด้วยการหยิบยกกรณีนาฬิกายืมเพื่อน แต่เพื่อนตายแล้ว และแหวนเพชรพ่อ แต่แม่เก็บไว้ให้ ยอกย้อนถามกลับชัดถ้อยชัดคำว่า เมื่อนายทหารทำแบบนี้ ยังเรียกได้ว่าเป็นลูกผู้ชายหรือเปล่า

ทหารสำหรับเขา ไม่ได้เป็นรั้วของชาติ หากแต่เป็น “ตัวปัญหา” ของชาติเสียมากกว่า และก็น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ ในทางกลับกันทหารกลับปลดนายกรัฐมนตรีได้ เพียงแค่การขออนุญาตรัฐประหาร นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เสรีพิศุทธ์ เห็นว่าเป็นปัญหา และต้องปฏิรูปกองทัพ ไม่เช่นนั้นประชาชิปไตยไม่มีวันลงหลักปักฐานได้ในประเทศนี้ และทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่เขาต้องการจะเปลี่ยนแปลง

มรดกรัฐประหาร 2549 ทำให้กองทัพอยู่เหนือกว่ารัฐบาลของประชาชน

เสรีพิศุทธ์ เริ่มต้นกล่าวถึงสิ่งแรกที่ควรมีการแก้ไข หากคิดที่จะปฏิรูปกองทัพ คือ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีการแก้ไขครั้งล่าสุดหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 หลักใหญ่ใจความของกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาจากรัฐสภาของประชาชนคือ การกำหนดให้คณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ในการจัดการกำลังพล และพิจารณาตั้งแต่งนายทหารชั้นนายพล ให้เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งทั้งหมด7 ตำแหน่ง จาก 7 เสียงมีเพียง 2 เสียงเท่านั้นที่ยึดโยงกับประชาชน (หากมีการเลือกตั้งในสภาวะปกติ) คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ ส่วนที่เหลืออีก 5 ตำแหน่งเป็นที่นั่งของฝ่ายข้าราชการประจำคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ และเลขานุการ

“ทั้งหมดมี 7 คน เป็นข้าราขการประจำไป 5 คน ฉะนั้นฝ่ายการเมืองก็สู้ฝ่ายข้าราชการประจำไม่ได้ มันก็กลายเป็นว่าหลังจากมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม นายกฯ ย้ายทหารไม่ได้ คุณคิดดูทหารบอกต้องเตรียมพร้อมสรรพ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ แม้แต่น้ำมันต้องเพียบเต็มอัตราศึกหมด เพราะจะเกิดสงครามเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ขณะเดียวกันก็บอกนายกฯ ย้ายทหารไม่ได้ แล้วพบจะรบ นายกฯ สั่งรบ ทหารแม่งไม่รบ นายกสั่งหยุดทหารแม่งไม่หยุด คุณว่าไงมันถูกไหมตรรกะนี้ ไม่ถูก นายกฯ ต้องย้ายได้ดิ...ไม่ใช่คนที่มาจาการประชาชนไม่มีอำนาจย้ายทหาร แต่ทหารกลับปลดนายกฯ ได้ อยู่ดีๆ ก็เอาปืนมาวางผมยึดอำนาจ”

ลดขนาดกองทัพให้เล็กลง ย้ายค่ายทหารออกจากกรุงเทพ เอาที่ดินกว่าสามหมื่นไร่มาสร้างสาธารณะประโยชน์

เสรีพิศุทธ์ เห็นว่าจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยให้ฝ่ายการเมืองซึ่งถือว่ามาจากประชาชน มีอำนาจในการบังคับบัญชาทหารได้ ในส่วนต่อมาคือ การยุบกองบัญชาการทหารสูงสุด เพราะในปัจจุบันไม่มีความจำเป็น โดยให้กองบัญชาการทหารสูงสุดมีการตั้งขึ้นเป็นการการเฉพาะกิจ ในช่วงสถานการณ์สงครามเท่านั้น นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพใดเหล่าทัพหนึ่ง หรือนายกรัฐมนตรีเองสามารถเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทันที เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในสภาวะสงคราม

เขาเห็นว่า จุดหมายปลายทางของการยุบกองบัญชาการสุดสูงคือ การทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง และจะทำให้งบประมาณของภาครัฐถูกใช้อย่างมีคุณค่า ไม่ต้องจ่ายไปกับอัตราเงินเดือน และสวัสดิการของนายทหารที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้เสรีพิศุทธ์ ยังเห็นว่าส่วนที่เกินความจำเป็นอีกหน่วยหนึ่งคือ กองทัพน้อย เขาเห็นว่าการมีกองทัพเพียง 4 ภาคก็เพียงพอแล้ว

“มีกองทัพภาคแล้ว 4 ภาค ถามว่ามีกองทัพน้อยไว้ทำไมอีก มีกองกำลังของตัวเองอีก มันบ้าหรือเปล่า มันควรจะยุบเสียด้วยซ้ำ นี่ผมพูดเล่นเฉยๆ นะ กองทัพมี 4 ภาค มันควรจะยุบเหลือ 2 ภาค อันนี้พูดเล่นนะ เพราะมันไม่มีสงครามอะไรจะมีไว้ทำไมเต็มอัตราศึก หรือมี 4 ภาคเหมือนเดิมก็บรรจุกำลังพลไม่เต็มอัตราศึก ให้มีแต่โครงไว้”

มากไปกว่านั้นเสรีพิศุทธ์ ยังเห็นว่าควรจะมีการย้ายกองทัพออกไปจากกรุงเทพมหานคร โดยชี้ให้เห็นว่าพื้นที่หลายหมื่นไร่ที่กองทัพเป็นเจ้าของสามารถนำไปพัฒนาในเกิดประโยชน์ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ หรือเปิดพื้นที่ให้เอกชนเช่าเพื่อการพัฒนา โดยให้กองทัพบกย้ายไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี กองทัพเรือย้ายไปอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และกองทัพอากาศย้ายไปอยู่ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

“สมัยสร้างกรุงเทพฯ สร้างพระราชวังก็มีศูนย์ราชการ กองทัพบก เรือ อากาศ ก็ตั้งอยู่ในนี้ เมื่อ 200 กว่าปีก่อนถ้าออกไปเลยเสาชิงช้าไปหน่อยก็เป็นบ้านนอกแล้ว คุณไปดูภาพเก่าๆ ยิ่งกรมตำรวจนี่ไกลสุดกู่ อยู่สุขุมวิท พระรามหนึ่งแถวนั้นเป็นทุ่งนาหมด วันเวลามันผ่านมาไป 236 ปีก็ยังเหมือนเดิมศูนย์ราชการไปแจ้งวัฒนะ บางส่วนก็ไปเมืองนนท์ ถามว่าย้ายศูนย์ราชการแบบนี้เหรอ มันไม่ใช่การย้ายหรอก มาเลเชียเขาย้ายตั้งสี่ห้าร้อยกิโล พม่าก็ย้าย บราชิลก็ย้าย แต่ของเราจอมพล ป. คิดจะย้ายศูนย์ราชการไปอยู่เพชรบูรณ์ ก็ได้แต่คิดยังทำไม่สำเร็จ หลังๆ มาคิดจะย้ายก็ย้ายไปแมะแค่นี้ รถก็ไปติดแถวแจ้งวัฒนะ แถวเมืองนนท์แทน ส่วนกองทัพยังอยู่เหมือนเดิม”

“พื้นที่ที่เป็นหน่วยที่ตั้งของทหาร น้องเดินไปดูเถอะ ถ้าฝั่งธนฯ ก็เป็นของทหารเรือ ถ้ากลางเมืองก็เป็นของทหารบก ไปดอนเมืองก็เป็นของทหารอากาศ จริงป่ะ ปฎิรูปของผมก็คือ ย้ายกองทัพ กระทรวงกลาโหมก็ยังอยู่ที่เดิมนี่ละ แต่กองทัพนี่เป็นส่วนย่อย ต้องออกไปข้างนอก ผมพูดอยู่บ่อยๆ กองทัพบกไปลพบุรี กองทัพเรือไปสัตหีบ กองทัพอากาศไปนครสวรรค์ แล้วที่ดินในกรุงเทพจะเหลือประมาณสองสามหมื่นไร่ มหาศาล โรงเรียนขาดไหม บางคนลูกอยู่ฝั่งธนฯ ต้องข้ามมาเรียนไกลเหลือเกิน ประเทศที่เจริญแล้วเด็กเขาเรียนใกล้บ้านทั้งนั้น ของเราการจราจรก็ติดขัด พ่อแม่ตั้งตื่นแต่เช้าไปทำงาน บางคนต้องป้อนข้าวลูกในรถ แล้วก็ต้องรีบไปเข้าโรงเรียน ฉะนั้นโรงเรียนมันต้องมีให้ทั่วถึงให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล เรียนใกล้ๆ บ้านก็ได้ ถ้าได้พื้นที่สองหมื่นไร่มาก็สร้างโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งก็สร้างโรงพยาบาล ผมไปโรงพยาบาลนี่นะ เก้าโมงเช้าก็เห็นคนนั่งรอกันเต็ม ไปถามคุณป้ามานั่งรอตั้งแต่กี่โมง มาตั้งแต่ตีสี่ มาจองเข้าคิว สิบโมงเช้ายังไม่ได้รักษาเลย คนแน่นเต็มโรงพยาบาลไปหมด...สรุปง่ายๆ โรงพยาบาลมันไม่เพียงพอ แต่เรายังเสือกไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถัง ซื้อเครื่องบิน แทนที่จะมาสร้างโรงพยาบาล ทำให้เงินมันเพียงพอที่จะดูแลประชาชน ไม่ใช่ให้น้องตูนมาวิ่งหาเงินมาสร้างโรงพยาบาลไม่อายเขาเหรอ ในณะที่ตูนไปวิ่งหาเงินมาสร้างโรงพยาบาล แต่กองทัพเอาเงินไปถลุง”

ศาลทหารมีไว้ทำไมในเมื่อเป็นคนเหมือนกัน องค์การทหารผ่านศึกถ้ามีไว้รับเงินกินส่วนแบ่งอย่ามีเลย

อีกหนึ่งเรื่องที่เสรีพิศุทธ์คิดที่จะทำคือการยุบศาลทหาร เมื่อเกิดคดีความที่ทหารเป็นผู้ก่อ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารชั้นยศใดก็ตามต้องมาขึ้นศาลยุติธรรมเทียบเท่ากับพลเรือน

“เวลาทหารทำความผิดขึ้นศาลทหาร เวลาตำรวจทำความผิดขึ้นศาลตำรวจบ้างได้ไหม ข้าราชการส่วนอื่นเวลาเขาทำความผิดเขาขึ้นศาลยุติธรรมกันหมด แล้วทหารมีอภิสิทธิ์อะไรถึงต้องไปขึ้นศาลทหาร ก็มาขึ้นศาลประชาชนเหมือนกันสิ ก็ยุบแม่งซะ จะมีศาลทหารก็ต่อเมื่อมีศึกสงครามก็พอ”

ส่วนกรณีขององค์การทหารผ่านศึก เสรีพิศุทธ์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันแทบจะไม่มีความจำเป็นในเชิงหน้าที่อีกแล้ว หากจะยังมีหน้าที่อยู่ก็มีเพียงเรื่องเดียวคือการรับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลไปทำ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่มีศักยภาพที่จะทำได้

“ทหารผ่านศึกเดี่ยวนี้มีกี่คน มีแต่รุ่นเก่าสมัยเก่า ควรจะยุบเลิกได้แล้ว ผมเห็นถึงวันทหารผ่านศึกทีไรก็ขายคนแก่ เอาทหารแก่มาใส่หมวก ใส่ชุดทหารโทรมๆ มาขายดอกป๊อปปี้ เอาดารามาขายของ แต่หารู้ไม่ว่าทหารผ่านศึกนี่แดกงบเรียบไปหมด ยามทุกหน่วยงานต้องเอาจากทหารผ่านศึก แย่งอาชีพประชาชนเขาอีก บริษัทยามเอกชนแทนที่จะฝึกคนไปเป็น รปภ. มีอาชีพเป็นของตัวเองมาติดขัดเพราะทหารผ่านศึกหมด แล้วถามว่าทหารผ่านศึกมีหน้าที่ขุดลอกคูคลองไหม ไม่มี แล้วมันให้ไปได้ไงงบตั้งหมื่นล้าน รัฐบาล คสช. ก็เอาไปให้กินหัวคิวไง แล้วใครเป็นนายกองค์การทหารผ่านศึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่ออะไรละ ก็ประวิตร เอางบประมาณตั้งหลายตั้งไปให้ทหารผ่านศึกขุดลอกคูคลองทั้งที่ไม่มีหน้าที่ ไม่มีคน ไม่มีเครื่องมือ แบบนี้มันโกงชาติชัดๆ”

อัตรานายพลผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการมีเยอะ แต่ไม่มีงานทำ สิ้นเดือนเซ็นชื่อรับเงินเดือน

เสรีพิศุทธ์ ระบุต่อไปว่า การที่จำนวนนายพล ของกองทัพไทยมีจำนวนมากนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีความสอดคล้องกับงานของกองทัพแต่อย่างใด ในช่วงของการแต่งตั้งโยกย้าย ตามปกติระบบของทหารจะมีลำดับขั้นตามรุ่น ตามอายุราชการ แต่ถ้าผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายเห็นว่าควรมีการแต่งตั้งข้ามรุ่น นายทหารที่อยู่ในลำดับก่อนหน้าก็จะถูกมอบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการเป็นการตอบแทน ให้ยศระดับนายพล ให้ตำแหน่ง แต่กลับไม่มีงานให้ทำ เขากล่าวย้ำด้วยว่า แม้แต่โต๊ทำงานยังไม่มี แต่ทุกสิ้นเดือนกลับมีการเซ็นชื่อรับเงินเดือน ทำไปทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะดึงคนของตัวเองขึ้นมามีอำนาจ

“เรื่องผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิของทหารต้องเลิกทั้งหมด คือเขามีวิธีการ สมมติว่านี่หัว ต่อๆๆๆ กันไปตามอาวุโส แล้วเขาอยากให้คนอยู่ท้ายขึ้น เขาก็จับพวกหัวๆ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ชำนาญการ แล้วมันไรอ่ะ โต๊ะนั่งก็ไม่มี ห้องทำงานก็ไม่มี แต่งตั้งก็ได้ยศกันไป อัตราพลเอก พลโท พลตรี แล้วก็กลับมาอยู่บ้าน ใครใฝ่ดีก็ทำมาหากินไป สิ้นเดือนก็ไปเซ็นชื่อรับเงินเดือน ใครใฝ่ชั่วหน่อยก็ไปติดตามทวงหนี้ ไปเป็นมือปืนรับจ้าง ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวพลโทค้ามนุษย์ นั่นแหละเป็นผู้ชำนาญการของกองทัพ เลยไปค้ามนุษย์ซะเลย ก็ถูกดำเนินคดีไป เพื่อนผมก็มีรุ่นเดียวกันน่ะ เป็นนายพลก็ไปติดตามทวงหนี้เขาอยู่ เห็นๆ กันอยู่ แล้วจะตั้งไปทำไมเปลือง ถูกไหม ยุบให้หมดเปลืองภาษีประชาชน

ปฏิรูปทหารไม่ได้เป็นแค่การขจัดคอร์รับชันหรือจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้

เสรีพิศุทธ์ เสนอต่อว่า การปฏิรูปทหารในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ย้ายค่ายทหารออกจากกรุงเทพ แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฯลฯ ไม่เป็นเพียงการขจัดคอร์รับชันหรือจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้

นอกจากที่เขาให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท เสรีพิศุทธ์ ยังได้ให้สัมภาษณ์กับ the standard ด้วยว่าหากสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรหนึ่งอย่างได้ สิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุดคือการปฏิรูปทหาร เพราะเห็นว่าทหารคือปัญหาของประเทศชาติ และที่ประเทศชาติล้มลุกคุกคลาน ประชาธิปไตยไม่เจริญก็เป็นเพราะทหารอยากเป็นใหญ่ แต่ไม่ยอมอยู่ในกติกา ไม่ยอมลงมาเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้จริงสำหรับการปฏิรูปทหาร เสรีพิศุทธ์เห็นว่า ปัจจุบันนอกจากจะมีพลัง หรือกระแสขับเคลื่อนจากภายนอกกองทัพแล้ว ภายในกองทัพเองก็มีทหารที่เป็นผู้รักประชาธิปไตยอยู่อีกมาก ซึ่งเป็นนายทหารที่ไม่คิดนอกกรอบ ไม่คิดที่จะยึดอำนาจจากประชาชน

“คุณคิดดูสิกองทัพมีคนเป็นแสนๆ ถามว่ามีคนได้ดีจาก คสช. กี่คนละ ก็มีเฉพาะพวกเขาไม่กี่คนหรอก พวกไม่ได้ดีมีอีกเยอะ ไอ้พวกนั้นคิดอยู่ตลอดเวลาวันใดกูมีโอกาสก็จะปล้นอำนาจจากประชาชน แต่คนที่เขาไม่คิดแบบนี้ก็มี อยู่ในกรอบก็คืออยู่ในกรอบ ไม่ต้องหวังหรอกเอาเป็นว่าผมจัดการได้ก็แล้วกัน”

สำหรับการเมืองไทย เสรีพิศุทธ์เห็นว่า การจะทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้จะต้องพัฒนาสองสิ่งไปพร้อมกันคือ คน และระบบ กล่าวคือต้องทำให้คนมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมกันนั้นทุกภาคส่วนต้องเคารพกติกาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการทำรัฐประหาร

“เราต้องพัฒนาคนให้ได้ งบประมาณในการบริหารก็จำเป็นต้องทุ่มมากเพื่อพัฒนาคน ส่วนระบบเรื่องปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย เราจะไปล้มมันไม่ได้ วันนี้คนคุณภาพอย่างนี้ก็เลือก ส.ส. ได้แบบนี้ ได้รัฐมนตรีแบบนี้ ได้นายกรัฐมนตรีแบบนี้ เราต้องทุ่มไปที่คนมากๆ เราก็จะได้ ส.ส. ดีขึ้น ได้รัฐมนตรีดีขึ้น ได้นายกรัฐมนตรีดีขึ้น แต่ถ้าคุณไม่ทุ่มไปที่คน แต่มาล้มระบบ มายึดอำนาจทุกที ทุกที แล้วมันจะไปได้ยังไง แล้วยึดอำนาจแล้วเป็นไง ทุจริตน้อยกว่าเก่าป่ะ เดี๋ยวนี้มันโกงกันทั้งแผ่นดินแล้ว ทุกกระทรวงก็โกง พวกคุณก็โกงกันเอง”

ooo


เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส | ทหารเกณฑ์คืออู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ





prachatai
Published on Apr 4, 2018


พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจำนวนทหารเกณฑ์จึงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรไทยชายกลับไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ได้เผชิญหน้ากับสภาวะสงคราม เขาชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่แท้จริงอาจมีบางสิ่งแฝงเร้นอยู่ 

“ก่อนหน้านี้เราก็รู้ว่าทหารเกณฑ์ไปก็เพื่อทุจริตกัน ทุจริตกันตั้งแต่ก่อนเข้า ใครเกณฑ์ ใครไม่เกณฑ์ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือแม้กระทั่งจะอ้างป่วยเอาใบรับรองแพทย์ก็มีราคา เมื่อเกณฑ์ไปแล้ว เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม หมวก กางกุ้งกางเกง เบี้ยเลี้ยง ค่ายารักษาโรค งบการฝึกเขามีให้หมด คุณโกงเขาหรือเปล่า คุณทำตามระเบียบหรือเปล่า มีเสียงที่บ่นมาเยอะแยะ บอกถูกโกงกันทั้งนั้น” 

อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปให้เห็นภาพชัดว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนทหารเกณฑ์นั้น มีความเกี่ยวข้องกับการหาผลประโยชน์ของกองทัพ จากภาษีของประชาชน โดยอาศัยกฎหมายที่บังคับชายไทยอายุ 20 ปีจะต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ แม้บางคนที่เรียนอยู่ หรือประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวจะสามารถผ่อนผันได้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเกณฑ์ทหารอยู่ดี ไม่เว้นแม้แต่คนบวชเป็นพระที่ต้องห่มจีวรมาเข้ารับการตรวจคัดเลือก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทย 

เสรีพิศุทธ์ หยิบข้อมูลขึ้นมาชี้ให้เห็นต่อไปว่า ในขณะที่ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเกณฑ์ทหาร แต่มีอีกหลายประเทศที่ยกเลิกกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว เช่น มาเลเชีย ญี่ปุ่น ออสเตเรีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ ฝรังเศส เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา 

“ออสเตรเลียยกเลิกตั้งแต่ปี 2512 เลิกมา 50 ปีแล้ว เบลเยียมยกเลิกตั้งแต่ปี 2537 บัลแกเรีย กับโครเอเซียยกเลิกเมื่อปี 2551 ฝรั่งเศสยกเลิกในปี 2554 เลบานนอนยกเลิกในปี 2550 โรมาเนียยกเลิกเมื่อปี 2550 แต่ไทยยังไม่ยอมยกเลิก ทั้งๆ ที่องค์การสหประชาชาติมีการประชุมปรึกษาหารือกัน สรุปว่า การเกณฑ์ทหารขัดกับปฎิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งประชาชาติให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 70 ปีมาแล้ว แต่ไทยไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิ ประเทศอื่นๆ ที่ยังเกณฑ์ทหารกันก็มี แต่เกณฑ์แล้วมีการทุจริตแบบไทยหรือเปล่า เขาเอาไปเป็นแรงงานทาสหรือเปล่า” 

เสรีพิศุทธ์ ยกคำพูดของของมหาตมา คานธี ที่เคยกล่าวว่า รัฐที่คิดว่าสามารถบังคนประชาชนให้ไปร่วมสงครามได้ตามใจชอบ ย่อมไม่มีวันที่จะคิดถึงคุณค่าและความสุขของประชาชนในยามสงบ พูดให้ง่ายคือรัฐใดที่เกณฑ์ทหารแม้ในยามศึกสงครามก็ยังถือเป็นรัฐที่มองไม่เห็นคุณค่าและความสุขของประชาชน แต่ในประเทศที่ไม่มีสภาวะสงครามแต่ยังเกณฑ์ทหาร และเรียกเกณฑ์จำนวนมาก เสรีพิศุทธ์ เห็นว่าเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความสุขของคนในชาติมากยิ่งกว่า 

มากไปกว่านั้นเขาเห็นว่า การเกณฑ์ทหาร นำมาซึ่งความสูญเสียและสิ้นเปลืองในทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนที่ได้ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่รัฐต้องจ่าย และประชาชนต้องจ่ายกับการเกณฑ์ทหารนั้นอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการใช้แรงงานของชาติจำนวนมากไม่ในทางที่ไม่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลิตมวลรวมของประเทศ 

“สรุปแล้วเนี่ยมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยเรื่องการเกณฑ์ทหาร ผมเองเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ไม่ได้ลิ้มรสในเรื่องของทหารเกณฑ์หรอก แต่ก็รู้ว่ารุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานที่มันไปเกณฑ์ทหารมันเป็นอย่างไร ทหารเนี่ยใช้ช่องทางนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำส่วนหนึ่ง ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของหน่วยเลย มีทั้งโกงก่อนจะเข้า ไม่เกณฑ์จ่ายเท่าไหร่ เอาใบรับรองแพทย์จ่ายเท่าไหร่ แล้วให้สัสดีอีกเท่าไหร่ หรือพอเข้าไปแล้วไปเป็นทหารเขาก็ตัดงบจากเสื้อผ้า เครื่องแบบ หมวก อุปกรณ์การฝึก ถุงเท้า รองเท้า ค่าอาหาร เงินเดือน ทหารเกณฑ์ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างตามนี้ไหม มันเป็นช่องทางการทุจริต เราถึงได้ข่าวกันมาตลอดเวลาว่ามีการปล่อยทหารกลับบ้านแล้วให้นายรับเบี้ยเลี้ยงแทน หรือถ้าไม่กลับบ้านก็ไปอยู่บ้านนายทหารไปรับใช้ ตัดหญ้า ล้างห้องน้ำ ทำความสะอาด ขับรถทำนู่นทำนี่ แม้กระทั่งซักกางเกงในให้เมียนายก็มี หรือเอาไปเป็นเด็กเสริฟร้านอาหารก็มีเป็นข่าวอยู่ เอาไปใช้แต่เรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น เกษียณไปกี่ปีก็ยังมีทหารรับใช้ ในขณะที่งบการฝึกเบิกเต็มแต่ไม่ได้ใช้จริง แล้วงบมันหายไปไหนหมด” 

เสรีพิสุทธ์ ชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วทหารเกณฑ์ของไทยแทบจะไม่ได้มีการฝึกมากนัก หลังจากฝึกช่วง 10 สัปดาห์เสร็จแล้วมีการแยกเหล่าทหาร ทหารใหม่แต่ละคนจะไปอยู่สังกัดตามกรม หรือกองพันต่างๆ หลังจากนั้นจะมีเพียงการฝึกเบื้องต้นเท่านั้นเช่น การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า และบุคคลประกอบอาวุธ แต่มีน้อยที่จะได้จับปืน หรือฝึกการใช้อาวุธ ในขณะที่งบการฝึกมักจะมีการบังคับให้เซ็นเบิกเต็มจำนวน