วันอาทิตย์, เมษายน 08, 2561

พรรค ‘ข้ารองบู๊ต’ เขาแน่นปึ้ก แต่เพื่อไทยก็ไม่ได้ 'ไร้หัว'


ขยับเข้าไปอีกขั้นกับการตั้งพรรคการเมืองเป็นฐานดันประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง (ต้น-กลาง) ปีหน้า สุเทือกตระบัดคำอีกครั้ง “จากนี้ตนจะพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษามากขึ้นและอย่าสับสน...

เขาพูดในงานทอดผ้าป่าอาชีวศึกษาบนเกาะสมุย ที่มีบรรดาแกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งใกล้ชิดกับเขาเข้าร่วมมากมาย ข่าวไทยรัฐว่ารวมคนไปงานวันนี้นับพัน โดยหัวโจก กปปส. รายนี้บอกว่า “ตนขอยืนยันว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีก”

แต่ก็ยังไม่วายวกเข้าไปหาการเมือง อ้างว่า “เพราะช่วงนี้มีการตั้งพรรคการเมืองมาก ต้องถือว่าน่ายินดี” จากนั้นจึงได้กลืนเสลดที่ขากออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ “แม้ตนไม่ประสงค์ที่จะมีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็มีหน้าที่เหมือนคนไทย ที่จะต้องดูแลงานการเมืองให้กับประเทศไทย ขอให้ติดตามต่อไป”

เขาโฆษณาสรรพคุณไว้ก่อนว่า “จะได้พบนวัตกรรมใหม่ๆ ยืนยันว่าแนวความคิดอุดมการณ์ของมวลมหาประชาชนทางการเมือง ที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

และ “ฝากคนที่มาไปบอกญาติมิตรว่า เราคนไทยมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันทำงานทางการเมือง เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย” นั่นคือ “เมืองไทยที่มีเสถียรภาพ มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข ไม่ยอมให้ใครมาแตะต้อง บ่อนทำลาย นี่คือความมั่นคงของประเทศไทย”


เขาน่าจะใช้คำผิดไปหน่อย ที่ว่า นวัตกรรมนั่นแท้จริงควรเป็น วาทกรรม มากกว่า ในเมื่อสิ่งที่เขาโพทธนาล้วนเป็นวาทกรรมซ้ำซากของ คสช. ที่ได้เห็นกันแล้วตลอดจะสี่ปีว่าหาได้มีรูปธรรมค้ำจุนด้วยแก่นสารอันใด ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ย่ำแย่กว่าเมื่อก่อนการรัฐประหาร และจะอยู่ไม่รอดต่อไปก็เมื่อ กปปส.กลับมาอีก

แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยังมุ่งมั่นจะเป็น ข้ารองบู๊ต ทางการเมืองของ คสช. ต่อไป โดยใช้อาวุธเดิมจากการปลุกปั่นให้คนชิงชัง ผีทักษิณคลั่งไคล้ การปฏิรูป และคลางแคลง การเลือกตั้ง นำร่องจนคณะทหารได้ครองอำนาจสมใจ

มาคราวนี้ไม่มีผีทักษิณแล้วสุเทือกก็กลืนเสลดเลือกตั้ง อ้างปฏิรูปอีกครั้ง ทอดกายเป็นเสลี่ยงคานหามให้ประยุทธ์และพวกคงอยู่ในอำนาจต่อไปดังเดิม ทว่า ลำพัง กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หยิบมือหนึ่ง มิอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถครองบ้านครองเมืองต่อไปได้อย่างสง่างามได้

ไม่ว่าจะเป็นถาวร เสนเนียม วิทยา แก้วภราดัย อิสสระ สมชัย วรงค์ เดชกิจวิกรม ชุมพล กาญจนะ แม้กระทั่งมัลลิกา บุญมีตระกูลมหาสุข (ที่ไม่เคยได้รับเลือกตั้ง) ก็จะยังไม่น่าจะได้เป็นคะแนนเสียงในสภาอย่างกอบกำถึง ๒๕ ถ้าไม่ตกลงไป ต่ำสิบ

ทว่าประยุทธ์ยังมีว่าที่ฐานคะแนนหนุนตนเป็นนายกฯ คนนอกจากพรรคใหม่ โดยคนที่คิดการใหญ่ (ทั้งที่ไม่ค่อยจะมีน้ำยา ‘not so much technocrats’) ในทีมเศรษฐกิจลิ่วล้อ คสช. นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เดิมเปรยๆ กันว่าจะใช้ชื่อ ประชารัฐตั้งท่าเตรียมอยู่

พรรคของสมคิดอาจได้แรงดันอันสำคัญจากนักการเมือง งูเห่า สายราชบุรี แปดริ้ว และบุรีรัมย์ ถ้าจะเอาบทความ เจาะประเด็นร้อนของ คมชัดลึก มาเป็นสาระ เมื่อข้อเขียนชิ้นนี้บ่งว่า ทั้งนายสรอรรถ กลิ่นประทุม และนายสุชาติ ตันเจริญ ต่างเคยเป็นข่าวจะร่วมตั้งพรรคพรรคกับนายสมคิดทั้งคู่

จนกระทั่งปรากฏภาพโพสต์วันเดียวบนเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายศุภมาศ อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย อันเป็นบรรยากาศในงานวันเกิด ปู่ชัยชิดชอบ “ซึ่งมีภาพของ อนุทิน ชาญวีรกูลเนวิน ชิดชอบสรอรรถ กลิ่นประทุม และสุชาติ ตันเจริญ ยืนกอดคอกันถ่ายภาพหมู่” กันอยู่

นักการเมืองเหล่านี้โยงใยกันอยู่ใน กลุ่ม ๑๖ ที่ต่อสายสัมพันธ์ไม่คลาย โดยมีบ้านริมน้ำของนายสุชาติเป็นแหล่งนัดพบ อีกทั้งยืดสายใยเครือข่ายไปโยงกับกลุ่ม ๘ ส.ที่รวม ๓ สมฯ ๓ สุฯ ๑ สนฯ และ ๑ สรฯ (แถมยังมีบวก ส.พิเศษ อีก ๑ สุฯ)

(อย่าเพิ่งงง แว่บไปดูนี่ http://www.komchadluek.net/news/scoop/319997 ก่อนได้)

นัยว่าจากกลุ่ม ๘ ส. ที่ทับซ้อนทั้งกลุ่ม ๑๖ และสายราชบุรี ทำให้มี สมศักดิ์ เทพสุทิน อีกคนที่เป็นกำลัง ดูด อดีต ส.ส. จากพรรคกิจสังคมเข้ามาอยู่ในข้องเดียวกับอดีต ส.ส.ภูมิใจไทย ภายใต้ร่มสมคิดและบู๊ต คสช.
บทความเรื่อง ลับลวงพลาง ของคมชัดลึกชี้แนะเบาะแสว่านายสุชาตินี่สำมะคัญ นอกจากประสานหลากกลุ่มแล้วยังวางยุทธวิธีให้ด้วย เมื่อไม่นานมานี้ตั้งโต๊ะแถลงนโยบายจัดตั้ง ‘’สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติหรือ สสปช. ชงโครงการให้ คสช. เอาไปใช้หาเสียง

เนื่องจาก หมออนามัยอันจะเป็นโมเดลในโครงการ สสปช. นี้เคย “ถูกนำมาใช้เป็น ‘ฐานคะแนน’ ของนักเลือกตั้งมาทุกยุค” หาก คสช. จะใช้ ม.๔๔ ประกาศจัดตั้ง สสปช. เป็นโครงการของสำนักนายกฯ เวลาหนึ่งปีก่อนจะถึงการเลือกตั้ง มีทางที่ชาวบ้านจะรักลุงตูบยิ่งกว่าที่เคยรักนายใหญ่ได้นะ

นอกเหนือจากนั้นคมชัดลึกเชื่อว่า ทางแกนนำของภูมิใจไทยทั้งตัวหัวหน้าอนุทิน และอดีตหัวหน้าเนวิน ล้วนเล่นเกมลับลวงพลาง แยกกันเดิน รอเวลา ร่วมกันกิน แบบเดียวกับชาติไทยพัฒนา ที่วราวุธ ศิลปอาชาจะขึ้นนั่งแท่นในไม่ช้า

ฉะนี้พรรคเก่าขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร เพื่อไทยนั้นแม้จำทำใจเตรียมเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่ภาวะปั่นป่วนภายในจากการที่ลูกเสี่ยแดงผิดคิว (เนื่องเพราะกระแสคลื่นไม่เอาคุณหญิง) ทำให้ตกที่นั่งสั่นคลอนไม่แพ้ประชาธิปัตย์ที่เดือดร้อนกับลูกน้องของสุเทือก

จะเห็นว่าตอนนี้น้องม้าร์ค หัวหน้าพรรค ปชป. พยายามจะลอกคราบ อนุรักษ์นิยมเปลี่ยนสีผิวใหม่ให้เป็น เสรีนิยมประชาธิปไตยแต่ดูท่าจะยาก เพราะสีเดิมไม่ใช่ อนุรักษ์ สีเดียว หากเป็นหลายสี สลิ่มที่จะเอาทุกอย่างแต่ไม่ได้อะไรสักอย่างนั่นสิ

มาดูที่เพื่อไทย ซึ่งช่วงนี้เจอปัญหา ไร้หัวไหนจะนายใหญ่ทำนิ่ง แถมน้องปูว์หนี หวังจะได้หญิงหน่อยนำทีมขนานกันไปกับ คสช. แต่เจ๊ดันใส่ส้นสูงไปลุยร่องดาวเรืองแล้วสะดุดขาตัวเองหัวคะมำ ให้เป็นที่กังขา ละล้าละลังของฝ่ายประชาธิปไตยจนบัดนี้ โชคดีมี ธนาธร-ปิยบุตร มาฉุดจากอาการสำลักได้ทัน

แต่นั่นละ ถึงอย่างไรก็ยังมีความเป็น มืออาชีพ ของนายใหญ่เพื่อไทย ดังที่ว้อยซ์ทีวีเปิดเบิ่งกรณี 'เจแปน effect' ว่า “เป็นปฏิกิริยาที่ยืนยันว่า 'เพื่อไทยไม่ไร้หัว' มี 'คนดีๆ ของพรรคหลายคน' ที่ทักษิณพูดถึง ว่าจะนำมาซึ่งชัยชนะถล่มทลาย”

ว้อยซ์เรียงไล่แคนดิเดตเป็น หัว ของเพื่อไทยตั้งแต่หมายเลข ๑ ที่นายใหญ่มั่นหมายไว้นานแล้ว แม้ตอนนี้ตกที่นั่งสายประชาธิปไตยไม่เอาก็ไม่เป็นไร ว้อยซ์เขาบอกว่าเธอเป็นตัวเลือกของ 'นายหญิงวังจันทร์ส่องหล้า' ก็แล้วกัน เรื่องอื่นนอกนั้นไม่ต้องพูดถึง

ที่เหลือจากนี้มี ชัยเกษม-ภูมิธรรม-ปลอดประสพ-สมชายล้วนแต่ ใช้ได้ ทั้งนั้น ชัยเกษม นิติศิริ นั่นเป็นอดีตอัยการสูงสุดที่ สุขุม นิ่ง สยบความเคลื่อนไหว และยืนหยัด “นาฑีนี้ไม่ลาออก” เมื่อ ๒๒ พฤษภา ๕๗ ทำให้บิ๊กตุ่นใช้อ้าง “ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง”

ทางด้านภูมิธรรม เวชยชัย นี่ก็คนเดือนตุลาเช่นเดียวกับหมอมิ้ง หมอเลี๊ยบ ที่ยืนหยัดตั้งแต่ไทยรักไทยมาจนถึงเพื่อไทยภายใต้ คสช. ด้วยความมั่นคงกับฝ่ายประชาธิปไตย ผลงานการบริหารพรรคและประสานภายในระหว่างก๊กกับแนวร่วม รับประกันคุณภาพ

สำหรับปลอดประสพ สุรัสวดี นี่ว้อยซ์บอกว่าแทนที่ เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ในพรรคเพื่อไทยได้เหมาะเหม็ง เพราะความตรง กล้า ประกาศฉะฉานแบบเสรีพิศุทธ์เลยเช่นกันว่า “ตัวปัญหาของประเทศคือทหาร-ที่ควรทำคือปฏิรูปกองทัพ”

ส่วน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตอัยการเหมือนกัน ข้อสำคัญเป็น ดอง ของชินวัตร แม้นว่าเจ๊แดง ภรรยาบอกว่า “วางมือทางการเมืองแล้ว แต่ ส.ส. มุ้งเจ๊ มารายงานตัวกันเกือบหมด” อดีตนายกฯ ๗๕ วันของพรรคพลังประชาชนคนนี้ก็ยัง เป็นที่ไว้ใจว่าถ้าจะให้นำก็ทำได้
แต่ที่ขาดหายไปจากข้อสนทนาก็คือ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่แต่ไหนแต่ไหนมีเสียงแซะว่า นายใหญ่ไม่โปรดเจ้าตัวเองก็วางอุเบกขา ‘keep both promise and distance’ ในเรื่องการนำพรรค ปักหลักแต่การผลักดันประชาธิปไตยและงัดข้อเผด็จการ กับยืนหยัดขจัดรัฐประหารอย่างแน่วแน่

ว้อยซ์สรุปว่าจนกระทั่งวันนี้นายใหญ่ยังไม่สนให้จาตุรนต์เข้าไปอยู่ในศูนย์อำนาจของเพื่อไทย เพราะมีคนเดือนตุลาจ่อคิวอยู่ข้างหน้า สหายสุภาพแล้วคนหนึ่งคือ สหายใหญ่ลุงอ้วน-ภูมิธรรม นั่นไง


เป็นอันว่าสำหรับเพื่อไทยไม่มีปัญหา ถ้าจะสู้กับการเลือกตั้งที่มีข้อจำกัดมากมายครั้งใหม่ที่หวังว่าจะมาอย่างเร็วต้นปีหน้า ตราบเท่าที่ยืนหยัดในเส้นทางประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง

แต่พรรคใหญ่อีกพรรคนี่สิน่าสงสัย จะเอาตัวรอดจากหนอนบ่อนไส้ กปปส. ได้หรือเปล่า ซ้ำร้ายจะรอดจากอาการมั่วสีของตัวเองได้ไหม ข้อนี้สำคัญกว่า