วันพุธ, เมษายน 18, 2561

เป็นหมันอีก... เลื่อนอีกเป็นครั้งที่ 6 การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดยอ้างเหตุว่า ต้องการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ ด้าน วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมว.การกระทรวงการคลัง ยืนยันกฎหมายบังคับใช้แน่ปี 2562


...


กลัวกระทบผู้เสียภาษี! สนช. เลื่อนพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มาแล้ว 6 ครั้ง


เมื่อ 11 เม.ย. 2561
โดย iLaw


วันที่ 22 มีนาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… เป็นครั้งที่ 6 ออกไปอีก 60 วัน ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปนานกว่า 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่สนช.มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ทั้งนี้ กมธ. ผู้รับผิดชอบร่างอ้างเหตุว่า ต้องการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบกับที่ผ่านมามีเอกชนให้ความเห็นในเชิงคัดค้าน อย่างไรก็ดี วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันกฎหมายบังคับใช้แน่ปี 2562 ย้ำ ขยายเวลาเพื่อพิจารณาลดภาษีให้เอกชนบางราย


เลื่อนมาแล้ว 6 ครั้ง กมธ. ระบุ ต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบ

ที่ผ่านมา สนช.ขอขยายเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ครั้งละ 60 วัน โดยครั้งที่ 1 วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ครั้งที่ 3 วันที่ 21 กันยายน 2560 ครั้งที่ 4 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 5 วันที่ 24 มกราคม 2561และ ครั้งที่ 6 วันที่ 22 มีนาคม 2561

โดยการขอขยายเวลาครั้งที่ 5 ให้เหตุผลว่า ต้องพิจารณาข้อมูลและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรากฎหมายลำดับรอง และต้องนำข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญมาพิจารณา ส่วนครั้งที่ 6 ให้เหตุผลว่า ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้เสียภาษีและรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


สนช. เคยขอไม่เปิดเผยบันทึกการประชุม อ้างเหตุกระทบเจ้าของกรรมสิทธิ์


ก่อนการขอขยายเวลาครั้งที่ 4 (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560) สนช. มีวาระการประชุมพิจารณาให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จำนวนสองครั้ง คือ ครั้งที่ 33 วันที่ 20 กันยายน 2560 และครั้งที่ 35 วันที่ 4 ตุลาคม 2560 แต่สุดท้ายที่ประชุมมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม เหตุผลว่า บันทึกการประชุมมีข้อมูลบุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกลุ่มตัวอย่างและการเปิดเผยข้อมูลอาจส่งผลกระทบให้เกิดการเข้าใจผิดและสับสนได้

ต่อมา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 องค์กรจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอให้สนช. มีมติเปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการฯ 2 ครั้งดังกล่าว สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. รับจดหมายและกล่าวว่า จะนำความเห็นดังกล่าวส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ต่อไป แต่การที่สนช.มีมติไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมฯ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติ หากการพิจารณาเสร็จแล้วก็จะเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างแน่นอน


เอกชนรวมตัวคัดค้าน กลัวต้นทุนเพิ่มขึ้นหลังกฎหมายบังคับใช้


ระหว่างการขยายเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสนช.หลายครั้ง เช่น วันที่ 20 เมษายน 2560 ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ประธานสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยและคณะฯ ยื่นหนังสือชี้แจ้งว่า อัตราภาษีใหม่ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมาก และก่อความไม่เสมอภาคกับโรงเรียนของรัฐที่ไม่ต้องมีภาระในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการเพิ่มต้นทุนต่อโรงเรียนเอกชนจะย่ิงไม่เป็นธรรมต่อนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะนักเรียนโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับการอุดหนุนการศึกษาจากรัฐเช่นเดียวกับนักเรียนโรงเรียนของรัฐ และการเพิ่มต้นทุนให้โรงเรียนเอกชนทำให้โรงเรียนเอกชนไม่สามารถแข่งขันกับโรงเรียนรัฐได้ สวนทางกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น จึงเสนอว่าให้โรงเรียนเอกชนได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วันที่ 11 สิงหาคม 2560 นายกสมาคมกอล์ฟไทย เข้ามาขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการสนามกอล์ฟ เพราะเมื่อคำนวณพื้นที่สนามกอล์ฟแล้ว จะต้องเสียภาษีที่ดินมากกว่าตามเดิมถึงสิบเท่า ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระภาษี ขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ และจะส่งผลต่อนักกีฬากอล์ฟทั้งสมัครเล่นและอาชีพที่จะขาดแคลนสนามฝึกซ้อม

วันที่ 26 กันยายน 2560 พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสนช. ในฐานะรองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะผู้แทนจากหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยื่นข้อคิดเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลประชาชนทั่วไป ธุรกิจ SMEs และภาคธุรกิจ เช่น ภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยหลังที่สองจะต้องรับภาระภาษีมากขึ้น จึงเสนอว่าให้ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเขตเทศบาลเดียวกันที่มีมูลค่ารวมกันไม่ถึง 50 ล้านบาท และควรลดภาษีให้กับทรัพย์สินจากการรับมรดก และทรัพย์สินประเภท สถานพยาบาลเอกชน สถานศึกษาเอกชน สวนสัตว์ และแหล่งท่องเที่ยวเอกชน


ร่างกฎหมายยังเป็นที่กังขา หวั่นเก็บภาษีได้น้อย


สำหรับ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะมาบังคับใช้แทนพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพ.ร.บภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งใช้มานานแล้ว มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน แต่ก็มีข้อกังขา เช่น การลดเพดานภาษีที่ดินว่างเปล่าในปีแรกจากร้อยละห้า แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขให้จัดเก็บเพียงร้อยละสองเท่านั้น และกำหนดเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 0.5 และจัดเก็บสูงสุดไม่เกินร้อยละห้า ซึ่งการลดเพดานภาษีเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือครองที่ดินตามข้อเสนอของเอกชนที่มักจะสะสมที่ดินไว้เพื่อนำไปพัฒนาต่อในช่วงเวลาที่เหมาะสม

อีกข้อกังขาคือ การจัดเก็บภาษีบ้านจะเริ่มจากบ้านที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งจากการประเมินของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยพบว่า บ้านที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทมีเพียงไม่กี่พันหน่วยเท่านั้นและตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว


รมช.คลังฯ ยืนยันประกาศใช้ ปี 62 เตรียมพิจารณาลดภาษีให้เอกชน


ล่าสุด วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯจะถูกขยายออกไปอีก 2 เดือน แต่ก็เชื่อว่าการพิจารณาสนช.วาระ 2 และ 3 น่าจะเสร็จภายในพฤษภาคมนี้ ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ได้ทันกำหนดเดิมปี 2562 แน่นอน และการขยายเวลาพิจารณาจะไม่กระทบต่อหลักการของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ โครงสร้างและการเก็บภาษียังคงเดิมแต่ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับเพดานและอัตราภาษีลงจากร่างฉบับของรัฐบาล

ส่วนสาเหตุของการขยายเวลาออกไปก็เพื่อให้สนช. ได้พิจารณาในประเด็นที่ดินที่ได้รับการบรรเทาภาษี เช่น ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น เขตปลอดการบิน รวมถึงโรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัย สนามกีฬา ซึ่งลดภาษีลง 90 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้อสังเกตเรื่องพื้นที่สนามกอล์ฟนั้น ในมุมของภาษีที่ดินถือเป็นสนามกีฬาด้วย ซึ่งโดยปกติสนามกอล์ฟเสียภาษีฟุ่มเฟือยและภาษีสิ่งแวดล้อมจากภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว